• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไมเกรน

ไมเกรน


ผู้ที่มีอาการปวดศีรษะเป็นๆ หายๆ บ่อย โดยที่สุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี เพียงแต่บางครั้งเมื่อมีอาการกำเริบจะรู้สึกทรมาน หรือน่ารำคาญอยู่ ๑-๓ วัน เมื่อหายปวดก็เป็นปกติดี มักจะมีสาเหตุจากโรคไมเกรน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพบในคนอายุน้อยที่มีอาการปวดที่ขมับข้างเดียว โบราณจัดเป็นโรคลมชนิดหนึ่ง เรียกว่า "ลมตะกัง" โรคนี้แม้จะมีโอกาสเป็นๆ หายๆ เรื้อรังนับสิบๆ ปี แต่ก็ไม่มีอันตรายร้ายแรง ผู้ที่เป็นโรคนี้ หากรู้จักสังเกตว่าแต่ละครั้งที่ปวดมีสิ่งอะไรเป็นตัวกระตุ้น แล้วหาทางหลีกเลี่ยงได้ อาการก็จะห่างหายไปได้

ชื่อภาษาไทย  ไมเกรน, ลมตะกัง
ชื่อภาษาอังกฤษ  Migraine

สาเหตุ  ยังไม่ทราบแน่ชัด สันนิษฐานว่ามีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงในการทำงานของระบบประสาทและหลอดเลือดในสมองเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมองที่มีชื่อว่า ซีโรโทนิน หรือ serotonin (ซึ่งพบว่ามีปริมาณลดลงขณะที่มีอาการกำเริบ) และสารเคมีในสมองกลุ่มอื่นๆ ส่งผลให้เกิดการอักเสบของเส้นใยประสาทสมองเส้นที่ ๕ ที่ เลี้ยงบริเวณใบหน้าและศีรษะ รวมทั้งทำให้หลอดเลือดแดงทั้งในและนอกกะโหลกศีรษะมีการอักเสบ และมีการหดและขยายตัวผิดปกติ หลอดเลือดในกะโหลกจะมีการหดตัวทำให้เปลือกสมองมีเลือดไปเลี้ยงน้อยลง ส่วนหลอดเลือดนอกกะโหลกศีรษะมีการขยายตัว ทั้งหมดนี้นำไปสู่อาการแสดงต่างๆ ของโรคไมเกรน

โรคนี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม พบว่าประมาณร้อยละ ๖๐-๗๐ ของผู้ที่เป็นไมเกรน มีประวัติว่าพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย
เหตุกำเริบ ผู้ป่วยมักบอกได้ว่า แต่ละครั้งที่มีอาการปวดศีรษะจะมีสิ่งกระตุ้นหรือเหตุกำเริบชัดเจน ซึ่งแต่ละคนอาจมีเหตุกำเริบที่แตกต่างกันไป และมักจะมีได้หลายๆ อย่าง เหตุกำเริบที่พบได้บ่อยๆ ได้แก่

  • มีแสงสว่างจ้าเข้าตา เช่น ออกกลางแดดจ้าๆ แสงจ้า แสงไฟกะพริบ แสงสีระยิบระยับในโรงมหรสพหรือสถานเริงรมย์ เป็นต้น
  • การใช้สายตาเพ่งดูอะไรนานๆ เช่น ดูภาพยนตร์ หนังสือ หรือกล้องจุลทรรศน์ เย็บปักถักร้อย เป็นต้น
  • การอยู่ในที่ที่มีเสียงดังจอแจ เช่น ตลาดนัด หรือเสียงอึกทึก (เช่น เสียงกลอง เสียงระฆัง)
  • การสูดดมกลิ่นฉุนๆ เช่น กลิ่นสี กลิ่นน้ำมันรถ กลิ่นน้ำหอม กลิ่นสารเคมี ดีดีที ควันบุหรี่ เป็นต้น
  • การดื่มกาแฟมากๆ ก็อาจกระตุ้นให้ปวดได้
  • ยานอนหลับ เหล้า เบียร์ เหล้าองุ่น ถั่วต่างๆ กล้วย นมเปรี้ยว เนยแข็ง ช็อกโกแลต ตับไก่ ไส้กรอก อาหารทะเล อาหารทอดน้ำมัน ผงชูรส น้ำตาลเทียม สารกันบูด ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว (เช่น ส้ม มะนาว) ล้วนกระตุ้นทำให้ปวดได้
  • การอยู่ในที่ร้อนหรือเย็นเกินไป เช่น อากาศร้อน หรือหนาวจัด ห้องที่อบอ้าว ห้องปรับอากาศเย็นจัด เป็นต้น
  • การอดนอน (นอนไม่พอ) หรือนอนมากเกินไป การนอนตื่นสาย (เช่น ในวันหยุดสุดสัปดาห์)
  • การอดข้าว กินข้าวผิดเวลา หรือกินอิ่มจัด เชื่อว่าเกี่ยวกับภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งกระตุ้นให้ปวดศีรษะได้ บางครั้งพบว่า  ผู้ป่วยไมเกรนเมื่อเป็นโรคเบาหวาน (มีน้ำตาลในเลือดสูง) อาการปวดจะหายไป
  • การนั่งรถ นั่งเรือ หรือนั่งเครื่องบิน
  • อาการเจ็บปวดตามส่วนอื่นๆ ของร่างกาย
  • การเป็นไข้ เช่น ตัวร้อนจากไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่
  • การออกกำลังกายจนเหนื่อยเกินไป
  • ร่างกายเหนื่อยล้า
  • การถูกกระแทกแรงๆ ที่ศีรษะ (เช่น การใช้ศีรษะโหม่งฟุตบอลหรือตะกร้อ) ก็อาจทำให้ปวดศีรษะทันที
  • อิทธิพลของฮอร์โมนเพศสำหรับผู้ป่วยหญิง มีผลต่อการเกิดอาการไมเกรนอย่างมาก เช่น บางรายมีอาการปวดเฉพาะเวลาใกล้จะมีหรือมีประจำเดือน และมีไม่น้อยที่หายปวดไมเกรนขณะอุ้มท้อง ๙ เดือน (มีฮอร์โมนโพรเจสเตอโรนสูง) บางรายกินยาเม็ดคุมกำเนิด (มีฮอร์โมนเอสโตรเจน) ทำให้ปวดบ่อยขึ้น พอหยุดกินยาก็ดีขึ้น
  • ความเครียดทางอารมณ์ คิดมาก อารมณ์ขุ่นมัว ตื่นเต้น ตกใจ

อาการ  ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะเป็นครั้งคราว มักจะเริ่มเป็นครั้งแรกตั้งแต่อายุน้อย (วัยรุ่น หรือวัยหนุ่มสาว) และจะเป็นๆหายๆ จนเลยวัย ๕๕ ปี หรือตลอดชีวิต
แต่ละครั้ง จะมีอาการปวดตุบๆ ที่ขมับ หรือรอบๆ เบ้าตาซีกใดซีกหนึ่ง อาจปวดสลับข้างในแต่ละคราว หรือปวดพร้อมกันทั้ง ๒ ข้างก็ได้ ผู้ป่วยมักจะคลำได้หลอดเลือดที่บริเวณขมับมีลักษณะโป่งพองและเต้นตุบๆ บางคนอาจปวดแบบตื้อๆ ทั้งศีรษะ หรืออาจมีอาการเวียนศีรษะ กลัวแสง ปวดเสียวหนังศีรษะ บางรายก่อนปวดหรือขณะปวด อาจมีอาการตาพร่า ตาลาย ตาเห็นแสงวอบแวบ หรือมืดมัวไปครึ่งซีก แต่ละครั้งมักปวดนาน ๔-๗๒ ชั่วโมง แต่ถ้าได้กินยาบรรเทาปวด และนอนหลับสักครู่ ก็อาจทำให้อาการทุเลาได้เร็วขึ้น บางรายที่มีอาการปวดมากหรือปวดนาน ก่อนจะทุเลาอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เมื่ออาเจียนแล้วอาการปวดจะทุเลาไปได้เอง ในรายที่เป็นไมเกรนชนิดรุนแรง ก็อาจมีอาการ หน้าชา ริมฝีปากชา มือชา วิงเวียน ตาเห็นภาพซ้อน หรือแขนขาอ่อนแรงซีกหนึ่ง แต่อาการแบบนี้พบได้น้อยมาก และมักเป็นเพียงชั่วคราวก็จะหายได้เอง

การแยกโรค
อาการปวดศีรษะ นอกจากไมเกรนแล้ว ยังอาจมีสาเหตุอื่นๆ เช่น

๑. ปวดศีรษะจากความเครียด จะมีอาการปวด ตื้อๆ มึนๆ ทั่วศีรษะ หรือบริเวณท้ายทอยนานเป็น ชั่วโมงๆ หรือเป็นวันๆ เมื่อนอนหลับพักผ่อนแล้วก็ดีขึ้น (แต่บางคนอาจเป็นติดต่อกันนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนก็ได้) โดยไม่มีอาการตาพร่า หรือคลื่นไส้อาเจียน ผู้ป่วยอาจมีอาการวิตกกังวล คิดมาก ซึมเศร้า นอนไม่หลับร่วมด้วย

๒. สายตาผิดปกติ จะมีอาการปวดเมื่อยล้ารอบๆ กระบอกตา เวลาเพ่งมองอะไรนานๆ อาจพบว่ามีภาวะสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียงร่วมด้วย

๓. ไซนัสอักเสบ จะมีอาการปวดตื้อๆ ตรงหัวคิ้วรอบๆ กระบอกตา หรือใต้ตา (โหนกแก้ม) ร่วมกับ อาการเป็นหวัด คัดจมูก มีน้ำมูกหรือเสลดข้นเหลืองหรือเขียว เมื่อใช้นิ้วเคาะบริเวณที่ปวดตื้อๆ จะรู้สึกเจ็บมากขึ้น

๔. ความดันเลือดสูง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการผิดปกติ มักตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจเช็กร่างกาย แต่ส่วนน้อยที่เป็นความดันเลือดสูงรุนแรง ก็อาจมีอาการปวดตุบๆ ที่ขมับ หรือปวดตื้อๆ ทั่วศีรษะหรือท้ายทอย มักจะเป็นเวลาตื่นนอนใหม่ๆ พอตอนสายจะทุเลาไปเอง มักพบในคนอายุมากกว่า ๔๐ ปีขึ้น

๕. เนื้องอกสมอง จะมีอาการปวดมึนๆตื้อๆ ทั่วศีรษะตอนเช้ามืด ก่อนใกล้ตื่นนอน พอตอนสายๆ จะทุเลา ซึ่งจะเป็นอยู่ทุกวัน นานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน โดยจะมีอาการปวดแรงขึ้นและนานขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาจะมีอาการเวียนศีรษะ อาเจียน หรือเดินเซ โรคนี้พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

๖. ต้อหินเฉียบพลัน จะมีอาการปวดตาข้างหนึ่งอย่างรุนแรง ตาพร่ามัว ตรวจดูตาพบว่าตาแดง กระจกตาบวมขุ่น รูม่านตาโต มักพบในคนอายุมากกว่า ๔๐ ปี อาการปวดจะไม่ทุเลาจนกว่าจะได้รับการรักษา

ส่วนอาการแขนขาชา หรืออ่อนแรง ที่อาจพบได้ในผู้ป่วยไมเกรนชนิดรุนแรง ควรแยกออกจากโรคหลอดเลือดสมองตีบ ซึ่งจะมีอาการอัมพฤกษ์ อัมพาตเรื้อรัง (ส่วนไมเกรนมักจะเป็นอยู่เพียงไม่กี่วันก็หายได้เอง) ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองตีบ มักพบในคนสูงอายุ หรือผู้ที่มีประวัติเป็นโรคเบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง อ้วน หรือสูบบุหรี่จัด (ส่วนไมเกรนจะพบในคนอายุน้อย และไม่มีโรคประจำตัวอื่นๆ)

การวินิจฉัย  แพทย์มักจะวินิจฉัยจากอาการบอกเล่าของผู้ป่วย ได้แก่ อาการปวดตุบๆ ที่ขมับ และคลำได้เส้น (หลอดเลือด) ที่ขมับ เป็นๆ หายๆ เป็นครั้งคราว และมีเหตุกำเริบชัดเจน โดยที่ตรวจร่างกาย อย่างถี่ถ้วนแล้วไม่พบสิ่งผิดปกติอื่นๆ ส่วนในรายที่เป็นปวดรุนแรง หรือปวดครั้งแรกเมื่ออายุมากกว่า ๔๐ ปี หรืออาการไม่ค่อยเข้ากับไมเกรน ก็อาจต้องทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ตรวจความผิดปกติของตา (สายตา ความดันลูกตา) เป็นต้น

การดูแลตนเอง  สำหรับผู้ที่แพทย์เคยวินิจฉัยว่าเป็นไมเกรนมาก่อน หรือเคยมีอาการปวดตุบๆ ที่ขมับเป็นครั้งคราวนานไม่เกิน ๗๒ ชั่วโมงแล้วทุเลาได้เอง โดยสุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี ควรดูแลตนเองดังนี้

๑. พยายามสังเกตว่า แต่ละครั้งที่ปวดมีเหตุกำเริบหรือสิ่งกระตุ้นอะไร (เช่น ถูกแสงจ้า แสงแดด อดข้าว อดนอน อากาศร้อน อาหารบางชนิด แอล-กอฮอล์ เป็นต้น) ก็ควรหลีกเลี่ยงจากเหตุกำเริบเหล่านี้ ซึ่งจะช่วยให้อาการห่างหายไปได้

๒. ควรพกยาแก้ปวดพาราเซตามอล ไว้ประจำตัวและกินยาครั้งละ ๑-๒ เม็ดทันทีที่เริ่มรู้สึกอาการกำเริบ (เช่น รู้สึกตาพร่า ตาลาย ปวดมึนๆ ตื้อๆ) หลังกินยา ถ้านอนได้ ให้นอนหลับสักตื่น อาการก็มักจะทุเลาได้ ภายในเวลาไม่นาน ถ้านอนไม่ได้ควรนั่งพักในห้องที่มีแสงสว่างไม่มาก บรรยากาศเงียบๆ และอากาศถ่ายเทได้สะดวก หลับตาผ่อนหายใจเข้าออกยาวๆ นวดคลึงเบาๆ บริเวณขมับที่ปวด

เคล็ดลับในการรักษาไมเกรน อยู่ที่การรีบกินยาแก้ปวดทันทีเมื่อเริ่มรู้สึกมีอาการกำเริบ อย่าปล่อยให้มีอาการปวดนานครึ่งชั่วโมงขึ้นไป ซึ่งการใช้ยาแก้ปวดอาจได้ผลน้อยลง หรือไม่ก็อาจต้องกินยาแก้ไมเกรนชนิดที่แรงขึ้น

๓. ในรายที่เป็นๆ หายๆ บ่อย แพทย์อาจให้ยากินป้องกัน ผู้ป่วยก็ควรจะกินยาป้องกัน ทุกวันตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งจะช่วยให้อาการห่างหายไปได้ อย่าหยุดเองก่อนแพทย์บอก

ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้

๑. กินยาแล้ว อาการไม่ทุเลาใน ๗๒ ชั่วโมง
๒. มีอาการปวดรุนแรงกว่าทุกครั้งที่เคยเป็น
๓. เป็นการปวดศีรษะครั้งแรกในคนอายุมากกว่า ๔๐ ปี
๔. แขนขาชา หรืออ่อนแรง
๕. มีอาการอาเจียนมากหรือเดินเซร่วมด้วย
๖. มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลรักษาตนเอง

การรักษา  เมื่อตรวจพบว่าเป็นไมเกรน แพทย์จะแนะนำข้อปฏิบัติตัวต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การหลีกเลี่ยงเหตุกำเริบ และจะให้ยารักษาดังนี้

๑. ถ้าปวดไม่มาก จะให้ยาแก้ปวดพาราเซตามอล

๒. ถ้าปวดปานกลาง จะให้ยากลุ่มต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) หรือยากลุ่มอนุพันธ์ฝิ่น เช่น ทรามาดอล (tramadol)

๓. ถ้าปวดรุนแรง จะให้ยาคาเฟอร์กอต (cafergot) หรือซูมาทริปแทน (sumatriptan)

๔. ในรายที่เป็นๆ หายๆ บ่อยจนเสียงานเสียการ หรือทุกข์ทรมานมาก นอกจากยาแก้ปวดแล้ว แพทย์จะให้ยากินป้องกัน เช่น อะมิทริปไทลีน (amitripyline), ฟลูนาริซีน (flunarizine), ไซโพรเฮปทาดีน (cyproheptadine), ไพโซทิเฟน (pizotifen) เป็นต้น ตัวใดตัวหนึ่งโดยให้กินก่อนนอนทุกวันติดต่อกันอย่างน้อย ๓ เดือน เมื่อดีขึ้นก็ให้หยุดยา แต่ถ้าต่อมากลับกำเริบบ่อย ก็จะให้กลับมากินอีกเป็นช่วงๆ

สำหรับผู้หญิงที่เป็นไมเกรน ถ้ากินยาเม็ดคุมกำเนิด (ฮอร์โมนเอสโตรเจน) แล้วปวดบ่อยขึ้น ให้หันมาฉีดยาคุมกำเนิด (ฮอร์โมนโพรเจสเตอโรน) ทุก ๓ เดือนแทน ยาฉีดคุมกำเนิด จะมีส่วนป้องกันอาการปวดไมเกรนไปในตัว

ผู้ป่วยไมเกรนมักจะเป็นๆหายๆ เป็นครั้งคราวอยู่เรื่อย จึงควรมีแพทย์ประจำที่สามารถให้คำปรึกษาและให้ยารักษาและป้องกันตามความจำเป็น

ภาวะแทรกซ้อน  ผู้ป่วยไมเกรนส่วนใหญ่จะไม่มีภาวะแทรกซ้อนหรืออันตรายใดๆ ทั้งสิ้นยกเว้นในรายที่เป็นไมเกรนชนิดรุนแรงที่มีการอ่อนแรงของแขนขา บางครั้งอาจมีอาการหยุดหายใจ เนื่องเพราะกล้ามเนื้อหายใจอ่อนแรง ก็อาจต้องรีบช่วยผายปอด แล้วนำส่งโรงพยาบาลทันที  ผู้ป่วยมักจะฟื้นคืนสู่สภาวะปกติได้ภายในไม่กี่วัน

การดำเนินโรค  โรคนี้มักมีอาการอยู่นาน ๔-๗๒ ชั่วโมงแล้วสามารถทุเลาได้เอง แต่มักจะเป็นๆ หายๆ เป็นครั้งคราวเมื่อมีเหตุกำเริบหรือสิ่งกระตุ้น ผู้ป่วยส่วนหนึ่ง อาจหายขาดเมื่อพ้นอายุ ๕๕ ปี ไปแล้ว แต่ส่วนหนึ่งอาจมีอาการกำเริบได้เรื่อยๆ ตลอดชีวิต

ความชุก  โรคนี้พบได้ประมาณร้อยละ ๑๐ ของคนทั่วไป พบได้ในทุกวัย พบมากในช่วงอายุ ๑๐-๓๐ ปี และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

ข้อมูลสื่อ

315-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 315
กรกฎาคม 2548
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ