• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บุนนาค :จากความงามและความหอมสู่ตระกูลใหญ่

บุนนาค :จากความงามและความหอมสู่ตระกูลใหญ่


ตามประวัติศาสตร์ของชนชาติไทย มีบันทึกไว้ชัดเจนว่า แต่ก่อนไม่มีการใช้นามสกุลต่อท้ายชื่อมาแต่เดิม เพิ่งจะเริ่มใช้นามสกุลอย่างเป็นทางการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ (รัชกาลที่ ๖) นี้เอง ซึ่งเป็นเวลาไม่ถึง ๑๐๐ ปีเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การสืบค้นย้อนกลับไปหาต้นกำเนิดของตระกูลคนไทยทำได้จำกัด ไม่สามารถย้อนกลับไปได้เป็นพันๆ ปีดังเช่น ชาวจีน หรือชาวญี่ปุ่น เป็นต้น จะมีข้อยกเว้นอยู่บ้างก็เฉพาะตระกูลที่สืบทอดมากจากพระราชวงศ์พระราชนิกุล ตลอดจนข้าราชบริพาร ชั้นผู้ใหญ่บางท่าน จึงจะสามารถสืบย้อนกลับไปได้จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายซึ่งก็คงไม่ถึง ๔๐๐ ปี (ซึ่งเป็นรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช)
ในบรรดาตระกูลใหญ่ที่สามารถสืบค้นไปได้ถึงต้นตระกูลในสมัยกรุงศรีอยุธยาและมีบทบาทสำคัญในสังคมไทยต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะทรงอำนาจอย่างยิ่งในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นจนสูงสุดในช่วงต้นรัชกาลที่ ๕ โดยสมาชิกท่านหนึ่งของตระกูลนี้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน คือเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาต้นตระกูลของสกุลบุนนาคนั่นเอง

บุนนาค : ไม้หอมไทยดั้งเดิมอันทรงคุณค่า
บุนนาคเป็นพืชยืนต้น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mesua ferrea Linn. อยู่ในวงศ์ GUTTIFERAE) เช่นเดียวกับสารภี กระทิง และมังคุด เป็นไม้ขนาดกลาง สูง ๑๕-๒๕ เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ ทรง เจดีย์ หรือทรงกรวย ใบเป็นใบเดี่ยวหนา รูปหอกปลายแหลม กว้าง ๒-๓ เซนติเมตร ยาว ๘-๑๒ เซนติเมตร หน้าใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ท้องใบสีเขียวอมขาว ใบอ่อนสีชมพูแดง ดอกเป็นดอกเดี่ยวขนาดใหญ่ บางครั้งเป็นช่อ ๒-๓ ดอก เกิดตามง่ามใบ มีกลีบดอก ๕ กลีบ สีขาวนวลถึงเหลืองอ่อน มีเกสรตัวผู้สีเหลืองตรงกลางดอกเป็นกลุ่ม กลีบรองดอกหนาแข็ง ขนาดดอกประมาณ ๕-๗.๕ เซนติเมตร มีกลิ่นหอมส่งกลิ่นไปไกล ออกดอกช่วงเดือนมีนาคม-กรกฎาคม

บุนนาคเป็นพืชดั้งเดิมของไทย พบขึ้นในป่าชื้น ตั้งแต่ภาคเหนือไปถึงภาคใต้ ถิ่นกำเนิดของบุนนาคมีบริเวณตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัยมาจนถึงประเทศมาเลเซีย เป็นไม้ดอกยืนต้นที่คนไทยคุ้นเคยและนิยมปลูกกันมานานจนถึงปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากการนำมาใช้ตั้งเป็นชื่อตัวและชื่อสกุล เป็นต้น

ชื่อของบุนนาคในภาษาไทย คือ บุนนาค (ภาคกลาง) นาคบุตร (ภาคใต้) สารภีดอย (เชียงใหม่) ถ้ำก่อ (แม่ฮ่องสอน) ส่วนในภาษาอังกฤษเรียกว่า Iron Wood

ประโยชน์ของบุนนาค
เนื่องจากบุนนาคเป็นพืชดั้งเดิมของไทยที่อยู่ในความนิยมเป็นที่คุ้นเคยของคนไทยมาช้านาน จึงมีผู้นำมาใช้ประโยชน์ทางด้านสมุนไพรมากมายแทบจะทุกส่วนของต้น ดังพอประมวลได้ดังนี้

ดอก : รสหอมเย็นขมฝาด มีฤทธิ์ ฝาดสมาน บำรุงธาตุ ขับลม บำรุงหัวใจ แก้กระหายน้ำ บำรุงเลือด แก้กลิ่นตัว ใช้ผสมเข้ากับเกสรทั้ง ๕ เกสรทั้ง ๗ และเกสรทั้ง ๙ ปรุงเป็นยาหอม ยาลม บำรุงหัวใจ แก้ไข้ แก้ไอ ขับเสมหะ และใช้ขับลม บำรุงดวงจิตให้แช่มชื่น แก้ร้อนกระสับกระส่าย แก้ลมกองละเอียด วิงเวียนใจสั่น อ่อนเพลีย ชูกำลัง

ผล : มีฤทธิ์ขับเหงื่อ ฝาดสมาน

เมล็ด : บีบให้น้ำมัน แก้โรคผิวหนัง ปวดข้อ

ใบ : รสฝาดสมานบาดแผลสด แก้พิษงู

เกสร : รสหอมเย็น บำรุงครรภ์รักษา ทำให้ชื่นใจ แก้ไข้

เปลือกต้น : รสฝาดร้อนเล็กน้อย กระจายหนอง

กระพี้ : รสเฝื่อนเล็กน้อย แก้เสมหะในคอ

แก่น : รสเฝื่อน แก้เลือดออกตามไรฟัน

ราก : ขับลมในลำไส้

น้ำมันกลั่นจากดอก : ใช้แต่งกลิ่นสบู่ มักใช้ร่วมกับน้ำมันจันทน์ (sandal wood) ใช้ปรุงเครื่องสำอาง และใช้จุดตะเกียงให้กลิ่นหอม

เนื้อไม้บุนนาคที่มีขนาดใหญ่เป็นไม้เนื้อแข็งคุณภาพดี (ดังคำในภาษาอังกฤษว่า iron wood) เนื้อไม้สีแดงคล้ำเป็นมัน แก่นสีแดงเข้ม แข็งแรงทนทาน ขัดเงาได้ดี นิยมใช้สร้างบ้านเรือน จำพวกพื้น รอด ตง และเครื่องบน นอกจากนั้นยังทำไม้หมอนรถไฟ ทำเสาสะพาน ต่อเรือ เกวียน ทำพานท้ายปืน ไม้เท้า ด้ามร่ม เป็นต้น

บุนนาคเป็นไม้ยืนต้น ทรงพุ่มงดงาม ใบเขียวเข้มตลอดปี จึงเหมาะปลูกเป็นไม้ร่มเงาและประดับอาคารสถานที่ ประกอบกับมีดอกขนาดใหญ่ งดงามและกลิ่นหอม จึงนิยมปลูกตามวัดและบ้านเรือน ทั้งยังมีประโยชน์อื่นๆ อีก โดยเฉพาะด้านสมุนไพรจึงเป็นต้นไม้ที่น่าปลูกกันให้มากขึ้นโดยเฉพาะคนไทยที่อยู่ในตระกูลบุนนาค ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งคนไทยสกุลอื่นๆ ก็ปลูกได้โดยไม่มีการสงวนสิทธิ์แต่ประการใด

ข้อมูลสื่อ

315-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 315
กรกฎาคม 2548
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร