• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เยื่อบุผิวมดลูกงอกผิดที่

เยื่อบุผิวมดลูกงอกผิดที่


ผู้หญิงที่มีอาการปวดประจำเดือนรุนแรง หรือเริ่มปวดครั้งแรกเมื่ออายุมากกว่า ๒๕ ปีขึ้นไป อาจมีความผิดปกติของมดลูกหรือเนื้อเยื่อในอุ้งเชิงกราน สาเหตุที่พบบ่อยอันหนึ่งก็คือเยื่อบุผิวมดลูกงอกผิดที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงที่แต่งงานแล้วมีบุตรยาก ควรคิดถึงสาเหตุข้อนี้เป็นอันดับแรกๆ
 

ชื่อภาษาไทย  เยื่อบุผิวมดลูกงอกผิดที่  เอ็นโดเมทริโอซิส

ชื่อภาษาอังกฤษ  Endometriosis

สาเหตุ  เยื่อบุผิวมดลูกปกติจะอยู่บนผิวภายในโพรงมดลูก ซึ่งจะงอกหนาและมีเลือดคั่ง แล้วสลายตัวเป็นเลือดประจำเดือน เป็นวงจรตามการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศทุกเดือน ผู้หญิงบางคนจะมีเยื่อบุผิวมดลูกบางส่วนงอกอยู่นอกโพรงมดลูก เช่น ไปอยู่ในผนังกล้ามเนื้อมดลูกหรือในรังไข่ ท่อรังไข่ ลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ หรือตามเนื้อเยื่อในอุ้งเชิงกราน

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุและกลไกของการเกิดโรคนี้ที่แน่ชัด สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากมีเยื่อบุผิวมดลูกที่ปนอยู่ในเลือดประจำเดือนไหลย้อนผ่านท่อรังไข่เข้าไปฝังตัวอยู่ตามที่ต่างๆ ภายในช่องท้องโดยที่กลไกภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยบกพร่องไม่สามารถขจัดเนื้อเยื่อแปลกปลอมพวกนี้ออกไป บ้างก็สันนิษฐานว่า เซลล์ของเยื่อบุภายในช่องท้อง เกิดการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่เหมือนเยื่อบุผิวมดลูก นอกจากนี้ยังพบว่าผู้หญิงที่มีมารดาหรือพี่น้องเป็นโรคนี้ มีโอกาสเป็นเยื่อบุผิวมดลูกงอกผิดที่มากกว่าผู้หญิง ทั่วไปถึง ๖ เท่า จึงเชื่อว่าโรคนี้อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรม เยื่อบุผิวมดลูกที่งอกผิดที่เหล่านี้ มีลักษณะการเปลี่ยนแปลง (หนาตัว มีเลือดคั่ง และเลือดออก) เป็นวงจรทุกเดือนเช่นเดียวกับเยื่อบุผิวส่วนที่อยู่ภายในโพรงมดลูก แต่เนื่องจากมันฝังอยู่ในเนื้อเยื่อ เลือดที่ออกจึงคั่งอยู่ภายใน และเกิดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อโดยรอบจนเกิดเป็นพังผืดดึงรั้งอยู่ภายในช่องท้องทำให้เกิดอาการปวดท้องเรื้อรัง ในกรณีที่เป็นเยื่อบุผิวมดลูกงอกที่เยื่อหุ้มรังไข่ มักจะกลายเป็นถุงน้ำหรือซิสต์ (cyst) ขนาดเท่าไข่ไก่หรือผลส้มที่มีเลือดคั่งอยู่ข้างใน นานๆ เข้าเลือดเหล่านี้กลายเป็นสีเข้มคล้ายช็อกโกแลต จึงเรียกว่า "ถุงน้ำช็อกโกแลต" (chocolate cyst)ซึ่งอาจทำให้มีอาการปวดท้องรุนแรงได้

อาการ  บางคนอาจไม่มีอาการและแพทย์ตรวจพบโดยบังเอิญขณะตรวจเช็กสุขภาพ หรือเจ็บป่วยด้วยโรคอื่น หรือมาปรึกษาปัญหามีบุตรยาก บางคนอาจมีอาการปวดประจำเดือน ซึ่งจะเป็นรุนแรงในช่วงวันท้ายๆ ของประจำเดือน อาการปวดประจำเดือนอาจเกิดขึ้นเมื่ออายุมากกว่า ๒๕ ปี โดยก่อนหน้านี้ไม่มีอาการปวดประจำเดือนมาก่อน บางคนอาจมีเลือดประจำเดือนออกมากกว่าปกติ หรือกะปริดกะปรอย บางคนอาจมีอาการเจ็บปวดขณะหรือหลังร่วมเพศ ในรายที่มีเยื่อบุผิวมดลูกงอกที่ลำไส้ใหญ่ จะมีอาการเจ็บปวดขณะถ่ายอุจจาระ หรือถ่ายเป็นเลือดขณะมีประจำเดือน ในรายที่มีเยื่อบุผิวมดลูกงอกที่กระเพาะปัสสาวะจะมีอาการเจ็บปวดขณะถ่ายปัสสาวะ ในรายที่เป็นถุงน้ำช็อกโกแลต ถ้าเกิดการแตกของถุงน้ำจะมีอาการปวดท้องรุนแรงได้ ประมาณร้อยละ ๖๐-๗๐ ของผู้ป่วยโรคนี้จะมีประวัติว่ายังไม่เคยมีบุตรมาก่อน

การแยกโรค  อาการปวดท้องเวลามีประจำเดือน อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น

๑. อาการปวดประจำเดือนธรรมดา อาการปวดมักจะไม่รุนแรงและเป็นนานน้อยกว่า ๗๒ ชั่วโมง มักจะมีอาการตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก หรือภายใน ๓ ปีหลังมีประจำเดือนครั้งแรก หลังอายุ ๒๕ ปี อาการจะค่อยๆ ทุเลาลง บางรายอาจหายปวดหลังแต่งงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังมีบุตรแล้ว

๒. เนื้องอกมดลูก จะมีอาการปวดประจำเดือนรุนแรงร่วมกับมีเลือดประจำเดือนออกมากหรือออกกะปริดกะปรอย บางคนอาจคลำได้ก้อนที่บริเวณท้องน้อย อาการปวดประจำเดือนมักจะเป็นหลังอายุ ๒๕ ปี

๓. อุ้งเชิงกรานอักเสบเรื้อรังจะมีอาการปวดท้อง น้อย ๒ ข้าง แบบเรื้อรัง อาจปวดมากขณะมีประจำเดือนหรือขณะร่วมเพศ

ส่วนในรายที่มีอาการปวดท้องน้อยรุนแรง อาจต้องแยกออกจากสาเหตุที่ร้ายแรงอื่นๆ เช่น

๑. ไส้ติ่งอักเสบ จะมีอาการปวดท้องติดต่อกันหลายชั่วโมง หรือข้ามวัน เดินกระเทือนหรือเอามือกดตรงท้องน้อยข้างขวา จะมีอาการเจ็บปวดมาก

๒. ปีกมดลูกอักเสบเฉียบพลันจะมีไข้สูง ปวดท้องน้อย กดเจ็บตรงท้องน้อย อาจมีอาการตกขาวหรือปัสสาวะแสบขัด

๓. ถุงน้ำรังไข่ (ovarian cyst) ผู้หญิงบางคนอาจมีถุงน้ำรังไข่เกิดขึ้นมานาน ถ้าเกิดการแตกหรือขั้วของถุงน้ำเกิดการปิดตัว ก็จะมีอาการปวดท้องรุนแรงได้ ซึ่งจะปวดต่อเนื่องหลายชั่วโมงหรือข้ามวัน

๔. ครรภ์นอกมดลูก จะมีอาการปวดท้องรุนแรง หน้าตาซีดเซียว หน้ามืดเป็นลม มือเท้าเย็น กระสับกระส่าย มักมีประวัติขาดประจำเดือน ๑-๓ เดือน

การวินิจฉัย  เบื้องต้นแพทย์จะสงสัยโรคนี้จากอาการบอกเล่าของผู้ป่วย ที่สำคัญคือ อาการปวดประจำเดือนที่เป็นรุนแรงกว่าปกติ หรือเริ่มเป็นหลังอายุ ๒๕ ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติการมีบุตรยาก หรือเป็นหมัน แพทย์จะทำการตรวจภายในช่องคลอด อาจพบก้อนของเยื่อบุผิวมดลูกในอุ้งเชิงกราน ถ้าสงสัยว่าเป็นโรคนี้ แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การตรวจอัลตราซาวนด์ การถ่ายภาพด้วย คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) การใช้กล้องส่องตรวจภายใน ช่องท้อง (laparoscopy) และนำเนื้อเยื่อในช่องท้องไปตรวจพิสูจน์ (biopsy) เป็นต้น

การดูแลตนเอง  ผู้ที่มีอาการปวดประจำเดือนรุนแรง หรือเริ่มปวดครั้งแรกหลังอายุ ๒๕ ปี มีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง หรือมีอาการอื่นๆ ที่สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ หรือมีบุตรยาก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคนี้ ขอให้สบายใจได้ว่า เป็นภาวะที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง ซึ่งมีทางเยียวยาให้ทุเลาหรือหายได้ และควรปฏิบัติตัวดังนี้

๑. ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัดอย่างต่อเนื่อง
๒. กินยาบรรเทาปวด หรือยาที่แพทย์สั่ง
๓. ออกกำลังกายเป็นประจำ อาจช่วยลดอาการปวดได้

ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ถ้ามีอาการข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้

๑. ปวดท้องรุนแรง หรือปวดติดต่อกันนานเกิน ๖ ชั่วโมง
๒. กดเจ็บมากตรงบริเวณที่ปวด
๓. มีอาการหน้ามืดเป็นลมร่วมด้วย
๔. สงสัยว่าปวดจากสาเหตุร้ายแรง เช่น ไส้ติ่งอักเสบ ครรภ์นอกมดลูก เป็นต้น

การรักษา  เมื่อตรวจพบว่าเป็นเยื่อบุผิวมดลูกงอกผิดที่ แพทย์จะให้การรักษาโดยพิจารณาจากความรุนแรงของโรค ดังนี้

๑. ถ้ามีอาการเพียงเล็กน้อย จะให้ยาบรรเทาปวด เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน ทรามาดอล (tra-madol) เป็นต้น กินเป็นครั้งคราวเวลาปวด และนัดมาติดตามดูอาการเป็นระยะๆ

๒. ถ้ามีอาการรุนแรงปานกลางจะให้ยาฮอร์โมน เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาโพรเจสเตอโรน ดานาซอล (danazol) เป็นต้น นานอย่างน้อย  ๖ เดือน เพื่อลดการปวด และปรับดุลฮอร์โมนในร่างกายซึ่งอาจช่วยให้มีบุตรได้

๓. ในรายที่เป็นรุนแรงมาก หรือต้องการมีบุตร หรือใช้ยาบำบัดไม่ได้ผล แพทย์ก็อาจรักษาด้วยการผ่าตัด ในปัจจุบันจะใช้วิธีสอดกล้องเข้าไปในช่องท้อง และทำการผ่าตัดผ่านกล้องที่สอด ในรายที่เป็นมากอาจผ่าตัดเปิดช่องท้องแบบวิธีดั้งเดิม การผ่าตัดมีวิธีการหลากหลายขึ้นกับลักษณะของโรคที่พบ เช่น ตัดเอาถุงน้ำ (cyst) ออกไป เลาะพังผืดที่ติดรั้ง เป็นต้น ในรายที่อายุมากหรือไม่ต้องการมีบุตรแล้ว แพทย์อาจทำการผ่าตัดมดลูก และรังไข่ ๒ ข้างออกไป จะช่วยให้อาการปวดหายไปได้ หลังผ่าตัดอาจจำเป็นต้องกินฮอร์โมนทดแทนไปสักระยะหนึ่ง

๔. ในรายที่ต้องการมีบุตร มีวิธีการรักษาต่างๆ เช่น การใช้ฮอร์โมนบำบัด การผสมเทียม (เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว หรือการทำกิฟต์) การผ่าตัดแก้ไขพยาธิสภาพ ในอุ้งเชิงกราน เป็นต้น วิธีการบำบัดเหล่านี้มักจะช่วยให้ผู้ป่วยมีบุตรได้ ส่วนโอกาสมากน้อยขึ้นกับความรุนแรงของโรค

ภาวะแทรกซ้อน  โรคนี้ไม่มีภาวะแทรกซ้อนอันตรายร้ายแรง
ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยก็คือ ภาวะมีบุตรยาก หรือเป็นหมัน ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ ๖๐-๗๐ ของ  ผู้ที่เป็นโรคนี้ สาเหตุสันนิษฐานว่ามีได้หลายอย่าง เช่น มีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างของระบบอวัยวะสืบพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย เป็นต้น นอกจากนี้ ถ้าก้อนของเยื่อบุผิวมดลูกโตมากก็อาจ ทำให้เกิดภาวะอุดกั้นของลำไส้ หรือทางเดินปัสสาวะได้ทำให้มีอาการขับถ่ายลำบาก

การดำเนินโรค  ถ้าไม่ได้รับการรักษา ก็จะมีอาการปวดท้อง เรื้อรัง (โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนอันตรายร้ายแรงตามมา) บางคนอาจทุเลาหลังเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน (วัยทอง) การรักษาจะช่วยให้อาการทุเลาหรือหายขาดได้ และช่วยให้มีบุตรได้ แต่บางคนหลังผ่าตัดมดลูกแล้วก็ยังอาจมีอาการกำเริบก็ได้

การป้องกัน  เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคนี้ จึงยังบอกไม่ได้ว่าจะหาทางป้องกันอย่างไร สำหรับผู้ที่ตรวจพบว่าเป็นโรคนี้ สามารถป้องกันการเกิดอาการกำเริบได้ โดยการกินยาคุมกำเนิด การออกกำลังกาย และการทำให้เกิดการตั้งครรภ์ (การตั้งครรภ์จะป้องกันไม่ให้อาการกำเริบหรือลดความรุนแรงของอาการได้)

ความชุก  พบได้ประมาณร้อยละ ๗-๑๐ ของหญิงวัยเจริญพันธุ์ ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยหมดประจำเดือน แต่จะพบมากในช่วงอายุ ๒๕-๓๕ ปี พบได้ประมาณร้อยละ ๓๕ ของผู้หญิงที่มีบุตรยาก หรือเป็นหมัน ผู้ที่มีมารดาหรือพี่น้องเป็นเยื่อบุผิวมดลูกงอกผิดที่มีโอกาสเป็นโรคนี้มากเป็น ๖ เท่าของผู้ที่ไม่มีประวัติโรคนี้ในครอบครัว

ข้อมูลสื่อ

316-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 316
สิงหาคม 2548
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ