• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไอออนโตฟอรีซีส (Iontophoresis) คืออะไร

ไอออนโตฟอรีซีส (Iontophoresis) คืออะไร

ถาม : ทิพวรรณ/ฉะเชิงเทรา
ปัจจุบันดิฉันอายุ ๓๗ ปี (โสด) อยากทราบเกี่ยวกับการทำ "ไอออนโตฟอรีซีส" (iontophoresis) ว่า

  • ประโยชน์ที่ได้จากการทำ "ไอออนโต" คืออะไร
  • ขั้นตอนการทำอย่างไร
  • มีผลข้างเคียงอะไรไหม

ดิฉันอยากศึกษาข้อมูลก่อนไปรับการรักษาค่ะ ขอความกรุณาคุณหมอช่วยตอบด้วยนะคะ
 

ตอบ : นพ.ปริทัศน์ ศุกรีเขตร 
การทำ iontophoresis เป็นการใช้กระแสไฟฟ้านำยาหรือสารเคมีลงสู่ผิวหนัง ในสมัยก่อนได้มีการใช้วิธีนี้ในการช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดด้วยสารพวกยาชา และก็ยังใช้กันสืบมา แม้ว่าจะไม่เป็นที่นิยมนัก อย่างไรก็ตามการใช้น้ำเปล่ากับ iontophoresis ก็เป็นสิ่งที่ได้ผลดีมาก ในการรักษาภาวะที่มีเหงื่อออกมาก ไม่ว่าจะเป็นเหงื่อออกมากตามมือ เท้า หรือที่รักแร้ จึงมีการทำเครื่องมือ iontophoresis ที่เหมาะสมสำหรับการรักษาภาวะเหงื่อออกมาก

ปัจจุบันได้มีการเอาเครื่องมือ iontophoresis มาใช้ในการเสริมความงามให้ผิวสดใสหรือขาวขึ้น โดยการใช้ร่วมกับวิตามินซีและสารเคมีอีกบางชนิด ซึ่งการทำเช่นนี้ค่อนข้างจะแพร่หลายในประเทศทางแถบเอเชียมากกว่าทางยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา แต่ผู้เขียนยังไม่เคยเห็นเอกสาร การทำการวิจัยและศึกษาทั้งทางคลินิกและทางวิทยาศาสตร์ที่ดีสำหรับการทำให้ผิวขาวหรือสดใสขึ้นเลย เนื่องจากความนิยมมีมากขึ้น จึงได้มีการศึกษาวิจัยซึ่งทำโดย นพ.อภิชาติ ศิวยาธร และคณะที่โรงพยาบาล
ศิริราชเกี่ยวกับเรื่องนี้ แม้ว่าการศึกษายังไม่จบสิ้นลงสมบูรณ์ก็ตาม การได้สนทนาส่วนตัวถึงผลการศึกษากับท่านก็ได้ข้อสรุปดังนี้คือ การใช้วิตามินซี iontophoresis ร่วมกับยาทาฝ้า ไม่ให้ผลแตกต่างจากการใช้ยาทาฝ้าแต่อย่างเดียวในการรักษาฝ้า

การทำ iontophoresis ที่ทำกันทั้งหลาย มีการตั้งราคาที่แตกต่างกันออกไปมีการทำในโรงพยาบาล คลินิกและสถานเสริมความงามหลายแห่ง และมีการอ้างว่าได้ผลต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นการลบรอยดำหรือทำให้รอยดำที่เกิดขึ้นหลังจากการที่มีแผลหรือผิวหนังอักเสบมาก่อน การรักษากระ การรักษาฝ้า (postinflammatory hyperpigmentation) การที่ผิวลาย (stria distensae) หรือแม้แต่การรักษาแผลเป็น การชะลอความแก่หรือเหี่ยวย่น มีการใช้สารเคมีต่างๆ กันออกไป ไม่จำกัดแค่วิตามินซีเท่านั้น การอ้างว่าได้ผลนั้นเกือบทั้งหมดหรือทั้งหมด ไม่มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่ดีพอในการสนับสนุนข้ออ้าง ดังกล่าวเลย และแทบจะไม่มีการกล่าวถึงผลเสียหรือ ข้อแทรกซ้อนของการรักษาเลย

ภาวะแทรกซ้อนของการ iontophoresis เพื่อความสวยความงามนั้น ก็มีหลายประการ เช่น ยิ่งทำไป ยิ่งดำขึ้น หน้าแดง หน้าลอก แสบหน้า เป็นต้น ทั้งนี้เพราะหลักการของ iontophoresis ก็คือ การใช้กระแสไฟฟ้าช่วยพาเอาสารเคมีหรือยาลงไปใต้ผิวหนัง ธรรมชาติของผิวหนังจะมีชั้นขี้ไคลเป็นฉนวนหรือเกราะที่คอยปกป้องผิวหนังไม่ให้ได้รับอันตราย กระแสไฟฟ้าจะต้องไปทำให้ฉนวนหรือเกราะนี้เสื่อมสภาพไปบ้างไม่มากก็น้อย ยาหรือสารเคมีจึงจะลงไปได้ กระแสไฟฟ้าที่ใช้จึงเป็น physical agent ที่ทำ ให้เกิด physical injury ต่อผิวหนัง ขณะที่ได้รับการทำ iontophoresis อยู่ผู้ที่ได้รับการทำจะรู้สึกแปลบๆ เหมือนไฟฟ้าดูดอยู่น้อยๆ การที่มีการใช้อุปกรณ์สื่อนำไฟฟ้าสัมผัสกับบริเวณผิวหน้าและวนไปวนมานั่น ก็เป็นการช่วยลดความรู้สึกแปลบๆ ของการถูกไฟฟ้าดูดน้อยๆ นั่นเอง เมื่อเสร็จสิ้นการทำ iontophoresis บริเวณที่ได้รับการทำก็อาจจะแดงหรือเป็นสีชมพูอยู่ชั่วคราว การทำ iontophoresis นั้นมักจะมีการนัดให้มาทำบ่อยพอสมควร เช่น ๒-๓ ครั้งต่อสัปดาห์ และเป็นระยะเวลาต่อเนื่องหลายสัปดาห์ ไม่ว่าสารเคมีหรือยานั้นจะออกฤทธิ์ต่อผิวหนังอย่างไร แต่ electrical injury ของผิวหนัง ก็จะยังผลให้ผิวหนังชั้นบนเกิดการลอกตัวอาจเป็นน้อยๆ จนมองไม่เห็นว่าเป็นขุยหรือเป็นมากจนเป็นขุยให้เห็นได้

ผู้ที่ได้รับการรักษาเห็นว่า ผิวหนังขาวขึ้น อาจเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุผลหลายอย่าง โดยไม่เกี่ยวกับวิตามินซี หรือยาที่ให้เลยก็ได้ เช่น เมื่อมี electrical injury บ่อยพอ ก็อาจทำให้เกิดเป็นรอยด่างหรือขาวที่เราเรียกว่า postinflammatory hypopigmentation เช่นเดียวกับกลไกที่ทำให้เกิดรอยขาวในเกลื้อนแดด (pityriasis alba) หรือผิวหนังอักเสบชนิดอื่น หรืออาจจะขาวขึ้นเพราะผิวหนังชั้นขี้ไคลลอกหลุดเร็วขึ้นเช่นในกรณีที่ใช้ยากินหรือยาทาในกลุ่มของกรดวิตามินเอ                       

ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ จึงอาจทำให้เกิดข้อแทรกซ้อนในระยะยาวได้คือ การที่ผิวหนัง หรือผิวหน้าเกิดการแพ้หรือการระคายเคืองได้ง่าย โดยเฉพาะในผู้ที่ได้รับการรักษาบ่อยและนานเกินไป คล้ายกับคนที่เคยได้รับการทำ baby face มา การที่จะตัดสินใจทำ iontophoresis นั้นควรจะใช้ความพินิจพิเคราะห์เช่นเดียวกับการที่ไปให้ร้านเสริมสวยบำรุงรักษาผิวหน้า ซึ่งแม้ว่าบางแห่งจะมีแพทย์เป็นผู้รับผิดชอบ แต่ผู้ที่ให้บริการนั้นก็เป็นผู้ที่ผ่านการฝึกหรืออบรมมาเท่านั้น ไม่ได้มีความรู้อย่างลึกซึ้งถึงผลดีผลเสียในการทำแต่อย่างใด และผลที่ได้ก็เป็นผลชั่วคราวเท่านั้น ถ้าไม่ได้ทำอีกผิวหน้าก็อาจจะหมองหรือไม่สดใสเช่นเดิม แต่ถ้าจะทำตลอดไปก็อาจจะทำให้ผิวเกิดการแพ้หรือระคายเคืองได้ง่าย

ข้อมูลสื่อ

316-013-4
นิตยสารหมอชาวบ้าน 316
สิงหาคม 2548
นพ.ปริทัศน์ ศุกรีเขตร