โรคกระเพาะ
ถาม : มณีรัตน์/ประจวบคีรีขันธ์
ดิฉันอายุ ๓๓ ปี น้ำหนัก ๔๐ กิโลกรัม สูง ๑๕๕ เซนติเมตร เป็นพนักงานบริษัท มีปัญหาจะขอเรียนถามคุณหมอ ดังนี้ คือ
- โรคกระเพาะเกิดจากสาเหตุอะไร
- ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเป็นโรคกระเพาะ
- ถ้าเป็นแล้วสามารถรักษาให้หายได้หรือไม่
ขอความกรุณาคุณหมอช่วยตอบด้วยนะคะ
ตอบ : นพ.รักษ์พงศ์ เวียงเจริญ
โรคกระเพาะอาหารในความรู้สึกของประชาชนทั่วไป หมายถึง อาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ และมักสัมพันธ์กับการกินอาหารอิ่มก็ปวด หิวก็ปวด แต่ความเป็นจริงแล้ว ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่มีอาการใกล้เคียงกับอาการดังกล่าวข้างต้น ได้แก่
๑. นิ่วในถุงน้ำดี มักพบในหญิงวัยกลางคน หรือผู้ป่วยโรคทาลัสซีเมีย อาการมักปวดบริเวณลิ้นปี่เยื้องมาทางขวา อาการมักรุนแรง เป็นทันที อาจนานเป็นชั่วโมง อาจปวดหลังร้าวไปทั่วหลัง หรือไหล่ขวา
๒. กลุ่มอาการปวดท้อง irritable bowel syndrome พบบ่อยในวัยรุ่นและหนุ่มสาว เชื่อว่าสัมพันธ์กับความเครียดความกังวล อาการเด่นคือ ปวดท้องแน่นๆ มักปวดท้องส่วนล่าง ซึ่งเมื่อถ่ายอุจจาระแล้วจะดีขึ้น มีความผิดปกติของอุจจาระบ่อยเหลว อาจมีมูกปน หรือรู้สึกถ่ายไม่สุด
๓. การกินยาบางอย่างแล้วได้รับผลข้างเคียงจากยา เช่น ยาแก้ปวด ยาขยายหลอดลม ยาบำรุงเลือด เป็นต้น
สำหรับโรคกระเพาะอาหารโดยตรงที่พบบ่อย คือ โรคแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งพบบ่อยในประชากรวัยทำงาน และพบในชายมากกว่าหญิง อาการสำคัญคือ มีอาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ มักจะสัมพันธ์กับการกินอาหาร อาการจะดีขึ้น หรือหายไปเมื่อกินอาหาร ยาลดกรด หรือนม อาการมักเป็นๆ หายๆ อาจจะเป็นช่วงแรก ไม่นานแล้วก็หายไป แล้วเป็นใหม่ กลายเป็นแผลเรื้อรังได้ บางครั้งอาจมีผลแทรกซ้อน เช่น มีเลือดออกจากแผลในกระเพาะอาหาร หรือแผลนั้นทะลุเกิดการอักเสบในช่องท้อง ต้องผ่าตัดฉุกเฉิน
สาเหตุของโรคแผลในกระเพาะอาหาร คือ
๑. การหลั่งกรดผิดปกติในกระเพาะอาหาร
๒. กรรมพันธุ์ พบว่าเกิดกับคนในครอบครัวเดียวกันได้บ่อยๆ
๓. บุหรี่ทำให้มีการผลิตกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้แผลหายช้า
๔. ยาบางอย่างมีผลทั้งระคายเคืองกระเพาะอาหารโดยตรง และทำให้กลไกการป้องกันในกระเพาะอาหารเสียไป ได้แก่ ยาแอสไพริน กลุ่มยา NSAIDs ที่ใช้รักษาโรคข้อแก้ปวด ยาในกลุ่มสตีรอยด์ เป็นต้น
๕. ความเครียดความกังวล ทำให้มีการหลั่งกรดมากขึ้น
๖. การติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ Helicobacter pylori
การรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร
เนื่องจากโรคนี้พบบ่อยในประชากรวัยทำงาน เนื่องจากการตรากตรำทำงานหนัก กินอาหารไม่เป็นเวลา พักผ่อนน้อย มีความเครียดจากงาน และใช้ยาแก้ปวดเมื่อยบ่อย เมื่อแพทย์ซักประวัติอาการ ความเสี่ยง และตรวจร่างกาย เข้าได้กับโรคแผลในกระเพาะอาหาร และโรคอื่นๆ ที่อาการคล้ายๆ กันดังกล่าวข้างต้น ก็จะให้การรักษาไปเลย
การรักษาต้องมี ๒ อย่างประกอบกันเสมอ คือ การรักษาด้วยยา และการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องของผู้ป่วย
การรักษาด้วยยา แพทย์มักจะจ่ายยากลุ่มลดอาการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร หรือยาที่เคลือบผิวหนังกระเพาะไว้ เช่น ยา Cimetidine Ranitidine Ome-prazole Sucralfate ซึ่งยังมีอีกหลายชนิดหลายกลุ่ม ส่วนใหญ่แพทย์มักไม่ใช้ยาน้ำ เช่น Alum milk เป็นเพราะผู้ป่วยมักหามากินเองก่อนมาหาแพทย์ และการใช้ Alum milk อย่างเดียว เพื่อรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร ต้องกินในปริมาณมาก จนอาจมีผลข้างเคียงของยาได้ บางครั้งแพทย์อาจใช้ Alum milk มาใช้บรรเทาอาการร่วมกับยาอื่นก็ได้ การรักษาอาจใช้เวลา ๔๘ สัปดาห์
การปฏิบัติตัวของผู้ป่วย เป็นปัจจัยสำคัญเพื่อลดความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่
๑. กินอาหารให้เป็นเวลา ควรกินครบ ๓ มื้อ เว้นอาหารรสจัด งดกินอาหารว่างหลังอาหารมื้อเย็น
๒. ระหว่างกินอาหาร ควรเคี้ยวให้ละเอียดไม่กินอาหารเวลาเหนื่อยมากๆ หรือหลังเล่นกีฬา
๓. งดสูบบุหรี่เด็ดขาด และควรงดดื่มสุราหรือดื่มกาแฟขณะท้องว่าง
๔. ลดความกังวลความตึงเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
๕. ละเว้นการใช้ยาแก้ปวดยอก เช่น แอสไพริน ยาในกลุ่ม NSAIDs และสตีรอยด์ ถ้าจำเป็นต้องใช้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา ไม่ควรหาซื้อมากินเอง
ทำไมรักษาโรคกระเพาะไม่หาย
เนื่องจากโรคแผลในกระเพาะอาหารเป็นโรคเรื้อรัง บางครั้งอาจไม่หายเร็ว แต่เมื่อไม่หาย สิ่งที่แพทย์ต้องตรวจสอบคือ ผู้ป่วยได้กินยาตามแพทย์สั่งหรือไม่ได้ปฏิบัติตัวเหมาะสมหรือไม่ ถ้าเหมาะสมแล้ว ต้องทบทวนการวินิจฉัยใหม่ เพราะอาจจะเป็นโรคอื่นๆ ดังกล่าวข้างต้น เมื่อรักษาไปแล้ว ๔-๖ สัปดาห์ ซึ่งอาจต้องค้นหา สาเหตุเพิ่มเติม เช่น การอัลตราซาวนด์ การเอกซเรย์กลืนแป้ง หรือส่องกล้องตรวจในกระเพาะอาหารเพื่อดูให้เห็นลักษณะในกระเพาะ และวิธีหลังนี้ยังสามารถตรวจสอบว่ามีการติดเชื้อ Helicobacter pylori ในกระเพาะอาหารหรือไม่ เพื่อจะได้ให้ยาฆ่าเชื้อร่วมด้วย แต่บางครั้ง แพทย์อาจจะต้องให้เอกซเรย์กลืนแป้ง หรือส่องกล้องตรวจในกระเพาะอาหารเลย โดยไม่ต้องรอให้ยาก่อนในผู้ป่วยบางกรณีที่สงสัยว่าอาจจะเป็นโรคอื่นๆ หรืออาการเกี่ยวข้องกับมะเร็ง หรือมีโรคแทรกซ้อนของแผลแล้ว ได้แก่ เริ่มมีอาการเมื่ออายุมาก คือ ๔๐ ปี น้ำหนักลด ปวดรุนแรงตอนกลางคืน ตรวจพบว่าซีดหรือมีเลือดออกให้เห็นชัดเจน อาเจียนบ่อย กลืนลำบาก ตาเหลือง ตัวเหลือง แพทย์คลำได้ตับโต ม้ามโต หรือก้อนอื่นๆ ในท้อง มีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งของทางเดินอาหาร ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้แพทย์จะต้องตรวจเป็นพิเศษ และต้องตรวจเพิ่มเติมทันทีที่มา หาครั้งแรก
การดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อสงสัยว่าจะเป็นโรคกระเพาะอาหาร
สิ่งแรกคือ ต้องตรวจสอบตัวเองว่ามีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหรือไม่ เช่น กินอาหารไม่ตรงเวลา สูบบุหรี่จัด เครียดจากการทำงาน ใช้ยาแก้ปวดบ่อย ให้หลีกเลี่ยงเสีย อาจซื้อยา Alum milk ซึ่งมีทั้งแบบน้ำและแบบเม็ดมาลองกินดู ถ้าดีขึ้นบ้างแล้วเลิกกิน หรือกินแล้วไม่หาย ควรปรึกษาแพทย์ แต่ถ้ามีความผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ น้ำหนักลด เบื่ออาหาร อาเจียนบ่อย กลืนลำบาก ซีด ถ่ายดำ หรืออาเจียนมีเลือดปน ปวดท้องรุนแรงตอนกลางคืน หรือเริ่มเป็นเมื่ออายุมากกว่า ๔๐ ปี ควรปรึกษา แพทย์เลยจะดีกว่า
- อ่าน 9,047 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้