อาหารเป็นพิษ ในที่นี้หมายถึง อาการท้องเดิน (อุจจาระร่วง) เนื่องจากการกินอาหารที่มีสารพิษที่เกิดจากเชื้อโรคปนเปื้อน เป็นสาเหตุของอาการท้องเดินที่พบได้บ่อยในหมู่คนทั่วไป
ส่วนใหญ่มักจะมีอาการไม่รุนแรง และทุเลาได้เองภายใน ๒๔-๔๘ ชั่วโมง สามารถให้การดูแลรักษาอย่างง่ายๆ ด้วยการทดแทนน้ำและเกลือแร่ด้วยสารละลายน้ำตาลเกลือแร่
ส่วนน้อยที่อาจรุนแรง จนต้องให้น้ำเกลือที่โรงพยาบาล
อย่างไรก็ตาม ก็ควรแยกแยะสาเหตุจากโรคอื่นๆ ที่จำเป็นต้องให้การรักษาด้วยยาต่างๆ เพิ่มเติม
- ชื่อภาษาไทย
อาหารเป็นพิษ
- ชื่อภาษาอังกฤษ
Food poisoning
- สาเหตุ
มีเชื้อโรคหลายชนิดที่สามารถปล่อยสารพิษ (toxin) ออกมาปนเปื้อนในอาหารต่างๆ เช่น น้ำดื่ม เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ ไข่ นม อาหารทะเล และผลิตภัณฑ์จากนม เนยแข็ง ข้าว ขนมปัง สลัด ผัก ผลไม้ เป็นต้น
เมื่อคนเรากินอาหารที่ปนเปื้อนสารพิษดังกล่าว ก็จะทำให้เกิดอาการปวดท้อง อาเจียน ท้องเดิน
สารพิษหลายชนิดทนต่อความร้อน ถึงแม้จะปรุงอาหารให้สุกแล้ว สารพิษก็ยังคงอยู่และก่อให้เกิดโรคได้
ระยะฟักตัวขึ้นกับชนิดของเชื้อโรค บางชนิดมีระยะฟักตัว ๑-๘ ชั่วโมง บางชนิด ๘-๑๖ ชั่วโมง บางชนิด ๘-๔๘ ชั่วโมง
- อาการ
อาหารเป็นพิษจากเชื้อโรคต่างๆ จะมีอาการคล้ายๆ กัน คือ ปวดท้องในลักษณะปวดบิดเป็นพักๆ อาเจียน (ซึ่งมักมีเศษอาหารที่เป็นต้นเหตุออกมาด้วย) และถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง บางรายอาจมีไข้และอ่อนเพลียร่วมด้วย
โดยทั่วไป ถ้าเป็นไม่รุนแรง อาการต่างๆ มักจะหายได้เองภายใน ๒๔-๔๘ ชั่วโมง บางชนิดอาจนานถึงสัปดาห์
ในรายที่เป็นรุนแรง อาจอาเจียนและท้องเดินรุนแรง จนร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรงได้
อาจพบว่า ผู้ที่กินอาหารร่วมกันกับผู้ป่วย (เช่น งานเลี้ยง คนในบ้านที่กินอาหารชุดเดียวกัน) ก็มีอาการแบบเดียวกับผู้ป่วยในเวลาไล่เลี่ยกัน
- การแยกโรค
อาการท้องเดิน ท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง หรืออุจจาระร่วง อาจมีสาเหตุได้มากมาย ที่พบได้บ่อย มีดังนี้
๑. ถ้ามีไข้ร่วมด้วย นอกจากอาหารเป็นพิษแล้ว ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น
- อุจจาระร่วงจากไวรัส มักพบในเด็ก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งมีอยู่หลายชนิด และอาจพบว่าเป็นพร้อมกันหลายคน เนื่องจากติดต่อกันได้ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง อ่อนเพลีย อาเจียน ถ่ายเป็นน้ำ อาจเป็นนานถึงสัปดาห์ก็ได้
- บิดชิเกลล่า เริ่มแรกจะมีอาการไข้สูง อ่อนเพลีย ถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง อาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย อีก ๑๒-๒๔ ชั่วโมงต่อมา อาการถ่ายเป็นน้ำลดลง แต่กลายเป็นถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือดกะปริดกะปรอย คล้ายถ่ายไม่สุด ปวดเบ่ง อยากถ่ายอยู่เรื่อย (อาจถ่ายชั่วโมงละหลายครั้ง หรือวันละ ๑๐-๒๐ ครั้ง) โรคนี้เกิดจากการกินอาหารปนเปื้อนเชื้อชิเกลล่า (shigella) ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่ง จำเป็นต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
๒. ถ้าไม่มีไข้ อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น
- เกิดจากยา ที่พบบ่อย ได้แก่ ยาถ่าย (เช่น ดีเกลือ ยาระบายแมกนีเซีย มะขามแขก) ยาลดกรด ยารักษาโรคเกาต์ (คอลชิซิน) ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น ทำให้มีอาการปวดท้อง ถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง
- เกิดจากกินสารพิษ ได้แก่ สารเคมี (เช่น ยาฆ่าแมลง สารหนู ตะกั่ว ปรอท) พืชพิษ (เช่น เห็ดพิษ กลอย) สัตว์พิษ (เช่น ปลาปักเป้า แมงดาถ้วย หอยทะเล คางคก) ผู้ป่วยมักมีอาการอาเจียน ปวดท้อง อาจมีอาการถ่ายท้อง และอาจมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง หยุดหายใจ ชักกะตุก ชาบริเวณริมฝีปากหรือใบหน้า ดีซ่าน เป็นต้น
- อหิวาต์ เกิดจากการกินอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้ออหิวาต์ มีอาการปวดท้องถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง คล้ายอาหารเป็นพิษ อาจพบมีการระบาดของโรคในละแวกบ้านของผู้ป่วย
๓. ถ้าเป็นเรื้อรัง (ถ่ายทุกวันนานเกิน ๓ สัปดาห์ หรือเป็นๆ หายๆ บ่อย) อาจมีสาเหตุ เช่น
- เกิดจากลำไส้ไวต่อสิ่งกระตุ้น บางคนหลังกินอาหารบางอย่าง (เช่น นม ของเผ็ด น้ำส้มสายชู เหล้า กาแฟ) ก็จะกระตุ้นให้ลำไส้ขับเคลื่อนเร็ว เกิดอาการปวดท้องถ่าย และถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายอุจจาระเหลว ๒-๓ ครั้ง ภายในครึ่งชั่วโมงหลังกินอาหาร มักเป็นไม่รุนแรง แต่จะเป็นบ่อยเมื่อกินอาหารชนิดนั้นๆ อีก
- โรคลำไส้แปรปรวน พบในคนวัยหนุ่มสาวขึ้นไป มักมีสาเหตุจากความเครียด หรือจากอาหารบางชนิด ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้องถ่าย และถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำวันละหลายครั้งทุกวันในช่วงที่มีความเครียด หรือถ่ายเหลวหรือเป็นน้ำ ๑-๒ ครั้ง หลังกินอาหารทันที อาการมักไม่รุนแรงและมีสุขภาพแข็งแรง บางคนอาจมีอาการเป็นๆ หายๆ มานานหลายปี หรือนับสิบๆ ปี
- โรคพร่องเอนไซม์แล็กเทส บางคนอาจพร่องมาแต่กำเนิด บางคนอาจพร่องชั่วคราวหลังจากมีอาการท้องเดินจากการติดเชื้อ ทำให้ไม่สามารถย่อยน้ำตาลแล็กโทสที่อยู่ในนม ผู้ป่วยมักมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ถ่ายเป็นน้ำหลังดื่มนมทุกครั้ง โดยทั่วไปมักมีสุขภาพแข็งแรงดี และถ้าไม่ดื่มนมหรือกินผลิตภัณฑ์จากนมก็จะไม่มีอาการ
- มะเร็งลำไส้ใหญ่ มักพบในวัยกลางคนขึ้นไป ผู้ป่วยอยู่ๆ มีอาการถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง ทุกวันนานเป็นสัปดาห์ถึงแรมเดือน ต่อมาจะมีอาการน้ำหนักลดฮวบฮาบ อ่อนเพลีย บางคนอาจมีอาการถ่ายเป็นเลือดสดร่วมด้วย
- อื่นๆ เช่น เบาหวาน เอดส์ คอพอกเป็นพิษ เป็นต้น ผู้ป่วยมักมีอาการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้งทุกวัน อ่อนเพลีย น้ำหนักลดฮวบฮาบ
ถ้าเป็นเอดส์มักมีไข้เรื้อรังร่วมด้วย
ถ้าเป็นเบาหวาน อาจมีอาการปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย และหิวข้าวบ่อย ร่วมด้วย
ถ้าเป็นคอพอกเป็นพิษ มักมีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว มือสั่น เหงื่อออกมากร่วมด้วย
- การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการแสดงของผู้ป่วยเป็นหลัก ได้แก่ อาการปวดท้อง อาเจียน ถ่ายเป็นน้ำ ซึ่งเกิดขึ้นฉับพลัน อาจมีประวัติว่าผู้ที่กินอาหารด้วยกันบางคนหรือหลายคน (เช่น งานเลี้ยง คนในบ้าน) มีอาการท้องเดินในเวลาไล่เลี่ยกัน
ในรายที่มีอาการรุนแรง มีไข้สูง หรือสงสัยว่าเกิดจากสาเหตุอื่น แพทย์อาจทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจอุจจาระ เป็นต้น
ในรายที่เป็นเรื้อรัง อาจทำการถ่ายภาพลำไส้ด้วยรังสี หรือใช้กล้องส่องตรวจทางเดินอาหารเพิ่มเติม
- การดูแลตนเอง
• ในผู้ใหญ่และเด็กโต
๑. ถ้าปวดท้องรุนแรง ถ่ายท้องรุนแรง (อุจจาระเป็นน้ำครั้งละมากๆ) อาเจียนรุนแรง (จนดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่หรือน้ำข้าวต้มไม่ได้) เมื่อลุกขึ้นนั่งมีอาการหน้ามืดเป็นลม หรือมีภาวะขาดน้ำรุนแรง (ปากแห้ง คอแห้ง ตาโบ๋ ปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเต้นเร็ว) ต้องไปหาหมอโดยเร็ว
๒. ถ้าไม่มีอาการดังข้อ ๑ ให้ปฏิบัติดังนี้
๒.๑ ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ อาจใช้ผงน้ำตาลเกลือแร่ ชนิดสำเร็จรูปที่มีขายในท้องตลาด หรืออาจผสมเองโดยใช้น้ำสุก ๑ ขวดกลมใหญ่ (๗๕๐ มล.) ใส่น้ำตาลทราย ๓๐ มล. (เท่ากับช้อนยาเด็ก ๖ ช้อน หรือช้อนกินข้าวชนิดสั้น ๓ ช้อน) และเกลือป่น ๒.๕ มล. (เท่ากับช้อนยาครึ่งช้อน หรือช้อนยาวที่ใช้คู่กับซ่อมครึ่งช้อน)
พยายามดื่มบ่อยๆ ครั้งละ ๑ ใน ๓ หรือครึ่งแก้ว (อย่าดื่มมากจนอาเจียน) ให้ได้มากพอกับที่ถ่ายออกไป โดยสังเกตปัสสาวะให้ออกมากและใส
๒.๒ ถ้ามีไข้ ให้ยาลดไข้-พาราเซตามอล
๒.๓ ให้กินอาหารอ่อน เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก งดอาหารรสเผ็ดและย่อยยาก งดผักและผลไม้ จนกว่าอาการจะหายดีแล้ว
๒.๔ ห้ามกินยาเพื่อให้หยุดถ่ายอุจจาระ
๓. ควรรีบไปหาหมอ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้
- อาเจียนมาก ถ่ายท้องมาก กินไม่ได้ หรือดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ไม่ได้ หรือได้น้อย จนมีภาวะขาดน้ำค่อนข้างรุนแรง
- มีอาการถ่ายเป็นมูก หรือมูกปนเลือดตามมา
- มีอาการหนังตาตก ชารอบปาก แขนขาอ่อนแรง หรือหายใจลำบาก
- อาการไม่ทุเลาภายใน ๔๘ ชั่วโมง
- มีอาการเรื้อรัง หรือน้ำหนักลดฮวบฮาบ
- สงสัยเกิดจากสารพิษ เช่น สารเคมี พืชพิษ สัตว์พิษ
- สงสัยเกิดจากอหิวาต์ เช่น สัมผัสผู้ที่เป็นอหิวาต์ หรืออยู่ในถิ่นที่กำลังมีการระบาดของโรคนี้ (มักเกิดในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน)
• ในเด็กเล็ก (อายุต่ำกว่า ๕ ขวบ)
๑. ถ้าดื่มนมแม่อยู่ ให้ดื่มนมแม่ต่อไป (ถ้าดื่มนมผสมอยู่ ให้ชงเจือจางเท่าตัวและดื่มต่อไป) และดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ หรือน้ำข้าวต้มใส่เกลือเพิ่มเติม เมื่อมีอาการดีขึ้น ให้กินอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย (เช่น ข่าวต้ม) ไม่ต้องให้ยาที่ใช้แก้ท้องเดินชนิดใดทั้งสิ้น
๒. ถ้าถ่ายท้องรุนแรง อาเจียนรุนแรง ดื่มนมหรือน้ำไม่ได้ ซึม กระสับกระส่าย ตาโบ๋ กระหม่อมบุ๋มมาก (ในเด็กเล็ก) หายใจหอบแรง หรืออาการไม่ดีขึ้นใน ๒๔ ชั่วโมง ต้องไปหาหมอโดยเร็ว
- การรักษา
แพทย์จะให้การรักษา ตามความรุนแรงของโรคดังนี้
๑. ถ้ารุนแรงไม่มาก ยังกินได้ และขาดน้ำไม่มาก (ลุกเดินได้ ไม่หน้ามืด) ก็จะให้การรักษาตามอาการและให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ (แบบเดียวกับที่แนะนำในหัวข้อ “การดูแลตนเอง”)
๒. ถ้ารุนแรง ถึงขั้นขาดน้ำรุนแรง (มีอาการใจหวิว ใจสั่น จะเป็นลม มือเท้าเย็น ปัสสาวะออกน้อยมาก) หรืออาเจียนรุนแรง ถ่ายรุนแรง หรือกินไม่ได้ ก็จะต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล โดยให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ จนกว่าจะทุเลา
๓. ถ้าสงสัยเกิดจากสาเหตุอื่น ก็จะให้การรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ เช่น ให้ยาปฏิชีวนะในรายที่พบว่าเป็นบิดชิเกลล่า หรืออหิวาต์ เป็นต้น
- ภาวะแทรกซ้อน
ที่สำคัญ คือ ภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ ซึ่งพบในรายที่มีอาการถ่ายมาก อาเจียนมาก กินไม่ได้
ถ้าขาดน้ำรุนแรงและแก้ไขไม่ทันก็อาจเกิดภาวะช็อก (ตัวเย็น กระสับกระส่าย เป็นลม) ถึงขั้นเป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก คนสูงอายุหรือมีโรคเรื้อรังประจำตัว (เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน)
- การดำเนินโรค
ในรายที่เป็นเล็กน้อย มักจะหายได้เอง ภายใน ๒๔-๔๘ ชั่วโมง
ในรายที่เป็นรุนแรง เมื่อได้รับสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ หรือ น้ำเกลือ (ทางหลอดเลือดดำ) ก็มักจะป้องกันภาวะแทรกซ้อน และหายได้ภายใน ๒-๓ วัน (ไม่เกิน ๑ สัปดาห์)
ส่วนในรายที่เป็นรุนแรง และขาดการรักษาด้วยการทดแทนน้ำและเกลือแร่ ก็อาจเกิดภาวะขาดน้ำถึงขั้นอันตรายได้ภายใน ๑-๒ วัน
- การป้องกัน
๑. ดื่มน้ำสะอาด
๒. ควรล้างมือก่อนเปิบข้าวและหลังถ่ายอุจจาระ
๓. กินอาหารที่สุกใหม่ ไม่มีแมลงวันตอม (แม้ว่าอาจป้องกันอาหารเป็นพิษจากเชื้อโรคบางชนิดไม่ได้ แต่ก็สามารถป้องกันการเกิดท้องเดินจากการติดเชื้ออื่นๆ เช่น บิด อหิวาต์)
- ความชุก
พบได้บ่อยในคนทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่ยังมีการสุขาภิบาลไม่ดี
- อ่าน 301,331 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้