• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ภาวะพลังไตไม่พยุงรั้ง

ภาวะพลังไตไม่พยุงรั้ง

กลุ่มอาการหรือภาวะพลังไตไม่พยุงรั้งมีความหมายและอาการแสดงออกอย่างไร

ภาวะพลังไตไม่พยุงรั้ง หรือพลังไตอ่อนแอไม่ดึงรั้ง เป็นภาวะที่บ่งบอกว่า พลังไตอ่อนแอจนทำให้หน้าที่ในการเก็บกัก สะสม พยุง หรือเหนี่ยวรั้งบกพร่อง ทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ปัสสาวะรดที่นอน น้ำกามเคลื่อน หลั่งเร็ว ตกขาวมากผิดปกติ รวมถึงแท้งลูกได้ง่าย

อาการร่วมที่มักพบในผู้ป่วยภาวะพลังไตไม่พยุงรั้ง ได้แก่อะไรบ้าง การตรวจร่างกายพบความผิดปกติอะไร
อาการเมื่อยเอว เข่าอ่อน อ่อนเพลีย ไม่มีแรง มีเสียงดังในหู หูฟังไม่ชัด ปัสสาวะบ่อยสีใส หรือปัสสาวะไม่สุด กะปริบกะปรอย หรือปัสสาวะบ่อยครั้งในตอนกลางคืน หรือปัสสาวะกลั้นไม่อยู่ ในเพศชายอาจพบน้ำกามเคลื่อนหรือฝันเปียกบ่อยๆ รวมทั้งมีภาวะหลั่งเร็วขณะร่วมเพศ ในเพศหญิงจะมีประจำเดือนกะปริบกะปรอย ตกขาวเหลวใสปริมาณมาก หรือมีภาวะแท้งลูกได้ง่าย การตรวจลิ้นมักพบลิ้นซีดฝ้าขาว ชีพจรอ่อนแอ

สาเหตุของภาวะพลังไตไม่พยุงรั้งคืออะไร

  • วัยเด็ก พลังไตยังไม่แข็งแรงเต็มที่ ทำให้พบปัสสาวะรดที่นอนในเด็กเล็กได้ ซึ่งถือเป็นภาวะปกติ
  • สาเหตุจากกรรมพันธุ์เนื่องจากระบบฮอร์โมนไม่สมบูรณ์พอ เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาจืด
  • คนสูงอายุที่มีพลังไตเสื่อมถอย อ่อนแอลงตามวัย
  • คนที่มีเพศสัมพันธ์มากเกินไป หรือคนที่มีภาวะอ่อนเพลีย เหนื่อยล้าเรื้อรัง

กลไกการเกิดโรคเป็นอย่างไร
ในทรรศนะแพทย์แผนจีน ไตในทรรศนะแพทย์แผนจีน มีหน้าที่สำคัญหน้าที่หนึ่งคือ การกักเก็บสารจิง การพยุงรั้งส่วนของด้านล่าง ซึ่งครอบคลุมเรื่องของมดลูก อวัยวะสืบพันธุ์ ทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ และทวารหนัก เมื่อพลังไตขาดความสามารถในการพยุงรั้งทำให้กลไกความสามารถในการเก็บกักปัสสาวะ สารจิง (น้ำอสุจิ) ผิดปกติ ทำให้เกิดอาการปัสสาวะบ่อยครั้งและสีใส

  • หลังถ่ายปัสสาวะแล้ว ยังมีปัสสาวะตกค้าง (ปัสสาวะไม่สุด)
  • ปัสสาวะรดที่นอน
  • ปัสสาวะกลั้นไม่อยู่
  • การเก็บกักน้ำอสุจิผิดปกติ เช่น น้ำกามเคลื่อน หลั่งเร็ว
  • ตกขาวมากผิดปกติ ตกขาวใส ปริมาณมาก (เนื่องจากเส้นลมปราณชง และเยิ่น  ที่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือนและการตั้งครรภ์ ล้วนมีพื้นฐานจากไต เมื่อพลังไตอ่อนแอ ชง เยิ่น  ขาดสมดุล ประจำเดือนจะผิดปกติ)
  • ประจำเดือนกะปริบกะปรอย ไหลๆ หยุดๆ
  • แท้งง่าย
  • เด็กในครรภ์ดิ้นมากผิดปกติ
  • ภาวะไตพร่อง ยังพบอาการเมื่อยเอว เข่าอ่อนแรง มีเสียงดังในหู หูตึง เหนื่อยล้า
  • การตรวจลิ้นมักพบลิ้นซีด ชีพจรอ่อนแอ

พัฒนาการของโรคเป็นอย่างไร ถ้าปล่อยให้เป็นเรื้อรัง ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
ถ้าพบในเด็กเล็ก ขณะที่พลังไตยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ เมื่อได้รับการเลี้ยงดูเติบโตไประยะหนึ่งอาการจะหายได้เอง คนสูงอายุมักจะรักษายากขึ้น เป้าหมายเพื่อลดอาการ ชะลอความเสื่อม ป้องกันการเกิดโรครุนแรงขึ้น การสูญเสียสารจิงในกรณีน้ำกามเคลื่อนจะทำให้พลังไตสูญเสียมากขึ้น จนเกิดภาวะยินหยางพร้อมทั้งคู่

การแยกแยะจากกลุ่มอาการอื่นๆ หรือการวินิจฉัยแยกแยะกับโรคอื่นๆ อย่างไร

๑. ภาวะร้อนชื้นของเซี่ยเจียวหรือภาวะร้อนชื้นในส่วนล่างของร่างกาย

  • ภาวะร้อนชื้นจะมีอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะกะปริบกะปรอย ปัสสาวะไม่สุด น้ำกามเคลื่อน ตกขาวได้เหมือนกัน แต่จะพบภาวะร้อนชื้นชัดเจน เช่น ลิ้นมีฝ้าเหลืองเหนียว ชีพจรลื่น-เร็ว ร่วมกับมีอาการร้อนชื้น
  • กระเพาะปัสสาวะร้อนชื้น นอกจากจะปัสสาวะบ่อยแล้วยังมีอาการเจ็บ หรือปัสสาวะขัด ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม หรือมีเลือดปน
  • น้ำกามเคลื่อนจากภาวะร้อนชื้น จะมีอาการปากขม ปัสสาวะเข้ม
  • ตกขาวจากร้อนชื้นจะมีตกขาวสีเหลือง กลิ่นเหม็น

๒. พลังไตไม่เก็บกักพลัง

พลังไตไม่เก็บกักพลังกับพลังไตไม่พยุงรั้งล้วนเป็นภาวะพลังไตพร่องทั้งคู่ แต่อาการทางคลินิกต่างกัน
พลังไตไม่พยุงรั้ง : เกี่ยวข้องกับความสามารถใน การควบคุมการขับปัสสาวะ น้ำอสุจิ ตกขาว (ของเหลวจากมดลูก) รวมถึงเลือด (จากประจำเดือน)
พลังไตไม่เก็บกักพลัง : เกี่ยวข้องกับการเก็บลมหายใจ เช่น หายใจสั้น ถอนหายใจ หายใจเข้าน้อย-หายใจออกมาก หรือถ้าเป็นมากคือ การหืดหอบ (หายใจเข้าไม่ลึก-หายใจออกมาก)

เปรียบเทียบกับแพทย์แผนปัจจุบัน ภาวะของพลังไตไม่พยุงรั้งได้แก่โรคอะไร

  • ปัสสาวะรดที่นอน
  • ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง
  • โรคเบาจืด
  • ปัสสาวะขุ่นขาวเหมือนน้ำนม
  • โรคเบาหวาน
  • ปัสสาวะบ่อยจากความเครียด
  • โรคจิตประสาท (ประสาทอ่อนแอ)
  • อักเสบของลูกอัณฑะ
  • มดลูกมีเลือดออกผิดปกติจากการทำงานแปร-ปรวน
  • ภาวะแท้งบ่อยๆ

หลักการรักษาและตำรับยาที่ใช้คืออะไร
หลักการรักษาทั่วไป พยุงรั้งเสริมพลังไต
ตำรับยา : ซาง-เพียว-เซียว-ส่าน
สรรพคุณ : ปรับบำรุงไต-หัวใจ : ปัสสาวะรดที่นอน น้ำกามเคลื่อน

ตัวยาประกอบด้วย
ซาง-เพียว-เซียว 
หย่วน-จื้อ 
สือ-ชัง-ผู่   
หลง-กู่  
เหยิน-เซิน 
ฝูหลิว   
ตังกุย    
กุย-ป้าน  

ตำรับยา : จิน-ส่อ-กู้-จิง-หวาน
สรรพคุณ : บำรุงไตเพื่อเสริมการพยุงรั้ง ใช้รักษาน้ำกามเคลื่อน

ตัวยาประกอบด้วย
ถงจี้หลี 
เชวี้ยนสื่อ 
เหลียนชวี  
เหลียนโหย่ว 
หลงกู่  
หมู่ลี่  

ตำรับยา : กู้-ชง-ทัง
สรรพคุณ : เสริมชี่บำรุงม้าม พยุงชง ดึงรั้งเลือด ใช้รักษาประจำเดือนมามากผิดปกติจากพลังไตพร่อง

ตัวยาประกอบด้วย
หวงฉี   
ไป๋จู๋    
ซานจูยวี  
ไป๋เสา   
หลงกู่   
หมู่ลี่    
อู่ไป้จื่อ   
จง-ฉวี่-ท่าน 
เชวี้ยนเฉ่า
ไห่-เพียว-เซียว 

ตำรับยา : ไท่-ซาน-ปัน-สื่อ-ยิ่น
สรรพคุณ : บำรุงพลังเสริมม้าม บำรุงเลือด สงบครรภ์ ใช้รักษาภาวะแท้งบุตรง่าย

ตัวยาประกอบด้วย
เหยิน-เซิน 
สูตี้     
ฝูหลิง    
ไป๋จู๋     
หวงฉี    
หวงฉิน   
ตังกุย 
ไป๋เสา  
จื่อกันเฉ่า 
ชวนทรวง  
ซาเหยิน   
ข้าวเหนียว  

สรุปของกลุ่มอาการ หรือภาวะพลังไตไม่พยุงรั้ง เป็นภาวะของพลังไตพร่องรูปแบบหนึ่งที่แสดงออกของโรคหรืออาการที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการพยุง หรือดึงหลั่งของเหลวจากส่วนล่างของร่างกายผิดปกติ เช่น ประจำเดือน น้ำอสุจิ ปัสสาวะ การตั้งครรภ์ เป็นต้น

การรักษาจึงต้องเน้นการปรับพลังไต หรือการปรับพลังม้าม (เพื่อไปเสริมพลังไต) เพื่อปรับเลือดลม และพยุงดึงรั้งไม่ให้เกิดอาการที่ควบคุมไม่ได้ การแก้อาการเป็นปรากฏการณ์จำเป็นต้องแก้ที่รากฐานที่เป็นต้นเหตุควบคู่กันไป การรักษากลุ่มอาการดังกล่าว นับเป็นจุดเด่นของแพทย์แผนจีน เมื่อเทียบกับแพทย์แผนปัจจุบันที่มักเน้นแก้ที่ปรากฏการณ์เป็นด้านหลัก 

ข้อมูลสื่อ

317-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 317
กันยายน 2548
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล