• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยกกระสอบทรายไม่ให้ปวด

พักนี้น้ำท่วมคงต้องช่วยกันบรรจุ แบก ผูก ถุงทราย หลายวันก่อนผู้เขียนไปช่วยบรรจุและยกถุงทราย ปวดไหล่ หลัง ขา ไป ๓-๔ วัน เห็นว่าน่าจะมีอะไรที่นักกายภาพบำบัดอย่างผู้เขียนพอที่จะช่วยแนะนำอะไรเล็กๆ น้อยได้บ้าง ยามที่ใครๆ ต้องช่วยกันทำกระสอบทรายกันมากมายในตอนนี้

หลากหลายวิธียกกระสอบทราย

  • ถ้าจะยกกระสอบทรายต้องประมาณน้ำหนักก่อนว่ายกไหวไหม ถ้าไม่ไหวต้องให้คนช่วย ช่วงยกถ้ามีการบิดตัวพยายามอย่าให้บิดมาก เช่น ยกแล้วต้องบิดกลับไปวางที่ด้านหลัง อาจต้องเปลี่ยนที่ยืนให้ตัวเราบิดน้อยที่สุด การส่งต่อกระสอบทรายที่หนักไปยังอีกคนหนึ่งจะมีอันตราย เพราะแต่ละคนความแข็งแรงไม่เท่ากันอาจประเมินแรงที่ยกได้ผิดไป คือต้องยกกระสอบทรายที่ส่งต่อมาให้ทั้งที่ตัวเองแรงไม่พอ ดังนั้นน้ำหนักของกระสอบทรายจะเป็นตัวแปรที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับอาการบาดเจ็บ

ผู้เขียนกะดูว่าน้ำหนักไม่ควรเกิน ๓ พลั่ว ถ้าจะให้คนปกติ (ที่ไม่เคยออกกำลัง) ยก ถ้าเกินกว่านั้นต้องใช้มากกว่า ๒ คน หรือถ้าไม่จำเป็นต้องยกขึ้น ให้ใช้การลากกับพื้นจะประหยัดแรงได้มากกว่า อย่าลืมว่าเวลายกในครั้งแรกๆ อาจไม่เป็นไรแต่เมื่อยกไปเรื่อยๆ กล้ามเนื้อหรือเอ็นหลังอาจบาดเจ็บได้

  • เวลาใช้พลั่วตักทรายเข้าถุงจะต้องบิดตัวเอาทรายเข้าถุง พยายามหามุมยืนที่เราไม่ต้องบิดมาก ถ้าเริ่มเมื่อยให้คนถือปากถุงไปยืนอีกฝากจะได้บิดตัวไปอีกข้าง เวลายกถุงทรายก็เช่นเดียวกัน ถ้าจำเป็นต้องบิดตัวยก ให้บิดสลับข้างบ้าง ทำสลับไปเรื่อยๆ เมื่อรู้สึกตึงๆ ปวดๆ ที่หลังก็ต้องหยุด เพราะร่างกายจะเตือนให้เราพัก
  • เวลาทำงานแบบนี้บางครั้งไม่ได้พักเพราะต้องทำงานแข่งกับเวลา ดังนั้นอาจต้องสลับหน้าที่กัน เช่น ยกแล้วเมื่อยก็ไปตักทราย ตักทรายเมื่อก็ไปนั่งผูกถุงทรายพักจนหายเมื่อยแล้วไปทำงานยกใหม่
  • ถ้าต้องนั่งกับพื้นนานๆ พยามลุกขึ้นยืนและดัดหลังด้วยการแอ่นตัวไปทางด้านหลังครั้งละ ๕ วินาที จะช่วยป้องกันไม่ให้หลังเจ็บได้บางส่วน

เมื่อกลับบ้านหลังจากที่ไปออกแรงมา อาจมีอาการปวดเมื่อยที่เรียกว่า อาการปวดระบมของกล้ามเนื้อ Delayed Onset Muscle Soreness (DOMS) ซึ่งจะมีการดำเนินของอาการดังต่อไปนี้
วันแรกหลังทำจะไม่มีอาการ ไม่ปวด จะรู้สึกเพลียเฉยๆ  

  • วันที่ ๒-๓ หลังทำกิจกรรม จะปวดระบมมากระดับความเจ็บปวดอาจถึงขั้น ๗/๑๐ บางท่านอาจเดินไม่ค่อยได้เพราะปวดและมีความรู้สึกร้อนที่บริเวณกล้ามเนื้อ อาการปวดจะหายไปได้เองโดยที่ไม่ต้องทำอะไรภายใน ๕-๗ วัน

สิ่งที่อยากเตือนก็คือถ้ามีอาการปวด ขณะหรือหลังทำกิจกรรมทันทีแสดงว่ากล้ามเนื้อหรือเอ็นหรือส่วนอื่นๆ อาจมีปัญหา ต้องใช้น้ำแข็งประคบและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญโดยเร็ว
หรือถ้าหลัง ๑๐ วันไปแล้วยังมีอาการปวดอยู่ ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเหมือนกัน เพราะแสดงว่ามีอาการเรื้อรังอาจมีปัญหาภายหลังได้
ใครที่ต้องยกของหนีน้ำให้ดูกำลังตัวเองก่อนว่ายกไหวไหม? ถ้าไม่ไหวก็อย่าไปเสี่ยงยกเลย สุขภาพเราสำคัญกว่ามาก ของนอกกายไม่ตายก็หาซื้อใหม่ได้ แต่ถ้าหลังเจ็บรักษากันนานเป็นเดือนๆ
ขอให้ทุกท่านผ่านพ้นอุทกภัยครั้งนี้ไปด้วยความปลอดภัยนะครับ
 

ข้อมูลสื่อ

391-034
นิตยสารหมอชาวบ้าน 391
พฤศจิกายน 2554
เรื่องน่ารู้
ดร.วรรธนะ ชลายนเดชะ