• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

๕ คำถาม โรคเบาหวานขึ้นตา

เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่มีอาการแทรกซ้อนหลายอย่าง รวมถึง “เบาหวานขึ้นตา” ด้วย มาเรียนรู้ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานขึ้นตากันดีกว่า

๑. โรคเบาหวานมีผลกระทบต่อดวงตาของผู้ป่วยอย่างไรบ้าง
คำตอบ : ตา เป็นอวัยวะหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง คือโรคเบาหวาน เช่นเดียวกับอีกหลายอวัยวะในร่างกาย โดยสามารถแบ่งภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับดวงตาออกเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
๑.ภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลัน ในภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือด จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลนส์ตาเปลี่ยนแปลง เกิดการดึงสารน้ำเข้าไปในตัวเนื้อเลนส์ตา ผู้ป่วยจะมีระดับสายตาเปลี่ยนแปลง เช่น มีสายตาสั้นเพิ่มขึ้นในช่วงที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง จะทำให้ตามัว และอาการอาจดีขึ้นเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดลดลง
สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่ยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้คงที่ได้ ขอแนะนำว่ายังไม่ควรตัดหรือเปลี่ยนแว่นสายตาใหม่
๒.ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา หรือที่นิยมเรียกกันทั่วไปว่า เบาหวานขึ้นตา โดยโรคเบาหวานขึ้นตาในระยะแรก ผู้ป่วยมักไม่มีอาการผิดปกติใด การมองเห็นยังชัดเจนดีอยู่ จะทราบได้เฉพาะเมื่อมารับการตรวจจอประสาทตากับจักษุแพทย์  

เมื่อเบาหวานขึ้นตาระยะกลาง ผู้ป่วยอาจมีหรือไม่มีอาการผิดปกติก็ได้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการยิงเลเซอร์ที่จอประสาทตา เพื่อป้องกันโรคลุกลามเป็นภาวะเบาหวานขึ้นตาระยะรุนแรง ซึ่งทำให้เกิดจอประสาทตาหลุดลอก เลือดออกในวุ้นลูกตา ทำให้ผู้ป่วยตาบอด และมักไม่สามารถรักษาให้กลับมามองเห็นเช่นเดิมได้
๓.ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังอื่นๆ ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานมาเป็นระยะเวลานาน จะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ ของตาที่อาจทำให้ตาบอดได้ เช่น โรคต้อกระจก โรคต้อหิน และโรคหลอดเลือดจอประสาทตาอุดตัน

๒. โรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตาเกิดจากสาเหตุใด และทำให้ตาบอดได้อย่างไร
ตอบ : โรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา หรือ diabetic retinopathy เกิดจากมีการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดขนาดเล็กที่จอประสาทตา ทำให้หลอดเลือดมีการถูกทำลายและเกิดการอุดตัน จอประสาทตาส่วนที่อยู่ใกล้เคียงจึงขาดเลือด มีการหลั่งสารกระตุ้นให้มีหลอดเลือดใหม่ที่ผิดปกติจากหลอดเลือดบริเวณข้างเคียงมาสู่บริเวณที่ขาดเลือด แต่หลอดเลือดเกิดใหม่นี้มักเปราะแตกง่ายกว่าหลอดเลือดปกติ (ทำให้เกิดเลือดออกในจอประสาทตาและวุ้นลูกตา) และอาจดึงให้จอประสาทตาลอก ทำให้ผู้ป่วยตาบอดได้

๓. เบาหวานขึ้นจอประสาทตามีปัจจัยเสี่ยงใดบ้าง การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเบาหวานขึ้นจอประสาทตาได้หรือไม่
ตอบ : ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตาที่สำคัญคือ ระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน อายุที่เริ่มวินิจฉัยเบาหวานยิ่งเริ่มเป็นเบาหวานตั้งแต่อายุน้อยยิ่งมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตามาก การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด (fasting blood sugar) ไม่ป้องกันการเกิดเบาหวานขึ้นจอประสาทตา แต่ช่วยให้โรคเกิดช้าลงเท่านั้น
  
๔. โรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา แบ่งเป็นกี่ระยะ อย่างไร
ตอบ : โรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา แบ่งระยะเป็น
๑.ระยะต้น non-Proliferation DR (NPDR) มีเฉพาะจุดเลือดออกและไขมัน (exudates) ในจอประสาทตา
๒.ระยะรุนแรง proliferative DR (PDR) มีหลอดเลือดงอกใหม่ที่ขั้วประสาทตา หรือบริเวณอื่นของจอประสาทตา ซึ่งจะเปราะแตกง่าย ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น เลือดออกในวุ้นลูกตา จอประสาทตาลอก หรือต้อหินทำให้ตาบอดได้  

            

๕. ผู้ป่วยเบาหวานควรเริ่มตรวจจอประสาทตาเพื่อเฝ้าระวังเบาหวานขึ้นตาเมื่อใด และต้องตรวจบ่อยเพียงใด
ตอบ : ระยะเวลาที่เหมาะสมในการตรวจหาโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา คือ

 

ความถี่ในการตรวจจอประสาทตา กรณีไม่พบภาวะปกติ (no DR) ประมาณ ๑ ปี/ครั้ง เพราะโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตาในระยะต้นผู้ป่วยจะยังไม่มีอาการผิดปกติใด เมื่อแพทย์ตรวจพบโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตาในระยะปานกลาง (ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะยังไม่มีอาการ) ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยเลเซอร์เพื่อป้องกันตาบอด เพราะหากรอกระทั่งมีอาการรุนแรงตามัวแล้ว มักไม่สามารถรักษาให้กลับมามองเห็นได้ดังเดิม

จะเห็นได้ว่าการป้องกันการเกิดเบาหวานขึ้นจอประสาทตาในผู้ป่วยเบาหวานมีความจำเป็น ดังนั้น ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจจอประสาทตาโดยแพทย์ทั่วไปที่มีประสบการณ์หรือจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ ๑-๒ ครั้งด้วย

สอบถามปัญหาสุขภาพตากับราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ที่เว็บไซต์ www.rcopt.org

 

ข้อมูลสื่อ

391-050
นิตยสารหมอชาวบ้าน 391
พฤศจิกายน 2554
รักษ์ “ดวงตา”
นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์