• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เลือดคั่งค้างอุดกั้น

เลือดคั่งค้างอุดกั้น


ชายคนหนึ่งเคยถูกรถจักรยานยนต์ชนบริเวณหน้าอก กระดูกซี่โครงหักไป ๓ ซี่ เมื่อ ๓๐ ปีก่อน ระยะหลายปีมานี้ จะมีอาการจุกแน่นหน้าอก เวลาดื่มไวน์ร่วมกับกินข้าวอิ่ม มีอาการหน้าแดง-ม่วงคล้ำ ใจสั่น ชีพจร ๑๓๐ ครั้ง/นาที เคยไปตรวจที่โรงพยาบาลหลายแห่ง ดูคลื่นหัวใจ วิ่งสายพาน ใส่สายสวนหัวใจ ก็ไม่พบความผิดปกติอะไร ผู้ป่วยจะมีตำแหน่งปวดที่แน่นอน บริเวณหน้าอกและบริเวณใกล้สะบักด้านซ้าย

ชายคนหนึ่งเคยอุบัติเหตุรถคว่ำ ถูกกระทบกระเทือนชายโครงมา ๑๐ ปี ระยะหลังเวลาอากาศเย็นจะปวดบริเวณชายโครงอย่างมาก โดยเฉพาะเวลากลางคืน
หญิงคนหนึ่งมีอาการปวดประจำเดือนทุกครั้งที่มีรอบเดือน ประจำเดือนเป็นก้อนเป็นลิ่ม สีแดงคล้ำ ต่อมาตรวจพบว่าเป็นพังผืดและเยื่อบุโพรงมดลูกงอกผิดที่
ตัวอย่างที่กล่าวมาเป็นภาวะของโรคคล้ายกัน คือ ภาวะเลือดคั่งค้างอุดกั้น ที่แสดงออกในตำแหน่งต่างๆ กัน

๑. ความหมายของภาวะเลือดคั่งค้างอุดกั้น คืออะไร
ภาวะเลือดคั่งค้างอุดกั้น เป็นภาวะที่เลือดหยุดนิ่ง ไหลเวียนช้าลง ไม่ไหลเวียนอยู่ภายในร่างกาย หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด เป็นก้อน มีเลือดออก ลิ้นเขียวม่วง

๒. อาการสำคัญที่ตรวจพบ และอาการรวมอื่นๆ ที่ผู้ป่วยมาพบคืออะไร? การตรวจลิ้นและชีพจรจะพบความผิดปกติอะไร

  • อาการเด่นที่สำคัญ คือ เจ็บเหมือนเข็มแทง มีก้อนแข็ง มีเลือดออกเป็นสีม่วงคล้ำ ริมฝีปาก ลิ้น เล็บเขียวม่วง
  • อาการรวมอื่นๆ ได้แก่ ปวดเหมือนมีดแทง ตำแหน่งแน่นอน กดเจ็บ ปวดมากตอนกลางคืน มีก้อนแข็ง กดแล้วไม่เคลื่อนที่ เลือดออกหยุดๆ หายๆ (กะปริด-กะปรอย)  สีม่วงคล้ำ หรือร่วมกับเป็นก้อนเลือด อุจจาระสีดำมีลักษณะคล้ายน้ำมันสน ใบหน้าดำ ผิวหนังเป็นสะเก็ด เล็บ ริมฝีปากเขียวม่วง
  • ในสตรีประจำเดือนอาจขาดหายไปหรือประจำเดือนผิดปกติ ลักษณะของลิ้น ลิ้นสีม่วงคล้ำ มีรอยจ้ำเลือด หรือหลอดเลือดดำใต้ลิ้นขดงอ และขยายตัว ชีพจรเล็กฝืดหรือไม่เป็นจังหวะ

๓. สาเหตุของเลือดตกค้างอุดกั้น คืออะไร

  • กลไกพลังติดขัด พลังติดขัดทำให้เลือดไม่ไหลเวียน
  • เลือดเย็นทำให้เลือดเกาะตัว การไหลเวียนช้าลง
  • เลือดร้อนทำให้เลือดข้นเหนียว เกิดความหนืดเลือดไหลไม่คล่อง
  • พลังพร่องไม่มีกำลัง เลือดไม่มีแรงผลักดัน
  • อุบัติเหตุกระทบกระแทก หกล้ม ให้ช้ำในเลือดตกค้าง

๔. กลไกการเกิดโรค คืออะไร

  • กลไกสำคัญคือ เลือดตกค้างไม่ไหลเวียน เส้นลมปราณติดขัด เลือดและพลังไม่ไหลเวียน เมื่อไม่คล่องก็เกิดการปวด
  • เลือดตกค้างอุดกั้นเป็นปัจจัยก่อโรคที่มีรูปลักษณ์ เมื่อปิดกั้นกลไกพลังลักษณะการเจ็บปวดเหมือนเข็มแทงหรือมีดกรีด ตำแหน่งคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อกดพลังติดขัดจะมากขึ้น อาการปวดรุนแรงขึ้น กลางคืนเนื่องจากเลือดไหลเวียนช้า อาการปวดก็จะทวีความรุนแรงขึ้นเช่นกัน

การที่เลือดตกค้างไม่ไหลเวียน จึงกลายเป็นก้อน ลักษณะก้อนจะแข็ง ตำแหน่งแน่นอน สีเขียวม่วง เนื่องจากเลือดและพลังไหลเวียนไม่คล่อง กล้ามเนื้อผิวหนังขาดการหล่อเลี้ยง ทำให้ใบหน้าดำคล้ำ ผิวหนังหนาตัวเป็นสะเก็ด ริมฝีปากและเล็บเขียวม่วง ในผู้หญิงจะพบความผิดปกติของประจำเดือน เช่น ประจำเดือนขาดหายไป ถ้าเกิดในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ จะพบลำไส้อุจจาระมีสีดำคล้ายน้ำมันสน การที่หลอดเลือดตกค้างในหลอดเลือดเล็กหรือระดับลั่ว จะทำให้ตรวจพบลิ้นที่มีรอยปื้นเลือดหรือจุดเลือดออก ชีพจรฝืด เต้นไม่เป็นจังหวะ

๕. การดำเนินของโรคเป็นอย่างไร ถ้าปล่อยให้ภาวะเลือดอุดกั้นคั่งค้างดำเนินต่อไป
ถ้ามีการตกค้างอุดกั้นของเลือดในหลอดเลือด ที่หล่อเลี้ยงอวัยวะภายใน จะเกิดโรคเกี่ยวกับอวัยวะภายในขึ้น เช่น หลอดเลือดหัวใจอุดตัน ก้อนในกระเพาะอาหาร ก้อนในมดลูก หลอดเลือดอุดตันในสมอง ก้อนอุดตันในทรวงอกกะบังลม ก้อนอุดตันที่ผิวหนังกล้ามเนื้อ ทำให้เลือดเข้าแทนที่ไม่ได้ ในที่สุดจะทำให้เลือดแห้ง หรือเกิดความเสื่อมถอย ทรุดโทรมของร่างกาย การอุดตันของหลอดเลือด ทำให้การไหลเวียนเลือดและพลังในเส้นลมปราณติดขัด ไม่มีอาหารไปหล่อเลี้ยงร่างกาย แขนขา ทำให้เกิดการฝ่อลีบ บางรายถึงกับเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต

๖. การแยกแยะภาวะเลือดคั่งค้างอุดกั้น ต้องแยกจากภาวะอื่นๆ อย่างไร
ต้องแยกสาเหตุของการทำให้เลือดอุดกั้น ไม่ไหลเวียน หรือเกิดการติดขัดว่ามีต้นเหตุจากอะไร
๑. พลังติดขัดทำให้เลือดคั่งค้าง
๒. พลังพร่องทำให้เลือดคั่งค้าง
๓. ความเย็นทำให้หดตัวเกิดเลือดคั่งค้าง
๔. เลือดร้อนทำให้เลือดเกาะตัวเกิดเลือดคั่งค้าง

๗. หลักการรักษาและตำรายาที่ใช้ในการรักษาภาวะเลือดตกค้างอุดกั้น คืออะไร
หลักการรักษา : ทำให้เลือดเคลื่อนไหวสลายการอุดกั้นของเลือด
ตำรายาพื้นฐาน :(เสวี่ย-ฝู่-จู๋-ยวี-ท้ง)
ตัวยาสำคัญ
(หง-ฮวา), (เถา-เหยิน), (ตัง-กุย ), (ตี้-หวง), (ชวน-ทรวง), (ชื่อ-สาว), (ไฉ-หู), (จื่อ-สือ), (เจี๋ย-เกิ่ง), (หนิว-ชี), (กัน-เฉ่า)
๑. พลังติดขัดเลือดอุดกั้น - ใช้สูตร (เสวี่ย-ฝู่-จู๋-ยวี-ทัง)
๒. พลังพร่องเลือดอุดกั้น - ใช้สูตร (ปู่-หยาง-หวน-อู่-ทัง)
๓. ความเย็นหดตัวทำให้เลือดอุดกั้น - ใช้สูตร (ตังกุยซื่อหนี้ทัง)
๔. เลือดร้อนทำให้เลือดอุดกั้น - ใช้สูตร (เถา-เหอ-เฉิง-ชี่-ทัง)
นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดของการใช้ตำรับยาที่ออกฤทธิ์ต่อการคั่งค้างอุดกั้นของเลือดตำแหน่งต่างๆ    ในอวัยวะภายใน เช่น เลือดอุดกั้นใต้กะบัง อุดกั้นที่ศีรษะ อุดกั้นที่ท้องน้อย หรืออุดกั้นทั่วตัว

๘. ความหมายของเลือดตกค้างอุดกั้นในทรรศนะแพทย์แผนปัจจุบันได้แก่โรคอะไร
จะเห็นว่าภาวะเลือดตกค้างอุดกั้น มีขอบเขตที่กว้าง อาจมีสาเหตุจากภายนอกหรือจากภายในก็ได้ เทียบกับโรคทางแผนปัจจุบัน ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมองแตกหรืออุดตัน ก้อนเนื้อดีหรือมะเร็งเนื้อร้าย ไตอักเสบเฉียบพลัน หลอดเลือดอุดตันอักเสบ อุบัติเหตุจากการกระทบกระแทกภายนอก ปวดประจำเดือน ประจำเดือนมีก้อนเลือด เป็นต้น

การศึกษาวิจัยสมัยใหม่ พบว่าภาวะเลือดตกค้างอุดกั้น เป็นผลความผิดปกติของร่างกายหลายๆ ระบบความผิดปกติที่ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดส่วนปลายผิดปกติ ๖ ด้าน คือ
๑. หลอดเลือดฝอยหดตัว
๒. หลอดเลือดฝอยผิดรูปร่าง
๓. การไหลเวียนในหลอดเลือดฝอยช้าลง
๔. มีลิ่มเลือดอุดกั้นในหลอดเลือดฝอย
๕. หลอดเลือดฝอยส่วนปลายมีสารน้ำในเลือดจำนวนมากซึมออกภายนอก
๖. ผนังหลอดเลือดฝอยบาดเจ็บ
นอกจากนี้ ยังพบว่าเลือดมักจะมีลักษณะเหนียว เกาะตัวมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการทำงานเกล็ดเลือดผิดปกติ

๙. บทสรุป : เรื่องของเลือดคั่งค้างอุดกั้น
ปัจจุบันการวิจัยเรื่องความเสื่อมชราของร่างกายโดยการใช้ความเสื่อมของหลอดเลือดเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญดัชนีหนึ่ง ทางแพทย์แผนจีนเกี่ยวข้องกับเสมหะอุดกั้นและเลือดอุดกั้นเป็นสำคัญ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก ซึ่งเป็นโรคยอดฮิตในสังคมปัจจุบัน การรักษาทรรศนะเกี่ยวกับเลือดตกค้างอุดกั้นจะมีความหมายทั้งในแง่การรักษาและป้องกันอย่างมาก

สาเหตุของการอุดกั้นของหลอดเลือดมีหลายอย่าง อาจเป็นความพร่อง (พลังพร่อง) ความแกร่ง (กระทบจากภายนอก) ความร้อน (เลือดร้อน) ความเย็น (หยางพร่อง) ซึ่งอาจพบความผิดปกติจากภาวะร่างกายที่ดูเหมือนปกติในแต่ละคน วิธีการทำให้เลือดไหลเวียนได้คล่องในแต่ละรายจึงมีความแตกต่างกัน และเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายด้าน ร่วมทั้งจิตใจ การออกกำลังกาย อาหารการกิน สิ่งแวดล้อม การงาน เป็นต้น

การใช้ยาสมุนไพรแก้ภาวะเลือดอุดกั้น เสมหะ อุดกั้น (ครอบคลุมความหมายไขมันในเลือดสูง) มีการศึกษาวิจัยในการนำมาใช้ทั้งในแง่การรักษาคนที่เป็นโรค และใช้ป้องกันคนที่ไม่เป็นโรค เพื่อทำให้หลอดเลือดสะอาด ขนส่งอาหาร ออกซิเจน ไปสร้างเซลล์ต่างๆ ได้ดี

อย่างไรก็ตาม การใช้ยาละลายลิ่มเลือดในทาง การแพทย์แผนปัจจุบัน มีข้อแตกต่างกับยาสมุนไพรจีน ยาสมุนไพรจีนไม่ได้ใช้ยาเดี่ยวๆ เพื่อลดการเกาะตัวของลิ่มเลือด แต่ต้องใช้ยาที่มีฤทธิ์บำรุงเลือด และเสริมพลังพื้นฐาน ยาขับเคลื่อนพลังหรือยาอื่นๆควบคู่ไปด้วย เพื่อป้องกันการเสียสมดุลอีก ด้านหนึ่ง เนื่องจากกลุ่มยาสลายการเกาะตัวคั่งค้างของเลือดมักทำลายเลือดสลายพลัง ใช้นานๆทำให้ร่างกายอ่อนแอ เส้นเลือดแตกง่าย เลือดหยุดยาก จึงต้องใช้อย่างระมัดระวังและอย่างเข้าใจ

ข้อมูลสื่อ

318-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 318
ตุลาคม 2548
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล