• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เครียดกับความดันเลือดสูง

เครียดกับความดันเลือดสูง


กลไกความสัมพันธ์ระหว่างความดันเลือดสูงกับความเครียดเฉียบพลัน ผ่านการกระตุ้นมาจากระบบประสาทอัตโนมัติซิมพาเทติก ทำให้การเต้นของหัวใจเร็วขึ้นและความดันเลือดสูงขึ้น ความเครียด คือสภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งเร้าจากภายนอก (รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) และภายใน (สิ่งที่ใจนึกคิด) มากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนเสียสมดุลก่อให้เกิดการปรับตัวเพื่อจัดการกับสิ่งเร้าต่างๆ ส่วนความหมายของปัจจัยทางจิตใจสังคมที่มีผลต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ หมายถึง

  • ความเครียดในชีวิตเรื้อรัง ได้แก่ ความเครียดในการทำงาน ความเครียดในหน้าที่การงาน  ความไม่สมดุลระหว่างความพยายามกับรางวัลที่ได้รับความ เครียดในชีวิตสมรสและในครอบครัว เป็นต้น
  • ความซึมเศร้าและกังวล
  • บุคลิกภาพ ความมุ่งร้ายผู้อื่น และความโกรธ
  • สถานะทางสังคมเศรษฐกิจ
  • การสนับสนุนทางสังคม การโดดเดี่ยวทางสังคม

กลไกความสัมพันธ์ระหว่างความดันเลือดสูงกับความเครียดเฉียบพลัน ผ่านการกระตุ้นมาจากระบบประสาทอัตโนมัติซิมพาเทติก (sympathetic/ระบบประสาทส่วนนี้จะทำงานมากขึ้นเมื่อร่างกายอยู่ในภาวะเครียดหรือภาวะที่ต้องการใช้พลังงานมาก) ทำให้การเต้นของหัวใจเร็วขึ้นและความดันเลือดสูงขึ้น ซึ่งในระยะยาวความเครียดเรื้อรังจะทำให้เกิดผล ๒ อย่างต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด

๑. ส่งผลต่อพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การกินอาหารที่เสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด การสูบบุหรี่ เป็นต้น

๒. ส่งผลโดยตรงต่อการเกิดหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) ผ่านกลไกเพิ่มการอักเสบ การเกาะตัวของเกล็ดเลือด และทำให้เกิดกลุ่มอาการเมตาบอลิก (metabolic syndrome) ในผู้ที่ไม่เป็นเบาหวาน ซึ่งทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ 

การจัดการความเครียดกับโรคความดันเลือดสูง
จากการทบทวนวรรณกรรมและองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการความเครียดกับโรคความดันเลือดสูงในช่วง พ.ศ. ๒๕๐๙-๒๕๔๐ โดย Canadian Hypertension      Society, the Canadian Coalition for High Blood Pressure Prevention and Control, the Laboratory Center for Disease Control at Health Canada และ the Heart and Stroke Foundation of Canada ได้ข้อสรุปจากการศึกษาประชากรที่มีความดันเลือดสูงทั้งหมด ๑,๒๖๔ คน พบว่า การใช้การผสมผสานการจัดการความเครียดหลายๆ วิธี จะเป็นวิธีลดความดันเลือดได้ดีกว่าการใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่งแบบเดี่ยวๆ
    
โดยสมาคมดังกล่าวมีคำแนะนำ คือ

๑. ในผู้ป่วยความดันเลือดสูงทุกราย ควรจะพิจารณาปัจจัยความเครียดทางอารมณ์เป็นสาเหตุของความดันเลือดสูงด้วย

๒. ผู้ป่วยความดันเลือดสูงที่มีความเครียดเป็นเหตุสำคัญ ควรพิจารณาให้ผู้ป่วยได้รับมาตรการการจัดการความเครียด โดยเฉพาะ cognitive behavioral therapy (การรักษาแบบการรับรู้ถึงพฤติกรรมของตนเอง เป็นวิธีให้ผู้ป่วยแสดงออกต่อสิ่งเร้าในวิธีที่แตกต่างออกไป ในขณะที่เสริมให้ผู้ป่วยทราบเท่าทันความคิดที่จะทำให้เกิดความกลัว หรือวิตก เมื่อเผชิญกับสิ่งเร้า ผู้ป่วยจะเรียนรู้และปรับเปลี่ยนความคิดความรู้สึกไม่ดีต่อสิ่งเร้าในแง่ที่ดีขึ้น) เป็นรายบุคคลจะได้ผลดีกว่าวิธีเดี่ยวอื่นๆ

ความเครียดทางอารมณ์ที่ต้องพิจารณาในผู้ป่วยโรคความดันเลือดสูง ได้แก่ ความกังวล ความซึมเศร้า ความเครียดในการทำงาน (เวลาทำงานที่มากเกินปกติ หรือเวลาพักผ่อนที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็น) การเร่งรีบเรื่องเวลา การรู้สึกรอไม่ได้ ความมุ่งร้ายต่อผู้อื่น การเก็บกดอารมณ์โดยเฉพาะอารมณ์โกรธ เป็นต้น

ส่วนวิธี cognitive behavioral therapy เป็นรายบุคคล ได้แก่ biofeedback (การดูผลที่เกิดขึ้นจากร่างกาย) การเจริญสมาธิ การฝึกผ่อนคลาย การสะกดจิตตัวเอง การสร้างจินตภาพ เป็นต้น ซึ่งจากตัวอย่างการศึกษาของ Johnston DW, 1993; van Montfrans GA, 1990; ได้แสดงให้เห็นว่า ไม่พบการลดลงของความดันเลือดหลังจากผู้ป่วยความดันเลือดสูงเข้าโปรแกรมการจัดการความเครียดเพียงอย่างเดียว จากการศึกษาแบบ meta-analysis (การสังเคราะห์ ข้อมูลจากหลายๆ งานวิจัย) ผลของ biofeedback ในโรคความดันเลือดสูง พบว่า สามารถลดความดันเลือดตัวบน ตั้งแต่ ๒.๑-๖.๗ มม.ปรอท สำหรับความดันเลือด ตัวล่างลดได้ ๓.๔-๔.๘ มม.ปรอท ส่วนวิธี biofeedback   ที่ได้ผลลดความดันเลือดตัวบนได้ชัดเจน คือ วิธีใช้ความร้อนเป็นตัวสะท้อนกลับให้ผู้ป่วยลดความดันเลือดตัวบนได้ ๕.๐ ส่วนความดันเลือดตัวล่างใช้ได้ผลทั้งวิธีใช้ความร้อน และ electro dermal activity (การวัดเหงื่อที่ปลายนิ้วมือ)

ขณะที่การศึกษาการใช้ biofeedback ร่วมกับการฝึกโยคะในผู้ป่วยความดันเลือดสูง ๓๔ ราย เปรียบเทียบการผ่อนคลายเป็นเวลา ๖ สัปดาห์ พบว่า กลุ่มที่ฝึกโยคะ ความดันเลือดลดลงต่างจากกลุ่มผ่อนคลายอย่างชัดเจน และเมื่อกลุ่มผ่อนคลายได้ฝึกโยคะอีก ๖ สัปดาห์ ความดันเลือดก็ลดลงได้เช่นกัน อีกทั้งการหายใจช้าก็สามารถลดความดันเลือดได้ มีการศึกษาโดยใช้เครื่องมือฝึกการหายใจช้าที่มีชื่อการค้าว่า Resperate ในผู้ป่วยความดันเลือดสูงวันละ ๑๐ ถึง ๑๕ นาที ให้หายใจช้ากว่า ๑๐ ครั้งต่อนาทีเป็นเวลา ๘ สัปดาห์เทียบกับผู้ที่ไม่ได้ฝึกหายใจช้า หรือฟังเพลงผ่อนคลายในเวลาเท่ากัน พบว่า สามารถลดความดันเลือด ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา อนุญาตให้จำหน่ายเครื่องมือนี้เป็นอุปกรณ์เสริมในการช่วยลดความดันเลือดได้

นอกจากนี้ ยังมีการบำบัดด้วยการเจริญสมาธิ ซึ่งไม่เพียงช่วยลดความดันเลือด หากยังสามารถป้องกันการตีบของหลอดเลือดแดง จากการศึกษาในผู้ป่วยอเมริกันผิวดำชายหญิงที่มีความดันเลือดสูง และอายุมากกว่า ๒๐ ปี จำนวน ๖๐ คน เปรียบเทียบการเจริญสมาธิกับการให้สุขศึกษาเป็นเวลา ๖.๘-๑.๓ เดือน โดยดูการหนาตัวขึ้นของหลอดเลือดที่คอ (carotid artery intimal-media thickness : carotid IMT) ด้วย B-mode ultrasound ก่อนและหลังเข้าโครงการวิจัย พบว่าทั้ง ๒ กลุ่มสามารถลดความดันเลือดลงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่ต่างกัน โดยกลุ่มที่ฝึกเจริญสมาธิสามารถลดความดันเลือด ได้ ๗.๗-๑๐.๓๔/๓.๕-๗.๖ มม.ปรอท ส่วนกลุ่มสุขศึกษา ลดได้ ๖.๗๔-๑๒.๘/๕.๙-๘.๖ มม.ปรอท ซึ่งอัตราการเต้นของหัวใจ ไขมัน โคเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ น้ำหนัก การสูบบุหรี่ การออกกำลังกาย ทั้ง ๒ กลุ่มไม่แตกต่างกัน แต่ความหนาตัวของหลอดเลือดที่คอของกลุ่มที่ฝึกสมาธิลดลง ๐.๐๙๘ มม. เปรียบเทียบกับกลุ่มสุขศึกษา ซึ่งเพิ่มขึ้น ๐.๐๕ มม. ความหนาตัวของหลอดเลือดที่คอ เป็นตัวทำนายการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองที่สำคัญ ดังนั้นการฝึกเจริญสมาธิในผู้ป่วยโรคความดันเลือดสูง นอกจากจะลดความดันเลือดได้แล้ว ยังป้องกันจากโรคหลอดเลือดแดงแข็งได้อีกด้วย

๑๐ เครื่องดื่มยอดนิยมน้ำตาลสูง ต้นเหตุโรคอ้วนเล่นงาน

ทันตแพทย์ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการ สำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงรอง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากการสำรวจ ๑๐ อันดับเครื่องดื่มสำเร็จรูปในท้องตลาด ที่มีปริมาณน้ำตาลสูง พบว่า 

 ๑. ชานมหรือชาเย็นขนาด ๕๐๐ มิลลิลิตร  มีน้ำตาล ๓๑.๒๕ ช้อนชา

 ๒. ชาเขียวผสมนม ๒๕๐ มิลลิลิตร มีน้ำตาล ๒๖.๓ ช้อนชา

 ๓. ชาเขียวรสน้ำผึ้ง ๒๕๐ มิลลิลิตร มีน้ำตาล ๒๕ ช้อนชา

 ๔. ชาดำเย็น ๓๕๐ มิลลิลิตร มีน้ำตาล ๑๕.๓ ช้อนชา

 ๕. รูทเบียร์ ๑ กระป๋อง มีน้ำตาล ๑๔.๓ ช้อนชา

 ๖. น้ำอัดลมที่ไม่มีสี ๑ กระป๋อง มีน้ำตาล ๑๑.๔ ช้อนชา

 ๗. น้ำอัดลมหลากสี ๑ กระป๋อง มีน้ำตาล ๑๑.๔ ช้อนชา

 ๘. รูทเบียร์ในร้านอาหารจังก์ฟู้ด มีน้ำตาล ๑๐.๘ ช้อนชา

 ๙. น้ำอัดลมรสส้ม ๑ กระป๋อง มีน้ำตาล ๙.๕ ช้อนชา

 ๑๐. น้ำดำ ๒ ยี่ห้อดัง มีน้ำตาล ๘.๕-๙.๓ ช้อนชา

ปริมาณน้ำตาลที่สูงมากและเป็นอันตรายต่อร่างกาย อีกทั้งใน ๑ วัน แต่ละคนอาจบริโภคเครื่องดื่มเหล่านี้หลายชนิด เด็กไม่ควรกินน้ำตาลเกิน ๔ ช้อนชาต่อวัน ผู้ใหญ่ไม่ควรกินน้ำตาลเกิน ๖ ช้อนชาต่อวัน

ข้อมูลสื่อ

325-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 325
พฤษภาคม 2549
นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์