โรคโบทูลิซึม : อาหารเป็นพิษต่อประสาท
ในช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีข่าวครึกโครมเกี่ยวกับการป่วยเฉียบพลันของหมู่คน กว่า ๒๐๐ คน ที่ไปร่วมงานฉลองพระธาตุเมล็ดข้าวที่อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน ผู้ป่วยเหล่านี้แห่กันเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลหลายแห่ง และมีอยู่ ๔๐ คน ที่มีอาการหนักจนต้องถูกนำส่งทางเครื่องบินไปรักษาต่อที่กรุงเทพฯ จากการสอบสวน พบว่า ต้นเหตุของโรคเกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรีย (ที่มีชื่อว่า คลอสทริเดียม โบทูลินัม) ซึ่งปนเปื้อนอยู่ในหน่อไม้ปี๊บที่นำมาเลี้ยงคนในงานนี้ ทางการแพทย์ เรียกโรคอาหารเป็นพิษจากเชื้อชนิดนี้ว่า "โรคโบทูลิซึม" สื่อมวลชนบ้างเรียกว่า "โรคพิษหน่อไม้ปี๊บ" บ้างก็เรียกว่า "โรคหน่อไม้พิษ" ความจริงเคยมีผู้ป่วยโรคพิษหน่อไม้ปี๊บนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวในหลายจังหวัดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่เป็นเฉพาะในกลุ่มคนจำนวนน้อย จึงไม่ค่อยปรากฏเป็นข่าว แต่ครั้งนี้ถือว่าเกิดกับคนหมู่มากเป็นประวัติการณ์ของโลก จึงได้รับความสนใจจากทั่วโลก ประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา และญี่ปุ่น ได้ส่งเซรุ่มต้านพิษมาให้แพทย์ไทยใช้รักษาผู้ป่วยในคราวนี้
ชื่อภาษาไทย : โรคโบทูลิซึม โรคพิษโบทูลินัม โรคหน่อไม้พิษ โรคพิษหน่อไม้ปี๊บ
ชื่อภาษาอังกฤษ : Botulism
สาเหตุ เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า คลอสทริเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum) ซึ่งมีพิษต่อระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง* เชื้อชนิดนี้อยู่ในตระกูลเดียวกับเชื้อบาดทะยัก (Clostridium tetani) มีลักษณะเป็นสปอร์ (มีผนังหุ้มหนา) อยู่ตามดินทราย และแหล่งน้ำธรรมชาติ สามารถปลิวกระจายไปตามอากาศ มีความทนทานอยู่ได้นานหลายปี สปอร์เมื่ออยู่ในที่ที่มีความชื้น สารอาหารและขาดอากาศ ออกซิเจน เช่น ในลำไส้ บาดแผลลึกและแคบ อาหารที่บรรจุในภาชนะที่ปิดมิดชิด (เช่น กระป๋อง ปี๊บ ขวดแก้ว) ก็จะเกิดการแบ่งตัวและปล่อยพิษออกมา
โดยทั่วไปผู้ป่วยอาจรับพิษของเชื้อชนิดนี้ได้ ๓ ลักษณะ คือ
๑. กินอาหารที่ปนเปื้อนพิษ (อาหารเป็นพิษ)
มักจะเป็นพืชผัก หรือเนื้อสัตว์ที่บรรจุอยู่ในภาชนะ มิดชิด และมีความเป็นกรดไม่มาก เช่น หน่อไม้ เห็ด ถั่ว ข้าวโพด แตง ปลา เป็ด ไก่ นมที่บรรจุกระป๋อง ปี๊บ หรือขวดแก้ว ซึ่งผลิตแบบอุตสาหกรรมในครัวเรือน กรรมวิธีในการผลิตไม่ปลอดภัยพอ ทำให้สปอร์ของเชื้อชนิดนี้ที่ปนเปื้อนในอาหารสามารถแบ่งตัวและปล่อยพิษเจือปนอยู่ในอาหาร เช่น หน่อไม้ปี๊บที่นิยมกินในบ้านเรานั้นจะทำการต้มหน่อไม้นานเพียง ๑ ชั่วโมง ซึ่งไม่สามารถฆ่าสปอร์ที่ปนเปื้อนได้ แล้วอัดใส่ปี๊บ ตั้งไว้ในอุณหภูมิห้อง รอจำหน่ายหมดภายใน ๓-๖ เดือน สปอร์ก็สามารถแบ่งตัว และปล่อยพิษออกมา (ส่วนหน่อไม้ดองมีรสเปรี้ยว กรรมวิธีผลิตมีการใส่น้ำส้มในการดอง ทำให้มีความเป็นกรดสูง หรือ pH ต่ำกว่า ๔.๖ สปอร์ไม่สามารถแบ่งตัว นับว่ามีความปลอดภัย)
๒. เชื้อเข้าทางบาดแผลแบบเดียวกับโรคบาดทะยัก
มักจะเป็นแผลลึกและแคบที่ขาดออกซิเจน รวมทั้ง การฉีดยาเสพติดด้วยเข็มที่ไม่สะอาด สปอร์ในดินทรายที่ปนเปื้อนบาดแผล จะเข้าไปแบ่งตัวในบาดแผล แล้วปล่อยพิษกระจายเข้ากระแสเลือด ไปทำลายระบบประสาททั่วร่างกาย
๓. กินอาหารที่ปนเปื้อนสปอร์
มักจะก่อโรคเฉพาะในทารก เนื่องจากในลำไส้ของทารกอายุต่ำกว่า ๑ ขวบ ยังไม่มีจุลินทรีย์ที่สามารถป้องกันการแบ่งตัวของสปอร์เช่นเด็กโตและผู้ใหญ่ สปอร์จึงเกิดการแบ่งตัวอยู่ในลำไส้ แล้วปล่อยพิษเข้ากระแสเลือดไปทั่วร่างกาย ในสหรัฐอเมริกาจะพบภาวะนี้ในทารกอายุต่ำกว่า ๖ เดือน มักเกิดจากการกินน้ำผึ้งที่ปนเปื้อนสปอร์ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยจึงแนะนำว่า ควรหลีกเลี่ยงการป้อนน้ำผึ้งแก่ทารกอายุต่ำกว่า ๑ ขวบ
อาการ
สำหรับผู้ป่วยที่กินอาหารที่ปนเปื้อนพิษ เช่น หน่อไม้พิษ มักจะมีอาการเกิดขึ้นหลังกินอาหาร ๘-๓๖ ชั่วโมง (แต่ก็อาจพบเร็วสุด ๔ ชั่วโมง และนานสุด ๘ วัน หากรับปริมาณพิษเข้าไปมาก อาการก็จะเกิดได้เร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าอาการเกิดขึ้นภายใน ๒๔ ชั่วโมง หลังกินอาหาร อาการมักจะรุนแรง) และมักเป็นพร้อมกันหลายคน
แรกเริ่มจะมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง บางคนอาจมีอาการท้องเดินร่วมด้วย หลังจากนั้นจะมีอาการ อิดโรย อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ มึนงง กระหายน้ำ ปากแห้ง คอแห้ง เจ็บคอ หนังตาตก (ลืมตาไม่ขึ้น) ตาพร่ามัวมองเห็นไม่ชัด เห็นภาพซ้อน กลืนลำบาก พูดไม่ชัด หรือตะกุกตะกัก การตรวจดูรูม่านตา จะพบรูม่านตาขยายหรือไม่หดเล็กเมื่อถูกไฟส่อง
ในรายที่เป็นรุนแรง จะมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย แขนขาเป็นอัมพาต กล้ามเนื้อหน้าอก หน้าท้อง และกะบังลมอ่อนแรง ทำให้หายใจขัด และหยุดหายใจ ในที่สุดหากไม่ได้รับการรักษามักตายภายใน ๓-๗ วัน ผู้ป่วยจะรู้สึกตัวดีตลอดเวลา ไม่มีอาการชาของแขนขา และไม่มีไข้ (ยกเว้นบางคนอาจมีโรคติดเชื้ออื่นๆ แทรกซ้อนในช่วงหลังๆ) ส่วนผู้ที่ติดเชื้อทางบาดแผล (ซึ่งพบได้เป็นส่วนน้อยนั้น) มักจะมีประวัติฉีดยาเสพติด หรือมีบาดแผลตามผิวหนัง แล้วมีอาการแบบข้างต้น ยกเว้นไม่มีอาการทางระบบทางเดินอาหาร (คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน) สำหรับทารกที่กินอาหารที่ปนเปื้อนสปอร์ จะมีอาการแรกเริ่ม คือ ท้องผูก ต่อมาจะมีอาการง่วงซึม เฉยเมย ไม่ดูดนม ไม่กินอาหาร หนังตาตก กลืนลำบาก ร้องไม่มีเสียง คอพับคออ่อน เนื้อตัวอ่อนปวกเปียก แขนขาเป็นอัมพาต ถ้าเป็นรุนแรงจะมีอาการหายใจลำบาก และหยุดหายใจในที่สุด
การแยกโรค
อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงมักจะมีสาเหตุจากความ ผิดปกติของระบบประสาท ซึ่งมีอยู่หลากหลาย ระยะแรกที่มีอาการหนังตาตก อาจเกิดจากโรคไมแอสทีเนียเกรวิส (โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเป็นครั้งคราว เนื่องจากภาวะภูมิต้านตัวเอง) พิษจากงูเห่าหรืองูจงอาง เป็นต้น อาการแขนขาอ่อนแรง อาจเกิดจากการติดเชื้อของระบบประสาท โปลิโอ โรคลมอัมพาต (stroke) การได้รับสารพิษอื่นๆ เป็นต้น
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากประวัติอาการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นพื้นฐาน ได้แก่ ประวัติการกินอาหารที่สงสัยว่าเป็นพิษ และเป็นพร้อมกันหลายคน อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อที่เริ่มจากบริเวณใบหน้า (หนังตาตก พูดลำบาก กลืนลำบาก) แล้วลุกลามไปที่แขนขา ลำตัว บางครั้งอาจต้องยืนยันการวินิจฉัยด้วยการถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เจาะหลังเพื่อตรวจน้ำไขสันหลัง ตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (EMG) ตรวจหาพิษโบทูลินในเลือดหรืออุจจาระ ตรวจเพาะเชื้อจากอุจจาระ หรือเศษอาหารในกระเพาะอาหาร รวมทั้งการนำอาหารที่สงสัยว่าเป็นต้นเหตุไปตรวจหาพิษ เป็นต้น
การดูแลตนเอง
หากมีอาการน่าสงสัย เช่น มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน ปากแห้ง หนังตาตก พูดลำบาก กลืนลำบาก เป็นต้น หลังกินหน่อไม้ปี๊บ หรืออาหารบรรจุกระป๋อง ขวดแก้ว หรือภาชนะปิดมิดชิด ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที พร้อมทั้งนำอาหารที่กินไปด้วย (เพื่อส่งตรวจหาพิษ) เมื่อพบว่าเป็นโรคนี้ ควรรับการรักษาอย่างจริงจัง และติดตามการรักษากับแพทย์จนกว่าจะหายดี
การรักษา
แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล มักจะ ต้องรีบขับเอาอาหารในกระเพาะออกมา โดยการทำให้อาเจียน ล้างท้อง หรือสวนทวาร ให้การดูแลรักษาแบบประคับประคอง เช่น ให้สารน้ำหรือสารอาหารทางหลอดเลือดดำ คาสายสวนปัสสาวะ ในรายที่หายใจไม่ได้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจจนกว่าจะหายใจได้เอง ทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูกล้ามเนื้อที่อ่อนแรง ป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อน เป็นต้น บางกรณีแพทย์จะฉีดเซรุ่มต้านพิษ ซึ่งควรฉีดภายใน ๗๒ ชั่วโมงหลังมีอาการ จึงจะได้ผลดีในการทำลายพิษที่หลงเหลืออยู่ในเลือด เพื่อป้องกันไม่ให้อาการลุกลามหนักขึ้น (ส่วนทารกที่เป็นโรคนี้จากการกินสปอร์ที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร จะใช้เซรุ่มต้านพิษไม่ได้ผล เพราะไม่สามารถทำลายสปอร์)
ภาวะแทรกซ้อน
ที่ร้ายแรงคือ ภาวะการหายใจล้มเหลว ซึ่งเป็นสาเหตุของการตายของผู้ป่วย อาจมีโรคปอดอักเสบ (ปอดบวม) แทกซ้อนเนื่องจากการสำลัก บางคนอาจมีอาการอ่อนเพลีย อิดโรย ปากแห้ง ตาแห้ง เหนื่อยง่ายเวลาออกแรงนานเป็นแรมปี
การดำเนินโรค
หากได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ผู้ป่วยมักจะหายได้ โดยใช้เวลานานหลายสัปดาห์หรือเป็นแรมเดือน ในรายที่รุนแรง (มีภาวะหายใจลำบากหรือหยุดหายใจ) หากไม่ได้รับการรักษาได้ทันท่วงที ก็อาจตายภายใน ๓-๗ วัน หลังมีอาการบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวข้างต้น โดยเฉลี่ยโรคนี้มีอัตราตายประมาณร้อยละ ๕-๑๐
การป้องกัน
๑. เลือกกินอาหารกระป๋องที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อที่ถูกต้อง (ฆ่าเชื้อสปอร์ภายใต้หม้ออัดแรงดัน อุณหภูมิ ๑๒๐ องศาเซลเซียส นาน ๓๐ นาที) หลีกเลี่ยงอาหารกระป๋องที่บู้บี้ บวมป่อง หมดอายุ หรืออาหารที่บูดเน่า (มีกลิ่นเหม็น หรือเปลี่ยนสี)
๒. หลีกเลี่ยงการกินอาหารบรรจุกระป๋อง ปี๊บ หรือขวดแก้วที่ผลิตแบบอุตสาหกรรมในครัวเรือนอย่างไม่ถูกกรรมวิธี
๓. การกินอาหารที่บรรจุในภาชนะมิดชิด ควรนำไปต้มในน้ำเดือด ๑๐๐ องศาเซลเซียส หรือทำให้เดือดนานอย่างน้อย ๑๐ นาที หรือปรุงที่อุณหภูมิ ๘๐ องศา-เซลเซียส นาน ๓๐ นาที เพื่อทำลายพิษโบทูลินที่อาจปนเปื้อนอยู่ในอาหาร
๔. อาหารที่เหลือเก็บไว้กินในมื้อต่อไป ควรเก็บในตู้เย็น ไม่ควรทิ้งไว้ข้างนอก (ห้องครัว โต๊ะอาหาร) และก่อนกินควรปรุงให้ร้อน
๕. เมื่อมีบาดแผลสกปรก ปนเปื้อนดินทราย ควรทำการดูแลให้ถูกต้อง และควรปรึกษาแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
๖. หลีกเลี่ยงการฉีดยาด้วยเข็มที่ไม่ปลอดเชื้อ
๗. ห้ามป้อนน้ำผึ้งในทารกอายุต่ำกว่า ๑ ขวบ
ความชุก
โรคนี้พบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือรับพิษของโรคนี้ ในบ้านเราพบการเจ็บป่วยหมู่เป็นครั้งคราวในกลุ่มคนที่กินหน่อไม้ปี๊บ
* พิษของเชื้อชนิดนี้เรียกว่า โบทูลิน (botulin) จะเข้าไปยับยั้งการทำงานของระบบประสาท ทำให้ไม่สามารถส่งกระแสประสาทไปสั่งการให้กล้ามเนื้อทำงานได้ จึงเกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง จัดว่าเป็นพิษร้ายแรงที่สุดของบรรดาพิษที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และมีการนำมาผลิตเป็นอาวุธชีวภาพ (เชื้อโรคที่ใช้เป็นอาวุธชีวภาพยังมีเชื้อแอนแทรกซ์ เชื้อฝีดาษ และอื่นๆ)
นอกจากนี้ ยังมีการนำพิษโบทูลินที่ทำให้เจือจาง (เช่น Botox) ไปใช้ฉีดรักษาโรคที่มีการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ (เช่น ตากระตุก หน้ากระตุก) ตาเข ไมเกรน เสริมสวย (แก้รอยย่นบนใบหน้า เป็นต้น)
- อ่าน 38,954 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้