มะเร็งเต้านม ตรวจพบเร็ว ไม่ต้องตัด
นายแพทย์ศุภกร โรจนนินทร์ รองคณบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์ และกิจการพิเศษ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้หญิงไทยถูกมะเร็งเต้านมคุกคามสูงมากขึ้นตลอดเวลา ที่โรงพยาบาลศิริราชนั้นพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมสูงมากเป็นอันดับ ๑ แซงหน้าจากมะเร็งปากมดลูก และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นทุกปี
"มะเร็งเต้านม" ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ฉะนั้นการตรวจพบมะเร็งได้เร็วตั้งแต่ก้อนมะเร็งยังมีขนาดเล็ก โอกาสรักษาให้หายขาดก็มีมากขึ้นเท่านั้น ควรทำดังนี้
หมั่นตรวจเต้านมตนเองตั้งแต่วัยสาว หากพบก้อนผิดปกติ ให้รีบปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการแยกแยะว่า ก้อนที่พบเป็นเพียงไตนม หรือถุงน้ำ (cyst) หรือเนื้องอกชนิดธรรมดา (fibroadenoma) หรือก้อนมะเร็ง หญิงที่มีความเสี่ยง คืออายุ ๔๐ ปีขึ้นไป และไม่มีอาการผิดปกติ หรือหญิงที่มีอาการแสดงดังกล่าวข้างต้น ให้เริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งโดยให้แพทย์ตรวจเต้านม และทำเอกซเรย์ (mammogram) และตรวจอัลตราซาวนด์เต้านม ซึ่งเทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถตรวจหามะเร็งได้แม่นยำมาก หากแพทย์สงสัยว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น ก็จะทำการตรวจเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นมะเร็งต่อไปหรือไม่
วิธีพิสูจน์จุดหรือก้อนเนื้อเต้านมว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ แพทย์จะทำการเจาะดูดเซลล์ที่ก้อนเนื้อเพื่อไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง หรือเจาะโดยใช้เข็มเจาะแบบ core biopsy ซึ่งจะเป็นเข็มตัดเนื้อโดยไม่ต้องผ่าตัด หรือจะใช้วิธีการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อไปตรวจแบบวิธีดั้งเดิมก็ได้ (open biopsy) ซึ่งพยาธิแพทย์จะเป็นผู้อ่านผลทางกล้องจุลทรรศน์ โดยจะใช้เวลาประมาณ ๓-๗ วัน เมื่อรู้ผลว่าเป็นมะเร็งก็จะทำการรักษาโดยเร็วต่อไป
- อ่าน 4,841 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้