เห็นหยากไย่ลอย ทำให้ตาบอดจริงหรือ
เชื่อว่าคงมีหลายๆ คนที่เคย หรือกำลังมีอาการคล้ายมีหยากไย่ แมลงวัน ยุง หรือใยแมงมุม ลอยบังไปมาในตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง ๒ ตา ซึ่งบางคนอาจรู้สึกคล้ายมีแสงฟ้าแลบในตาร่วมด้วย ทำให้หลายคนกังวลว่าตาเป็นอะไรหรือเปล่า จะต้องรักษาหรือไม่ จะทำให้ตาบอดได้หรือเปล่า และคำถามอื่นๆ อีกมากมาย จริงๆ แล้ว ผู้ที่มีอาการอย่างนี้จะเป็นจากโรคอะไรได้บ้าง เช่น
- น้ำวุ้นลูกตาเสื่อม ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุด
- เลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา จากสาเหตุต่างๆ เช่น จอประสาทตาเสื่อมจากเบาหวาน
- การอักเสบในลูกตา
ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะกรณีน้ำวุ้นลูกตาเสื่อม ต้องขอทบทวนคร่าวๆ เกี่ยวกับระบบกายวิภาคของลูกตาก่อน โดยดูจากรูปร่วมไปด้วยจะได้เข้าใจง่ายขึ้น ปกติตาจะมองเห็นได้นั้นแสงจากวัตถุต้องผ่านน้ำตาที่เคลือบผิวกระจกตา (cornea) น้ำในช่องลูกตาด้านหน้า (anterior chamber) แก้วตา (lens) น้ำวุ้นลูกตา (vitreous) และจอประสาทตา (retina) ตามลำดับ จากนั้นจะมีสัญญาณกระแสประสาทส่งไปตามเส้นประสาท (optic nerve) เข้าสู่สมองแปลเป็นการรับรู้ภาพวัตถุนั้นๆ
บางคนโดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมาก (ภาวะนี้พบน้อยกว่าร้อยละ ๑๐ ในคนอายุน้อยกว่า ๕๐ ปี แต่พบได้กว่าร้อยละ ๖๐ ในคนอายุมากกว่า ๗๐ ปี) ผู้ที่มีสายตาสั้นมาก ผู้หญิง คนที่ไม่มีเลนส์แก้วตา มีการอักเสบในลูกตา หรือเคยมีประวัติการกระแทกที่ตาอย่างรุนแรง จะเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเสื่อมลงในส่วนของน้ำวุ้นลูกตาขึ้นมาได้ โดยจะเริ่มด้วยการเปลี่ยนสภาพจากวุ้นเป็นของเหลวในส่วนตรงกลางของน้ำวุ้นลูกตา ต่อมามีรูเกิดขึ้นที่ผิวของน้ำวุ้นลูกตาทางด้านหลัง ทำให้ของเหลวที่อยู่ตรงกลางไหลผ่านรูไปอยู่ระหว่างจอประสาทตากับผิวของน้ำวุ้นลูกตา เกิดการแยกตัวกันของน้ำวุ้นลูกตาและจอประสาทตา (posterior vitreous detachment) ประกอบกับน้ำวุ้นลูกตามีการหดตัวเล็กลงทำให้ความหนาแน่นเพิ่มขึ้นเกิดมีเส้นใยของคอลลาเจนที่หนาขึ้นมาได้
เส้นใยเหล่านี้ก็จะลอยไปมาในน้ำวุ้นลูกตา ถ้าลอยมาตำแหน่งที่แสงผ่านเข้าตาก็จะทำให้เห็นเป็นเงาคล้ายหยากไย่หรือยุงลอยไปมาในตาของเรา ซึ่งมักจะเห็นได้ตอนอยู่ในที่สว่าง มองผนังสีขาวหรือก้มลงดื่มน้ำ บางทีเราเข้าใจว่าหยากไย่บังอยู่หน้าตาเรา
ความสำคัญอยู่ที่ว่า ถ้ามีแค่นี้ก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องรักษาอะไร ถ้าเส้นใยเหล่านี้ลอยมาแนวกลางตาก็บังแสงเข้าตา ถ้าลอยไปอยู่ริมๆ ก็ไม่บังตา แรกๆ เราอาจรำคาญ แต่นานๆ ไปจะชินมากขึ้น แต่ปัญหามีอยู่ว่าในบางคน (ส่วนน้อย) จะเกิดมีจอประสาทตาฉีกขาดตามมาได้ และอาจมีจอประสาทตาลอกทำให้ตามัวตามมา จะต้องรักษาโดยการผ่าตัดตา เมื่อรักษาหายแล้วตาก็มักจะไม่เห็นชัดเท่าเดิม
ทำไมจอประสาทตาลอกได้
หลายคนอาจสงสัยว่าจอประสาทตาลอกได้อย่างไรนั้น เนื่องจากน้ำวุ้นลูกตากับจอประสาทตาซึ่งเดิมเคยอยู่ติดกัน บางส่วนก็อยู่ติดกันหลวมๆ บางส่วนก็อยู่ติดกันแน่น เช่น รอบเส้นประสาทตา หลอดเลือดขนาดใหญ่ของจอประสาทตา และจอประสาทตาบริเวณขอบๆ ที่อยู่ติดกันแน่น โดยเฉพาะแถวขอบของจอประสาทตาอาจถูกน้ำวุ้นลูกตาดึงเกิดกระแสสัญญาณไปสมอง ทำให้มองเห็นคล้ายมีแสงฟ้าแลบเกิดขึ้นในตาของเราเอง ซึ่งมักสังเกตพบตอนค่ำมืด หรือจอประสาทตาอาจถูกดึงแรงจนฉีกขาด อาจทำให้หลอดเลือดที่พาดผ่านจอประสาทตาแถวนั้นฉีกขาดไปด้วย มีเลือดออกลอยในน้ำวุ้นลูกตาก็ทำให้ตามองไม่ชัดมากขึ้น หรืออาจมองเห็นเป็นสีแดงๆ บังในตาหรือมีหยากไย่ลอยในตา
นอกจากนี้ น้ำวุ้นในลูกตาส่วนที่เหลว ก็สามารถไหลผ่านรูฉีกขาดนี้ เซาะให้จอประสาทตาลอกตัวออกจากผนังลูกตา เรียกว่ามีจอประสาทตาลอก ทำให้ตามัวต้องรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งแม้รักษาหายแล้วการมองเห็นจะไม่ดีเหมือนเดิม
ดังนั้น จะเห็นว่าถ้าเราป้องกันไม่ให้เกิดจอประสาทตาลอกได้ก็จะดี แต่เราไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่าใครที่มีอาการเห็นหยากไย่ในตาหรือแสงฟ้าแลบในตาจะมีจอประสาทตาฉีกขาดตามมา จักษุแพทย์จึงใช้วิธีนัดมาตรวจจอประสาทตาหลายครั้งเป็นระยะๆ
จอประสาทตาฉีกขาด
จอประสาทตาฉีกขาด
ในผู้ที่มีการเสื่อมและแยกตัวของน้ำวุ้นลูกตาร่วมกับมีอาการเห็นคล้ายหยากไย่หรือฟ้าแลบในตา จะมีจอประสาทตาฉีกขาดร่วมด้วยประมาณร้อยละ ๑๕ ซึ่งควรได้รับการรักษาโดยการยิงเลเซอร์
แต่ถ้าดูจากว่ามีเลือดออกในน้ำวุ้นลูกตาร่วมด้วยหรือไม่ พบว่าผู้ที่มีการเสื่อมและแยกตัวของน้ำวุ้นลูกตา ถ้ามีเลือดออกในน้ำวุ้นลูกตาร่วมด้วยจะพบมีจอประสาทตาฉีกขาดร่วมด้วยได้ถึงร้อยละ ๗๐
แต่ถ้าไม่มีเลือดออกในน้ำวุ้นลูกตาร่วมด้วย จะพบมีจอประสาทตาฉีกขาดร่วมด้วยแค่ร้อยละ ๒-๔ เท่านั้น
โดยทั่วไปจักษุแพทย์จะตรวจจอประสาทตาผู้ที่มีอาการในครั้งแรกที่มาหา โดยหยอดยาขยายม่านตาซึ่งจะทำให้ตาข้างที่ขยายม่านตามองไม่ชัดชั่วคราวประมาณ ๔-๖ ชั่วโมง ดังนั้นถ้าไปหาแพทย์ควรพาใครไปด้วยเพื่อช่วยเหลือเราตอนกลับบ้าน
ถ้าตรวจแล้วปกติ ไม่พบจอประสาทตาฉีกขาด จักษุแพทย์ก็จะนัดตรวจอีกครั้งใน ๔-๖ สัปดาห์ต่อไป
ถ้าตรวจแล้วปกติอีกก็จะนัดอีก ๑ ปี แต่ถ้าพบจอประสาทตาฉีกขาดก็จะรักษาโดยการยิงเลเซอร์หรือจี้ความเย็น
ทั้งนี้ การนัดอาจไม่เหมือนกันทีเดียวแล้วแต่จักษุแพทย์แต่ละท่าน โดยทั่วไปจักษุแพทย์จะอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจโรค เพื่อให้สบายใจว่าส่วนใหญ่แล้วไม่เป็นปัญหาอะไร ไม่ต้องรักษาอะไร อาการนี้จะอยู่ไปตลอดได้แต่ไม่อันตราย และมักจะลดลงได้ เพียงแต่มีคนส่วนน้อยที่อาจมีปัญหาจอประสาทตาลอกตามมา สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ให้มาตรวจตามนัด และถ้ามีอาการเห็นหยากไย่หรือแสงฟ้าแลบในตามากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นหรือตามัวลง ให้รีบมาตรวจก่อนนัดเพราะอาจจะมีปัญหาแทรกซ้อนเกิดขึ้นแล้ว
ถ้ามีโอกาสพบใครมีอาการเห็นหยากไย่ ใยแมงมุม ยุง หรือแมลงหวี่ แมลงวัน ลอยไปมาในตา หรือฟ้าแลบในตา เราก็สามารถให้คำอธิบายและคำแนะนำที่ถูกต้องได้แล้ว เพราะตาเป็นอวัยวะที่สำคัญมากที่สุดอวัยวะหนึ่งของคนเราเลยใช่ไหมครับ
สอบถามปัญหาสุขภาพตากับราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ที่เว็บไซต์ www.rcopt.org
- อ่าน 41,121 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้