กิจกรรม “บิ๊ก คลีนนิ่ง เดย์” ได้ถูกจัดขึ้นในหลายพื้นที่ ทั้งเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล หลังจากที่ต้องทนอยู่กับสภาพน้ำท่วมขังต่อเนื่องนานหลายสัปดาห์ ยาวนานนับเดือน แต่ละบ้าน สมาชิกภายในครอบครัวต่างกุลีกุจอช่วยกัน เร่งล้างและทำความสะอาด เพื่อให้บ้านกลับมาน่าอยู่อีกครั้ง
เฟอร์นิเจอร์ ข้าวของเครื่องใช้สารพัด ที่แช่น้ำเสียหายจำนวนมาก ถูกโละ รื้อ ขนออกมาทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นเตียงนอน หมอน มุ้ง ตู้ โต๊ะ เก้าอี้ รวมไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้การไม่ได้ ถูกนำออกมาวางทิ้งรวมกัน จนกลายเป็น “ขยะกองขนาดมหึมา” พบเห็นได้ในหลายจุด นับจำนวนราวหลายหมื่นตันต่อวัน ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไขเฉพาะหน้าโดยด่วน เพื่อไม่ให้ขยะเหล่านี้หมักหมมจนกลายเป็นแหล่งรังโรคระบาดตามมา
สภาพที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการจัดการขยะที่ขาดการมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ ซึ่งในระยะยาวควรมีจัดทำ “แผนการจัดการขยะ” รองรับ ไม่เพียงแต่ช่วยลดปริมาณขยะ แต่ยังนำขยะกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาขยะอย่างยั่งยืน
เทศบาลตำบลปริก
เทศบาลตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ตำบลศูนย์เรียนรู้สุขภาวะชุมชน โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นหนึ่งตัวอย่างพื้นที่ของการจัดการขยะที่เป็นรูปธรรม โดยคนในชุมชนต่างยินดีมีส่วนร่วม ยึดหลักแนวคิดเดียวกัน คือ “ขยะของฉัน ฉันจัดการเองได้” เน้นการคัดแยกขยะเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ อย่าง “ขยะอินทรีย์” (ขยะเปียก) ที่ย่อยสลายได้ ทั้งเศษอาหาร เปลือกผลไม้ และ “ขยะรีไซเคิล” (ขยะแห้ง) อย่าง ขวดแก้ว พลาสติกและกระป๋องโลหะ เป็นต้น เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และ “ขยะที่หาประโยชน์ไม่เจอ” อย่างขยะสารพิษที่ต้องกำจัดอย่างถูกวิธี
นายบังหลี-อาหลี หมัดหนิ พ่อค้าขายอาหารในตำบลปริก เล่าว่า แต่เดิมเศษอาหารในร้าน จะถูกเททิ้งรวมกับขยะอื่นๆ แต่จากที่ได้ทดลองนำวิธีคัดแยกขยะมาใช้ เริ่มจากคัดแยกเศษอาหารออก ปล่อยให้เกิดการย่อยสลายภายในหลุม จนกลายเป็นก๊าชชีวภาพ ทำให้มีพลังงานทดแทนใช้แทนแก๊สหุงต้มได้ และเมื่อบวกกับพลังเตาอั้งโล่ที่ใช้กะลาเหลือทิ้งมาเป็นถ่าน ทำให้จากเดิมที่เคยจ่ายเงินซื้อแก๊สหุงต้มถึง ๖ ถังต่อเดือน เหลือเพียงการใช้ก๊าซหมักชีวภาพแค่หนึ่งถังเท่านั้น แถมใช้ได้นาน ๕-๖ เดือนทีเดียว ช่วยลดรายจ่ายของร้านไปได้มาก มีกำไรมากขึ้น ไม่นับรวมน้ำหมักชีวภาพที่นำมาใช้รดผักสวนครัวหลังบ้าน ทำให้ได้ผักสดสะอาดและปลอดสารพิษไว้กินไว้ขาย
เช่นเดียวกับบ้านของ นายซาการียา หมัดเลียด อาชีพเกษตรกร ที่นอกจากหมักขยะเศษอาหารเพื่อทำก๊าซชีวภาพเช่นเดียวกับนายบังหลี-อาหลี แล้ว ยังใช้เศษอาหารและขยะที่ย่อยสลายง่าย หมักเป็นปุ๋ยอินทรีย์เพื่อใช้ในสวนของตนเอง ไม่ต้องง้อปุ๋ยคอกที่ต้องจ่ายเงินซื้อและมีราคาแพงอย่างเคย ซึ่งเป็นเวลากว่า ๔ ปีมาแล้ว ที่นายซาการียาบอกว่า เขาไม่ต้องเสียเงินซื้อปุ๋ยคอกมาใช้ในสวนเหมือนกับเกษตรกรคนอื่นๆ ไม่นับรวมการทำน้ำยาอเนกประสงค์จากเศษผลไม้ที่เป็นขยะเหลือทิ้ง เพื่อใช้ในครัวเรือน ไม่ว่าจะล้างจาน ซักผ้า และล้างห้องน้ำ เป็นต้น แถมยังแบ่งแจกจ่ายไปให้เพื่อนบ้านได้ใช้
“น้ำยาอเนกประสงค์ที่ทำใช้เองในบ้าน นอกจากประหยัด ไม่ต้องซื้อแล้ว ยังส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อม เพราะน้ำยาที่ทำขึ้นนี้ มาจากเศษสิ่งธรรมชาติ เมื่อนำมาชะล้างสิ่งต่างๆ ในครัวเรือน น้ำที่ชะล้างไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง นอกจากจะไม่มีสารเคมีอันตรายปนเปื้อน ที่จะกลับมาสู่ตัวเรา ชุมชน และสัตว์ต่างๆ แล้ว ยังดีต่อดิน ใบไม้ ใบหญ้า และสิ่งแวดล้อมอีกต่างหาก” นายซาการียา บอก
นอกจากรูปแบบการจัดการขยะที่เริ่มต้นที่บ้านแล้ว เทศบาลตำบลปริกยังมี “โรงผลิตปุ๋ยหมักอินทรีย์” ที่นำเศษขยะอินทรีย์ที่เล็ดรอดจากการคัดแยกขยะตามบ้าน มาหมักเป็นปุ๋ยและน้ำหมักเพื่อใช้ในชุมชนโดยรวม เรียกได้ว่าเป็นด่านที่ ๒ ของการคัดแยกขยะเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ส่งผลให้ปริมาณขยะในชุมชนลดลงอย่างเห็นได้ชัด
สำหรับในส่วนของขยะที่สามารถรีไซเคิลได้นั้น เทศบาลตำบลปริกยังมีโครงการ “ธนาคารขยะ” ดำเนินการดูแลโดยกลุ่มเยาวชน จากแนวคิด “เปลี่ยนขยะเป็นเงิน” ด้วยการใช้รูปแบบเดียวกับร้านรับซื้อของเก่า มีการคัดแยกประเภทขยะ อย่างกระดาษปกแข็ง กระดาษสมุด พลาสติก และขวดแก้ว ตามราคารับซื้อ เพื่อนำไปขายต่อให้กับร้านรับซื้อของเก่าในเมือง และเงินที่ได้จะกลับมาเป็นเงินออมให้กับเด็กๆ และชาวบ้าน ซึ่งแต่ละคนจะมีสมุดบัญชีเงินฝาก สะสมเงินจากขยะที่นำมาขาย และสามารถเบิกถอนได้ เพียงแต่ต้องเหลือเงินไว้ร้อยละ ๑๐ ของบัญชีเงินฝาก
น.ส.กัลสุดา อามีน หรือน้องตาร์ หนึ่งในผู้ดูแลธนาคารขยะบอกว่า การช่วยงานที่ธนาคารขยะแห่งนี้ นอกจากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ขยะกลับมามีค่า และลดปริมาณขยะในชุมชนแล้ว ยังเป็นการฝึกความรับผิดชอบ จากที่เคยเที่ยวเล่นไปวันๆ ขับมอเตอร์ไซค์ เดินตากแอร์เที่ยวห้าง ได้มาทำงานอย่างมีจุดมุ่งหมาย เพราะในทุกเย็นวันศุกร์ เวลา ๑๖.๐๐-๑๘.๐๐ น. จะเป็นเวลาทำงานที่ธนาคารขยะนี้ โดยจะเปิดรับซื้อขยะที่มีผู้นำมาขายและนำไปจัดการ ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้
โครงการธนาคารขยะนี้ จึงเป็นเสมือน “ยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว”
ตำบลบ้านหาดสองแคว
การจัดการขยะของเทศบาลตำบลปริกสอดคล้องทิศทางเดียวกับ “โครงการจัดเก็บขยะ ด้วยจักรยาน” ของทางตำบลบ้านหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ ตำบลศูนย์เรียนรู้สุขภาวะชุมชน โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. ซึ่งได้ดำเนินโครงการต่อเนื่องมากว่า ๑๐ ปีแล้ว ไม่เพียงแต่มีประโยชน์ทางตรง ทำให้ชุมชนสะอาด แต่ยังได้ประโยชน์ทางอ้อม เพราะทำให้เด็กๆ ในชุมชนได้ออกกำลังกาย สร้างสุขภาพแข็งแรง ซ้ำยังเป็นการใช้เวลาว่างในช่วงวันหยุดเรียน เสาร์-อาทิตย์ ให้เกิดประโยชน์ ไม่ไปมั่วสุมยาเสพติด แหล่งอบายมุขจนกลายเป็นปัญหาสังคมตามมา
จุดเริ่มต้น นายพงษ์เทพ ชัยอ่อน นายก อบต. สองแคว หรือ “นายกเทพ” เล่าว่า แรกเริ่มขยะในหมู่บ้าน โดยเฉพาะตามริมทางจะเยอะมาก มีทั้งถุงพลาสติก ขวดน้ำ กระป๋องเครื่องดื่ม ส่วนใหญ่เกิดจากคนนอกหมู่บ้านที่เดินทางไปมาโยนทิ้งไว้ ซึ่งเกรงว่าหากปล่อยไปแบบนี้ ขยะคงเพิ่ม ล้นหมู่บ้านแน่ ส่งผลภาพลบต่อคนในชุมชน ทั้งยังอาจเกิดโรคไข้เลือดออกระบาดตามมาจากน้ำที่ขังอยู่ตามขยะ กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย จึงช่วยกันคิดกับคนในชุมชนว่าจะทำอย่างไร
“จากที่เห็นเด็กๆ ในหมู่บ้านชอบปั่นจักรยานเที่ยวเล่นกันทุกวัน จึงเกิดไอเดียบรรเจิดว่า น่าจะพ่วงการจัดเก็บขยะเข้าไปด้วย โดยจัดตั้งเป็น “ชมรมจักรยานสานฝัน” หากเห็นขยะที่ไหนก็เก็บขยะที่นั่นไปด้วย และทาง อบต.จะเป็นผู้รับซื้อขยะเหล่านั้น ถ้าเป็นขยะพลาสติก ถุงพลาสติก คิดให้กิโลกรัมละ ๑๐ บาท แต่ถ้าเป็นกระป๋องน้ำดื่ม น้ำอัดลม จะอยู่ที่ใบละ ๕๐ สตางค์” นายพงษ์เทพ กล่าว กิจกรรมนี้นอกจากเด็กๆ จะได้ปั่นจักรยานสนุกแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้ช่วยครอบครัว ทั้งยังมีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในชุมชน ที่นำมาซึ่งความภูมิใจในหน้าที่ของตนเอง ขณะเดียวกันชุมชนเองก็ได้ประโยชน์
นายกเทพกล่าวต่อว่า วันนี้สมาชิกชมรมไม่ได้มีเฉพาะเด็กๆ อย่างในอดีตแล้ว แต่มีพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กๆ เข้าร่วม จากเดิมที่มีสมาชิกเพียงแค่ ๑๕๐ คน ได้ขยายไปถึง ๓๐๐ คนแล้ว หรือเกือบทุกบ้านในชุมชนเข้ามาเป็นสมาชิก ทั้งยังกลายเป็นกิจกรรมที่สร้างความรักความอบอุ่นภายในครอบครัวร่วมกัน
นวัตกรรมชุมชนในด้านการจัดการขยะที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทั้ง ๒ แห่งข้างต้น เป็นเพียงแค่ตัวอย่างรูปแบบการจัดการปัญหาขยะที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม และหลายพื้นที่น่าทำตามแบบอย่างด้วยการคิดและหาวิธีดำเนินการที่เหมาะสมกับบริบทของตนเอง โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพฯ กำลังเผชิญปัญหาขยะอยู่ ที่อาจกลายเป็นการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส จนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาขยะอย่างเป็นระบบได้ในระยะยาวได้
- อ่าน 7,932 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้