• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กำจัดจุลินทรีย์หลังน้ำท่วม

จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ส่งผลให้บ้านพักอาศัย โรงงาน โรงพยาบาล สถานที่ราชการต้องจมอยู่ใต้น้ำนานเป็นเวลานับเดือน แต่เมื่อน้ำลดแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนนั่นคือ อันตรายจากเชื้อจุลินทรีย์ที่มาในช่วงน้ำท่วม

ที่เห็นเด่นชัดที่เกิดขึ้นคือ เชื้อราที่เกิดตามผนังอาคารบ้านเรือน เชื้อราจัดเป็นจุลินทรีย์ชนิดหนึ่ง ที่มีอยู่ทั่วไปตามธรรมชาติ ไม่สามารถสังเคราะห์แสงเพื่อผลิตอาหารเองได้ แต่ได้รับอาหารจากการสร้างเอนไซม์ย่อยสลายวัสดุอาศัยแล้วดูดซึมเข้าสู่เซลล์ เซลล์ของเชื้อรามักรวมกันเป็นเส้นใย โครงสร้างเส้นใยของเชื้อราไม่ซับซ้อน ไม่มีระบบท่อลำเลียงน้ำ ทำให้เชื้อราต้องอาศัยความอับชื้นจากสิ่งแวดล้อมในการเจริญเติบโต

ดังนั้น สภาวะที่เหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อราคือสภาวะที่อากาศไม่ระบายและมีความชื้นสูง เชื้อราส่วนใหญ่แพร่กระจายพันธุ์โดยการสร้างสปอร์ที่มีขนาดเล็ก ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า สปอร์จะลอยผ่านอากาศ และเมื่อสปอร์ตกลงบนพื้นผิวที่เปียกหรือมีความชื้น เชื้อราจะเริ่มเจริญเติบโต ดังเช่นในสภาวะน้ำท่วมขังภายในอาคารบ้านเรือนที่ปิดมิดชิด เป็นอีกสภาวะหนึ่งที่กระตุ้นการเจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณของเชื้อรา
เชื้อราหลังน้ำลดเป็นกลุ่มเดียวกันกับเชื้อราที่ปกติพบตามอาคารบ้านเรือนที่อับชื้น เชื้อรากลุ่มนี้มีมากมายหลายชนิด แต่ที่พบบ่อยมีอยู่ไม่กี่สกุล เช่น สกุล Aspergillus , Cladosporium, Penicillium และ Stachybotrys เป็นต้น

ภาพเชื้อราที่เกิดขึ้นตามผนังอาคาร
ที่มา : http : // ldthealthsolutions.com/ldtrxtest/FacilityDesign.aspx

ภาพเชื้อรา Aspergillus sp. ภายใต้กล้องจุลทรรศน์
ที่มา : healthandenergy.com/aspergillis.htm

ความเสียหายและอันตรายจากเชื้อรา
๑. วัสดุที่เชื้อราอาศัยเจริญอยู่จะเสื่อมสภาพจากการที่ถูกเชื้อราย่อยไปเป็นอาหาร
๒. เส้นใยของเชื้อราที่เจริญอยู่ที่ผิววัสดุต่างๆ เมื่อรวมกันเป็นจำนวนมากจะปรากฏให้เห็นด้วยตาเปล่า หรือทำให้เกิดสีที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นบนวัสดุนั้นๆ
๓. ชิ้นส่วนหรือสปอร์ที่เชื้อราสร้างขึ้นเพื่อแพร่กระจายพันธุ์เมื่อฟุ้งกระจายไปในอากาศอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะกับระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ มีอาการไอ จาม น้ำมูกไหลและอาจเกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจได้หากร่างกายอ่อนแอหรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคไต ทำให้เกิดอันตรายรุนแรง เชื้อราสามารถกระตุ้นอาการหอบในคนที่เป็นโรคหอบหืดอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อตา จมูก หลอดลม ทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อน และแพ้เป็นผื่นลมพิษได้

วิธีควบคุมและกำจัดเชื้อราหลังน้ำท่วม
๑. ควรจะมีการสำรวจดูว่าบริเวณใดมีเชื้อราเกิดขึ้น โดยเฉพาะถ้ามีน้ำท่วมขังนานกว่า ๒ วันขึ้นไป จะมีโอกาสเกิดเชื้อราขึ้นได้แม้จะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า บริเวณที่มักมีเชื้อราซ่อนอยู่ ได้แก่ ใต้พื้น บริเวณฝ้าเพดาน ท่อน้ำที่รั่วซึม หรือใต้วอลเปเปอร์โดยเฉพาะวัสดุบุผนังที่เป็นพลาสติกชนิดพิเศษที่เรียกว่าไวนิล จะแห้งแต่ภายนอกเท่านั้น แต่จะเก็บกักความชื้นไว้ข้างใต้ทำให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ดี  
การสำรวจดูเชื้อราอาจทำได้ ๒ ทาง คือ ดูด้วยตา จะเห็นได้จากรอยเปื้อน หรือมีเส้นใยขึ้น และวิธีการดมกลิ่น กลิ่นเชื้อราจะเหม็นอับทึบ หรือเหม็นคล้ายกลิ่นดิน หากสงสัยให้ปฏิบัติดังนี้ สิ่งใดที่ไม่สามารถกำจัดเชื้อราได้หมดจดให้ทิ้งไป ถ้าเป็นสิ่งของที่ทำด้วยผ้า หากต้มได้ต้องฆ่าเชื้อด้วยการต้มน้ำร้อนก่อนจึงนำมาใช้อีก
๒. รีบทำความสะอาดพื้นและผนังโดยการขัดล้างให้เร็วที่สุด ก่อนลงมือทำความสะอาดควรแต่งกายให้มิดชิด สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว สวมรองเท้าบู๊ต สวมถุงมือยาง สวมหน้ากากอนามัย ใส่แว่นตา เพื่อป้องกันเชื้อและของเหลวมาสัมผัสบริเวณร่างกาย ระหว่างทำความสะอาดให้เปิดประตูหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ และเปิดพัดลมเพื่อช่วยให้แห้งโดยเร็ว หลักการและวิธีทำความสะอาดเพื่อกำจัดเชื้อรา

  • ควรแยกพื้นที่ที่จะทำความสะอาดให้อยู่ในวงจำกัดในมุมหนึ่งของบ้านและควรทำนอกอาคารถ้าเป็นไปได้
  • ในกรณีที่วัสดุนั้นๆ ยากแก่การทำความสะอาดหรือมีรูพรุนมาก มีเชื้อรามาก ให้คัดแยกวัสดุนั้นทิ้งไป และในการทิ้งต้องห่อด้วยพลาสติกเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของสปอร์เชื้อรา
  • เริ่มแรกควรล้างด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอกเพื่อขจัดสิ่งสกปรกออกก่อน แล้วตามด้วยน้ำยาที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา


ตัวอย่างของน้ำยาที่ฤทธิ์ฆ่าเชื้อราแบบอ่อน ได้แก่
๑. น้ำส้มสายชู ควรมีความเข้มข้นอย่างน้อย ๗% ควรใช้กับกระดาษหรือใส่ขวดสเปรย์ฉีดใส่บริเวณที่มีเชื้อราขึ้นทิ้งไว้ ๕-๑๐ นาทีแล้วเช็ดออกได้เลย กำจัดได้ในระดับน่าพอใจ (๘๐%) แต่ไม่สามารถฆ่าสปอร์ได้
๒. น้ำมันต้นชา (Tea tree oil) ใช้ ๒ ช้อนชาในน้ำ ๒ ถ้วย ใส่ขวดสเปรย์เบาๆ บนบริเวณที่ต้องการแล้วเช็ด เหลือเก็บใส่ขวดเก็บไว้ใช้ได้นาน มีกลิ่นฉุน ฆ่าเชื้อราได้หลายชนิด แต่มีราคาแพง
๓. สารสกัดจากเมล็ดผลไม้ตระกูลส้ม (Grapefruit seed extract) ใช้ ๒๐ หยด ใส่ในน้ำ ๒ ถ้วย ใส่ขวดสเปรย์เบาๆ บนบริเวณที่ต้องการแล้วเช็ดออกได้เลย มีราคาแพง แต่ไม่มีกลิ่น

ตัวอย่างของน้ำยาที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราแบบเข้มข้น
๑.แอลกอฮฮล์ (ethanol, isopropanol) ใช้ที่ความเข้มข้น ๖๐-๙๐% ควรให้ระยะสัมผัสอย่างน้อย ๕-๑๐ นาที
๒.น้ำยากัดผ้าให้ขาว (Clorox bleach) หรือโซเดียมไฮโพคลอไรต์ (sodium hypochlorite) ใช้ที่อัตราส่วน ๑ : ๑๐ สารนี้ส่วนใหญ่จะเป็นที่รู้จักกัน เป็นสารประกอบคลอรีน มีฤทธิ์ในการทำลายเชื้ออย่างกว้างขวาง มีราคาถูก และออกฤทธิ์อย่างรวดเร็ว แต่สารละลาย โซเดียมไฮโพคลอไรต์ เสื่อมสภาพได้เร็ว ดังนั้นจึงควรเตรียมใหม่ทุกครั้งที่จะใช้ การเก็บรักษาให้เก็บในภาชนะที่ป้องกันแสงถ้าเป็นแก้วมักใส่ในขวดสีชา
๓.โฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (hydrogen peroxide) ใช้ที่ความเข้มข้น ๓-๖% แต่การใช้สารนี้ระยะเวลาสัมผัสผิวที่จะฆ่าเชื้อต้องใช้เวลานาน คือ ควรที่จะแช่เอาไว้
๔.ไอโอโดฟอร์ (Iodophore) ใช้ฆ่าสปอร์ได้ที่ความเข้มข้น ๗๕ ส่วนในล้านส่วน ระยะเวลาสัมผัสผิวที่จะฆ่าเชื้อต้องใช้เวลานานเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเชื้อรามีการกระจายอยู่ในอากาศทั่วไป  ดังนั้นนอกจากการกำจัดเชื้อราโดยวิธีดังกล่าวข้างต้นแล้ว การควบคุมเชื้อราอย่างมีประสิทธิภาพต้องดำเนินการร่วมกับการรักษาระดับความชื้นในอาคารบ้านเรือนไม่ให้ชื้นสูงกว่าปกติ ควรให้อากาศได้ระบายถ่ายเท มีการทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศรวมทั้งการรักษาความสะอาดของที่พักอาศัยโดยรวม





 

ข้อมูลสื่อ

393-024
นิตยสารหมอชาวบ้าน 393
มกราคม 2555
เรื่องน่ารู้
จารวี สุขประเสริฐ