ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย
ผู้ป่วยที่มาหาหมอด้วยปัญหาปวดท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย มีให้พบเห็นเสมอ เวลาท้องอืด ท้องเฟ้อ บางคนคิดถึง ยาหม่อง ยาลม ยาธาตุน้ำขาว ยาธาตุน้ำแดง ขมิ้นชัน ขิง หรือน้ำร้อนใส่กระเป๋าน้ำร้อน ฯลฯ ตามแต่จะมีคนแนะนำ หรือตามแต่ประสบการณ์ที่เคยทดลองกับตนเองมาแล้วได้ผล ความจริงท้องอืด ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย เป็นเพียงอาการที่แสดงออกเท่านั้น แต่สาเหตุมีด้วยกันหลายแบบ ถ้าสังเกตสักนิด จะทำให้เราเลือกวิธีการรักษาและป้องกันได้ไม่ยาก
ตัวอย่างเช่น นาย ก. ปกติเป็นคนแข็งแรงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องท้องอืดท้องเฟ้อ อยู่มาคืนหนึ่งขณะเข้าโครงการลดน้ำหนักกินแต่ผัก ผลไม้ ก่อนนอนกินแตงโม แช่เย็น น้ำมะพร้าวแช่เย็น ส้มโอปริมาณมาก พร้อมดื่มชาเขียวใส่น้ำแข็งอีก ๒ แก้ว แล้วเข้านอน เนื่องจากอากาศค่อนข้างร้อน ที่บ้านไม่มีแอร์ เลยเปิดพัดลมจ่อเข้าลำตัว แถมยังนอนบนพื้นปูนอีกต่างหาก นอนไปค่อนคืนตกใจตื่น เพราะคืนนั้นฝันทั้งคืน แถมยังปวดท้อง ท้องอืด เย็นๆ ในท้อง ลุกขึ้นเข้าห้องน้ำ มีการถ่ายเหลวเป็นอาหารที่ไม่ย่อย แพทย์แผนจีนวินิจฉัยภาวะโรคของนาย ก. ว่าเป็นเพราะความเย็นกระทบทำให้พลังหยางของน้ำอุดกั้นเลือด และพลังสะดุด เกิดอาการปวดแน่นและอาหารไม่ย่อย นาย ก. กินอาหารที่มีคุณสมบัติเย็น (เป็นยิน) เช่น แตงโม น้ำมะพร้าว ส้มโอที่แช่เย็น แถมชาเขียวแช่เย็นเข้าไปอีก ในช่วงกลางคืน ขณะที่พลังยินเองก็กำลังพัฒนา (ยินในยิน : ความเย็นเริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จาก ๑๘.๐๐-๒๔.๐๐น.) เท่ากับไปเพิ่มความเป็นยินอย่างมาก ยังไม่พอนอนบนพื้นปูนที่เย็นและจ่อพัดลม (ลม+เย็น) ปัจจัยยินที่มากเกินไป มีผลต่อระบบการย่อย (กระเพาะอาหารและม้าม) ผู้ป่วยจึงปวดท้อง ท้องอืด และถ่ายเหลว แถมยังนอนฝันทั้งคืนอีกต่างหาก (พลังม้ามเกี่ยวข้องกับหัวใจ) ดังนั้น เรื่องของอาการเจ็บไข้ได้ป่วยจึงไม่ได้ขึ้นอยู่ กับว่าจะใช้ยาอะไรกิน แต่เกี่ยวโยงไปถึงวิถีชีวิตการกินอาหาร การนอน ความเข้าใจสภาวะของร่างกาย และกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติ
ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยรายนี้
๑. ถ้าใช้ยาธาตุน้ำแดง ขิง แห้ว กระเป๋าน้ำร้อน ฯลฯ หรือยาที่ออกไปทางร้อนก็จะบรรเทาอาการได้
๒. ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นยิน ในเวลากลางคืน เช่น แตงโม ส้มโอ (อนุญาตหลังอาหารมื้อเย็นได้บ้าง)
๓. ต้องให้บริเวณท้องมีความอบอุ่น ไม่ควรนอนจ่อพัดลม หรือนอนบนพื้นที่เย็น (ถ้าจะนอนพื้น ต้องมีเบาะหรือที่นอนที่มีความหนาพอ)
๔. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่ม เช่น ชา ชาเขียว น้ำแข็ง
๕. คนที่กระเพาะอาหารและม้ามถูกความเย็นกระทบ บางคนอาจมีพื้นฐานร่างกายที่เย็น-พร่องอยู่แล้ว เช่น แขนขาเย็น ปวดเย็นบริเวณสะดือ หรือท้องน้อยเวลากิน อาหารที่เย็นจะมีอาการปวดท้อง ท้องเสียได้ (เช่น ขนมจีน)
๖. เวลาประคบให้ความร้อน หรือใช้มือกดจะสบายขึ้น
แพทย์แผนจีนใช้หลักการรักษาภาวะปวดท้องจากความเย็นกระทบอย่างไร
หลักการ อุ่นส่วนกลางกระจายความเย็น
ตำรับยา เจิ้งชี่เทียนเซียงส่วน
ตัวยาสำคัญ คือ อุ่นส่วนกลางกระจายความเย็น
๑. เหลียงเจียง
๒. กานเจียง
๓. จื่อซู
ปรับพลัง แก้ปวด
๑. อูเย่า
๒. เซียงฟู่
๓. เฉินผี
ตัวยาสำคัญในตำรับนี้ คือ ขิงแก่ (อุ่นส่วนกลาง) ร่วมกับเปลือกส้ม หัวแห้วหมู (ช่วยขับลมปรับพลัง)
เมื่อรู้อย่างนี้เราควรจะแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น มีขิงซอง (ขิงแห้ง) ติดตัวไว้ที่บ้านสักหน่อยก็ไม่เลวนะครับ
- อ่าน 41,949 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้