• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บนเส้นทางหนังสือ (๑๗)

บนเส้นทางหนังสือ (๑๗)


บทที่ ๑๔
การแก้ปัญหาความวิตกกังวลและการสร้างการเคารพตนเอง

ได้ประมาณการกันว่าตลอดชั่วชีวิตอย่างน้อย ๑ ใน ๔ ของคนอเมริกัน จะเกิดความวิตกกังวลรุนแรง ถึงขนาดที่ทางการแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกกังวล แต่แม้คนที่ไม่ถึงกับเรียกว่ามีพยาธิสภาพ แต่บางครั้งบางคราวก็จะเคยวิตกกังวลอย่างหนักที่ไม่มีประโยชน์อะไรเลย แต่บ่อนทำลายความสุข และความสามารถในการประกอบการงานของเขา สมองมนุษย์ประกอบด้วยระบบที่ละเอียดลออ ที่สร้างไว้เพื่อจะให้รับรู้ความกลัวและความกังวลใจ ระบบนี้มีหน้าที่สำคัญ เพื่อตอบโต้ต่ออันตรายโดยการกระตุ้นกระบวนการทางชีวเคมีและสรีรวิทยาอันซับซ้อนของร่างกาย ด้านที่มีประโยชน์ของความวิตกกังวลก็คือทำให้เรารู้ตัวต่ออันตรายที่กำลังเกิดขึ้นและจัดการป้องกันเสีย ดังนั้นความกลัวและความวิตกกังวลบางอย่างก็เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ แต่ความรู้สึกกลัวหรือวิตกกังวลจะดำรงอยู่นานเกิน หรือเพิ่มระดับขึ้นโดยปราศจาก      อันตรายจริงๆ และถ้าอารมณ์อย่างนี้มีมากเกินจะทำให้เกิดโทษ ความวิตกกังวลที่รุนแรงเกิน ก็เหมือนความโกรธความเกลียดนั่นแหละ มีผลร้ายอย่างยิ่งต่อกายและใจ เป็นต้นตอของความทุกข์ทางใจ หรือแม้ทางกายด้วย

ในทางจิตใจ ความวิตกกังวลเรื้อรังทำให้วิจารณญาณไม่ดี ทำให้ทุรนทุราย ทำให้ประสิทธิผลโดยทั่วๆ ไปตกต่ำลง อาจมีผลร้ายทางกายด้วย เช่น ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันตกต่ำลง โรคหัวใจ โรคกระเพาะลำไส้ อ่อนเพลีย กล้ามเนื้อเกร็งและปวด โรควิตกกังวลอาจทำให้เด็กผู้หญิงวัยรุ่นเติบโตช้า ในการหากลวิธีที่จะจัดการกับความวิตกกังวล เราจะต้องรู้เสียก่อน ดังที่ท่านทะไล ลามะ จะบอกเราว่า ความวิตกกังวลเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ในบางรายก็อาจจะเกิดจากความผิดปกติทางชีววิทยา ดังที่คนบางคนก็มีระบบประสาทที่วิตกกังวลได้ง่าย เมื่อเร็วๆ นี้นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบหน่วยกรรมพันธุ์ (ยีน) ที่เกี่ยวข้องกับการทำให้วิตกกังวลง่ายและการคิดทางลบ แต่ไม่ใช่ว่าโรควิตกกังวลจะเกิดจากกรรมพันธุ์เสมอไป การเรียนรู้และสภาพแวดล้อมมีความสำคัญมากต่อการทำให้เกิดโรควิตกกังวล แต่ไม่ว่าความวิตกกังวลของเราจะมีต้นเหตุทางกายภาพหรือทางจิตก็ตาม ข่าวดีก็คือว่า เราสามารถจะแก้ไขได้ ในรายที่วิตกกังวลอย่างรุนแรงก็มียาที่ช่วยได้ แต่สำหรับเราเกือบทั้งหมดความวิตกกังวลที่มีอยู่เป็นประจำวันไม่ต้องการการใช้ยาแต่อย่างใด ผู้เชี่ยวชาญการบำบัดความวิตกกังวลโดยทั่วไปคิดว่า ควรใช้วิธีการบำบัดที่หลากหลายเป็นดีที่สุด กฎข้อแรกคือต้องให้แน่ใจว่าไม่ใช่ปัญหาทางการแพทย์ การปรับปรุงสุขภาพด้วยการกินอาหารและการออกกำลังกายที่เหมาะสมก็อาจจะช่วยได้ และดังที่ท่านทะไล ลามะ ย้ำ การปลูกฝังความเมตตากรุณาและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น ทำให้สุขภาพจิตดีและลดความวิตกกังวลได้

ในการหากลวิธีที่จะเอาชนะความวิตกกังวล มีเทคนิคหนึ่งที่ได้ผลดีมากคือ วิธีการทางความคิด นี้เป็นวิธีหลักอย่างหนึ่งที่ท่านทะไล ลามะ ใช้ในการเอาชนะความวิตกกังวลในชีวิตประจำวัน ใช้วิธีเดียวกับการเอาชนะความโกรธความเกลียด วิธีนี้ใช้การเผชิญการคิดแบบทำให้เกิดความวิตกกังวล โดยการคิดทางบวกด้วยเหตุผลเข้ามาแทนที่ โดยในวัฒนธรรมตะวันตกเต็มไปด้วยความวิตกกังวล หมอคัตเลอร์จึงต้องการเรียนรู้จากท่านทะไล ลามะ ว่าท่านจัดการกับมันอย่างไร ในวันนั้นท่านมีธุระค่อนข้างยุ่ง หมอคัตเลอร์รู้สึกว่าความวิตกกังวลใจของตัวเองกำลังเพิ่มขึ้นขณะที่รอคอย ก่อนการสัมภาษณ์จะเริ่มขึ้น เลขานุการของท่านก็มาบอกว่าการสนทนาจะต้องตัดให้สั้น ด้วยความรู้สึกที่ถูกบีบคั้นด้วยเวลา และความกังวลว่าจะไม่สามารถคุยประเด็นที่ต้องการคุยได้ทัน หมอคัตเลอร์ก็หันไปหาวิธีที่ไม่ดีซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว คือพยายามสกัดคำตอบที่ง่ายเกินไปจากท่านทะไล ลามะ

"ท่านทราบดีแล้วว่า ความกลัวและความวิตกกังวลเป็นอุปสรรคอันยิ่งใหญ่ต่อการบรรลุเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายทางโลกหรือทางธรรม ในทางจิตเวช เรามีวิธีอันหลากหลายที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ แต่ผมอยากทราบว่าในมุมมองของท่าน อะไรเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเอาชนะความกลัวและความวิตกกังวล" หมอคัตเลอร์ถาม

ท่านทะไล ลามะ ไม่ยอมตอบเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบง่ายๆ เกินไปแบบนั้น ท่านตอบด้วยวิธีการพิจารณาอย่างครอบคลุมตามแบบฉบับของท่าน "ในการขจัดความกลัว ก่อนอื่นเราต้องรู้เสียก่อนว่าความกลัวมีหลายชนิด ความกลัวบางชนิดก็เป็นของแท้ มีเหตุที่สมควร เช่น กลัวความรุนแรง กลัวการนองเลือด เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเลวร้าย แล้วก็ยังมีความกลัวถึงผลร้ายระยะยาวของการกระทำที่ไม่ดีของเรา กลัวความทุกข์ กลัวอารมณ์ทางลบของตัวเอง เช่น ความเกลียด ความกลัวเหล่านี้เป็นความกลัวที่ถูกต้อง มีความกลัวต่อสิ่งเหล่านี้ช่วยให้เราไปสู่เส้นทางที่ถูกต้อง ช่วยให้เราเป็นคนมีจิตใจดี" ท่านทะไล ลามะ หยุดไตร่ตรองครู่หนึ่ง แล้วก็พูดต่อ "แม้ว่าในความหมายหนึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเรียกว่าเป็นความกลัวชนิดหนึ่ง  แต่อาตมาคิดว่าอาจมีความแตกต่างระหว่างกลัวสิ่งเหล่านี้กับการที่จิตมองเห็นผลร้ายของสิ่งเหล่านี้..."
ท่านหยุดพูดไปครู่ใหญ่ และก็ดูตั้งอกตั้งใจที่จะพูดต่อ ขณะที่หมอคัตเลอร์แอบมองเวลาที่นาฬิกาของตน ท่านทะไล ลามะ ดูไม่รู้สึกถูกบีบคั้นด้วยเวลาเหมือนหมอคัตเลอร์ แล้วท่านก็พูดต่อไปอย่างสบายๆ

"อีกด้านหนึ่ง ความกลัวบางชนิดเกิดจากเราไปสร้างขึ้นมาเอง ความกลัวชนิดนี้เกิดจากการไปคิดเอาเอง ตัวอย่างเช่น ความกลัวแบบเด็กๆ" ท่านพูดพลางหัวเราะ

"อย่างเมื่อเราเป็นเด็กแล้วเดินไปในที่มืด เช่น ห้องมืดๆ ในพระราชวังโปตาลา (พระราชวังประจำตำแหน่งทะไล ลามะ ในทิเบต)  แล้วก็เกิดความกลัวขึ้น ความกลัวอย่างนี้เกิดจากการคิดไปเอง หรืออย่างเมื่ออาตมายังเด็ก คนเก็บกวาดและพี่เลี้ยงอาตมาคอยบอกอาตมาว่า มีนกเค้าแมวที่คอยจับเด็กกิน" ท่านทะไล ลามะ หัวเราะเสียงดัง
 
"แล้วอาตมาก็เชื่อเขา!"

"มีความกลัวชนิดอื่นๆ อีกที่เกิดจากการคิดไปเอง เช่น ถ้าคุณมีอารมณ์ไม่ดี เพราะสภาพจิตตัวเอง คุณอาจจะนำความรู้สึกนั้นไปใส่คนอื่น ซึ่งทำให้เขาดูเป็นคนไม่ดีและโหดร้าย แล้วคุณก็เกิดกลัวขึ้นมา ความกลัวชนิดนี้สัมพันธ์อยู่กับความเกลียดชังและเกิดขึ้นจากการสร้างมันขึ้นมาในจิตใจของตนเอง ดังนั้น ในการจัดการกับความกลัว จะต้องใช้เหตุผลค้นให้รู้ว่ามีพื้นฐานของความจริงในความกลัวของคุณหรือเปล่า"

หมอคัตเลอร์ถาม "แต่ว่าที่ไม่ใช่ความกลัวเกี่ยวกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งโดยเฉพาะ พวกเราจำนวนมากมีความวิตกกังวลในปัญหาประจำวันทั่วๆไป ท่านมีคำแนะนำสำหรับความวิตกกังวลแบบนี้บ้างไหม"

ท่านพยักหน้าและตอบว่า  "วิธีหนึ่งที่อาตมาพบว่าช่วยลดความวิตกกังวลแบบนั้น คือการฝึกคิดแบบนี้ว่า ถ้าปัญหาหรือสถานการณ์นั้นๆ แก้ไขได้ ก็ไม่มีเรื่องอะไรต้องวิตกกังวล หรืออีกนัยหนึ่ง ถ้ามีทางออกจากปัญหาก็ไม่ต้องไปกลัวมัน การกระทำที่ถูกต้องคือหาทางแก้ปัญหาเป็นการดีกว่า ถ้าเราจะใช้พลังไปในการแก้ปัญหา แทนที่จะไปวิตกกังวลกับปัญหา หรือในทางกลับกัน ถ้าไม่มีทางออก แก้ปัญหาไม่ได้ ไม่มีทางทำอะไร ก็ไม่ควรจะไปวิตกกังวล เพราะถึงวิตกกังวลไป เราก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี ในกรณีเช่นนี้ ถ้าเรายอมรับความจริงเร็วเท่าไร เราก็สบายใจขึ้นเร็วเท่านั้น สูตรนี้หมายความว่าเผชิญปัญหาซึ่งๆ หน้าเลย มิฉะนั้นคุณก็ไม่มีทางรู้ว่า ปัญหาที่คุณสัมผัสอยู่มีทางแก้หรือไม่"

"ถ้าการคิดแบบนั้นไม่ช่วยลดความวิตกกังวลล่ะ" 
หมอคัตเลอร์ถาม

"ถ้าอย่างนั้น คุณต้องไตร่ตรองถึงการคิดแบบนี้ให้มากขึ้น และเพิ่มความเชื่อมั่นในแนวคิดนี้  เตือนตัวเองถึงเรื่องนี้ซ้ำๆ อาตมาคิดว่าวิธีนี้ช่วยให้ลดความวิตกกังวล แต่ไม่ได้หมายความว่าจะได้ผลเสมอไป ถ้าคุณกำลังเผชิญกับความวิตกกังวลที่กำลังมีอยู่ อาตมาคิดว่าคุณจะต้องมองถึงความจำเพาะของสถานการณ์นั้น มีความวิตกกังวลหลายชนิดและหลายสาเหตุ ตัวอย่างเช่น ความวิตกกังวลหรือกลัวอาจเกิดจากเหตุทางชีววิทยา คนบางคนอาจจะเหงื่อออกที่ฝ่ามือง่าย ซึ่งในทางการแพทย์แบบทิเบตว่าเกิดขึ้นเพราะการไม่ได้ดุลของพลังงานภายในตัวที่ละเอียดอ่อน ความวิตกกังวลบางชนิดคล้ายคลึงกับโรคซึมเศร้าที่มีสาเหตุมาจากทางชีววิทยาแบบนี้การรักษาทางการแพทย์มีประโยชน์ ฉะนั้นในการที่จะแก้ปัญหาความวิตกกังวลให้ได้ผล คุณจะต้องพิจารณาถึงชนิดและสาเหตุของมัน 

"เหมือนกับเรื่องความกลัว  ความวิตกกังวลก็มีหลายชนิด  ตัวอย่างเช่น  ความวิตกกังวลชนิดหนึ่ง  ซึ่งอาตมาคิดว่าพบอยู่ทั่วๆ ไป  ก็เกี่ยวกับความกลัวว่าตัวจะดูโง่ต่อหน้าคนอื่น  หรือกลัวว่าคนอื่นจะคิดถึงคุณในทางไม่ดี..."

"ท่านเองเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับความวิตกกังวลและความกลัวชนิดนั้นบ้างไหม" หมอคัตเลอร์ถาม

ท่านทะไล ลามะ หัวเราะเสียงดัง และตอบโดยไม่ลังเลว่า "โอ้ เคยทีเดียวละ"

"ท่านพอจะยกตัวอย่างได้ไหม"

ท่านทะไล ลามะ คิดอยู่ชั่วครู่แล้วพูดว่า "เช่น  ในปี ค.ศ. ๑๙๕๔ ในประเทศจีน ในวันแรกที่พบกับประธานเหมาเจ๋อตุง และอีกครั้งหนึ่งพบกับโจวเอินไหล ในครั้งกระนั้นอาตมายังไม่เข้าใจแบบแผนของการประชุมดีนัก ในกระบวนการของการพบปะโดยปกติทั่วๆ ไปนั้น ก็เริ่มด้วยการทักทายปราศรัยกันก่อน แล้วจึงไปถึงการพูดคุยเรื่องที่เป็นทางการ ในคราวนั้นอาตมาเกิดความกลัวขึ้นมาอย่างมาก จนเมื่อนั่งลงก็พูดเรื่องอย่างเป็นทางการทันที!" ท่านทะไล ลามะ หัวเราะ เมื่อทบทวนความจำถึงเหตุการณ์นั้น "อาตมาจำได้ว่า หลังจากนั้นล่ามของอาตมาซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ทิเบต เป็นคนที่เชื่อถือได้และเป็นเพื่อนของอาตมาเอง มองอาตมาแล้วก็หัวเราะ และล้อเลียนอาตมาถึงเรื่องนี้ อาตมาคิดว่า แม้แต่ทุกวันนี้ ก่อนพูดต่อสาธารณะ อาตมารู้สึกเป็นกังวลน้อยๆ จนคนที่ดูแลอาตมามักจะพูดว่า ถ้าเป็นอย่างนั้น ทำไมอาตมาจึงตอบรับที่จะมาพูด" ท่านเล่าแล้วก็หัวเราะอีก

"ถ้าอย่างนั้น  ท่านจัดการกับความวิตกกังวลประเภทนี้ได้อย่างไร"  หมอคัตเลอร์ถาม

ด้วยน้ำเสียงอันปราศจากมารยา ท่านตอบว่า "อาตมาไม่รู้..." ท่านหยุดและนั่งกันอยู่เงียบๆ เป็นเวลานาน  ซึ่งดูเหมือนว่าท่านพยายามคิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบ และในที่สุดพูดว่า "อาตมาคิดว่าการมีแรงจูงใจและความสุจริตใจ คือ กุญแจที่จะเอาชนะความกลัวและความวิตกกังวลประเภทนั้น  ดังนั้นถ้าอาตมาเกิดความกังวลก่อนเริ่มปาฐกถา อาตมาก็จะเตือนตัวเองว่าวัตถุประสงค์ของการบรรยายนี้เพื่อประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่เพื่อโอ้อวดความรู้ของตัวเอง ดังนั้นอะไรที่อาตมารู้ก็จะอธิบาย อะไรที่อาตมายังไม่ค่อยเข้าใจก็ไม่เป็นไร อาตมาก็จะบอกว่า "สำหรับอาตมาเรื่องนี้ยาก" ไม่มีอะไรที่จะต้องซุกซ่อนหรือเสแสร้ง โดยมีจุดยืนอย่างนี้ด้วยความตั้งใจอย่างนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลว่าจะดูโง่ หรือคนอื่นจะคิดอย่างไรกับเรา ดังนั้นอาตมาจึงพบว่าการกระทำด้วยความจริงใจ เป็นการลดความกลัวและวิตกกังวล"

"ท่านครับ แต่บางครั้งความวิตกกังวลเกิดจากสิ่งที่มากกว่าที่จะปรากฏความโง่เขลาต่อหน้าผู้อื่น แต่เป็นความกลัวที่จะล้มเหลว ความรู้สึกที่ว่าไม่เก่งพอ..."  หมอคัตเลอร์ถามขึ้นจากประสบการณ์ของตัวเอง 

ท่านทะไล  ลามะ ฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ  พยักหน้าเป็นครั้งคราวขณะที่หมอคัตเลอร์พูดซึ่งหมอคัตเลอร์ก็ไม่แน่ใจว่าทำไม อาจจะว่าท่านเห็นใจหรืออย่างไร แต่โดยไม่รู้ตัวหมอคัตเลอร์ได้เปลี่ยนจากการคุยเรื่องทั่วไป มาเป็นการถามหาคำแนะนำของท่านเพื่อมาแก้ปัญหาความกลัวและความวิตกกังวลของตัวเอง เขาจึงเล่าให้ท่านฟังว่า
"...บางครั้งในการรักษาคนไข้ของผม บางคนรักษายากมาก ไม่ใช่คนไข้ที่จะวินิจฉัยลงไปให้ชัดเจนว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรืออะไรที่จะรักษาได้ง่ายๆ แต่ว่าคนไข้บางคนก็เป็นโรคทางบุคลิกที่รุนแรง ให้ยาก็ไม่ดีขึ้น ทำจิตบำบัดก็ไม่ดีขึ้น แม้ผมจะพยายามอย่างเต็มที่ บางทีผมเองก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับคนเหล่านี้ จะช่วยเขาได้อย่างไร ผมไม่รู้ชัดว่าเขาเป็นอย่างไร ทำให้ผมรู้สึกเป็นอัมพาตไปไม่รู้จะช่วยเหลือเขาได้อย่างไร ทำให้ผมรู้สึกตัวเองด้อยสมรรถภาพ และนั่นทำให้ผมกลัวและกังวลใจ"

ท่านทะไล ลามะ ฟังอย่างเคร่งขรึม และถามด้วยน้ำเสียงที่มีความเมตตา "หมอคิดว่า หมอช่วยคนไข้ได้สัก ๗๐ เปอร์เซ็นต์ไหม"

"อย่างน้อย" หมอคัตเลอร์ตอบ

ท่านทะไล ลามะ ตบหลังมือหมอคัตเลอร์เบาๆ พร้อมกับกล่าวว่า "ถ้าอย่างนั้น อาตมาคิดว่าหมอไม่มีปัญหาอะไรเลยนี่ ถ้าหมอช่วยคนไข้ได้เพียง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ อย่างนั้นละก็อาตมาคิดว่าหมอควรจะเปลี่ยนอาชีพ อาตมาคิดว่าหมอทำได้ดีแล้ว ในกรณีของอาตมามีคนมาขอให้ช่วยจำนวนมากทีเดียวที่ต้องการปาฏิหาริย์ แน่นอนทีเดียวอาตมาไม่สามารถช่วยได้ทุกคน แต่อาตมาคิดว่าสิ่งสำคัญคือ เจตนา การมีเจตนาอันสุจริตที่จะช่วยผู้อื่นซึ่งทำให้ดีที่สุด แล้วก็ไม่ต้องวิตกกังวล ในกรณีของอาตมาเอง มีสถานการณ์ที่ละเอียดอ่อนที่เป็นความเป็นความตาย เป็นความรับผิดชอบอย่างใหญ่หลวง อาตมาคิดว่าสิ่งที่ลำบากที่สุดคือ การที่ประชาชนให้ความสำคัญและ เชื่อถืออาตมามากเกินไปในสถานการณ์ที่หลายสิ่งหลายอย่างเกินเลย สิ่งที่อาตมาจะมีให้ได้ ในกรณีเช่นนี้ความวิตกกังวลย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน นี่ก็อีกครั้งหนึ่งที่เราจะต้องหันไปให้ความสำคัญกับเจตนา อาตมาพยายามเตือนตนเองว่า เจตนาของอาตมานั้นสุจริต และอาตมานั้นพยายามทำให้ดีที่สุด ด้วยเจตนาที่สุจริตและการมีความเมตตากรุณา แม้แต่อาตมาก็ทำผิดและล้มเหลวได้ แต่ก็ไม่เป็นเหตุให้เสียใจ เพราะพยายามทำดีที่สุดแล้ว ถ้าอาตมาล้มเหลวก็เพราะสถานการณ์มันหนักหนาเกินความพยายามที่ดีที่สุดของอาตมา เจตนาอันสุจริตจะขจัดความกลัว และทำให้เรามั่นใจในตนเอง ในทางตรงข้ามกัน ถ้าเจตนาของเราหวังจะหลอกลวงคนอื่น แล้วเราล้มเหลว เราจะกลัวมาก แต่ถ้าคุณบ่มเพาะเจตนาที่ประกอบด้วยความเมตตากรุณา  ถึงจะล้มเหลวก็ไม่เสียใจ"

"ดังนั้น ย้ำแล้วย้ำอีก เจตนาที่ดีเป็นเหมือนเกราะ ที่คุ้มครองเราจากความกลัวและความวิตกกังวล ที่จริงการกระทำของมนุษย์ก็คือความเคลื่อนไหว และเบื้องหลังการเคลื่อนไหวก็คือเจตนา ถ้าคุณสร้างเจตนาที่บริสุทธิ์และสุจริต ต้องการช่วยผู้อื่นด้วยความเมตตากรุณา ความเคารพ คุณจะทำงานเรื่องอะไรๆ ก็ดี คุณจะทำด้วยประสิทธิภาพที่ดีขึ้น มีความกลัวและความวิตกกังวลน้อยลง ไม่กลัวว่าใครจะคิดอย่างไร และไม่กลัวว่าจะสำเร็จหรือไม่ แม้แต่ว่าถ้าคุณไม่บรรลุเป้าหมาย คุณก็ยังมีความรู้สึกที่ดีที่ได้พยายามทำ แต่ถ้าเจตนาไม่ดี แม้ประชาชนจะยกย่องหรือคุณบรรลุเป้าหมาย คุณก็จะไม่มีความสุข"

ในการพูดถึงการขจัดความวิตกกังวล ท่านทะไล ลามะ บอกวิธี ๒ วิธี ซึ่งออกฤทธิ์ต่างระดับกัน วิธีแรกใช้วิธีคิดว่า ถ้ามีวิธีแก้ปัญหาก็ไม่จำเป็นจะต้องวิตกกังวล ถ้าไม่มีวิธีแก้ปัญหาจะวิตกกังวลไปทำไม วิธีที่ ๒ เป็นวิธีที่กว้างกว่าคือ ปรับเปลี่ยนเจตนา วิธีของท่านทะไล ลามะ นี้แตกต่างวิธีการทางวิทยาศาสตร์ และจิตวิทยาของตะวันตก นักวิจัยได้ศึกษาพลังเจตนารมณ์ของมนุษย์ปุถุชน ไม่ว่าจะเป็นที่เกิดจากสัญชาตญาณ หรือที่เกิดจากความต้องการ ในระดับนี้ท่านทะไล ลามะ มุ่งไปที่การพัฒนาแรงขับเคลื่อนของความกระตือรือร้น และความตั้งใจจริงนี้ ก็ตรงกับทางตะวันตกที่หาทางเพิ่มความกระตือรือร้น และความแน่วแน่ที่จะสัมฤทธิ์เป้าหมาย แต่ความแตกต่างอยู่ที่วิธีของท่านทะไล ลามะ สร้างความกระตือรือร้นและความแน่วแน่จากการสร้างพฤติกรรมแห่งการทำดี เพื่อเพื่อนมนุษย์และขจัดสภาพจิตใจที่ไม่ดีออกไปมากกว่าที่จะบรรลุความสำเร็จแบบโลกย์ๆ เช่น เงินและอำนาจ และความแตกต่างที่เด่นชัดอย่างยิ่งก็คือ นักพูดปลุกใจตะวันตก พยายามกระตุ้นแรงจูงใจของความสำเร็จทางโลกย์ที่มีอยู่แล้วเป็นพื้นฐานทางจิตใจ และนักทฤษฎีตะวันตกวุ่นอยู่กับการจัดประเภทของแรงจูงใจแบบธรรมดาๆ แต่ความสนใจของท่านทะไล ลามะ อยู่ที่ปรับแรงจูงใจไปสู่ความรักความกรุณา 

ในระบบของท่านทะไล ลามะ ในการฝึกจิตและการบรรลุความสุขอยู่ที่ยิ่งทำดีเพื่อผู้อื่นมากเท่าไร ยิ่งลดความกลัวในการเผชิญกับเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลมากเท่านั้น หลักการนี้ใช้ได้แม้แต่ในเรื่องที่เล็กน้อยที่ไม่ถึงจะเป็นเรื่องทำดีเพื่อผู้อื่นอย่างสมบูรณ์ เช่นเพียงแต่ว่าเราตั้งใจว่าจะไม่ทำร้ายผู้อื่น และมีเจตนาอันสุจริต ก็จะช่วยลดความวิตกกังวลในสถานการณ์ประจำวันธรรมดาๆ ได้แล้ว

ข้อมูลสื่อ

326-021
นิตยสารหมอชาวบ้าน 326
มิถุนายน 2549
ศ.นพ.ประเวศ วะสี