• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไอเพอร์แอ๊กทีฟ

ไอเพอร์แอ๊กทีฟ


ไฮเพอร์ มาจากศัพท์ ไฮเพอร์แอ๊กทีฟ (hyperactive) หมายถึง ลักษณะของเด็กที่อยู่ไม่นิ่ง วิ่งซนทั้งวัน และมีอาการสมาธิสั้นร่วมด้วย เป็นปัญหาเกี่ยวกับสภาวะทางพฤติกรรม สาเหตุหลักๆ ของไฮเพอร์แอ๊กทีฟมี ๓ ประการ คือ

๑. ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
เด็กไฮเพอร์ประมาณร้อยละ ๓๐-๔๐ มีญาติ พี่น้องที่มีปัญหานี้ แต่ก็ไม่อาจสรุปได้แน่ชัดว่าเด็กในครอบครัวที่มีปัญหาไฮเพอร์จะต้องมีอาการไฮเพอร์ทุกคน

๒. สารเคมีในสมอง
ถ้าคนเราขาดสารเคมีที่เป็นปัจจัยสำคัญในการส่งผ่านข้อมูลต่างๆ หรือมีจำนวนน้อยไม่เพียงพอ ก็อาจเป็นสาเหตุของอาการไฮเพอร์ได้

๓. สภาพแวดล้อม
ก่อนคลอด มักเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในครรภ์ ได้แก่ แม่ดื่มแอลกอฮอล์หรือเสพสิ่งเสพติด ภาวะขาดสารอาหารของแม่ รวมไปถึงการที่แม่ได้รับสารเคมีที่เป็นอันตราย เช่น สารตะกั่ว
หลังคลอด ได้แก่ การที่สมองของทารกได้รับบาดเจ็บในระหว่างคลอดหรือหลังคลอด การติดเชื้อ ขาดธาตุเหล็กซึ่งทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง และทารกได้รับสารเคมีอันตราย

เด็กไฮเพอร์สังเกตได้จากพฤติกรรม ๒ กลุ่ม คือ

๑. กลุ่มที่ซนมากผิดปกติ
เด็กซนมากผิดปกติคือไม่รู้จักระมัดระวังตัวเอง ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยๆ อยู่ไม่นิ่ง ชอบวิ่งไปมาและปีนป่าย มีอาการลุกลี้ลุกลน ชอบลุกจากที่นั่งบ่อยๆ ไม่สามารถเล่นคนเดียวเงียบๆได้ อารมณ์ร้อนและแปรปรวนง่าย ขาดความอดทนในการรอคอย พูดมาก ชอบพูดขัดจังหวะ และช่างฟ้อง

๒. กลุ่มสมาธิบกพร่องหรือสมาธิสั้น
เด็กสมาธิสั้นมักมีปัญหาในการทำกิจกรรมตามลำพัง และการฟังคำสั่ง โดยเฉพาะกิจกรรมที่ใช้คำสั่งยาวๆ มีปัญหาในการทำกิจกรรมหรือการงานใดๆ ให้สำเร็จลุล่วง

มีปัญหาในการทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิดนานๆ ขี้ลืม ทำอุปกรณ์การเรียนหายบ่อยๆ ถูกรบกวนจากสิ่งเร้าต่างๆ ได้ง่ายมาก มีอาการวอกแวก เหม่อลอย หรือเพ้อฝัน ขาดสมาธิและความตั้งใจในการเรียนหรือการทำกิจกรรมที่มีรายละเอียดปลีกย่อย เด็กบางคนอาจมีพฤติกรรมคล้ายเด็กไฮเพอร์ แต่ความจริงพฤติกรรมนั้นอาจมีสาเหตุจากความผิดปกติ เช่น การสูญเสียการได้ยิน ปัญหาต่อมไทรอยด์ ปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น อาการชักบางประเภท และอาการของโรคเรื้อรังบางชนิด เช่น โรคภูมิแพ้ ทำให้เด็กขาดสมาธิ มีอาการลุกลี้ลุกลนจนทำให้เข้าใจผิดว่าลูกเป็นเด็กไฮเพอร์ คนที่อยู่ไม่นิ่ง ชอบทำโน่นทำนี่ทั้งวัน มักจะมีคนว่าเป็นคนไฮเพอร์ อาการไฮเพอร์เป็นปัญหาที่น่าเห็นใจ และต้องทำการเยียวยารักษา เป็นความทุกข์ของครอบครัว

ข้อมูลสื่อ

327-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 327
กรกฎาคม 2549