• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคแพนิก-โรคตื่นตระหนก

โรคแพนิก-โรคตื่นตระหนก


ถ้าไม่ได้รับการรักษา มักมีอาการกำเริบบ่อย ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย เช่น แยกตัวเอง ไม่กล้าออกจากบ้าน ในเด็กอาจมีผลต่อพัฒนาการ การ    เข้าสังคม การเรียนหนังสือ และมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย การติดแอลกอฮอล์ หรือติดยา โรคแพนิกเป็นภาวะวิตกกังวลหรือมีความรู้สึกกลัวอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นฉับพลันทันที โดยไม่คาดคิดมาก่อน คืออยู่ๆ ก็เกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ จะเป็นอยู่เพียงประมาณ ๒๐-๓๐ นาทีก็ทุเลาไปเอง แต่มักมีอาการกำเริบซ้ำเป็นครั้งคราว จนบางคนกลัวว่าตนเองจะเป็นโรคหัวใจหรือกลัวตาย บางคนต้องรีบไปตรวจที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล บางคนกลัวจนไม่กล้าออกจากบ้าน
ความจริงโรคนี้ไม่มีอันตราย หากได้รับการรักษาอย่างจริงจัง ก็สามารถดำเนินชีวิตเป็นปกติสุขได้
      
ชื่อภาษาไทย   โรคแพนิก โรคตื่นตระหนก
ชื่อภาษาอังกฤษ   Panic disorder

สาเหตุ
ยังไม่ทราบแน่ชัด สันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวกับความผิดปกติทางพันธุกรรม ซึ่งพบว่าผู้ที่มีพ่อแม่ พี่น้อง เป็นโรคนี้ มีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ ยังอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านจิตใจและด้านชีวภาพ ปัจจัยด้านจิตใจ เชื่อว่าความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น นั้นเป็นการเลียนแบบมาจากพ่อแม่ที่มีอาการในลักษณะ เดียวกับผู้ป่วย หรือเกิดจากผู้ป่วยเคยมีอาการแพนิก ในขณะที่มีสิ่งกระตุ้นหรืออยู่ในสถานที่บางลักษณะ เมื่อเจอสิ่งกระตุ้นหรือสถานที่ลักษณะนั้น ก็เกิดอาการกำเริบซ้ำอีก ส่วนปัจจัยด้านชีวภาพ พบว่า ระบบประสาท    อัตโนมัติส่วนซิมพาเทติกของผู้ป่วยมีความไวต่อสิ่งกระตุ้น ต่างๆ หรือมีการตอบสนองอย่างผิดปกติต่อสารส่งผ่านประสาท (neuro transmitlers) ได้แก่ นอร์เอพิเนฟริน ซีโรโทนิน กรดแกมมา อะมิโนบูไทริก (gamma amino-butynic acid หรือ PABA) หรือเกิดจากสารเหนี่ยวนำ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์เข้มข้น 5-35% โซเดียมแล็กเทต ไบคาร์บอเนต โยฮิมบิน (yohimbin) เฟนฟลูรามีน (fenfluramine) กาเฟอีน เป็นต้น
      
อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการวิตกกังวลหรือรู้สึกกลัวอย่างรุนแรงเกิดขึ้นฉับพลันทันทีโดยไม่คาดคิดมาก่อนเกิดขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งใดมากระตุ้น และกำเริบซ้ำบ่อยๆ โดยแต่ละครั้งที่เป็นจะมีอาการดังต่อไปนี้ ตั้งแต่ ๔ อย่างขึ้นไป

  • ใจสั่น หัวใจเต้นแรงหรือเร็ว
  • เหงื่อแตก
  • มือสั่น หรือตัวสั่น
  • หายใจไม่อิ่ม หรือหายใจขัด
  • รู้สึกอึดอัด หรือแน่นในหน้าอก
  • เจ็บหน้าอก หรือไม่สบายบริเวณหน้าอก
  • คลื่นไส้ หรือปั่นป่วนในท้อง
  • รู้สึกมึนงง วิงเวียน โคลงเคลง โหวงเหวง หรือเป็นลม
  • รู้สึกว่าสิ่งต่างๆ รอบตัวแปลกไป หรือรู้สึกว่าตนเองแปลกไป
  • กลัวว่าจะควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือกลัวจะเป็นบ้า
  • กลัวจะตาย
  • รู้สึกมึนชาหรือปวดเสียวตามตัว
  • รู้สึกหนาวสั่น หรือร้อนวูบวาบไปทั้งตัว
  • อาการที่เกิดขึ้นไม่สัมพันธ์กับเหตุการณ์หรือสถานการณ์ใดๆ ไม่เกี่ยวข้องกับโรคทางกาย หรือใช้ยา หรือสารใดๆ อาจเกิดขึ้นขณะอยู่ในบ้านหรือนอกบ้าน ขณะอยู่ตามลำพังหรืออยู่กับคนอื่นก็ได้

อาการจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเพิ่มความแรงถึงระดับสูงสุดภายใน ๑๐ นาที แต่ละครั้งจะเป็นอยู่ไม่เกิน ๒๐-๓๐ นาที (น้อยรายที่จะเป็นนานเกิน ๑ ชั่วโมง) บางรายอาจมีอาการกลัวการอยู่ในสถานที่ที่ตนอาจเกิดอาการขึ้นมาแล้วจะไม่ได้รับการช่วยเหลือ หรือหนีออกไปไม่ได้ (agoraphobia) ร่วมด้วย ผู้ป่วยมักมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งเป็นผลมาจากอาการดังกล่าว (เช่น ไม่กล้าออกจากบ้าน) จนมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน

การแยกโรค
อาการแสดงออกทางกายที่เป็นผลมาจากความรู้สึกวิตกกังวลหรือกลัวอย่างรุนแรง มักคล้ายกับโรคทางกายได้หลายแบบที่สำคัญ เช่น

  • โรคหัวใจ มักจะมีอาการปวดแน่นตรงลิ้นปี่ ร้าวขึ้นคอ ไหล่ ขากรรไกร นานไม่กี่นาที ผู้ป่วยจะมีอายุ มากหรือมีโรคประจำตัว (เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง อ้วน) หรือมีประวัติสูบบุหรี่มานาน ในรายที่เป็นรุนแรงมักจะเจ็บแน่นหน้าอกอย่างต่อเนื่องนานเป็นชั่วโมงๆ หรือเป็นวันๆ ร่วมกับอาการใจสั่น เป็นลม เหนื่อยหอบ นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคหัวใจบางชนิดก็อาจมีอาการ เท้าบวม เวลานอนราบรู้สึกเหนื่อยหอบ

     
  • คอพอกเป็นพิษ มักจะมีอาการใจสั่น เหนื่อยง่ายตลอดเวลาเป็นสัปดาห์ๆ หรือเป็นแรมเดือน น้ำหนัก ลด ทั้งๆ ที่กินอาหารได้ปกติหรือจุกว่าปกติ มือสั่น เหงื่อออกชุ่ม บางคนจะมีอาการคอโต (คอพอก) ตาปูดโปนร่วมด้วย

     
  • โรคหลอดเลือดสมองตีบ มักจะมีอาการวิงเวียน เห็นบ้านหมุน เดินเซ ตาเห็นภาพซ้อน แขนขาซีกหนึ่งชาหรืออ่อนแรง ผู้ป่วยจะมีอายุมาก หรือมีโรคประจำตัว หรือสูบบุหรี่แบบเดียวกับโรคหัวใจ

     
  • โรคหืด มักจะมีอาการหายใจหอบ หายใจลำบาก มีเสียงดังวี้ดนานเป็นชั่วโมงๆ หรือเป็นวันๆ เมื่อใช้ยาขยายหลอดลมพ่นหรือกิน อาการก็จะทุเลาได้ ถ้าขาดยาก็มักจะกำเริบอีก อาจมีประวัติว่ามีญาติสายตรงเป็นโรคนี้ หรือโรคภูมิแพ้ต่างๆ ร่วมด้วย

     
  • ฤทธิ์จากยา (เช่น ยาแก้ปวดท้องบางชนิด ยาแก้หวัดคัดจมูก ยาแก้หืด ฯลฯ) หรือชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง สารเหล่านี้กระตุ้นให้เกิดอาการใจหวิว ใจสั่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย มักจะเป็นอยู่นานเป็นชั่วโมงๆ จนสารหมดฤทธิ์ ก็จะทุเลาไปได้เอง

     
  • การหยุดกินยา (เช่น ยากล่อมประสาท ยานอนหลับ ยาจำพวกฝิ่น) หรือหยุดดื่มเหล้า ที่เคยกินหรือดื่มติดต่อกันมานาน ก็อาจทำให้เกิดอาการใจสั่น มือสั่น ตื่นเต้นได้

การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากลักษณะอาการแสดงเป็นหลัก (ดูเกณฑ์การวินิจฉัยโรคแพนิก) ในรายที่ไม่แน่ใจ อาจต้องส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด เอกซเรย์ ปอด ตรวจคลื่นหัวใจ เป็นต้น เพื่อแยกโรคทางกายออกจากโรคแพนิก
      
การดูแลตนเอง
ถ้ามีอาการเป็นครั้งแรก หรือไม่แน่ใจว่าจะเป็นโรคทางกายอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรไปปรึกษาแพทย์ ซึ่งจะช่วยวินิจฉัยโรคให้แน่ชัด ถ้าเป็นโรคแพนิกจริง ก็ควรปฏิบัติตัวดังนี้

๑. กินยาและติดตามการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง ห้ามหยุดยาหรือลดขนาดยาเอง

๒. ดำเนินชีวิตตามปกติ รวมทั้งออกกำลังกายได้เช่นคนปกติทั่วไป

๓. หลีกเลี่ยงการดื่มเหล้า ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง สารกาเฟอีน และกลุ่มยาที่กระตุ้นให้เกิดอาการใจหวิว ใจสั่น

๔. ฝึกผ่อนคลายความเครียด ฝึกสมาธิ หรือโยคะ

การรักษา
แพทย์จะให้ยาแก้ซึมเศร้า เช่น ฟลูออกซีทิน (fluoxetine) วันละครั้งหลังอาหารเช้า โดยเริ่มจากขนาดต่ำก่อน แล้วค่อยๆ ปรับเพิ่มขนาดทีละน้อย และให้ยากล่อมประสาท เช่น แอลพราโซแลม (alprazolam) ร่วมด้วยตั้งแต่แรก เมื่ออาการดีขึ้น จะให้นานติดต่อกัน ๔-๖ สัปดาห์ แล้วจึงค่อยๆ ลดยากล่อมประสาทลง จนเหลือยาแก้ซึมเศร้าเพียงอย่างเดียว เมื่อควบคุมอาการได้ดีแล้วจะคงให้ยาต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย ๑๒ เดือน แล้วจึงค่อยๆ ลดยาลงจนหยุดยาได้ โดยใช้เวลา ๒-๖ เดือน นอกจากนี้ ยังอาจให้การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การฝึกการผ่อนคลาย การใช้เทคนิคจิตบำบัด และพฤติกรรมบำบัดต่างๆ ผลการรักษาส่วนใหญ่จะได้ผลดี แต่ต้องกินยาอย่างต่อเนื่อง บางรายหลังหยุดยาสักระยะหนึ่งแล้ว ก็อาจมีอาการกำเริบได้อีก ก็ควรจะกลับไปพบแพทย์เพื่อรับยารักษารอบใหม่ โรคนี้อาจเป็นๆ หายๆ เรื้อรังได้ แต่สามารถใช้ยาควบคุมอาการให้สามารถดำเนินชีวิตเป็นปกติสุขได้
     
ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าไม่ได้รับการรักษา มักมีอาการกำเริบบ่อย ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย เช่น แยกตัวเอง ไม่กล้าออกจากบ้าน ในเด็กอาจมีผลต่อพัฒนาการ การเข้าสังคม และการเรียนหนังสือ ผู้ป่วยมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย การติดแอลกอฮอล์ หรือติดยา บางรายอาจมีโรคย้ำคิดย้ำทำร่วมด้วย
      
การดำเนินโรค
ถ้าได้รับยารักษาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง อาการก็จะหายไป และสามารถดำเนินชีวิตเป็นปกติได้ แต่ถ้าขาดยา หรือไม่ยอมรักษาอย่างจริงจัง ก็มักจะเป็นเรื้อรัง และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา

การป้องกัน
โรคนี้ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ และความบกพร่องเกี่ยวกับสารเคมีในสมอง จึงต้องอาศัยยารักษาเพื่อปรับสมดุลการทำงานของสมองให้เป็นปกติ ก็จะป้องกันไม่ให้เกิดอาการกำเริบได้
      
ความชุก
พบได้ประมาณร้อยละ ๓-๕ ของคนทั่วไป และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ประมาณ ๒-๓ เท่า มักมีอาการเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงอายุ ๑๗-๓๐ ปี (เฉลี่ย ๒๕ ปี) 

ข้อมูลสื่อ

327-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 327
กรกฎาคม 2549
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ