• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บนเส้นทางหนังสือ (๑๘)

บนเส้นทางหนังสือ (๑๘)


หลังจากการสนทนากับท่านทะไล ลามะ ในตอนที่แล้วไม่นาน หมอคัตเลอร์ได้ร่วมกินอาหารกลางวันกับคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีเด็กหนุ่มคนหนึ่งไม่เคยเจอมาก่อน หนุ่มคนนี้เป็นนักศึกษาในวิทยาลัยแห่งหนึ่งในท้องถิ่น ระหว่างกินอาหารอยู่นั้น มีคนถามขึ้นว่าการสนทนาของเขากับท่านทะไล ลามะ เป็นอย่างไรบ้าง เขาก็เลยเล่าให้ฟังถึงการเอาชนะความวิตกกังวล หนุ่มคนนั้นนั่งฟังถึงแนวความคิดที่ว่า "เจตนารมณ์ที่สุจริตเป็นเครื่องลดความกังวลใจ" แล้วก็สารภาพว่าเขาเป็นคนขี้อายอย่างหนักและมีความวิตกกังวลอย่างยิ่งเมื่อต้องปรากฏตัวต่อสาธารณชน เขาคิดอยู่ว่าจะประยุกต์ใช้เทคนิคนี้อย่างไรในการเอาชนะความวิตกกังวลของเขา นักศึกษาหนุ่มคนนี้พึมพำว่า "เรื่องนี้น่าสนใจจริงๆ แต่ผมคิดว่าส่วนที่ยากที่สุดก็คือทำอย่างไรจะมีความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์อย่างใหญ่หลวง"

"จริงทีเดียว"
หมอคัตเลอร์สนอง

แล้วการสนทนาในกลุ่มนั้นก็หันเหไปสู่เรื่องอื่น หมอคัตเลอร์บังเอิญไปเจอนักศึกษาคนเก่าที่ร้านอาหารเดิมในสัปดาห์ต่อมา

เขาเข้ามาทักทายหมอคัตเลอร์ด้วยกิริยาชื่นบาน แล้วพูดว่า "หมอจำได้ไหม วันก่อนเราคุยกันถึงเรื่องเจตนารมณ์และความวิตกกังวล ผมได้ลองดู แล้วมันได้ผลจริงๆ ด้วย! มีผู้หญิงคนหนึ่งทำงานอยู่ที่ร้านค้า ผมพบเขาหลายครั้ง ผมอยากจะชวนเขาไปเที่ยวด้วย แต่ก็ไม่รู้จักเธอ และก็รู้สึกขี้อาย และวิตกกังวลเกินไปจนไม่กล้าพูดกับเธอ วันก่อนผมเข้าไปในร้านนั้นอีก คราวนี้ผมคิดถึงเจตนารมณ์ที่จะชวนเธอออกไปเที่ยวด้วยกัน เจตนารมณ์ของผมก็คือต้องการจะเดตเธอ เบื้องหลังเจตนารมณ์นั้นก็คืออยากจะหาใครสักคนที่ผมจะรักและเขาจะรักผม เมื่อคิดดังนี้ ผมก็ตระหนักว่า เจตนาเช่นนี้ไม่ได้ผิดอะไร เป็นเจตนาที่สุจริต ผมไม่ได้คิดจะทำร้ายเธอหรือทำร้ายตัวเอง เป็นเรื่องดีๆ ทั้งสิ้น ผมก็คิดอยู่อย่างนี้เตือนตัวเองอยู่อย่างนี้ ซึ่งดูจะได้ผล ทำให้เกิดความกล้าที่จะพูดกับเธอ หัวใจผมเต้นแรงแต่ก็รู้สึกดีที่สามารถรวบรวมจิตใจที่จะพูดกับเธอได้"

"ผมดีใจที่รู้เรื่องนี้"
หมอคัตเลอร์กล่าว "แล้วเป็นไง"

"ปรากฏว่าเธอมีแฟนอยู่แล้ว ผมรู้สึกผิดหวัง แต่ก็ไม่เป็นไร ผมรู้สึกดีที่เอาชนะความขี้อายของตัวเองได้ มันทำให้ผมตระหนักรู้ว่า ถ้าผมมั่นใจว่าไม่มีอะไรเสียหายในเจตนารมณ์ของผม มันจะช่วยผมได้อีก ถ้าตกอยู่ในสถานการณ์อย่างเดียวกัน"
      
ความซื่อสัตย์เป็นยาแก้ความรู้สึกต่ำต้อย และความมั่นใจในตัวเองที่มากเกินขนาด

ความมั่นใจในตัวเองที่พอดีเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จตามความมุ่งหมาย เรื่องนี้ใช้ได้ไม่ว่ากับความมุ่งหมายที่จะได้รับปริญญาในการศึกษา หรือความสำเร็จในทางธุรกิจ หรือการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น หรือความมุ่งหมายในการฝึกจิตให้มีความสุข การมีความมั่นใจต่ำทำให้ขาดพลังที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้า ในการที่จะต่อสู้กับอุปสรรค หรือในการยอมรับความเสี่ยงในการที่จะทำตามเป้าหมายของเราให้สำเร็จ ความเชื่อมั่นตัวเองที่มากเกินขนาดก็อันตรายพอกัน คนที่เชื่อในความสำเร็จและความสามารถของตนเองที่เกินจริงจะมีความทุกข์เป็นประจำจากความผิดหวังและความงุ่นง่าน เมื่อความจริงปรากฏขึ้นและโลกไม่ได้เห็นว่าเขาเก่งจริง และคนเหล่านี้มักจะตกสู่ห้วงแห่งความซึมเศร้า เมื่อไม่สามารถทำได้ตามภาพอันเลอเลิศของตนเองที่ตัวเองสร้างขึ้นไว้ นอกจากนั้นความรู้สึกยิ่งใหญ่ของคนเหล่านี้ จะทำให้เขารู้สึกมีสิทธิเหนือคนอื่น และอหังการซึ่งทำให้เขาแปลกแยกจากคนอื่น ทำให้ไม่เกิดสัมพันธภาพที่ดี คนที่ประเมินตัวเองเก่งเกินจริงยังอาจนำไปสู่การสุ่มเสี่ยงที่อันตรายได้ ดังที่เดิรตี แฮรี คาลลาฮาน บอกเราในหนังชื่อ Magrum Force เมื่อตัวผู้ร้ายที่มั่นใจตัวเองเกินความเป็นจริงถึงแก่ความพินาศว่า "คนเราต้องรู้จักขีดจำกัดของตัวเอง"

ในวิถีจิตบำบัดแบบตะวันตก นักทฤษฎีคิดว่าทั้งคนที่มีความมั่นใจในตัวเองต่ำและคนที่มั่นใจในตัวเองสูงเกินไป มีภาพลักษณ์ของตัวเองที่ผิด อันมีรากฐานมาจากการเลี้ยงดูตั้งแต่เด็กๆ นักทฤษฎีหลายคนเห็นว่า ทั้งการมองภาพลักษณ์ของตัวเองต่ำเกินและสูงเกิน เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน เช่น คนที่มองภาพลักษณ์ของตัวเองสูงเกิน อาจจะเกิดจากการป้องกันตัวเองจากความไม่มั่นคงและความรู้สึกทางลบในตัวเอง โดยไม่รู้ตัวก็ได้ นักจิตบำบัดที่ใช้จิตวิเคราะห์ก็มีทฤษฎีว่าภาพลักษณ์ของตัวเองที่บิดเบี้ยวเกิดขึ้นได้อย่างไร เขาอธิบายว่าภาพลักษณ์ของตัวเองเกิดขึ้นจากการสะท้อนกลับ (feedback) จากสิ่งแวดล้อม นักทฤษฎีเหล่านี้อธิบายถึงการที่บุคคลเกิดภาพลักษณ์ของตัวเองจากการบอกเล่าทั้งอย่างโจ่งแจ้งและอย่างซ่อนเร้นจากพ่อแม่ และภาพบิดเบี้ยวเกิดขึ้นได้ถ้าความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าตัวกับผู้เลี้ยงดูไม่เป็นไปด้วยดี

เมื่อภาพลักษณ์ของตัวเองบิดเบี้ยวไปมากจนเกิดปัญหาในชีวิตคนเหล่านี้ก็จะแสวงหาจิตบำบัด นักจิตบำบัดจะช่วยให้คนไข้เข้าใจว่าปัญหาของเขาเกิดจากสัมพันธภาพกับผู้เลี้ยงดูแต่เยาว์วัย นักจิตบำบัดจะช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้อง ที่ช่วยให้คนไข้แก้ไขภาพลักษณ์ทางลบของ ตนเอง แต่อีกด้านหนึ่ง ท่านทะไล ลามะ เน้นที่ "ถอนลูกธนูออกจากอก" มากกว่าไปใช้เวลากับการหาว่าใครยิงลูกธนูนั้น แทนที่จะไปเสียเวลาว่าทำไมถึงเกิดความมั่นใจในตัวเองต่ำ หรือสูงเกินไป ท่านเสนอวิธีที่จะแก้ไขสภาพจิตทางลบโดยตรง ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ธรรมชาติของ "ตัวตน" เป็นเรื่องที่มีการวิจัยกันมากในทางจิตวิทยา ใน "ทศวรรษแห่งตัวฉัน" ในช่วง ค.ศ. ๑๙๘๐ มีบทความเป็นพันๆ เรื่อง ในแต่ละปีเกี่ยวกับประเด็นของการนับถือตนเอง และความมั่นใจในตนเอง หมอคัตเลอร์ได้ถามท่านทะไล ลามะ เกี่ยวกับเรื่องนี้

"ในการสนทนากันครั้งหนึ่ง ท่านได้พูดว่าความถ่อมตัวเป็นคุณลักษณะและสัมพันธ์อยู่กับการบ่มเพาะความอดทนและความทนได้ ในจิตวิทยาแบบตะวันตก และในวัฒนธรรมตะวันตกโดยทั่วดูเหมือนว่าความถ่อมตัวจะถูกมองข้าม แต่ไปให้ความสำคัญกับการนับถือตนเองและความมั่นใจในตนเอง ท่านคิดว่าคนตะวันตกให้ความสำคัญกับความมั่นใจในตนเองมากเกินไปหรือไม่ ซึ่งเป็นการตามใจตัวเองและเอาตัวตนเป็นใหญ่มากเกิน"

"ไม่จำเป็นจะต้องเป็นอย่างนั้น" ท่านทะไล ลามะ ตอบ

"แม้ว่าเรื่องนี้จะซับซ้อนมาก เช่น นักจิตตภาวนาเป็นผู้ที่ตั้งใจแน่วแน่ที่จะขจัดสภาวะจิตอันเศร้าหมองออกไป เพื่อจะสร้างความสุขนิรันดรให้มนุษยชาติ ท่านเหล่านี้มีทัศนะและแรงบันดาลใจอย่างนี้ ซึ่งต้องการความมั่นใจอันยิ่งใหญ่ทีเดียว ความมั่นใจในตัวเองแบบนี้สำคัญมาก เพราะมันทำให้เกิดความกล้าหาญที่จะทำตามเป้าหมายให้สำเร็จ แต่มองอีกแบบหนึ่งก็เหมือนกับอหังการ แต่ไม่ใช่ทางลบ มันมีรากฐานอยู่ในเหตุผลที่ดี ดังนั้น เรื่องนี้อาตมาเรียกว่าเป็นความกล้าหาญ และต้องการจะเรียกพวกเขาว่าเป็นวีรบุรุษ"


"ถ้าอย่างนั้น สำหรับครูทางจิตวิญญาณ สิ่งซึ่งดูผิวเผินว่าเป็นอหังการ แท้ที่จริงแล้วเป็นความมั่นใจในตัวเองและความกล้าหาญ" หมอคัตเลอร์คล้อยตาม "แต่สำหรับคนธรรมดาทั่วๆไปในชีวิตประจำวัน มันอาจจะตรงข้ามก็ได้ เช่นใครบางคนที่มีความมั่นใจตัวเอง และนับถือตัวเองอย่างแรงกล้า อาจจะเป็นเพียงความอหังการเท่านั้น ผมเข้าใจว่าในทางพุทธศาสนา ความอหังการถูกจัดเป็นกิเลสขั้นพื้นฐาน ผมเคยอ่านพบว่า มีผู้แบ่งความอหังการออกเป็น ๗ ประเภท  ดังนั้นการหลีกเลี่ยงหรือเอาชนะความอหังการจึงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เช่นเดียวกับการมีความเชื่อมั่นในตัวเองอย่างแรงกล้า ดูจะมีเส้นแบ่งที่ละเอียดอ่อนระหว่าง ๒ ประการนี้ ท่านจะบอกความแตกต่างระหว่างทั้ง ๒ ได้อย่างไร และจะบ่มเพาะอย่างหนึ่งแต่ลดละอีกอย่างหนึ่งได้อย่างไร"

"บางทีก็เป็นการยากที่จะแยกระหว่างความมั่นใจกับอหังการ" ท่านทะไล ลามะ ยอมรับ

"วิธีหนึ่งที่จะแยกระหว่างทั้ง ๒ ก็คือดูว่ามันดีหรือไม่ดี คนบางคนก็มีความรู้สึกว่าสูงกว่าคนบางคน ซึ่งอธิบายได้ด้วยเหตุผล แต่ก็อาจจะมีกรณีที่ตัวตนใหญ่เกินโดยไม่มีเหตุผล นี่ก็คือ อหังการ ฉะนั้นในทางปรากฏการณ์ มันดูเหมือนจะคล้ายกัน..."

"แต่คนที่อหังการก็จะคิดว่าเขาอยู่บนฐานของความจริง..."

"ถูกแล้ว ถูกแล้ว"
ท่านทะไล ลามะ ยอมรับ

"แล้วท่านจะแยกระหว่างความมั่นใจกับอหังการได้อย่างไร"

"อาตมาคิดว่าบางทีจะตัดสินได้ เมื่อเหตุการณ์มันผ่านไปแล้ว จะโดยเจ้าตัวเอง หรือโดยคนอื่น" ท่านทะไล ลามะ หยุดชั่วครู่หนึ่ง และพูดติดตลก "บางทีเขาผู้นั้นอาจจะต้องไปให้ศาลตัดสิน ว่าเป็นความภาคภูมิใจที่พองเกินไป หรืออหังการ" ท่านพูดแล้วก็หัวเราะ

"ในการแยกระหว่างความอวดดีกับความมั่นใจที่มีเหตุผล" ท่านกล่าวต่อ

"เราอาจจะคิดถึงผลที่ตามมา ความอวดดีและอหังการจะมีผลเสียตามมา ในขณะที่ความมั่นใจนำไปสู่การเกิดขึ้นของสิ่งที่ดี ดังนั้น เมื่อพูดถึงความมั่นใจในตนเอง เราจะต้องคิดว่าอะไรอยู่เบื้องหลังสิ่งที่เรียกว่า "ตนเอง" อาตมาคิดว่าอาจแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท

ประเภทที่ ๑ ของตนเองหรืออีโก้ (ego) เกี่ยวกับประโยชน์ของตัวเท่านั้น เป็นความต้องการแบบเห็นแก่ตัว โดยไม่นึกถึงความสุขของผู้อื่น

ประเภทที่ ๒ การคิดถึงคนอื่น และความต้องการที่จะช่วยเหลือ การที่จะช่วยเหลือเขาได้ ต้องการความรู้สึกความเป็นตนเองอย่างแรงและความรู้สึกมั่นใจในตนเอง ความมั่นใจในตนเองแบบนี้นำไปสู่ผลดี"

"ก่อนหน้านี้" หมอคัตเลอร์ตั้งข้อสังเกต "ผมคิดว่าท่านได้กล่าวว่าวิธีหนึ่งที่จะลดอหังการและความหยิ่งยโส ถ้าบุคคลยอมรับว่าความหยิ่งยโสเป็นเรื่องไม่ดี และต้องการเอาชนะมัน เขาอาจจะเพ่งพินิจความทุกข์ของเขาเอง มองดูว่าเรามักจะมีทุกข์ นอกจากการเพ่งพินิจความทุกข์ มีเทคนิคอื่นๆ หรือยาแก้ความหยิ่งยโสอีกไหม"

ท่านทะไล ลามะ ตอบว่า "ยาแก้ความหยิ่งยโส ก็คือ การคิดถึงความหลากหลายของวิชาต่างๆ ที่เราไม่มีความรู้ เช่น ในระบบการศึกษาสมัยใหม่ มีวิชาต่างๆ มากมาย ลองนึกดูว่ามีวิชาอะไรบ้างที่คุณไม่มีความรู้  มันอาจจะช่วยลดความหยิ่งยโสลงได้บ้าง"

ท่านทะไล ลามะ หยุดพูด คิดว่าได้พูดไปหมดแล้ว หมอคัตเลอร์ก็พลิกดูสมุดบันทึก เพื่อเตรียมจะคุยเรื่องอื่นต่อไป แต่ท่านทะไล ลามะ ก็เริ่มพูดขึ้นใหม่อย่างทันทีทันใด ด้วยสุ้มเสียงครุ่นคิด

"ท่านก็รู้ว่าเราได้คุยกันมาเรื่องการพัฒนาความมั่นใจในตัวเองที่ถูกต้อง...อาตมาคิดว่าความสุจริตใจกับความมั่นใจในตัวเองอาจจะเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิด"

"ท่านหมายถึงความสุจริตใจกับตัวเอง หรือความสุจริตใจกับผู้อื่น" หมอคัตเลอร์ถาม

"ทั้ง ๒ อย่าง" ท่านทะไล ลามะ ตอบ

"ยิ่งสุจริตใจเท่าไร เรายิ่งเปิดเผย และมีความกลัวน้อยลง เพราะไม่ต้องกังวลในการเปิดเผยตัวเองต่อผู้อื่น ดังนั้น อาตมาคิดว่ายิ่งมีความสุจริตใจยิ่งมีความมั่นใจในตนเอง..."

"ผมอยากจะถามว่าท่านทำอย่างไรกับตัวท่านเองเกี่ยวกับเรื่องความมั่นใจในตนเอง ท่านเคยเล่าว่ามีคนจำนวนมากมาหาท่านและคาดหวังว่าท่านจะสร้างปาฏิหาริย์ให้เขาได้ ความคาดหวังอย่างสูงในตัวท่านดูเหมือนจะเพิ่มความกดดันให้ท่าน แม้ท่านจะมีเจตนารมณ์อันบริสุทธิ์ แต่มันไม่ทำให้ท่านรู้สึกขาดความมั่นใจในตัวเองบ้างหรือ"


"ทำมันได้ คือมันอยู่ภายในวิสัยของคุณ และแล้วเมื่ออะไรที่อยู่ในวิสัยของคุณ แล้วคุณทำมันไม่ได้ คุณก็จะเริ่มรู้สึกว่า โอ้...บางทีผมอาจจะไม่ดีพอ หรือไม่สามารถพอที่จะทำมันได้ แต่สำหรับอาตมาที่รู้ว่าอาตมาสร้างปาฏิหาริย์ไม่ได้ ไม่ทำให้อาตมาขาดความมั่นใจ เพราะอาตมาไม่เคยเชื่อว่าอาตมาสร้างปาฏิหาริย์ได้ อาตมาไม่คาดหมายว่าตัวเองจะทำได้อย่างพระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้บรรลุธรรม ที่จะมีญาณหยั่งรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง เห็นทุกอย่าง ทำอะไรได้ถูกต้องทุกครั้งและตลอดเวลา ดังนั้น เมื่อมีคนมาหาอาตมาและขอให้รักษาเขาให้หาย หรือสร้างปาฏิหาริย์อะไรทำนองนั้น แทนที่จะทำให้อาตมาขาดความมั่นใจ แต่มันทำให้อาตมารู้สึกงุ่มง่ามมากกว่า"

"อาตมาคิดว่าการมีความสุจริตใจต่อตัวเองและผู้อื่น เกี่ยวกับว่าอะไรที่เราทำได้ หรือทำไม่ได้ ไม่ทำให้รู้สึกขาดความมั่นใจในตัวเอง"

"แต่บางครั้ง เช่นเรื่องเกี่ยวกับประเทศจีน อาตมารู้สึกขาดความมั่นใจในตนเอง โดยปกติแล้วเรื่องเช่นนี้ อาตมาจะปรึกษาเจ้าหน้าที่หรือแม้แต่ผู้ที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ อาตมาอาจถามความเห็นจากเพื่อนและแล้วก็ถกถึงเรื่องนั้น การตัดสินใจต่างๆ เกิดขึ้นจากการได้ถกอภิปรายกับผู้คนเป็นอันมาก ไม่ใช่ตัดสินใจไปโดยพลการ ฉะนั้นไม่ว่าการตัดสินใจอะไร ทำให้อาตมารู้สึกมั่นใจ ไม่มีอะไรจะต้องเสียใจที่ทำไปอย่างนั้น"

การประเมินตนเองอย่างสุจริตและโดยปราศจากภยาคติ อาจเป็นอาวุธที่ทรงพลังในการขจัดความสงสัยในตัวเอง และการขาดความมั่นใจในตัวเอง ความเชื่อของท่านทะไล ลามะ ว่าความสุจริตใจอย่างนี้เป็นโอสถแก้สภาวะอันเป็นลบทางจิตใจนี้ แท้ที่จริงแล้วก็ได้รับการยืนยันโดยการวิจัย เมื่อเร็วๆ นี้ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ผู้ที่มองตัวเองด้วยความเป็นจริงและถูกต้อง จะมีความพึงพอใจในตัวเอง และความมั่นใจมากกว่าคนที่ไม่รู้ความจริงเกี่ยวกับตัวเอง เป็นเวลาหลายปีทีเดียวที่หมอคัตเลอร์เฝ้าสังเกตท่านทะไล ลามะ ในการแสดงให้ผู้คนเห็นว่าความมั่นใจในตนเองเกิดขึ้นจากความสุจริตใจ และตรงไปตรงมาเกี่ยวกับความสามารถของตัวเอง ในครั้งแรกหมอคัตเลอร์รู้สึกประหลาดใจมากที่ได้ยินท่านพูดต่อหน้าที่ประชุมใหญ่ว่า "อาตมาไม่รู้" เมื่อมีผู้ถามคำถาม ไม่เหมือนกับสิ่งที่หมอคัตเลอร์คุ้นเคยกับนักวิชาการ หรือผู้ที่ตั้งตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญ ในเรื่องต่างๆ ท่านทะไล ลามะ ยอมรับว่าท่านไม่มีความรู้โดยไม่รู้สึกอับอายแต่อย่างใด หรือเสแสร้งตอบหลบเลี่ยงไป อันที่จริงดูท่านจะดีใจด้วยซ้ำไป เมื่อมีผู้ถามคำถามยากๆ ที่ท่านตอบไม่ได้ และท่านก็สนุกกับมัน เช่น บ่ายวันหนึ่งที่เมืองทูซอน (รัฐแอริโซนา) ท่านกำลังออกความเห็นเกี่ยวกับกลอนบทหนึ่งของสันติเทวะที่มาจากหนังสือชื่อ "เส้นทางพระโพธิสัตว์" ที่มีตรรกะที่ซับซ้อน ท่านพยายามอยู่ชั่วครู่ แล้วก็สับสน แล้วท่านก็ระเบิดหัวเราะออกมา และพูดว่า

"อาตมางงไปหมด เราข้ามไปกลอนบทต่อไปดีกว่า อ้าว บทต่อไป..." คนฟังหัวเราะครืนใหญ่อย่างเห็นด้วย ทำให้ท่านยิ่งหัวเราะมากขึ้นและกล่าวว่า "มีคำพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าเหมือนคนแก่ที่กำลังกินอาหาร คนแก่ที่ฟันไม่ดี ของอ่อนๆ ก็กินได้ ของแข็งๆ ก็ทิ้งไป" คนฟังยังหัวเราะอยู่ ท่านกล่าวว่า "ดังนั้น วันนี้เราจะทิ้งเรื่องนี้ไว้แค่นี้แหละ" ท่านไม่เคยไหวคลอนในยามเช่นนี้ จากการมีความมั่นใจสูงส่งเลย
      
ทบทวนถึงศักยภาพของเราในการเยียวยาความเกลียดชังตัวเอง
ในการเดินทางไปอินเดียครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. ๑๙๙๑ ซึ่งเป็นเวลา ๒ ปีก่อน ที่ท่านทะไล ลามะ จะเดินทางมาแอริโซนา หมอคัตเลอร์พบท่านที่กุฏิของท่าน ณ ธรรมศาลา สัปดาห์นั้นท่านทะไล ลามะ มีประชุมทุกวันกับฝรั่งนักวิทยาศาสตร์ แพทย์ นักจิตวิทยา และผู้สอนกรรมฐาน ผู้มีชื่อเสียงเรื่องกายกับจิต เพื่อทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างประสบการณ์ทางจิตกับสุขภาพทางกาย หมอคัตเลอร์พบกับท่านทะไล ลามะ เย็นวันหนึ่ง หลังการประชุมของท่านกับนักวิทยาศาสตร์ ตอนท้ายของการสัมภาษณ์ท่านถามว่า "ท่านรู้ว่าสัปดาห์นี้อาตมาประชุมกับนักวิทยาศาสตร์ใช่ไหม"

"ใช่"


"มีประเด็นเกิดขึ้นซึ่งอาตมาประหลาดใจมาก นั่นคือเรื่องความเกลียดชังตัวเอง หมอรู้เรื่องนี้ดีใช่ไหม"

"แน่นอนทีเดียว คนไข้จำนวนมากของผมเป็นโรคนี้"

"เมื่อเขาพูดกันถึงเรื่องนี้ ทีแรกอาตมาไม่แน่ใจว่าอาตมาเข้าใจผิดหรือเปล่า" ท่านหัวเราะ

"อาตมาคิดว่า" แน่นอนเรารักตัวเราเอง "ใครจะเกลียดตัวเองกันบ้าง แม้อาตมาจะคิดว่า ตัวเองเข้าใจเรื่องจิตพอสมควร แต่เรื่องเกลียดตัวเองนี้เป็นความรู้ใหม่โดยสิ้นเชิงสำหรับอาตมา เหตุผลที่ว่าทำไมอาตมาคิดว่าเรื่องนี้ไม่น่าเชื่อ ก็เพราะการปฏิบัติทางพุทธนั้นก็เพื่อพยายามขจัดการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง การคิดและเจตนารมณ์ที่เห็นแก่ตัวจากมุมมองอย่างนี้ อาตมาคิดว่าเรารักตัวเองมากเกินไป ดังนั้น ความคิดที่ว่ามีคนที่ไม่รักตัวเองหรือถึงกับเกลียดตัวเอง จึงเป็นเรื่องเหลือเชื่อในฐานะจิตแพทย์ หมอจะช่วยอธิบายให้อาตมาฟังหน่อยได้ไหมว่า มันคืออะไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร"

ข้อมูลสื่อ

327-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 327
กรกฎาคม 2549
ศ.นพ.ประเวศ วะสี