• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไฟลามทุ่ง

ไฟลามทุ่ง เป็นโรคติดเชื้อที่ผิวหนัง มีลักษณะเป็นผื่นแดง ลุกลามเร็ว คล้ายไฟลามทุ่ง สามารถรักษาให้หายขาดด้วยยาปฏิชีวนะที่ใช้ฆ่าเชื้อ
ข้อสำคัญ ต้องรีบรักษาตั้งแต่แรก
หากปล่อยทิ้งไว้ หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง ผู้ที่กินยากดภูมิคุ้มกัน อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงเป็นอันตรายได้

  • ชื่อภาษาไทย

ไฟลามทุ่ง เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นตื้นอักเสบ

  • ชื่อภาษาอังกฤษ

Erysipelas, St. Anthony's Fire

  • สาเหตุ

โรคนี้เป็นการอักเสบของผิวหนังชั้นหนังแท้และเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นตื้น (upper subcutaneous tissue) รวมทั้งท่อน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียง

ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า “เบตาเฮโมโลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ (beta hemolytic group A streptococcus)”* ส่วนน้อยอาจเกิดจากสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มอื่น หรือเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่น

เชื้อจะเข้าทางบาดแผลหรือรอยแยกของผิวหนัง (เช่น แผลถูกของมีคมบาด แผลถลอก รอยแกะเกา แผลผ่าตัด) ผู้ป่วยมักมีประวัติเกิดบาดแผลที่ผิวหนังบริเวณที่จะเกิดไฟลามทุ่งมาก่อน (แต่บางคนอาจไม่มีประวัติดังกล่าวชัดเจนก็ได้)

โรคนี้มักพบในทารก เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง ผู้ที่กินยากดภูมิคุ้มกัน (เช่น ยาสตีรอยด์ ซึ่งอาจผสมอยู่ในยาชุด ยาลูกกลอน) ผู้ที่ผ่าตัดหลอดเลือดดำที่ขา (นำไปทำบายพาสหลอดเลือดหัวใจ) หรือผู้ที่มีภาวะอุดตันของหลอดเลือดหรือท่อน้ำเหลือง

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
* มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า streptococcus pyogenes ซึ่งเป็นเชื้อชนิดเดียวกันกับที่ทำให้คอหอยหรือทอนซิลอักเสบ

  • อาการ

มักพบผิวหนังมีการอักเสบ เป็นผื่นแดง ปวด บวม ร้อน (ใช้หลังมือคลำจะออกร้อนกว่าผิวหนังปกติ) ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ร่วมด้วย ซึ่งมักจะเกิดขึ้นภายใน ๔๘ ชั่วโมง หลังติดเชื้อ (มีบาดแผล)

ต่อมาผื่นจะลุกลามขยายออกโดยรอบอย่างรวดเร็ว แผ่เป็นแผ่นกว้าง ขอบนูนแยกออกจากผิวหนังที่ปกติอย่างชัดเจน และมีลักษณะคล้ายผิวส้ม เมื่อกดตรงบริเวณนั้นสีจะจางลงและมีรอยบุ๋มเล็กน้อย

ผื่นแดงที่แผ่ลามออกไปรวดเร็วนี้ เกิดจากพิษ (exotoxin) ของเชื้อโรค ไม่ใช่จากตัวเชื้อโดยตรง แม้ว่าเชื้อจะถูกกำจัดจากการใช้ยา พิษที่ตกค้างอยู่ก็ยังคงทำให้ผื่นลุกลามต่อไป จึงได้ชื่อ “ไฟลามทุ่ง”

ระยะท้าย ผื่นจะยุบและค่อยๆ จางหายไป ผิวหนังอาจลอกเป็นขุย และใช้เวลา ๒-๓ สัปดาห์ กว่าผื่นจะหายสนิท โดยไม่เป็นแผลเป็น
บางรายอาจพบรอยโรคเป็นเส้นสีแดง เนื่องจากท่อน้ำเหลืองอักเสบ ก่อนที่จะพบรอยผื่นแดงที่แผ่กระจาย และอาจพบต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณใกล้เคียงบวมโตและเจ็บ
ในรายที่เป็นรุนแรง อาจเกิดตุ่มน้ำพอง มีน้ำเหลืองเยิ้ม มักจะไม่เป็นหนองข้น (ถ้าเป็นหนองมักเกิดจากเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ)
มักเกิดบริเวณขา อาจพบที่แก้ม รอบหู รอบตา แขน นิ้วมือ หรือนิ้วเท้าก็ได้

  • การแยกโรค

ผิวหนังอักเสบเป็นรอยผื่นแดง ปวด ร้อน อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ที่พบบ่อยได้แก่

  • เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ (cellulitis) มีสาเหตุและลักษณะอาการแสดงแบบเดียวกับไฟลามทุ่ง แต่กินลึกถึงเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นที่อยู่ลึกกว่า ได้แก่ชั้นไขมันด้วย ผื่นจะมีขอบไม่ชัดเจนแบบไฟลามทุ่งและอาจพบเป็นหนองหรือผิวหนังกลายเป็นเนื้อตายร่วมด้วย
  • งูสวัด (herpes zoster) ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นผื่นแดง ปวดแสบปวดร้อนและมีตุ่มน้ำพุขึ้นเรียงเป็นแนวยาวตามแนวเส้นประสาท อาจพบที่ใบหน้า ต้นแขน ชายโครง หรือขา มักเกิดขึ้นเพียงข้างใดข้างหนึ่ง ต่อมาตุ่มจะแห้งตกสะเก็ด และทุเลาภายใน ๒-๓ สัปดาห์ อาจมีไข้ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้
  • ลมพิษ (urticaria) ผู้ป่วยจะมีผื่นนูนแดง และคัน ไม่ปวด เกิดขึ้นฉับพลัน หลังมีอาการแพ้ เช่น แพ้อาหาร แพ้ยา แพ้ฝุ่น เป็นต้น มักไม่มีไข้ และจะขึ้นพร้อมกันทั่วร่างกาย
  • เกาต์ (gout) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้อ ข้อบวมแดงร้อน มักเป็นที่ข้อหัวแม่เท้า หรือข้อเท้า เพียงข้อใดข้อหนึ่ง อาจมีไข้ร่วมด้วย มักเกิดขึ้นหลังกินเลี้ยง ดื่มสุรา หรือกินอาหารที่ให้ยูริกสูง เช่น เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล พืชผักหน่ออ่อน ยอดผัก
  • การวินิจฉัย

แพทย์มักจะวินิจฉัยโรคไฟลามทุ่งจากลักษณะอาการแสดง และการตรวจพบผื่นแดงร้อน ปวด บวม ลุกลามเร็ว มีขอบชัดเจน
ในรายที่ไม่แน่ใจ อาจทำการตรวจเลือด หรือเพาะเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรายที่มีภาวะโลหิตเป็นพิษแทรกซ้อน

  • การดูแลตนเอง

หากพบมีอาการอักเสบของผิวหนัง คือเป็นรอยผื่นแดง ร้อน ปวด บวม ลุกลามรวดเร็ว หรือมีไข้ร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นเบาหวาน ทารก เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น กินยาสตีรอยด์ ยากดภูมิคุ้มกัน)
เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นไฟลามทุ่ง ควรรับการรักษาจากแพทย์อย่างจริงจัง และใช้ยาปฏิชีวนะให้ครบตามที่แพทย์แนะนำ อย่าหยุดยาเอง หรือหันไปใช้วิธีรักษาอื่น
ผู้ป่วยควรหยุดพักการเคลื่อนไหว และยกแขนหรือขาข้างที่เป็นให้สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อลดอาการปวดและบวม
บางารายอาจต้องใช้ผ้ายืด (elastic bandage) พัน ตามคำแนะนำของแพทย์

  • การรักษา

แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ เช่น เพนิซิลลิน อะม็อกซีซิลลิน หรืออีริโทรไมซิน นาน ๑๐-๒๐ วัน
ถ้ามีไข้หรือปวดมาก ให้พาราเซตามอลบรรเทา
ในรายที่เป็นรุนแรง หรือสงสัยมีภาวะโลหิตเป็นพิษแทรกซ้อน แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาลและใช้ยาปฏิชีวนะ (เช่น เพนิซิลลิน เซฟาโลสปอริน) ชนิดฉีด จนกว่าจะทุเลาจึงค่อยเปลี่ยนเป็นยาปฏิชีวนะชนิดกิน

  • ภาวะแทรกซ้อน

ถ้าปล่อยทิ้งไว้ หรือได้รับการรักษาช้าเกินไป เชื้ออาจลุกลามเข้ากระแสเลือด เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษ ซึ่งหากพบในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้
บางรายเชื้ออาจแพร่กระจายไปที่หัวใจ (กลายเป็นเยื่อบุหัวใจอักเสบ) หรือข้อ (กลายเป็นข้ออักเสบชนิดเป็นหนอง)
ในเด็กอายุต่ำกว่า ๑๐ ปี อาจกลายเป็นหน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน (acute glomerulonephritis) มีอาการไข้สูง บวมทั้งตัว ปัสสาวะสีแดง คล้ายสีน้ำล้างเนื้อ
ร้อยละ ๑๖-๓๐ ของผู้ป่วยโรคนี้ หลังจากรักษาหายแล้ว อาจกำเริบซ้ำได้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น เบาหวาน ผู้สูงอายุ) หรือมีความผิดปกติของท่อน้ำเหลือง
ถ้าเป็นซ้ำบ่อยๆ อาจทำให้ท่อน้ำเหลืองถูกทำลายถาวร เกิดอาการบวมของแขนหรือขาได้

  • การดำเนินโรค

หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่แรก อาการมักจะทุเลาภายใน ๒๔-๗๒ ชั่วโมง คือไข้ลด อาการปวดหรือร้อนของผื่นลดลง
ส่วนผื่นอาจลุกลามต่อไป และจะค่อยๆ จางหายไปใน ๒-๓ สัปดาห์
ในรายที่ได้รับการรักษาช้าเกินไป หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งอาจรุนแรงถึงเป็นอันตรายได้

  • การป้องกัน

๑. ระมัดระวังอย่าให้เกิดบาดแผลที่ผิวหนัง
๒. ถ้ามีบาดแผลเกิดขึ้น รีบล้างด้วยน้ำกับสบู่ และใช้ขี้ผึ้งที่เข้ายาปฏิชีวนะทา
๓. หากพบว่าผิวหนังอักเสบ เป็นผื่นแดงร้อน หรือมีลักษณะเป็นเส้นสีแดง หรือมีไข้ร่วมด้วย หรือเป็นเบาหวาน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาแต่เนิ่นๆ

  • ความชุก

ไฟลามทุ่ง พบได้บ่อยในผู้ที่มีบาดแผลหรือรอยแยกที่ผิวหนัง โดยเฉพาะในทารก เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง ผู้ที่กินยาสตีรอยด์ หรือยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ที่ผ่าตัดหลอดเลือดดำที่ขา
 

ข้อมูลสื่อ

394-022
นิตยสารหมอชาวบ้าน 394
กุมภาพันธ์ 2555
นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ