เนื้องอกมดลูก เป็นเนื้องอกที่เกิดขึ้นในตัวมดลูก ซึ่งเป็นเนื้องอกชนิดธรรมดา ไม่ใช่มะเร็ง พบบ่อยในหญิงวัยเจริญพันธุ์ อาจพบที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของตัวมดลูก มีขนาดต่างๆ กันไป อาจเป็นก้อนเดียวหรือหลายก้อนก็ได้ บางชนิดโตช้า บางชนิดโตเร็ว
ถ้าเป็นเนื้องอกก้อนเล็ก ผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ อาจตรวจพบโดยบังเอิญเมื่อไปตรวจสุขภาพหรือปรึกษาแพทย์ด้วยปัญหาอื่น และอาจไม่จำเป็นต้องให้การรักษาใดๆ
ส่วนผู้ที่มีเนื้องอกขนาดโต มีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้อง ตกเลือดมาก ทางเดินปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง ก็จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ ซึ่งอาจใช้วิธีให้ยาหรือวิธีผ่าตัด หรือใช้รวมกันทั้ง ๒ วิธีก็ได้
- ชื่อภาษาไทย
เนื้องอกมดลูก
- ชื่อภาษาอังกฤษ
Uterine fibroids, Myoma Uteri, Fibromyomas, Leiomyomas
- สาเหตุ
เนื้องอกมดลูกเป็นเนื้องอกที่เกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์กล้ามเนื้อมดลูก จนกลายเป็นก้อนเนื้องอกที่มีลักษณะเป็นก้อนหยุ่นๆ สีซีด แตกต่างจากเนื้อเยื่อโดยรอบ
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร
สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากปัจจัย เช่น
• พันธุกรรม พบว่าผู้ป่วยบางรายมีประวัติว่ามีมารดาหรือพี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย
• ฮอร์โมนเพศ ทั้งเอสโทรเจนและโพรเจสเทอโรน (ที่กระตุ้นการเจริญของเยื่อบุมดลูก ระหว่างการมีประจำเดือนทุกเดือน) มีส่วนส่งเสริมให้เกิดการเจริญเติบโตของเนื้องอกมดลูก พบว่าขณะตั้งครรภ์เนื้องอกมักจะมีขนาดโตขึ้น แต่เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน เนื้องอกจะฝ่อเล็กลงได้เอง นอกจากนี้ยังพบว่าในเนื้องอกมดลูกมีตัวรับ (receptors) ฮอร์โมนเอสโทรเจนและโพรเจสเทอโรน มากกว่ามดลูกที่ปกติ
- อาการ
ถ้าก้อนขนาดเล็กอาจไม่มีอาการแสดง มักตรวจพบโดยบังเอิญ ขณะที่แพทย์ทำการตรวจภายในช่องคลอดหรือตรวจอัลตราซาวนด์บริเวณท้องน้อยด้วยสาเหตุอื่น
ถ้าก้อนขนาดโต มักมีเลือดออกมากหรือกะปริดกะปรอยคล้ายดียูบี (ภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก) แต่มักจะมีอาการปวดประจำเดือนร่วมด้วย หรือปวดหน่วงๆ ที่ท้องน้อย หรือปวดหลังส่วนล่างแบบเรื้อรัง
บางรายก้อนเนื้องอกอาจโตกดอวัยวะข้างเคียงทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย ท้องผูก หรือมีอาการปวดเฉียบขณะร่วมเพศ
ถ้าก้อนโตมากๆ อาจคลำได้ก้อนที่บริเวณท้องน้อย หรือมีอาการท้องโตคล้ายคนท้อง
- การแยกโรค
ควรแยกจากสาเหตุอื่น เช่น
• มะเร็งเยื่อบุมดลูก มักมีอาการเลือดออกกะปริดกะปรอย หรือมีประจำเดือนออกมากหรือนานผิดปกติ บางรายอาจมีอาการปวดขณะถ่ายปัสสาวะ หรือร่วมเพศหรือคลำได้ก้อนเนื้อที่ท้องน้อย
• ดียูบี (DUB หรือ dysfunction uterine bleeding หมายถึง ภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก ที่ไม่ตรวจไม่พบความผิดปกติของตัวมดลูกและรังไข่) ผู้ป่วยมักมีประจำเดือนออกมาก หรือ กะปริดกะปรอยเป็นสัปดาห์ๆ โดยมักจะไม่มีอาการปวดท้องร่วมด้วย เลือดอาจออกมากจนผู้ป่วยซีดและอ่อนเพลีย
• เยื่อบุมดลูกต่างที่ (endometriosis) มักมีปวดประจำเดือนรุนแรงทุกเดือน มีเลือดออกทางช่องคลอดกะปริดกะปรอย หรือก้อนที่ท้องน้อย อาจมีอาการปวดตรงบริเวณหัวหน่าว ปวดเฉียบขณะร่วมเพศ หรือปาดเบ่งเวลาถ่ายอุจจาระ หรือปวดท้องน้อยเวลาถ่ายปัสสาวะร่วมด้วย
• ตั้งครรภ์ ผู้ป่วยจะมีประวัติขาดประจำเดือน หรือคลำได้ก้อนที่บริเวณท้องน้อย
- การวินิจฉัย
แพทย์มักจะวินิจฉัยโดยการตรวจภายในช่องคลอดพบก้อนเนื้องอกที่มดลูก
บางราย แพทย์อาจจำเป็นต้องใช้วิธีตรวจพิเศษ เช่น อัลตราซาวนด์ (ตรวจทางหน้าท้องหรือผ่านทางช่องคลอด) เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ใช้กล้องส่องตรวจช่องท้องหรือโพรงมดลูก ตรวจชิ้นเนื้อ เป็นต้น
นอกจากนี้ อาจตรวจเลือดในรายที่ตกเลือดมาก ว่ามีภาวะโลหิตจางรุนแรงเพียงใด และอาจตรวจปัสสาวะในรายที่สงสัยมีทางเดินปัสสาวะอักเสบแทรกซ้อน
- การดูแลตนเอง
ผู้หญิงที่มีอาการข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ควรรีบไปปรึกษาแพทย์
• ปวดประจำเดือนมากกว่าปกติหรือปวดรุนแรงขึ้นทุกเดือน
• มีประจำเดือนออกมาก หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดกะปริดกะปรอยนานเกิน ๑ สัปดาห์
• มีอาการปวดหน่วงๆ ที่ท้องน้อยหรือปวดหลังส่วนล่างแบบเรื้อรัง
• มีอาการปวดขณะร่วมเพศ
• ท้องผูกเรื้อรัง
• ปัสสาวะบ่อย กะปริดกะปรอย หรือปัสสาวะขัด
• คลำพบก้อนที่ท้องน้อย หรือท้องโตคล้ายคนท้อง
ถ้าแพทย์ตรวจพบว่า เป็นเนื้องอกมดลูก ควรได้รับการรักษาตามที่แพทย์แนะนำ
ในปัจจุบัน วิธีรักษาแนวทางเลือกอื่น เช่น การบำบัดด้วยอาหาร สมุนไพร การฝังเข็ม เป็นต้น ยังไม่มีข้อพิสูจน์ยืนยันว่าได้ผลจริง
- การรักษา
แพทย์จะให้การรักษาตามความรุนแรงของโรค เช่น
• ถ้าก้อนขนาดเล็ก และไม่มีอาการผิดปกติ ก็ไม่จำเป็นต้องให้การรักษาใดๆ เพียงแต่เฝ้าติดตามดูการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะ ก้อนมักจะโตช้าหรือคงที่ และอาจฝ่อลงได้เองหลังวัยหมดประจำเดือนเมื่อฮอร์โมนเพศพร่องลง
• ในรายที่มีเลือดออกกะปริดกะปรอย แพทย์จะทำการขูดมดลูกและส่งตรวจชิ้นเนื้อ (เพื่อแยกสาเหตุจากมะเร็ง) ให้กินยาเม็ดคุมกำเนิดเพื่อควบคุมภาวะเลือดออกและอาการปวดท้องน้อย หากหยุดยาก็จะมีเลือดออกได้อีก (ข้อควรระวังคือ ยานี้อาจทำให้ก้อนโตขึ้นได้)
• ถ้าก้อนมีขนาดโต แพทย์อาจให้ยาเพื่อทำให้ก้อนเนื้องอกยุบลง เช่น ยาที่มีชื่อว่า “gonadotropin releasing hormone agonists” ยานี้จะช่วยให้ก้อนเล็กลง เพื่อเตรียมพร้อมก่อนผ่าตัด ช่วยให้ผ่าตัดได้ง่ายขึ้น และป้องกันการเสียเลือดจากการผ่าตัด
ส่วนการผ่าตัด จะเลือกทำในกรณีที่มีก้อนเนื้องอกโตมาก มีเลือดออกมาก ซีด ปวดท้องรุนแรง หรือมีอาการปวดท้องน้อยหรือปวดท้องเรื้อรัง หรือถ่ายปัสสาวะบ่อย จนไม่สามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันได้อย่างปกติ
ในรายที่เนื้องอกก้อนเล็ก หรือผู้ป่วยยังต้องการมีบุตร แพทย์จะผ่าตัดเฉพาะส่วนที่เป็นเนื้องอกออกไป ซึ่งในปัจจุบันสามารถใช้วิธีผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องเข้าช่องท้อง (lapraroscopic myomectmy) หรือเข้าโพรงมดลูก (hysteroscopic myomectomy)
ในรายที่ก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่และไม่ต้องการมีบุตรก็จะผ่าตัดเอามดลูกออกทั้งหมด (hysterectomy) ซึ่งอาจใช้วิธีเปิดแผลเข้าหน้าท้องหรือทางช่องคลอด
- ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้เลือดออกมากจนซีด (โลหิตจาง)
ก้อนเนื้องอกอาจโตกดถูกท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ ทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย หรือมีความรู้สึกเวลาปวดปัสสาวะ ต้องรีบเข้าห้องน้ำทันที หรือปัสสาวะไม่ออก บางรายอาจมีการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะแทรกซ้อน บางรายอาจกดถูกท่อไต ทำให้เกิดภาวะท่อไตบวมและคั่งน้ำ (hydroureter) และภาวะกรวยไตบวมและคั่งน้ำ (hydrohephrosis)
ถ้ากดถูกทวารหนักก็ทำให้มีอาการท้องผูก ริดสีดวงทวารกำเริบได้
ถ้ากดถูกท่อรังไข่ก็อาจทำให้มีบุตรยาก
ขณะตั้งครรภ์ ก้อนเนื้องอกอาจโตขึ้นรวดเร็วจนทำให้แท้งบุตร หรือคลอดลำบาก
บางรายก้อนเนื้องอกอาจโตยื่นออกนอกมดลูก โดยมีก้านเชื่อมกับมดลูก บางครั้งอาจเกิดการบิดของขั้วเนื้องอก ทำให้เกิดอาการปวดท้องฉับพลันรุนแรงจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด
- การดำเนินโรค
ขึ้นกับความรุนแรงของโรค
ถ้าก้อนมีขนาดเล็ก มักจะโตช้า และอาจยุบหายได้เอง เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน
ส่วนก้อนขนาดโต ถ้าปล่อยไว้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวตามมา แต่ถ้าได้รับการรักษาด้วยการใช้ยาและ/หรือการผ่าตัด ก็มักจะหายขาด
- การป้องกัน
เนื่องจากโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ในปัจจุบันจึงยังไม่ทราบวิธีป้องกันการเกิดโรคนี้
ส่วนผู้ป่วยหากพบเป็นเนื้องอกมดลูก ถึงแม้จะไม่ใช่มะเร็งหรือเนื้อร้าย ก็ควรได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างจริงจัง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดตามมา
- ความชุก
พบได้ประมาณร้อยละ ๒๕ ของผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า ๓๕ ปีขึ้นไป มักพบในช่วงอายุ ๓๕-๔๕ ปี แต่ก็อาจพบในหญิงสาวก็ได้
- อ่าน 55,497 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้