• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หมอนรองกระดูกปลิ้นทับเส้นประสาท

 

เมื่อหมอนรองกระดูกของส่วนหลังปลิ้นทับเส้นประสาทด้วยสาเหตุใดๆ ก็ตาม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดร้าวลงขา กรณีนี้ต้องพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อที่จะแยกโรคและอาการอื่นๆ ออก เช่น โรคมะเร็งกระดูก โรคข้อเสื่อม และอาการกล้ามเนื้ออักเสบ การรักษาหมอนรองกระดูกปลิ้นทับเส้นประสาท ได้แก่ การรักษาทางยาและทางกายภาพบำบัด

ช่วง ๖-๑๒ สัปดาห์แรกมีความสำคัญมาก ถ้าผู้ป่วยปฏิบัติตัวและระวังการใช้ท่าทางในชีวิตประจำวันได้ดีร่วมกับการรักษาที่ถูกต้องจะมีโอกาสหายขาดได้ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหรือเป็นๆ หายๆ หลายครั้ง จะมีอาการเรื้อรัง ซึ่งจำเป็นต้องผ่าตัดเอาหมอนรองกระดูกที่ไปกดทับเส้นประสาทออก
ผู้เขียนขอแนะนำวิธีปฏิบัติตัวของผู้ที่มีอาการหมอนรองกระดูกปลิ้นทับเส้นประสาทเพื่อที่จะได้มีแนวทางไปใช้ในการดูแลตนเอง ทำให้อาการลดลงได้เร็วและไม่เป็นซ้ำอีก 
เมื่อหมอนรองกระดูกปลิ้นจะมีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อหมอนรองกระดูก ผู้ป่วยต้องระวังกิจกรรมที่จะเพิ่มแรงกดและแรงบิดของหมอนรองกระดูกสันหลัง 
หมอนรองกระดูกสันหลังมีโครงสร้างคล้ายเยลลี่ ยิ่งกดหรือบิดจะบาดเจ็บซ้ำ 
ปัจจัยที่มีผลต่อแรงกดที่หมอนรองกระดูกสันหลังมี ๒ ประการ คือ 
๑. แรงโน้มถ่วงหรือน้ำหนักตัวที่กดลงบนกระดูกสันหลัง เมื่อนั่งหรือยืน จะทำให้แรงกดที่กระดูกสันหลังมากกว่าการนอน
๒. ส่วนโค้งของกระดูกสันหลัง ถ้าส่วนโค้งของกระดูกสันหลังงอไปทางด้านหลังหรือค่อม เช่น การนั่งหลังค่อมทำให้แรงกดของหมอนกระดูกสันหลังเพิ่มขึ้น (รูปที่ ๑)  
 
 รูปที่ ๑
 
ถ้าเปรียบเทียบท่าทางการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว การนั่งจะทำให้มีแรงกดที่หมอนรองกระดูกมากกว่าการยืน เมื่อนั่ง สะโพกจะงอทำให้เข่าอยู่ระดับเดียวกันหรือสูงกว่า เกิดการหมุนกระดูกเชิงกรานไปทางด้านหลัง (Posterior Tilt) บังคับให้หลังส่วนล่างที่ต่อกับกระดูกเชิงกรานค่อม ขณะยืน ส่วนโค้งของหลังจะแอ่น แรงกดในหมอนรองกระดูกสันหลังจะน้อยกว่า 
จากข้อมูลดังกล่าวนำมาซึ่งการปฏิบัติ ผู้ที่หมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้นใหม่ๆหรือยังมีอาการอยู่มากควรนั่งให้น้อยที่สุด ขณะลุกจากที่นอนมายืนไม่ควรนั่งข้างเตียง ให้ใช้วิธีนอนคว่ำและค่อยอยู่ในท่าคลานสี่ขา แล้วค่อยถอยหลังลงจากเตียง เวลาขึ้นเตียงก็ใช้วิธีเดียวกันแต่ปฏิบัติตรงข้าม ถ้าจำเป็นต้องนั่งจริงๆ จะมีทางเลือกอยู่ ๓ แบบคือ 
๑. นั่งเอนหลังพิงพนัก ให้น้ำหนักตัวช่วงบนไปอยู่ที่พนักพิง วิธีนี้อาจใช้ได้ในกรณี ที่ต้องเข้าห้องน้ำในลักษณะชักโครก ต้องหาหมอนพลาสติก ๑-๒ ใบเอาไว้พิงหลัง ถ้าเอาหมอนดัดหลังให้หลังแอ่นได้จะยิ่งช่วยป้องกันไม่ให้ปวด 
ไม่ควรเข้าห้องน้ำในลักษณะนั่งยองเพราะหลังส่วนล่างจะค่อมมากอาการปวดอาจมากขึ้น ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดหรือร้าวลงขามาก อาจต้องใช้หม้อนอนสำหรับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะบนเตียง 
๒. นั่งหลังตรงพิงพนัก โดยมีผ้าหรือหมอนหนุนให้ส่วนของหลังแอ่นไว้ (รูปที่ ๒) การนั่งแบบนี้ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสใช้มือทำงานได้ถนัดมากกว่าการนั่งพิงหลังเต็มที่ 
 
 รูปที่ ๒
 

๓. นั่งที่ขอบเก้าอี้ การนั่งแบบนี้ หัวเข่าจะต่ำกว่าสะโพก ส่วนโค้งของหลังจะแอ่นโดยอัตโนมัติ (รูปที่ ๓) วิธีการนั่งแบบนี้ใช้ได้เวลาที่จำเป็นต้องนั่งจริงๆ เช่น ต้องนั่งประชุม นั่งทำงาน อาจเสริมด้วยการออกแรงยันด้วยมือหรือศอกที่ที่เท้าแขนให้เสมือนการลุกขึ้นยืนเป็นระยะ ซึ่งจะลดแรงกดหมอนรองกระดูกได้บางส่วน

 รูปที่ ๓

ผู้ป่วยควรนอนพักให้มากในช่วง ๒-๓ วันแรก ผู้ป่วยอาจนอนหงาย ขาเหยียดตรงไม่ได้ เพราะจะเป็นการยืดเส้นประสาทที่ถูกกดทับมากเกินไป อาจต้องนอนหงายชันเข่า (รูปที่ ๔ ) กรณีนี้จะเห็นว่าหลังส่วนล่างจะค่อม แต่จะไม่มีผลมากนักเพราะไม่ได้อยู่ในท่านั่งหรือยืน แรงกดที่หมอนรองกระดูกจะไม่มาก การเปลี่ยนท่าทางต้องระวังการบิดตัวของหมอนรองกระดูกสันหลัง  เช่น การเปลี่ยนท่าจากนอนหงายไปตะแคง ต้องหาหมอนขวางมากอดแล้วตะแคงคล้ายการกลิ้งท่อนไม้ (รูปที่ ๕) ไม่ควรเอาลำตัวช่วงบนหรือล่างไปก่อน (รูปที่ ๖) อาจช่วยตะแคงตัวผู้ป่วยให้ไหล่กับสะโพกไปด้วยกันในระยะแรก (รูปที่ ๗) ในผู้ป่วยบางราย การนอนตะแคงเอาข้างที่ปวดขึ้นจะเป็นท่าที่สบายที่สุด ใช้หมอนหนุนแขนหรือขาให้ดีอย่าให้มีการบิดของเอว (รูปที่ ๘) 

 รูปที่ ๔

 

 รูปที่ ๕

 

 รูปที่ ๖

 

  รูปที่ ๗

 

  รูปที่ ๘

การให้ผู้ป่วยนอนคว่ำบ้างเป็นบางครั้งอาจลดอาการปวดได้ เชื่อกันว่าอาจทำให้หมอนรองกระดูกที่ปลิ้นอยู่ไหลกลับได้ตามแรงโน้มถ่วง 
ข้อดีของการนอนคว่ำคือสามารถประคบเย็นหรือร้อนได้สะดวกกว่าการนอนหงาย เมื่อต้องนอนคว่ำให้เอาหมอนหนุนบริเวณหน้าอกหรือท้อง (รูปที่ ๙) จะดีกว่าการหนุนคอ (รูปที่ ๑๐) เพราะในท่านี้คอต้องหันไปด้านในด้านหนึ่งมากกว่าปกติ มักจะปวดคอตามมาได้ 
 
  รูปที่ ๙
 
  รูปที่ ๑๐
 
ระยะที่เป็นใหม่ๆ อย่าออกกำลังด้วยการซิตอัพหรือการกอดเข่า มีการคำนวณหาค่าแรงกดของหมอนรองกระดูกขณะทำซิตอัพ พบว่ามีค่าสูงใกล้เคียงกับขณะยกวัตถุ การกอดเข่าจะยิ่งทำให้กระดูกสันหลังค่อมมากขึ้น และทำให้เนื้อเยื่อด้านหลังถูกยืด ยิ่งทำให้ความแข็งแรงของหมอนที่กำลังจะซ่อมแซมลดลง
เมื่อเป็นใหม่ๆ ผู้ป่วยมักจะโกรธตัวเองที่ไม่ระวัง หงุดหงิดฉุนเฉียวเพราะความปวด พยายามทำใจให้สบาย ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น 
เมื่ออาการเริ่มดีขึ้น ระมัดระวังอย่าให้เป็นซ้ำ อย่าฝืนทนเมื่อมีอาการปวดเพิ่มขึ้น พยายามนอนพักให้มาก อย่ายกของ อุ้มลูก ทำงานที่ต้องนั่งนาน หรือก้มหลัง 
หวังว่าผู้ป่วยทุกท่านจะหายดี กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเต็มที่ต่อไป
 

 

ข้อมูลสื่อ

395-036
นิตยสารหมอชาวบ้าน 395
มีนาคม 2555
คนกับงาน
ดร. วรรธนะ ชลายนเดชะ