• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคเด็กตาขี้เกียจ

โรคเด็กตาขี้เกียจ คืออะไร
เมื่อแรกเกิด ระบบการมองเห็นจะมีการพัฒนาเรื่อยๆ จนอายุประมาณ ๘-๑๐ ขวบ จึงจะเจริญเต็มที่ โดยจำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นการมองเห็นที่ดีในตาทั้ง ๒ ข้างในอัตราใกล้เคียงกัน
ถ้ามีสาเหตุใดๆ ที่ทำให้ตาทั้ง ๒ ข้างไม่ได้ใช้มอง หรือใช้ตาข้างใดข้างหนึ่งน้อยกว่าตาอีกข้าง จะทำให้ตาข้างที่ใช้น้อยกว่ามีพัฒนาการที่ไม่ดีไปตลอดชีวิต โดยเมื่อเด็กโตขึ้นจะก็ไม่สามารถแก้ไขให้กลับมามองเห็นได้ เกิดภาวะที่เรียกว่า โรคเด็กตาขี้เกียจ (Amblyopia)
ดังนั้น หากพ่อแม่หรือผู้ปกครอง ไม่ช่วยกันสังเกตความผิดปกตินี้และแก้ไขตั้งแต่วัยเด็ก เด็กจะมีความพิการทางตาจากโรคตาขี้เกียจไปตลอดชีวิต

สาเหตุและการสังเกตอาการเบื้องต้น
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคตาขี้เกียจ อาจเกิดจากความผิดปกติของตาได้หลายแบบ ที่พบบ่อยและหากคุณพ่อคุณแม่พบความผิดปกตินี้ควรรีบพาไปพบจักษุแพทย์โดยเร็ว ได้แก่
๑.โรคตาเข หรือตาเหล่ สังเกตได้ว่าตาดำของทั้ง ๒ ตาไม่อยู่ตรงกลาง โดยอาจเป็นตาเหล่ข้างเดียวหรือสลับกันเหล่ก็ได้ ทดสอบโดยการใช้ไฟฉายส่องบริเวณหว่างคิ้วเด็ก หากเงาไฟฉายไม่ตกกลางตาดำทั้ง ๒ ตา แสดงว่ามีตาเขหรือตาเหล่
๒.สายตาผิดปกติ โดยสายตาทั้ง ๒ ข้าง สั้น ยาว หรือเอียงมาก หรือ ๒ ข้างผิดปกติไม่เท่ากัน ถ้าแตกต่างกันมาก เด็กจะใช้ตาข้างที่ชัดกว่ามองเป็นหลัก สังเกตได้ว่าเด็กจะมีพฤติกรรมชอบเข้าไปดูโทรทัศน์ใกล้ๆ เอียงศีรษะมอง ชอบหยีตามอง หรือมองกระดานไม่ชัด
๓.ต้อกระจกหรือหนังตาตกแต่กำเนิด จะทำให้มีการบังแสงไม่ให้เข้าตาข้างที่มีความผิดปกติ ทำให้ตาไม่มีพัฒนาที่เป็นปกติได้
๔.สาเหตุอื่นๆ เช่น ลูกตาหรือกระจกตามีขนาดเล็ก หรือขาวขุ่น โรคของจอประสาทตาหรือเส้นประสาทตา เป็นต้น ซึ่งอาจเกิดกับตาข้างเดียวหรือเกิดกับตาทั้ง ๒ ข้างก็ได้

อาการและอาการแสดงของโรคตาขี้เกียจ
๑.เด็กเล็ก อาจสังเกตเห็นลูกตาดำสั่น หรือเด็กไม่จ้องหน้ามารดา หรือเด็กจะร้องไห้เมื่อถูกปิดตา ๑ ข้าง หรือพยายามดึงมือที่ปิดตาออก
๒.เด็กโต ถ้าคุณพ่อคุณแม่ทดลองปิดตาทีละข้างสลับกัน เด็กจะมองเห็นภาพไม่ชัดเหมือนคนตาปกติ

การรักษา
หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาในระยะแรก อาจสามารถกลับคืนปกติได้ วิธีการรักษาได้แก่
๑.กรณีสายตาผิดปกติ ต้องให้จักษุแพทย์วัดแว่นสายตาเพื่อโฟกัสภาพให้ชัดเจนขึ้น
.กรณีตาเข อาจต้องผ่าตัดกล้ามเนื้อตาเพื่อรักษาให้ตาตรง
๓.การปิดตาข้างที่แข็งแรง หรือหยอดยาตาข้างที่แข็งแรงให้มัวลงชั่วคราวเพื่อบังคับให้ตาข้างที่ขี้เกียจได้ทำงาน

ข้อแนะนำในการป้องกัน
เมื่อคุณพ่อคุณแม่พบอาการผิดปกติเกี่ยวกับดวงตาหรือพฤติกรรมการมองเห็น ควรรีบพาเด็กไปพบจักษุแพทย์ โดยเด็กทุกคนควรได้รับการตรวจตาก่อนวัยเข้าโรงเรียน และต่อเนื่องเป็นระยะ เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยและรักษาโรคตาได้อย่างถูกต้องทันท่วงที

สอบถามปัญหาสุขภาพตากับราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ที่เว็บไซต์ www.rcopt.org


 

ข้อมูลสื่อ

396-040
นิตยสารหมอชาวบ้าน 396
เมษายน 2555
รักษ์ “ดวงตา”