• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กะทือ กินก็ได้ดอกก็งาม แต่นามไม่เพราะ

กะทือ กินก็ได้ดอกก็งาม แต่นามไม่เพราะ


ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมเยือนพี่น้องเกษตรกรภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชไล่มาถึงกระบี่ แล้วสิ้นสุดที่จังหวัดระนอง ระหว่างการดูงานได้ไปเยี่ยมชมทั้งบ่อเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา สวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน และสวนผลไม้ชนิดต่างๆ เช่น เงาะ มังคุด ลางสาด กาแฟ และทุเรียน เป็นต้น
สวนผลไม้ส่วนใหญ่ที่ไปดูเป็นสวนผสม คือปลูกพืชร่วมกันหลายชนิด รวมทั้งใช้ระบบเกษตรอินทรีย์ด้วย จากสวนผลไม้ดังกล่าวนี้เองที่ผู้เขียนได้พันธุ์พืชกลับมาปลูกที่สุพรรณบุรีหลายชนิด ในจำนวนนี้ มีพืชที่จะนำมาเขียนในตอนนี้ด้วย นั่นคือ กะทือ

กะทือ : พืชพื้นบ้านดั้งเดิมของไทย
กะทือมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zingiber zerumbet (L.)smith อยู่ในวงศ์ Zingiberaceae เช่นเดียวกับ ขิง  ข่า และไพล เป็นไม้ล้มลุกมีลำต้นใต้ดิน เรียกว่าหัว หรือเหง้า มีลำต้นเทียมซึ่งประกอบด้วยกาบใบห่อหุ้มกันโผล่ขึ้นมาจากพื้นดิน เช่นเดียวกับกล้วย หรือข่า ลำต้นกะทืออาจสูงตั้งแต่ ๑-๖ ฟุต ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ และความสมบูรณ์

ใบ มีสีเขียว ออกเป็นคู่ๆ สลับกัน ตรงข้ามลำต้น ก้านใบสั้นติดกัน ซึ่งก็คือกาบใบห่อหุ้มกันอยู่นั่นเอง รูปร่างใบคล้ายขิง ข่า ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบรูปคู่ขนาน

ดอก เป็นช่อโผล่ขึ้นมาจากเหง้าใต้ดิน รูปร่างคล้ายผลสนทะเล หรือสนสามใบ คือคล้ายรูปไข่มีกลีบซ้อนกันเป็นชั้นๆ คล้ายเกล็ดปลา มีดอกจริงขนาดเล็กแทรกอยู่ระหว่างเกล็ด แต่ละเกล็ด ช่อดอกตั้งอยู่บนก้านสีเขียวที่ชูพ้นพื้นดิน สีของเกล็ดซึ่งประกอบเป็นช่อดอกนั้นมีทั้งสีเขียว และสีแดงสด กะทือดอกแดงนั้นมีขนาดเล็กกว่ากะทือดอกเขียว

กะทือจะแตกหน่อขึ้นมาจากใต้ดินขยายออกไปโดยรอบกอ เช่นเดียวกับ ขิง ข่า และไพล การขยายพันธุ์ นิยมนำหน่ออ่อน หรือเหง้าแยกไปจากกอเดิม กะทือเป็นพืชพื้นบ้านดั้งเดิมของไทย พบในป่าดิบ ชื้นทั่วทุกภาคของประเทศ จึงเป็นพืชที่รู้จักกันแพร่หลาย ในหมู่คนไทยสมัยก่อน จนมีการนำเอาชื่อกะทือมาเป็นสำนวนในภาษาไทยนั่นคือ สำนวน "ดอกกะทือ" นั่นเอง กะทือมีชื่อเรียกต่างๆ ออกไป คือ กะทือป่า กะแอน ระแอน แฮว แฮวดำ เฮียวดำ

ประโยชน์ของกะทือ
คนไทยในอดีตปลูกกะทือไว้ในสวนหลังบ้านในฐานะผักชนิดหนึ่ง ดังคำบรรยายในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ พ.ศ.๒๔๑๖ ว่า "กะทือ : ผักอย่างหนึ่งมีหัวอยู่ใต้ดิน รสเผ็ด ทำยาก็ได้ ต้มกินได้ แกงปลาไหลกินก็ดี" ส่วนของกะทือที่คนไทยนำมากินเป็นผักคือ ดอกอ่อน เนื้ออ่อนในลำต้น หน่ออ่อน เหง้าอ่อน เหง้าสดใช้ใส่แกงเพื่อดับกลิ่นคาวปลา ส่วนเหง้าแก่หั่นขยำกับน้ำเกลือจนจืดแล้วนำมากินเป็นผักได้ กะทือยังมีสรรพคุณทางสมุนไพรใช้ในแพทย์แผนไทยได้แทบทุกส่วน เช่น ต้น แก้เบื่ออาหาร ทำให้อาหาร มีรส เจริญอาหาร ใบ ขับเลือดเน่าในเรือนไฟ ดอก แก้ไข้เรื้อรัง แก้ไข้ผอมเหลือง ราก แก้ไข้ที่ทำให้ตัวเย็น หัวและเหง้า บำรุงน้ำนม แก้บิดปวดมวน ขับผายลม  ขับปัสสาวะ แก้เสมหะเป็นพิษ แก้แน่น กล่อนอาจม แก้ไอ ภูมิแพ้ โรคผิวหนัง

ต้นกะทืออาจนำมาปลูกเป็นไม้ประดับได้ โดยเฉพาะพันธุ์ดอกสีแดงที่ต้นไม่โต และช่อดอกสีแดงสดใส มีดอกได้หลายเดือนติดต่อกันในรอบปี อุปสรรคอย่างหนึ่งที่อาจทำให้คนไทยไม่นิยมปลูกกะทือเป็นไม้ดอก ก็คือสำนวน "ดอกกะทือ" ที่ถือเป็นคำหยาบใช้ด่าผู้หญิงมานานนับร้อยปี หากเปลี่ยนค่านิยมนี้ได้ หรือเปลี่ยนชื่อกะทือเป็นอย่างอื่น (เช่นเดียวกับลั่นทม เป็นลีลาวดี) บางทีคนไทยอาจหันมานิยมปลูกกะทือเป็นไม้ดอกกันมากขึ้น 

ข้อมูลสื่อ

329-019
นิตยสารหมอชาวบ้าน 329
กันยายน 2549
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร