• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แผลแอฟทัส

แผลแอฟทัส


แผลแอฟทัส (ชาวบ้านเรียกแผลร้อนใน) เป็นแผลเปื่อยในปากที่พบได้บ่อย เชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะเคยเป็นกันมาแล้ว จะมีอาการอยู่หลายวัน แล้วมักจะหายไปได้เอง แต่ก็มักกำเริบขึ้นมาอีก เป็นๆ หายๆ อยู่เรื่อยๆ มาตั้งแต่เป็นวัยรุ่น หรือวัยหนุ่มสาว โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อ สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ตามปกติ จัดว่าเป็นโรคที่ไม่มีอันตราย นอกจากสร้างความรำคาญ หรือทำให้กินน้ำพริกและของเผ็ดๆไม่ได้อยู่หลายวัน อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเป็นแผลขนาดใหญ่ รุนแรง หรือนานกว่าปกติที่เคยเป็น ก็ควรจะปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ใจ

ชื่อภาษาไทย
  แผลแอฟทัส แผลร้อนใน
ชื่อภาษาอังกฤษ  Aphthous ulcer, Canker sore, Recurrent aphthous stomatitis

สาเหตุ  ยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่าเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน และอาจมีความสัมพันธ์กับปฏิกิริยาภูมิต้านทานของร่างกาย พบว่าร้อยละ ๔๐ ของผู้ป่วยจะมีประวัติโรคนี้ในครอบครัวจึงเชื่อว่าเป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ส่วนใหญ่จะเกิดอาการขึ้นเอง โดยไม่มีสิ่งกระตุ้น ส่วนน้อยพบว่ามีสิ่งกระตุ้นให้อาการกำเริบ ได้แก่

  • ความเครียดทางจิตใจ เช่น ขณะคร่ำเคร่งกับงานหรืออ่านหนังสือสอบ
  • การได้รับบาดเจ็บในช่องปาก เช่น เยื่อบุปากหรือลิ้น ถูกกัดหรือถูกแปรงสีฟัน ฟันปลอม หรืออาหารแข็งๆ กระทบกระแทก
  • การมีประจำเดือน
  • การใช้ยาสีฟันที่เจือสาร sodium lauroyl sulfate หรือ sodium lauroyl sarcosinate
  • การแพ้อาหาร เช่น นมวัว เนยแข็ง กาแฟ โคล่า ช็อกโกแลต ผลไม้จำพวกส้ม ของเผ็ด แป้งข้าวสาลี
  • การใช้ยา เช่น แอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ อะเลนโดรเนต (alendronate) ที่ใช้รักษาโรคกระดูกพรุน
  • การเลิกบุหรี่
  • ภาวะขาดธาตุเหล็ก สังกะสี กรดโฟลิก หรือวิตามินบี
  • ภาวะภูมิต้านทานต่ำ เช่น โรคเอดส์ ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ

อาการ ที่สำคัญคือ มีแผลเปื่อยเจ็บในช่องปากเป็นๆ หายๆ อยู่ประจำ เวลามีสิ่งกระตุ้น (เช่น ความเครียด กัดถูก ปากตนเอง การใช้ยาสีฟันหรือยาบางชนิด แพ้อาหารบางชนิด เวลามีประจำเดือน เป็นต้น) หรืออาจอยู่ดีๆ ก็กำเริบขึ้นโดยไม่ทราบว่ามีอะไรเป็นสิ่งกระตุ้นก็ได้ อาการเจ็บแผลจะเป็นมากใน ๒-๓ วันแรก และรู้สึกปวดแสบเวลากินอาหารรสเผ็ดหรือเปรี้ยวจัด ถ้าเป็นแผลขนาดใหญ่ อาจเจ็บมากจนกลืนหรือพูดไม่ถนัด เมื่อตรวจดูจะพบแผลในปาก ส่วนใหญ่ (มากกว่า ร้อยละ ๘๐) จะเป็นแผลตื้น ลักษณะกลมหรือรูปไข่ ขนาด ๓-๕ มิลลิเมตร (ไม่เกิน ๑ เซนติเมตร) พื้นแผลมีสีขาวหรือเหลืองและกลายเป็นสีเทาเมื่อใกล้หาย มีวง สีแดงอยู่โดยรอบ ขอบอาจเป็นสีแดง มักพบที่ริมฝีปาก กระพุ้งแก้มและลิ้น (ด้านข้างและด้านใต้) นอกจากนี้ ยังอาจพบที่ลิ้นไก่ ผนังคอหอย พื้นปาก (เนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ลิ้นและเหงือก) มักไม่พบที่เหงือก เพดานปาก และ ลิ้น (ด้านบน) อาจเป็นเพียงแผลเดียวหรือหลายแผล (๒-๕ แผล) พร้อมกัน เรียกว่า แผลแอฟทัสเล็ก (minor aphthous ulcers) ซึ่งจะมีอาการเจ็บปวดไม่รุนแรง และหายได้เองภายใน ๗-๑๐ วัน โดยส่วนใหญ่จะไม่เป็นแผล เป็น อาจกำเริบได้ทุก ๑-๔ เดือน

ส่วนน้อย (ประมาณร้อยละ ๑๐) อาจพบแผลแอฟทัสใหญ่ (major aphthous ulcers) มีลักษณะแบบเดียวกับแผลแอฟทัสเล็ก แต่มีขนาดมากกว่า ๑ เซนติเมตร ขึ้นไป ขอบแผลบวม มีอาการเจ็บปวดรุนแรงกว่า นอกจากพบในตำแหน่งเดียวกับแผลแอฟทัสเล็ก ยังอาจพบที่เพดานปาก และลิ้น (ด้านบน) ได้อีกด้วย แผลมักหายช้า (ใช้เวลาประมาณ ๑๐-๔๐ วัน) อาจเป็นแผลเป็นและกำเริบได้บ่อยมาก บางครั้งอาจพบในผู้ป่วยเอดส์ นอกจากนี้ ยังอาจพบแผลแอฟทัสชนิดคล้ายเริม (herpetiform ulceration) ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเริม จะพบในกลุ่มคนอายุมากกว่า ๒ ชนิดดังกล่าว พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แรกเริ่มจะขึ้นเป็นตุ่มใสเล็ก (๑-๒ มิลลิเมตร) หลายตุ่ม แล้วแตกแผ่รวมเป็นแผลเดียวกันขนาดใหญ่ (คล้ายแผลแอฟทัสใหญ่) มีอาการเจ็บปวดค่อนข้างรุนแรง พบในตำแหน่งต่างๆ ในช่องปากแบบเดียวกับแผลแอฟทัสใหญ่ แผลหายได้เอง แต่ใช้เวลานานกว่า ๑๐ วัน (อาจนานถึง ๒ เดือน) ผู้ป่วยมักไม่มีอาการไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ต่อมน้ำเหลืองโตหรืออาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย

การแยกโรค
แผลเปื่อยในปากอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ที่พบบ่อย ได้แก่

- แผลเริมในช่องปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เริม ในเด็กเล็กจะมีไข้สูง และมีแผลเปื่อยขึ้นเต็มปาก ตามริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม เพดานปาก ทำให้เด็กไม่ยอม ดูดนมหรือกินอาหาร ส่วนในผู้ใหญ่ มักจะขึ้นเป็นแผลเดียวขนาด ๓-๕ มิลลิเมตร ที่เหงือก หรือเพดานปาก (แผลแอฟทัสมักจะไม่ขึ้นตำแหน่งเหล่านี้) และหายได้เองภายใน ๗-๑๐ วัน

- แผลที่เกิดจากการบาดเจ็บ เช่น เผลอกัดถูก ริมฝีปาก หรือลิ้นของตัวเอง ซึ่งมักจะขึ้นเพียงแผลเดียว และหายได้เองภายใน ๑ สัปดาห์

- แผลมะเร็งในช่องปากจะขึ้นเป็นแผลหรือก้อนที่ไม่รู้สึกเจ็บ และจะเป็นเรื้อรัง ไม่หาย มักโตขึ้นเรื่อยๆ พบมากในคนอายุมากกว่า ๔๐-๕๐ ปีที่ชอบสูบบุหรี่ ดื่มเหล้าจัด ฉุกยาฉุน เคี้ยวหมากพลู หรือใช้ยานัตถุ์เป็นประจำ

การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการแสดงเป็นหลัก นอกจากในรายที่มีแผลเรื้อรังนานเกิน ๓ สัปดาห์ หรือสงสัยเป็นมะเร็งอาจตัดชิ้นเนื้อเยื่อนำไปพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการ 
      
การดูแลตนเอง
โรคนี้สามารถดูแลตนเอง ดังนี้

- หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด อาหารแข็งๆ หรือเคี้ยวยาก

- บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ โดยผสมเกลือแกง ๑ ช้อนชา ในน้ำ ๑ แก้ว บ้วนปากวันละ ๒-๓ ครั้ง

- ถ้ารู้สึกปวดมาก ให้อมน้ำแข็งก้อนเล็กๆ ดื่มน้ำเย็น หากไม่ได้ผล ให้กินพาราเซตามอลบรรเทา ส่วนใหญ่จะค่อยๆ หายไปได้เองภายใน ๗-๑๐ วัน (บางคนอาจนาน ๒ สัปดาห์)

- ถ้าปวดรุนแรง หรือต้องการให้แผลหายเร็ว ให้ป้ายด้วยครีมป้ายปากไตรแอมซิโนโลนอะเซโทไนด์ วันละ ๒-๔ ครั้ง

ควรปรึกษาแพทย์ ถ้าแผลไม่หายใน ๓ สัปดาห์ แผลมีขนาดใหญ่ (มากกว่า ๑ เซนติเมตร) เจ็บปวดรุนแรง มีไข้ขึ้น อ่อนเพลีย กินอาหารไม่ได้ หรือพบเป็นครั้งแรกในคนอายุมากกว่า ๔๐ ปี

การรักษา
เมื่อตรวจพบว่าเป็นแผลแอฟทัส แพทย์จะให้การดูแลรักษาตามอาการ ในลักษณะเดียวกัน ในรายที่เป็นรุนแรง เรื้อรังเกิน ๓ สัปดาห์ หรือเป็นๆ หายๆ บ่อย อาจต้องทำการตรวจหาสาเหตุ เช่น ภาวะขาดธาตุเหล็ก กรดโฟลิกหรือวิตามินบี การติดเชื้อเอชไอวี มะเร็งในช่องปาก เป็นต้น แล้วให้การรักษาตามสาเหตุ

ภาวะแทรกซ้อน
ส่วนใหญ่หายได้เอง โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน ถ้าแผลขนาดใหญ่ อาจกลายเป็นแผลเป็น

การดำเนินโรค
แผลแอฟทัส มักจะเป็นครั้งแรกตั้งแต่ในช่วงวัยรุ่น และวัยหนุ่มสาว แต่ละครั้งจะเป็นอยู่นาน ๗-๑๐ วัน (ไม่เกิน ๓ สัปดาห์) อาจกำเริบได้ทุก ๑-๔ เดือน เมื่ออายุมากขึ้น จะค่อยๆ เป็นห่างออกไปเรื่อยๆ บางคนอาจหายขาดเมื่ออายุมาก สำหรับผู้หญิง  ขณะตั้งครรภ์มักจะไม่มีอาการกำเริบจนกว่าจะคลอด โรคนี้ไม่ควรเป็นครั้งแรกในคนอายุมากกว่า ๔๐ ปี ถ้าพบควรตรวจหาสาเหตุ
      
การป้องกัน
ผู้ที่เคยเป็นแผลแอฟทัส ควรป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำบ่อยๆ โดยการปฏิบัติ ดังนี้

  • ออกกำลังกายเป็นประจำ
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่าอดนอน
  • ผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่างๆ
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ ยาสีฟัน และยาที่เป็นสิ่งกระตุ้นให้กำเริบ
  • ระวังอย่าเผลอกัดปากตัวเอง เช่น ไม่พูดคุยขณะเคี้ยวอาหาร
  • ใช้แปรงสีฟันขนาดเล็กและขนนุ่ม เพื่อไม่ให้ปากถูกกระทบกระแทก
  • ถ้าแผลกำเริบขณะมีประจำเดือน อาจป้องกันด้วยการกินยาเม็ดคุมกำเนิด (ถ้าไม่มีข้อห้าม)      


ความชุก
โรคนี้พบได้ในคนส่วนใหญ่ พบบ่อยในช่วงอายุ ๑๐-๔๐ ปี พบได้น้อยในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ 

ข้อมูลสื่อ

330-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 330
ตุลาคม 2549
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ