“คุณแม่ครับผมไม่เก่งวิทยาศาสตร์ ผมถึงหนีมาเรียนคณะนี้……ผมได้ ๘๐ หมดทุกวิชา เพราะเป็นเด็กขยันเรียนเท่านั้นเองครับ”
พยาบาลหน้าห้องตรวจขานชื่อ “คุณเอกเชิญเข้าห้องพบแพทย์ค่ะ” ประตูห้องถูกผลักเข้ามาอย่างแรง พร้อมกับการปรากฏตัวของคน ๒ คน เดินจูงมือกันมา คนนำหน้าเป็นหญิงสูงวัย คาดว่าอายุคงไม่ต่ำกว่า ๕๐ ปี ดูลักษณะท่าทางร้อนรน ตามหลังมาคือคุณเอกคน สุภาพบุรุษวัยรุ่นหน้าตาเฉยเมย
เมื่อป้าหมอกำลังจะเริ่มซักประวัติคนไข้ หญิงสูงวัยรีบพูดขึ้นมาว่า "ดิฉันเป็นแม่เขาค่ะ อยากมาพบคุณหมอเพื่อเล่าเรื่องต่างๆให้ฟัง"
ปกติในการตรวจผู้ป่วยนั้นจะให้ผู้ป่วยเป็นผู้เล่าก่อน ยกเว้นกรณีที่ผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือ เช่น ไม่พูด หรือแสดงท่าทีไม่อยากจะพูด ดังนั้นป้าหมอจึงให้คุณแม่ค่อยเล่าทีหลัง ตอนนี้ให้คุณเอกเล่าก่อน
คุณเอกนั่งนิ่งๆ อยู่ครู่ใหญ่จนคุณแม่สะกิดว่า "เร็วๆ มีอะไรก็เล่าให้ป้าหมอฟังให้ คุณหมอจะได้รู้สุขภาพของลูก"
ป้าหมอได้แต่ยิ้มและบอกกับคุณแม่ว่า "ไม่รีบหรอกค่ะ ให้เวลาคุณเอกเล่า เพื่อคุณเอกจะได้เลือกเล่าเรื่องที่คุณเอกอยากเล่าในขณะนี้"
คุณเอกเล่าให้ป้าหมอฟังว่า ตนเองนอนไม่หลับมา ๑ เดือนแล้ว รู้สึกสับสน เบื่อหน่ายและคิดว่าคงจะเรียนหนังสือต่อไปไม่ไหว พอพูดถึงประโยคนี้คุณแม่ก็ร้องไห้ และบอกกับป้าหมอว่า “อีก ๒ สัปดาห์ลูกจะสอบแล้ว แต่เขากลับบอกว่าเรียนไม่รู้เรื่องเลยสักวิชา” ป้าหมอจึงรับคุณเอกไว้เป็นผู้ป่วยใน
คุณเอกเป็นลูกคนเดียว แม่แยกทางกับคุณพ่อตั้งแต่คุณเอกอยู่ในท้อง คุณแม่เล่าว่าคุณพ่อไม่ต้องการเด็ก ไม่ต้องการรับผิดชอบใดๆ นอกจากเรื่องงานเท่านั้น เพราะยังอยากมีชีวิตสนุกสนานอย่างที่เคยเป็น นั่นคือการไปเที่ยวและกินอาหารสนุกสนานกับเพื่อนๆ
คุณแม่เสียน้ำตาไปมาก แต่ก็ตั้งหน้าตั้งตาเก็บเงินเก็บทองไปฝากท้อง จิตใจมีความเข็มแข็งและไม่อายคนรอบข้าง
เมื่อคลอดลูกชายคุณแม่รู้สึกดีใจมาก เพราะคุณเอกหน้าตาเหมือนคุณแม่มาก มิหนำซ้ำยังเป็นเด็กที่เลี้ยงง่าย ไม่เจ็บไม่ไข้ เรียนหนังสือเก่ง และไม่เคยทำอะไรไม่ถูกใจคุณแม่เลย
คุณแม่ซึ่งมีอาชีพเป็นครูจึงคอยสอนพิเศษ สอนการบ้าน และพาไปกวดวิชา จนคุณครูประจำชั้นต้องบอกว่า “คุณเอกน่าจะมีเวลาพักผ่อนบ้างไม่ใช่หักโหมเรียนพิเศษอย่างเดียว” แต่คุณแม่กลับคิดขัดแย้ง โดยเห็นว่าสมัยนี้การสอบเอนทรานซ์ไม่ใช่เรื่องง่าย หากเตรียมตัวไม่ดีอาจสอบไม่ติด
คุณแม่ได้แต่พร่ำบอกว่าอยากให้คุณเอกเรียนหนังสือเก่ง เพราะจะได้มีอนาคตที่มั่นคงและเลี้ยงตัวเองได้ในอนาคต เนื่องจากคุณเอกไม่มีพี่น้องที่จะพึ่งพาได้ เมื่อฟังคุณแม่พูดคุณเอกก็มุมานะเรียนหนังสือมากขึ้น ทำให้คุณแม่แอบยิ้มในใจว่าวิธีนี้ดีทำให้ลูกขยัน ซึ่งจะทำให้ลูกประสบความสำเร็จในที่สุด
แต่ลึกๆลงไปคุณแม่ก็ยอมรับว่า คุณเอกไม่ใช่คนมีพรสวรรค์วิชาใดวิชาหนึ่ง การที่ได้เกรดดีนั้น เพราะความใส่ใจของคุณเอก
หลังสอบเอนทรานซ์เสร็จ คุณเอกตัดสินใจจะเลือกคณะที่ชอบ แม้คะแนนจะไม่สูงมาก เพราะรู้สึกว่าไม่ใช่เด็กเรียนเก่ง หากขืนไปอยู่กับคนเรียนเก่งคงลำบาก
แต่คุณแม่นึกค้านในใจว่า ทำไมลูกจะเรียนไม่เก่ง เพราะสอบได้เกรด ๔ หมดทุกวิชา แต่ความจริงแล้วเกรด ๔ ของคุณเอกนั้น คือเกรด ๔ ระดับต้นๆ ที่ได้คะแนน ๘๐
เมื่อผลการสอบเข้ามหาวิทยาลัยประกาศออกมา ปรากรากฎว่าคุณเอกติดคณะที่ต้องการ ทำให้คุณเอกมีหน้าตาสดใส เพราะรู้ภาคภูมิใจในสถาบันที่เรียน ตื่นนอนแต่เช้า กระตือรือร้นไปเรียนหนังสือ
แต่สำหรับคุณแม่แล้วกลับคิดว่าลูกเลือกคณะที่ง่ายเกินไป เพราะผลการเรียนที่ผ่านมา คุณเอกได้เกรดถึง ๓.๙ สูงกว่าเพื่อนๆ มาก จนอาจารย์ที่ปรึกษาต้องเรียกคุณแม่มาพบ เพื่อกล่าวชื่นชม ที่คุณเอกเป็นเด็กดีเหลือเกิน งานต่างๆ ที่อาจารย์สั่ง คุณเอกทำได้ดีมาก ไม่ให้คะแนนเต็มไม่ได้ และเวลาสอบคุณเอกก็ตอบข้อสอบได้อย่างดี อาจารย์มั่นในว่า ถ้าคุณเอกมีการเรียนสม่ำเสมอเช่นนี้ เมื่อเรียนจบท่านคณบดีอาจให้เป็นอาจารย์ผู้ช่วย และอาจได้ทุนเพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เพื่อกลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะ
คุณแม่ฟังด้วยความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจ เพราะไม่ใช่คณะที่คุณแม่ต้องการ เนื่องจากลูกคุณแม่เก่งกว่านี้ ดังนั้นต้องเรียนคณะที่คะแนนสูงกว่านี้ถึงจะสมศักดิ์ศรี
หลังจากสอบเทอมปลายเสร็จ คุณแม่เข้ามาถามคุณเอกว่าคะแนนเป็นอย่างไรบ้าง คุณเอกยิ้มและตอบว่า “ค่อนข้างดีครับคุณแม่เพราะผมเรียนอย่างเข้าใจและทำรายงานสม่ำเสมอตลอดปี” คุณแม่จ้องหน้าคุณเอกและบอกว่า “ทำไมเอกไม่คิดจะเรียนคณะอื่นที่คะแนนสูงกว่านี้ ในเมื่อศักยภาพของลูกน่าจะทำได้ ลูกน่าจะลองเอนทรานซ์อีกหน เพื่อเลือกคณะวิศวะ”
คุณเอกหน้าจ๋อยแล้วตอบคุณแม่ว่า “คุณแม่ครับผมไม่เก่งวิทยาศาสตร์ ผมถึงหนีมาเรียนคณะนี้ เด็กที่เรียนวิศวะบางคนวิชาอื่นอาจได้เกรดไม่ถึง ๔ แต่คะแนนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เขาได้ ๙๐ ขึ้นไปผิดกับผมได้ ๘๐ หมดทุกวิชา เพราะเป็นเด็กขยันเรียนเท่านั้นเองครับ”
คุณแม่เกลี้ยกล่อมทุกวัน จนคุณเอกใจอ่อนลองเอนทรานซ์อีกรอบ และก็ได้คณะวิศวกรรมศาสตร์ที่คุณแม่ต้องการในที่สุด
หลังจากคุณเอกได้เข้าไปเรียน คุณแม่เริ่มเห็นว่าลูกเปลี่ยนแปลงไป ดูท่าทางไม่มีความสุข เศร้าสร้อย ท้อแท้หมดหวัง แถมน้ำหนักตัวยังลด คุณแม่จึงสอบถามการเรียนว่าเป็นอย่างไร คุณเอกหน้าเศร้าและตอบคุณแม่ว่า “คุณแม่ครับผมมองไม่เห็นฝั่ง”
คำพูดประโยคนี้ทำให้คุณแม่โกรธจนบอกไม่ถูก และยืนยันว่าถ้าลูกสอบเข้าได้ แสดงว่าลูกสามารถเรียนไหว เพียงแค่ขยันและทุมเทมากขึ้น แล้วคุณแม่ก็ไม่พูดเรื่องนี้อีกเลย แต่เฝ้าถามคุณเอกว่าถ้าต้องการอะไรให้คุณแม่ช่วยเป็นพิเศษ เช่นตำรา อาหาร การทำรายงาน หรือเครื่องมือสำหรับทำกิจกรรมต่างๆ ขอให้บอก คุณแม่จะหาให้ทุกอย่าง
ฝ่ายคุณเอกรู้สึกว่าคณะนี้ไม่เหมาะกับตัวเอง เพราะเพื่อนเก่งครูสอนอะไรก็รู้ไปหมด ในขณะที่คุณเอกแม้พยายามฟังที่ครูสอนแล้ว แต่ก็ไม่สามารถปะติดปะต่อได้ ส่วนคุณแม่ได้แต่บอกให้อดทนเรียนต่อไป จนระยะหลังคุณเอกเริ่มนอนไม่หลับ ทำอะไรช้าลง และเริ่มไม่ไปมหาวิทยาลัย นั่นคือสาเหตุที่คุณเอกและคุณแม่มาพบป้าหมอ
คุณเอกเป็นคนไข้ที่ดี และตอบสนองต่อการรักษาดีมาก เพียงประมาณ ๑๐ วันก็ดีวันดีคืน ร่าเริงแจ่มใสจนเหมือนคนปกติ แต่ป้าหมอรู้ว่ากระบวนการรักษายังอีกยาวนาน เพราะอาการที่ดีขึ้นนั้นเกิดจากการใช้ยารักษาระดับสูง
ป้าหมอรู้ว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวคุณเอก แต่อยู่ที่ความคาดหวังของคุณแม่ เมื่อคุณเอกอาการดีขึ้น คุณแม่ได้มาบอกป้าหมอว่าจะให้ลูกเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ต่อ แล้วจะพามารักษาอย่างสม่ำเสมอ
ป้าหมอมองหน้าคุณแม่พร้อมกับถามว่า “คุณแม่อยากได้ลูกชายคืนมาหรืออยากได้ปริญญาวิศวะ” คุณแม่เงียบ ป้าหมอเลยพูดต่อว่า “คุณแม่เล่าเองว่าลูกเรียนแล้วไม่เห็นฝั่งคุณแม่คิดอย่างไร” คุณแม่เริ่มร้องไห้ และบอกว่า “ดิฉันคิดว่าถ้าลูกพยายามก็น่าจะเรียนจบ” ป้าหมอจึงต้องเล่าตัวอย่างผู้ป่วยหลายคน ที่เรียนจบตามความต้องการของพ่อแม่ แล้วเอาปริญญาบัตรมาแขวนไว้ที่ข้างฝา โดยที่ตัวเองเจ็บป่วยและต้องมารักษากับป้าหมอตลอดชีวิต
เมื่อคุณแม่สงบลงป้าหมอจึงบอกให้กลับไปคิดทบทวน และขอร้องให้เข้ามาร่วมมือกันรักษาคุณเอก เพราะเป็นทางสุดท้ายที่จะยุติปัญหา ป้าหมอได้บอกคุณแม่ว่า "ถึงแม้ว่าวันนี้ดีขึ้นถึงระดับนี้ แต่คุณเอกยังต้องกินยาอีกเป็นปีๆ กว่าที่จะกลายเป็นคุณเอกคนเดิม ”
อีก ๒ สัปดาห์ต่อมาในวันที่เราจำหน่ายคุณเอก คุณแม่มาพบป้าหมอด้วยใบหน้าโศกเศร้า ดวงตาแดงก่ำ พร้อมกับบอกป้าหมอว่า “ดิฉันตัดสินใจแล้วว่าต้องการลูกคืน นับจากนี้ไปจะไม่บังคับ ไม่ชักชวน ไม่คะยั้นคะยอ ให้ลูกเดินบนเส้นทางที่เดินไม่ไหว ดิฉันควรจะรักลูกและเห็นใจลูก ในเมื่อลูกเป็นเด็กดีมาก”
หลังจากนั้นคุณแม่ได้นำใบรับรองแพทย์จากป้าหมอกลับไปคณะเดิม เพื่อขอโอกาสให้คุณเอกได้กลับมาเรียนในเทอมต่อไป ซึ่งอาจารย์ที่ปรึกษาก็กรุณาดูแลเรื่องดังกล่าว จนคุณเอกได้กลับไปเรียนต่อจนจบ
หลายปีต่อมา อาจารย์เอกได้ทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ ระหว่างช่วงปิดภาคเรียนคุณแม่ได้บินไปเยี่ยมอาจารย์เอกที่นั่น ทั้งสองคนส่งภาพที่ถ่ายจากต่างประเทศมาให้ป้าหมอดูด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม แสดงว่านี่คือคำตอบของคุณแม่และคุณเอกอย่างแท้จริง
พ่อแม่ทุกคนรักลูกและปรารถนาอยากให้ลูกได้รับสิ่งที่ดีที่สุด แต่เด็กทุกคนต่างเกิดมาภายใต้ข้อกำหนดเฉพาะตัว บางคนมีความสามารถอย่างหนึ่ง บางคนมีอีกอย่าง เพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาดีพ่อแม่และลูกควรปรับความคิด ความเข้าใจกัน เพื่อให้ลูกสามารถใช้ ศักยภาพได้อย่างเต็มที่ และไม่สับสนหรือหลงในระหว่างเส้นทางของชีวิต โดยที่พ่อแม่ไม่ได้ตั้งใจ
- อ่าน 2,523 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้