• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กล้วยหอม

กล้วยหอม


กล้วยหอมเป็นผลไม้เมืองร้อน พบได้ทางตอนใต้ของประเทศจีน เช่น มณฑลฝูเจี้ยน กวางตุ้ง ยูนนาน เป็นต้น กล้วยหอมสุกมีส่วนประกอบของแป้งร้อยละ ๐.๕ โปรตีนร้อยละ ๑.๓  ไขมันร้อยละ ๐.๖ น้ำตาลร้อยละ ๑๑  นอกจากนี้ ยังมีวิตามิน เอ บี ซี อี แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก รวมถึง 5-ไฮดร็อกซีทริปทามีน (5-hydroxytryptamin) นอร์อะดรีนาลิน (noradrenaline) โดพามีน (dopamine) ในปริมาณเล็กน้อย

กล้วยหอมในทัศนะแพทย์แผนจีน
กล้วยหอมมีรสหวาน ฝาดเล็กน้อย รสเย็นมาก เข้าเส้นลมปราณ ปอด และลำไส้ใหญ่

สรรพคุณ
๑. เนื่องจากฤทธิ์เย็น และเข้าเส้นลมปราณปอด จึงมีการนำกล้วยหอมมาใช้รักษาโรคร้อน กระหายน้ำ (การถ่ายทอดสดกีฬาเทนนิสจากต่างประเทศ มีนักกีฬาระดับโลกหลายคนช่วงพักระหว่างการแข่งขันหยิบกล้วยหอมขึ้นมากิน) แผลอักเสบ บวม แก้เมาเหล้า ไอเรื้อรังเนื่องจากแห้ง

๒. เข้าเส้นลมปราณลำไส้ใหญ่ ทำให้ลำไส้ใหญ่ไม่แห้ง แก้ท้องผูก ถ่ายเป็นเลือด

๓. กล้วยที่ไม่สุกมีสารธรรมชาติบางอย่างในการป้องกันแผลกระเพาะอาหาร ช่วยทำให้เซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารแบ่งตัวดีขึ้น ซ่อมแซมแผลที่อักเสบได้เร็วขึ้น ช่วยกระจายการเกาะตัวของเลือด 

ตำรับอาหารสมุนไพรกล้วยหอม

๑. ซุปกล้วยหอมข้น
กล้วยหอม ๔๐๐ กรัม นมวัว ๕๐๐ กรัม น้ำตาลทรายขาว ๑๐๐ กรัม แป้งเผือก ๑๕ กรัม
เตรียมกล้วยหอมหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แป้งเผือกผสมน้ำพอประมาณ เทน้ำนมวัวใส่ในหม้อ ใส่น้ำเล็กน้อย  ต้มจนเดือด จากนั้นใส่กล้วย น้ำตาล รอจนน้ำเดือดค่อย ใส่แป้งเผือกลงไป ต้มจนเป็นซุปข้น

สรรพคุณ

  • ขับร้อน
  • หล่อลื่นลำไส้ ทำให้ลำไส้ไม่แห้ง
  • แก้ปอดแห้ง
  • ไอเรื้อรัง
  • ระบบการย่อยไม่ดี
  • แผลกระเพาะอาหาร
  • ท้องผูก

๒. กล้วยหอมตุ๋นน้ำตาลทรายกรวด
กล้วยหอม ๒ ใบ เอาเปลือกออก ใช้น้ำตาลทรายกรวดปริมาณพอเหมาะ ใส่ในภาชนะที่จะตุ๋น แล้วใส่น้ำโดยรอบภาชนะ ปิดฝาตุ๋นกินวันละ ๑-๒ ครั้ง กินติดต่อกันหลายวัน

สรรพคุณ

  • ช่วยทำให้ปอดไม่แห้ง
  • แก้ท้องผูก
  • แก้ร้อนใน
  • ไอเรื้อรัง
  • แก้ริดสีดวงทวาร

๓. ตำรับยาระบายอย่างง่าย-แก้ริดสีดวงทวาร

- กล้วยหอม ๒ ลูก ไม่ต้องเอาเปลือกออก นำมาตุ๋นจนสุก กินทั้งเปลือก รักษาอาการถ่ายเป็นเลือด ริดสีดวงทวาร

- ตื่นนอน ท้องว่าง กินกล้วยหอมวันละ ๑-๒ ลูก รักษาท้องผูก เนื่องจากลำไส้แห้ง

- เปลือกกล้วยหอม ๓ ผล ซานจา ต้มน้ำดื่ม รักษาอาการกระหายน้ำ และคอแห้ง

- กล้วยหอมจุ่มน้ำผึ้ง กินตอนเช้า และกลางคืน ครั้งละ ๑ ลูก รักษาอาการท้องผูก

- กินกล้วยหอมวันละ ๓ ครั้ง ครั้งละ ๑-๒ ลูก รักษาภาวะความดันเลือดสูง

ข้อควรระวัง
การกินกล้วยหอม มีข้อควรระวัง ดังนี้

๑. ในรายที่ต้องการใช้รักษาอาการถ่ายเป็นเลือด ริดสีดวงทวาร ควรใช้ตุ๋นกล้วยหอมทั้งเปลือก

๒. ไม่ควรกินมากเกินขนาด เพราะมีฤทธิ์เย็น คนที่มีระบบการย่อยไม่ดี ท้องอืด มีลมในท้องมาก มีเสมหะมากเนื่องจากม้ามพร่องไม่ควรกิน เพราะจะทำให้อาการกำเริบมากขึ้น

๓. ต้องคำนึงอยู่เสมอว่า อาการหรือสมุนไพรใดๆ ไม่ควรกินติดต่อกันนานๆ ขึ้นกับสภาพร่างกายของแต่ละคน 

ข้อมูลสื่อ

330-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 330
ตุลาคม 2549
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล