• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ชมพูพันธุ์ทิพย์...ความสดใสท่ามกลางบรรยากาศรุ่มร้อน


เดือนเมษายนนับว่าเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดของประเทศไทย  และเป็นเดือนที่สว่างสดใสด้วยดอกไม้ยืนต้นหลายชนิด  ที่ออกดอกเพียงปีละ ๑ ครั้ง                 ช่วยบรรเทาความร้อนลงได้จากความงามของไม้ดอก  และประเพณีสงกรานต์ที่เก่าแก่  อันเป็นการเปลี่ยนปีใหม่ตามธรรมเนียมเดิมของไทย

ตามปกติทุกสัปดาห์  ผู้เขียนจะเดินทางจากบ้านพักในเขตอำเภอบางกรวยมาทำงานที่มูลนิธิข้าวขวัญจังหวัดสุพรรณบุรี  ในตอนเช้ามืดวันจันทร์  และเดินทางกลับบ้านพักในตอนค่ำวันศุกร์  ซึ่งในเดือนมีนาคมนี้  การเดินทางในตอนเช้าวันจันทร์มีความสดชื่นเป็นพิเศษ  เพราะทั้งต้นคูนและต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ออกดอกบานสะพรั่งงดงามอยู่เต็มต้น         เมื่อนั่งรถยนต์มาตามทางก็พบกับความงดงามนั้นอีกหลายครั้ง 

ชมพูพันธุ์ทิพย์...ความงดงามจากอีกฝากโลก
ชมพูพันธุ์ทิพย์  มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า  Tabebuia  heterophylla  (DC)  Briton.  อยู่ในวงศ์  Bignoniaceae  เช่นเดียวกับทองอุไรและศรีตรัง  เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง  สูงราว ๘-๑๒ เมตร 
ใบเป็นแบบผสม  มีใบย่อย ๕ ใบบนต้นเดียวกัน  แผ่ออกคล้ายใบปาล์ม  ผิวไม่เรียบ  ปลายใบแหลม  ยาวประมาณ ๑๒ เซนติเมตร  กิ่งก้านสาขาแผ่ออกเป็นพุ่มค่อนข้างแน่น
ชมพูพันธุ์ทิพย์  ใบแก่และทิ้งใบในฤดูหนาว  ช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม  หลังจากนั้นจะออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน  ดอกออกเป็นช่อตามกิ่งก้าน  ช่อละ ๕-๘ ดอก 
ดอกย่อยลักษณะคล้ายดอกผักบุ้งหรือปากแตร  คือโคนดอกเป็นหลอดยาวปลายดอกบานออกเป็น ๕ กลีบ  กลีบดอกบาง ย่นเป็นจีบๆ และร่วงหล่นง่าย  จะเห็นดอกชมพูพันธุ์ทิพย์ร่วงหล่นกระจายอยู่รอบๆ ต้น  งดงามพอๆ กับที่บานอยู่บนต้น  ดอกย่อยแต่ละดอกกว้างราว ๘ เซนติเมตร  ยาวราว ๑๕ เซนติเมตร  
สีของกลีบดอกปกติเป็นสีชมพูสดใส  แต่มีความเข้มและจางแตกต่างกันไป  โดยเฉพาะต้นที่เกิดจากเมล็ดจะมีความผันแปรมากมาย  ตั้งแต่สีชมพูจางเกือบขาวไปจนถึงสีเข้มเกือบเป็นสีม่วงแดง
เมื่อดอกชมพูพันธุ์ทิพย์ร่วงหล่นแล้ว  จะติดฝักรูปร่างคล้ายมวนบุหรี่  ยาวราว  ๑๕ เซนติเมตร  เมื่อฝักแก่ราวเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม  จะแตกออกด้านเดียวตามยาว        แล้วเมล็ดที่มีปีกก็ปลิวไปตามลมได้ไกลๆ
ต้นกำเนิดของชมพูพันธุ์ทิพย์  อยู่ในเขตร้อนของทวีปอเมริกาใต้  ต่อมาได้ถูกนำไปปลูกในเขตร้อนทวีปต่างๆ อย่างแพร่หลายรวมทั้งประเทศไทย
สำหรับประเทศไทยมีบันทึกเป็นหลักฐานว่า  เป็นผู้นำเข้ามาในประเทศครั้งแรกคือ  กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิ์พินิต  และ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์  บริพัตร  จึงตั้งชื่อตามสีดอก และเป็นเกียรติแก่ผู้นำเข้าว่า  ชมพูพันธุ์ทิพย์  ชื่อเดิมคือ ตาเบบูย่า  มีชื่ออื่นๆ คือ  แตรชมพู  ธรรมบูชา  ชื่อในภาษาอังกฤษคือ  Pink  Trumpet Tree ตามลักษณ์ของดอกนั่นเอง

ประโยชน์ของชมพูพันธุ์ทิพย์
ชมพูพันธุ์ทิพย์เป็นต้นไม้ที่ปลูกง่าย  ทนทานต่อดินฟ้าอากาศ  และโรคแมลง  โตเร็ว  มีดอกงดงาม  จึงนิยมนำไปปลูกเป็นไม้ประดับและร่มเงาในบริเวณสถานที่ราชการ         สวนสาธารณะ และตามถนนหนทาง 
เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่เพิ่งเข้ามาเมืองไทยได้ไม่กี่สิบปี  จึงยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ทางสมุนไพรและด้านอาหาร 
เท่าที่สังเกตดูดอกของชมพูพันธุ์ทิพย์น่าจะไม่มีพิษภัย  อาจจะนำมาประกอบอาหารได้  เช่น  การชุบแป้งทอด  เป็นต้น  นอกเหนือจากการรวบรวมไปหมักปุ๋ยน้ำ                   หรือน้ำจุลินทรีย์ในระบบเกษตรอินทรีย์
ไม่ว่าบรรยากาศบ้านเมืองร้อนรุ่มอย่างไร  หากคนไทยมองโลกในแง่ดี  มองเห็นความสดใสงดงามจากธรรมชาติและฤดูกาล  ดังเช่นจากดอกชมพูพันธุ์ทิพย์ในยามนี้  ก็เชื่อแน่ว่าคนไทยจะนำพาชาติบ้านเมืองผ่านพ้นทางตัน  และพบความสงบ  สันติสุขได้ในไม่ช้า

  

ข้อมูลสื่อ

324-025
นิตยสารหมอชาวบ้าน 324
เมษายน 2549
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร