• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สมุนไพรที่นำมาบรรจุแคปซูล ในรูปยาแผนปัจจุบัน ช่วยลดโคเลสเตอรอล

สมุนไพรที่นำมาบรรจุแคปซูล ในรูปยาแผนปัจจุบัน ช่วยลดโคเลสเตอรอล


จัดเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่อยู่ในรูปยาแผนปัจจุบัน (phytopharmaceuticals) ไม่ใช่ยาแผนโบราณ (herbal medicines) ผลิตโดยการคั้นน้ำ จากนั้นนำไปสเปรย์ในความเย็นให้เป็นผงแห้ง แล้วบรรจุแคปซูล ใส่แผง blisters หรือขวด นำไปฉายรังสีเพื่อป้องกันเชื้อราและแบคทีเรีย ในกระบวนการผลิตนี้มีการวิเคราะห์หาสารออกฤทธิ์คือ Allyl sulfide  ตั้งแต่เป็นวัตถุดิบจนถึงผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปโดยวิธี gas chromatography รวมทั้งสิ้น ๔ ครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าได้สารออกฤทธิ์ครบตามมาตรฐาน นอกจากนี้ยังควบคุมความชื้น น้ำหนัก และเวลาในการแตกตัวอีกด้วย ที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่ง คือ มีการทดสอบผลการรักษาทางคลินิกแล้ว ใช้ในการลดโคเลสเตอรอลในเลือด นับเป็นความภาคภูมิใจของแพทย์และเภสัชกรไทย ผลิตภัณฑ์สมุนไพรนั้น คือ สารสกัดกระเทียมแคปซูล หรือโคไฟบริน (chofibrin)

กระเทียมกับการลดโคเลสเตอรอลในเลือด

  • อันตรายจากภาวะโคเลสเตอรอลในเลือดสูง

ภาวะโคเลสเตอรอลในเลือดสูง คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับ total cholesterol (TC) น้อยกว่าหรือเท่ากับ ๒๐๐ มิลลิกรัม/เดซิลิตร เนื่องจากระดับ low density lipoprotein-cholesterol (LDL-C) น้อยกว่าหรือเท่ากับ ๑๓๐ มิลลิกรัม/เดซิลิตร ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ผู้ที่มี LDL-C ในเลือดสูงอยู่นานโดยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง

  • สาเหตุของ LDL-C ในเลือดสูง

ระดับ LDL-C ในเลือดสูงอาจเกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรม โรคหรือยาบางชนิด และการกินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ของ LDL-C ในเลือดสูง จากการกินอาหารที่มีไขมันมาก ซึ่งได้แก่ ไตรกลีเซอไรด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันจากสัตว์ ตลอดจนการกินอาหารที่มีโคเลสเตอรอลมาก ส่งผลให้ยับยั้งกัมมันตภาพของตัวรับ LDL ที่ตับ เป็นผลให้ LDL-C ในเลือดสูง

  • การควบคุมระดับ LDL-C ในเลือด ด้วยอาหาร

การกินอาหารให้ถูกหลักโภชนาการเป็นหลักการสำคัญในการลด LDL-C ในเลือด ซึ่งปฏิบัติได้ ดังนี้

๑. กินอาหารที่ให้พลังงานแต่พอควร ซึ่งตรวจสอบได้ว่าน้ำหนักตัวต้องอยู่ในเกณฑ์ปกติ จากค่าดัชนีความหนาของร่างกาย ซึ่งคำนวณจากน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม หาร(ส่วนสูงเป็นตารางเมตร) ผู้ใหญ่ไม่ว่าชายหรือหญิงอายุ น้อยกว่าหรือเท่ากับ ๒๐ ปี ควรมีดัชนีความหนาของร่างกาย ๒๐.๐-๒๔.๙๙ กิโลกรัม/ตารางเมตร

๒. กินไตรกลีเซอไรด์ไม่เกินร้อยละ ๓๐ ของพลังงานทั้งหมด และมีสัดส่วนกรดไขมันอย่างเหมาะสม โดยกินไขมันสัตว์และกะทิให้น้อย และใช้น้ำมันถั่วเหลืองวันละ ๑-๒ ช้อนโต๊ะในการปรุงอาหาร เพราะน้ำมันถั่วเหลืองมีกรดไขมันอิ่มตัวต่ำและมีกรดไขมันจำเป็นครบถ้วน ทั้งกรดไลโนเลอิก และกรดแอลฟาไลโนเลอิก การกินกรดไขมันอิ่มตัวน้อยกว่าร้อยละ ๑๐ ของพลังงาน ที่ได้รับและได้กรดไลโนเลอิกร้อยละ ๗-๑๐ ของพลังงานที่ได้รับจะช่วยลดระดับ LDL-C ในเลือดได้

๓. กินโคเลสเตอรอลไม่เกินวันละ ๓๐๐ มิลลิกรัม โคเลสเตอรอลมีอยู่เฉพาะอาหารที่มีต้นตอจากสัตว์เท่านั้น และมีมากในเครื่องในสัตว์ชนิดต่างๆ ไข่แดง และหนังสัตว์ ผู้ที่มีภาวะโคเลสเตอรอลในเลือดสูงอยู่แล้วจึงควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารเหล่านี้

  • ควรกินยาลดโคเลสเตอรอลในเลือดหรือไม่

ผู้ที่มีโคเลสเตอรอลในเลือดสูงจากพันธุกรรม หรือผู้มี LDL-C ในเลือดสูงและมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันเลือดสูง ถ้าหากการควบคุมอาหารแล้วไม่ได้ผลดี ควรได้รับยาลด LDL-C ในเลือด ภายใต้การดูแลของแพทย์ร่วมกับการควบคุมอาหารต่อไป

  • สารสกัดกระเทียมลด LDL-C ในเลือดได้หรือไม่

ปัจจุบันนี้วงการแพทย์แผนปัจจุบันได้ให้ความสนใจฤทธิ์ของกระเทียมต่อการลด LDL-C ในเลือด ในการศึกษาของ นพ.วิชัย ตันไพจิตร และคณะ ซึ่งได้ศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดกระเทียมแคปซูล หรือโคไฟบรินต่อการลดระดับ LDL-C ในเลือดในผู้ป่วยภาวะโคเลสเตอรอลในเลือดสูง ๒๑ คน ๘ สัปดาห์แรก ผู้ป่วยเหล่านี้ได้รับการแนะนำให้บริโภคอาหารที่ลด LDL-C ในเลือด แต่ปรากฏว่าไม่ได้ผล หลังจากนั้นจึงได้กินโคไฟบริน ๑ แคปซูล (๓๕๐ มิลลิกรัม/แคปซูล) เช้า-เย็นหลังอาหารเป็นเวลา ๑๖ สัปดาห์ พบว่าค่า TC (total cholesterol) และ LDL-C ได้ลดลงอย่าง มีนัยสำคัญทางสถิติตามลำดับ จนกระทั่งเมื่อครบ ๑๖ สัปดาห์ ค่ามัชฌิม LDL-C ในเลือดได้ลดจากเมื่อสัปดาห์ที่ ๘ ก่อนกินโคไฟบริน

การศึกษานี้ยังยืนยันว่าการลด LDL-C ในเลือดนี้เกิดจากการกินโคไฟบริน ระดับกรดไลโนเลอิกในเลือดและเม็ดเลือดแดง ตลอดจนค่ามัชฌิมความหนาของร่างกายไม่เปลี่ยนแปลง จึงสรุปได้ว่าสามารถใช้โคไฟบรินในการลดระดับ LDL-C ในเลือดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีระดับ LDL-C ในเลือด ๑๓๐-๑๕๙ มิลลิกรัม/เดซิลิตร แม้ในปัจจุบันจะมียาที่ใช้รักษาภาวะโคเลสเตอรอลในเลือดสูงอยู่มากมายหลายชนิด แต่พบผลข้างเคียงจากยาได้บ่อยๆ มีราคาแพงเพราะส่วนใหญ่เป็นยานำเข้าหรือแม้จะผลิตภายในประเทศได้บ้าง แต่ต้องสั่งซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศ สารสกัดกระเทียมแคปซูลนี้ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ ผลิตและควบคุมสารออกฤทธิ์ตามมาตรฐานสากล นอกจากมีฤทธิ์ทางยาแล้วยังมีคุณค่าทางโภชนาการ ไม่มีผลข้างเคียง ราคาของบริษัท ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย จำกัด ขายเพียงแคปซูลละ ๓ บาท (ขนาดบรรจุ ๖๐ แคปซูล ราคา ๑๘๐ บาท)

สมุนไพรไทยๆ ลองใช้กันดูนะครับ..

ข้อมูลสื่อ

289-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 289
พฤษภาคม 2546
ภก.สุดเหมือนฝัน ธนธัญญา