• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สมุนไพรป้องกันซาร์ส?

สมุนไพรป้องกันซาร์ส?


สถานการณ์ของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือซาร์ส (acute severe respiratory  syndrome) ได้สร้างความเสียหาย และความตื่นตระหนกแก่ประชาชน โดยเฉพาะในจีน ฮ่องกงอย่างมาก ในประเทศไทยถึงแม้ขณะนี้ไม่มีการพบว่ามีการแพร่ระบาดในหมู่ประชาชนไทย ที่พบว่ามีอาการหรือเสียชีวิต ๒ ราย ก็ล้วนติดมาจากต่างประเทศ เป็นที่ทราบดีว่าโรคนี้คนที่ติดเชื้อร้อยละ ๙๐ สามารถหายได้ มีเพียงร้อยละ ๑๐ ที่มีอาการรุนแรง และร้อยละ ๕ ที่ตายด้วยโรคนี้

สำหรับเรื่องนี้กระทรวงสาธารณสุขไทยมีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วและจริงจัง ตั้งแต่การตั้งด่านตรวจโรคที่ดอนเมือง การกักตัวเพื่อติดตามอาการผู้ป่วยที่สงสัยจะติดเชื้อ การควบคุมเพื่อการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการ ถ้าเป็นชาวต่างชาติก็จะส่งตัวกลับประเทศ เหล่านี้เป็นต้น ทำให้สามารถคุมสถานการณ์โรคนี้อย่างได้ผล ในหมู่ประชาชน หน้ากากอนามัยขายดิบขายดีจนขาดตลาด เครื่องกรองอากาศบางยี่ห้อได้โอกาส โฆษณาว่าสามารถกรองไวรัสได้ หลายชนิดก็ไม่พอขายกัน สมุนไพร  ฟ้าทะลายโจร สมุนไพรจีนบางตัว ซึ่งเชื่อว่าจะป้องกันโรค ก็มีการขึ้นราคา หรือหาซื้อกักตุนกัน ความตื่นตกใจในช่วงแรก ร้านขายยาจีนบางแห่ง จัดยาเทียบ (ยาตำรับเป็นห่อๆ) ขายให้กับผู้สนใจกันอย่างคึกคัก ตำรับยาจีนมีการส่งทอดต่อกันจากฮ่องกง จีน และในประเทศใกล้เคียง

ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยได้แจกจ่ายยาสมุนไพรจีนป้องกันโรคซาร์สติดต่อกัน ๗ วัน มีการผลิตยากินทั้งชนิดเม็ด ราคาแผงละ ๙ หยวน หรือชนิดบรรจุขวด ราคาขวดละ ๑๒ หยวน ขายกันในเมืองปักกิ่ง ยอดจำหน่ายกว่าวันละแสนขวด เพื่อสนองนโยบายการป้องกันความรุนแรงของโรคด้วยยาสมุนไพรจีน (ซึ่งมีส่วนผสมของยา ๘ ชนิด)

บทบาทของยาสมุนไพรจีนในการป้องกัน SARS
เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคระบาด ที่เกิดขึ้นที่ระบบทางเดินหายใจและเข้าสู่ปอด ยาสมุนไพรส่วนใหญ่จึงต้องเป็นยาขับพิษ ขับร้อนของเส้นลมปราณและอวัยวะปอดเป็นหลัก มักจะต้องเป็นยาที่มีคุณสมบัติของยาเย็น มีรสขมเป็นส่วนใหญ่ตำรับยายอดฮิต และเป็นที่ยอมรับในหมู่แพทย์จีน มีส่วนประกอบสำคัญ ๕ ตัว

  • จิน หยิง ฮวา (ดอกสายน้ำผึ้ง) ๑๕-๓๐ กรัม
  • จวี๊ ฮวา (ดอกเบญจมาศ หรือเก๊กฮวย) ๑๕-๓๐ กรัม
  • (ป่าน หลาน เกิน) ตัวเอกของตำรับยา ๑๕ กรัม
  • (ต้า ชิง เย่) ๑๕ กรัม
  • กานเฉ่า (ชะเอม) ๑๐ กรัม

ทั้งหมดนำมาต้มรวมกัน น้ำท่วมยา ต้มให้เหลือ ๑ แก้ว เทยาเก็บไว้ แล้วต้มใหม่ เหมือนเดิมให้เหลืออีก ๑ แก้ว นำยาทั้ง ๒ แก้ว มาเทรวมกัน นำมาเคี่ยวให้เหลือ ๑ แก้ว แบ่งกินวันละ ๒ ครั้ง เช้า-เย็น หลังอาหาร ผู้ใหญ่ครั้งละ ๓๐-๕๐ มิลลิลิตร เด็กลดลงตามส่วน

คุณสมบัติและสรรพคุณของยาแต่ละชนิด

๑.  จิน หยิง ฮวา (ดอกสายน้ำผึ้ง)

คุณสมบัติ 
-  เย็น รสหอม หวาน
-  วิ่งเส้นปอด กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่

สรรพคุณ 
-  ขับร้อนเป็นพิษ กระจายลมร้อน
-  โรคไข้หวัดที่กระทบลมร้อน ไข้สูง คอแห้ง เจ็บคอ คออักเสบ ท้องเสียเป็นบิด

การศึกษาวิจัยสมัยใหม่ เป็นยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ครอบคลุมทั่วไป สำหรับเชื้อแบคทีเรีย เป็นยาต้านการอักเสบในหนูทดลอง เป็นยาลดไข้ และมีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของ เซลล์เม็ดเลือดขาวในการกินสิ่งแปลกปลอม รวมถึงการกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์

๒.   จวี๊ ฮวา (ดอกเบญจมาศ หรือเก๊กฮวย)
 
คุณสมบัติ 
-  เย็น รสขม หวาน เผ็ด
-  วิ่งเส้นตับ ปอด

สรรพคุณ 
-  ขับลมร้อน โรคหวัดร้อนที่อยู่ระดับผิวนอก
-  ระบายความร้อนตับ ทำให้ตาสว่าง ลดการอักเสบบวมของตา
-  สงบหยางของตับ ลดอาการปวดศีรษะ ตาลาย
-  ขับพิษ ขับร้อน

การศึกษาวิจัยสมัยใหม่ สามารถขยายหลอดเลือดหัวใจ เป็นยากล่อมประสาท และยาลดไข้

๓.  (ป่าน หลาน เกิน) ตัวเอกของตำรับยา 

คุณสมบัติ 
-  เย็น รสขม 
-  วิ่งเส้นหัวใจ ปอด 

สรรพคุณ 
-  คล้ายกับ ต้า ชิง เย่ แต่ฤทธิ์เย็นขมจะอ่อนกว่า เด่นในการรักษาโรคหวัดจากลมร้อน โรคไข้หวัดใหญ่ระบาด คางทูม สลายผิวหนังที่เป็นฝ้าร้อน เจ็บคอ คออักเสบ เป็นต้น

การศึกษาวิจัยสมัยใหม่ สามารถยับยั้งเชื้อไวรัส และมีฤทธิ์ยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรีย

๔.  (ต้า ชิง เย่)

คุณสมบัติ 
-  เย็น รสขม เค็ม 
-  วิ่งเส้นหัวใจ ปอด กระเพาะอาหาร
 
สรรพคุณ 
-  ขับร้อน ขับพิษ ทำให้เลือดเย็นสลายฝ้าบนใบหน้า ลดไข้ ลดกระหายน้ำ ใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ โรคระบาด การติดเชื้อไข้สมองอักเสบ โรคปอดบวม โรคคางทูม เจ็บคอ แผลร้อนใน การอักเสบติดเชื้อของผิวหนัง

การศึกษาวิจัยสมัยใหม่ เป็นยาปฏิชีวนะฤทธิ์ครอบคลุมทั่วไป เป็นยาลดไข้ ยาลดการอักเสบ โดยเฉพาะของไขข้อต่างๆ

๕.  กานเฉ่า (ชะเอม) 

คุณสมบัติ 
-  (ไม่ร้อน ไม่เย็น) รสหวาน 
-  วิ่งเส้นปอด ม้าม 
 
สรรพคุณ 
-  บำรุงพลัง ขับพิษ ขับร้อน แก้เสมหะ แก้ไอ แก้ปวด แก้อักเสบ สมานยาให้เข้ากัน

การศึกษาวิจัยสมัยใหม่ พบว่า ชะเอมมีฤทธิ์ลดการอักเสบ คล้ายสารไฮโดรคอร์ติโซน (สารสตีรอยด์ ประเภทหนึ่ง) สามารถแก้พิษ ระงับการไอ การหอบได้

สำหรับยาสมุนไพรไทยที่มีการพูดถึง คือ ฟ้าทะลายโจร ตามการศึกษาวิจัยพบว่า

คุณสมบัติ 
-  เย็น รสขม 
-  วิ่งเส้นปอด กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก

สรรพคุณ 
-  ขับไฟ ระบายพิษ รักษาโรคติดเชื้อตามฤดูกาล โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากความร้อน ไข้หวัด จากลมร้อนที่มีไข้สูง กระหายน้ำ เจ็บคอ ไอ และหอบหืดเนื่องจากปวดร้อน ปวดเป็นหนอง การอักเสบ ติดเชื้อบริเวณผิวหนัง
-  ขับความร้อน ความ ชื้น เช่น ท้องเสีย เป็นบิดชนิดที่เกิดจากความร้อน
-  ฤทธิ์ต้านมะเร็ง

 การศึกษาวิจัยสมัยใหม่ 
- ฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น Staphylococcus, aureus Pseudomonas auruginosa และ proteus
- กระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาวในการกินสิ่งแปลกปลอม
- ฤทธิ์ในการลดไข้
- ฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ
- ฤทธิ์รบกวนการตั้งครรภ์ ระงับการเติบโตของเซลล์ของรกในครรภ์มารดา

ข้อควรระวังในการใช้ยาสมุนไพร ป้องกันซาร์ส

๑. โดยหลักการ ยาจีนหรือยาไทยที่ใช้เพื่อลดการอักเสบ การฆ่าเชื้อลดไข้ ขับพิษ ขับร้อนของปอด ทำให้สามารถลดความรุนแรงของเชื้อ หรือปรับสภาพร่างกายเพื่อไม่ให้เอื้ออำนวยต่อการแพร่พันธุ์ขยายตัวของเชื้อที่ปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกาย จึงไม่ได้มีความหมายเฉพาะโรคซาร์สเท่านั้น แต่สามารถนำไปประยุกต์กับการป้องกันหรือบรรเทาอาการจากการติดเชื้อที่กระทบต่อทางเดินหายใจที่มีลักษณะร้อน หรือที่เรียกว่าหวัดร้อนหรือโดนลมร้อน

๒. คนที่ร่างกายอ่อนแอ และ ไม่มีการติดเชื้อควรกินหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ควรกิน (โดยเฉพาะคนที่ร่างกายขี้หนาว อ่อนเพลีย ขาดเลือด ไม่มีพลัง ระบบการย่อยดูดซึมไม่ดี ลิ้นขาว ซีด บวม มีฝ้าขาว หนา กลัวความเย็น) เพราะการกินสมุนไพรที่มีฤทธิ์ เย็น ขม จะทำให้ความต้านทานโรคของร่างกายยิ่งแย่ลงไปอีก คนโบราณกล่าวไว้ว่า "ถ้าพลังพื้นฐานของร่างกายยังดำรงอยู่ ปัจจัยก่อโรคก็มิอาจกระทำการได้"  ถ้าการกินยาสมุนไพรอะไรสักอย่างแล้วไปทำลายกลไกการต่อสู้กับโรคซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของร่างกายย่อมไม่ก่อประโยชน์ เพราะมีแต่ร่างกายที่ดีจึงจะต่อสู้กับโรคได้ ลองสังเกตคนที่ร่างกายซีดขาว อ่อนแอ เป็นหวัดบ่อยๆ แล้วกินยาลดไข้ ขับความร้อน จะทำให้หน้าตายิ่งขาวซีด เบื่ออาหาร มือ-เท้าเย็น แพทย์จีนเรียก ลักษณะเช่นนี้ว่าเป็นการ "เปิดประตูคารวะโจร" เปิดประตูให้โจรเข้ามาในบ้าน เปิดทางให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้โดยง่าย

๓. ไม่ควรพิจารณาเฉพาะคุณสมบัติและสรรพคุณของยาเดี่ยวๆ ควรพิจารณาสภาพพื้นฐานของร่างกาย สภาพภูมิประเทศและ สภาพภูมิอากาศร่วมด้วย โบราณกล่าวไว้ได้ถูกต้อง "ลางเนื้อชอบลางยา" บ่งบอกถึงสภาพของร่างกาย พื้นฐานของคนต่างกัน การกินสมุนไพรแม้จะเป็นธรรมชาติก็สามารถสร้างโทษอนันต์ให้กับร่างกาย การนำ ศาสตร์หรือความรู้ใดๆ หรือสมุนไพรมาใช้ จึงต้องมีลักษณะยืดหยุ่นพลิกแพลง และให้ถูกจังหวะตามสถานการณ์ที่เป็นจริงด้วย

๔. การเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกายในแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้ากล่าวถึงโรคติดเชื้อที่จะเกิดกับปอด บางรายอาจต้องบำรุงปอด บางคนอาจต้องเน้นบำรุงม้าม (ระบบ ย่อยดูดซับ) บางคนอาจต้องบำรุงไต (ไตยินหรือไตหยาง) บางคนต้องบำรุงเลือดหรือพลัง บางคนต้องขับเสมหะความชื้น หรือความร้อน การใช้สมุนไพร หรือกินอาหารอย่างสมดุลก็ต่างกัน ถ้าพิจารณาแต่ว่า ฟ้าทะลายโจรทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายดีขึ้น อาจถูกต้องสำหรับคนที่ร่างกาย มีปอดร้อน แต่ถ้าคนที่มีระบบม้ามพร่อง ก็จะไม่ถูกต้อง เพราะการทดลองในหลอดทดลองนอกร่างกายกับในร่างกายคนอาจมีผลต่างกันได้

๕. หลักการสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อที่ดีคือ การป้องกันหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการรับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ตรงกับแผนปัจจุบันคือ ต้องแยกผู้ติดเชื้อออกต่างหาก ปิดปากด้วยผ้าปิดปากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่และรับเชื้อ ล้างมือ ทำความสะอาดสิ่งปนเปื้อน และต้องเสริมความแข็งแรงให้กับร่างกาย เช่น สนใจการออกกำลังกาย การฝึกจิต การกินอาหาร การพักผ่อนที่พอเพียง เป็นต้น

๖. การป้องกันด้วยสมุนไพรจีนหรือฟ้าทะลายโจรน่าจะเหมาะ กับคนที่มีธาตุร้อน เช่น ร้อนในง่าย กระหายน้ำ เจ็บคอบ่อยๆ ฝ้าบนลิ้นเหลือง ปากเป็นแผล หรือที่เรียกว่ามีร่างกายแกร่งร้อน รวมถึงผู้ที่ได้รับเชื้อโรค หรือปัจจัยความร้อนทำให้เกิดอาการไข้สูง เจ็บคอ (เรียกว่าติดเชื้อทางเดินหายใจจากการกระทบร้อน) คนที่ร่างกายแข็งแรง ไม่ร้อนใน ไม่เจ็บคอง่าย ถ้าต้องเดินทางหรืออยู่ในอากาศร้อนๆ มากๆ อาจจะกินได้บ้างเล็กน้อยตาม เงื่อนไขที่เป็นจริง จุดประสงค์เพื่อลดความร้อนของปอด ขับพิษร้อนที่มากระทบ ห้ามดื่มหรือกินเกินความจำเป็น จะถือหลักว่า "กินมาก ป้องกันได้มาก" ไม่ได้ ต้องถือหลักว่า "กินให้สอดคล้องกับสภาพเป็นจริง" ถ้ามีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย แสดงว่าอาจกินเกินความจำเป็น ควรแก้ด้วยการใส่ขิงสด ๓ แผ่น หรือหยุดกิน

สรุป การป้องกันที่ดีที่สุด คือ อย่ารับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ถ้าคนที่มีปอดร้อนง่าย ควรเลือกอาหารหรือสมุนไพรที่มีฤทธิ์ขมเย็นช่วย รวมทั้งการดูแลร่างกายให้เกิดสมดุลเป็นหลัก ไม่ควรกินยาสมุนไพรอย่างพร่ำเพรื่อ เพราะแรงโฆษณาหรือการพิจารณาแต่สรรพคุณยา แต่ต้องใช้ให้สอดคล้องกับสภาพร่างกายและความเป็นจริง อย่างยืดหยุ่นพลิกแพลงเพราะอาจทำให้เกิดโทษมากกว่าเกิดประโยชน์

ข้อมูลสื่อ

290-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 290
มิถุนายน 2546
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล