• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ประสบการณ์จากโรคเบาหวานของพ่อ

ประสบการณ์จากโรคเบาหวานของพ่อ

ดิฉันทำงานเป็นพยาบาลอยู่ในโรงพยาบาลจึงมักจะได้พบเจอผู้คนมากมายที่เข้ามารับการรักษาทุกวัน งานของดิฉันก็จะเกี่ยวกับการซักประวัติของผู้ป่วยก่อนส่งพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา และหน้าที่สำคัญอีกอย่างก็คือการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัว หลายครั้งที่ดิฉันพบว่าผู้ป่วยไม่ยอมรับว่าตนเองป่วย จึงมารับการรักษาแบบเชื่อครึ่งๆ กลางๆ ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำเพราะคิดว่าตนเองหายแล้ว ไม่มารับยาต่อเนื่อง  ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียต่อการรักษา นั่นเองที่ทำให้ดิฉันหวนไปนึกถึงพ่อของดิฉันเอง

พ่อของดิฉันป่วยเป็น "โรคเบาหวาน" ซึ่งเป็นโรค ทางพันธุกรรม  แต่ที่ดิฉันทราบมาว่าไม่เคยมีใครในตระกูลของดิฉันเป็นโรคเบาหวานเลย เมื่อดิฉันอายุประมาณ ๕ ขวบ พ่อของดิฉันเกิดล้มป่วยอย่างรุนแรงจนปู่ของดิฉัน ต้องรับตัวเข้ามารักษาในตัวจังหวัด ซึ่งเป็นแหล่งของความเจริญก้าวหน้าด้านการแพทย์ไม่ด้อยกว่ากรุงเทพฯ

พ่อของดิฉันรับราชการครู ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาเรื่องค่ารักษาแต่อย่างใด เพราะสามารถเบิกคืนได้ ในครั้งนั้นพ่อต้องต่อสู้กับโรคแทรกซ้อนอย่างมาก ก็คือ ภาวะตับวาย  เนื่องจากว่าพ่อเป็นครูในโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลตัวเมือง การที่ต้องเข้าให้ได้กับชาวบ้านในแถบนั้นอย่างหนึ่งที่ต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คือการดื่มเหล้า เหล้าในที่นี้คือเหล้าที่ชาวบ้านต้มขึ้นมาเอง แน่นอนว่าไม่สามารถวัดดีกรีได้เลย สาเหตุของการเจ็บป่วยของพ่อก็เกิดจากเหล้านั่นเอง ครั้งนั้นพ่อแทบจะต้องใช้ชีวิตเป็นเดิมพันกับความก้าวหน้าทางการแพทย์เลยทีเดียว ไม่นานพ่อก็มีอาการทุเลาขึ้น แต่ผลที่ตามมาคือ พ่อมีโรคเบาหวานแทรกซ้อน จึงต้องฉีดอินซูลินทุกเช้าเพื่อให้ร่างกายสามารถนำอินซูลินไปใช้ในการดำรงชีวิต ดังนั้น ทุกวันสิ่งที่เห็นจนชินตา ก็คือ แม่จะช่วยฉีดอินซูลินให้พ่อในตอนเช้า และในตู้เย็นก็จะเต็มไปด้วยขวดยา เข็ม ฉีดยา และกระบอกฉีดยา (จริงๆ อุปกรณ์ในการฉีดยา เก็บไว้ในอุณหภูมิห้องก็ได้ เข้าใจว่าน่าจะเป็นการเข้าใจ ผิดของแม่ เพราะแม้ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นอะไรแม่ก็เก็บไว้ในตู้เย็นหมดสิน่า)

ถึงพ่อจะต้องฉีดยาทุกวัน แต่ก็ไม่หยุดการดื่มเหล้า และดื่มมากขึ้นจนเริ่มไม่สบายอีกครั้ง คราวนี้โรคแทรกซ้อนของพ่อรุนแรงมากทีเดียว ทั้งแม่และญาติๆ ต่างพากันพยายามพาพ่อไปรักษาตัวหลายๆ ที่ รักษาทั้งทางการแพทย์แผนปัจจุบันและแบบวิถีชาวบ้านตามที่รู้ หมอบอกว่าโรคเบาหวานของพ่อเป็นมากจนลุกลามไป ยังเส้นประสาทตา หากไม่รีบทำการรักษาตาของพ่ออาจจะบอดได้ ตอนนั้นครอบครัวของเรากังวลใจมาก เพราะไม่รู้ว่าต้องทำการรักษาพ่ออีกมากแค่ไหนเพื่อให้พ่อหายจากโรคได้ ท้ายสุดเมื่อหมอในจังหวัดไม่สามารถรักษาพ่อได้ ท่านก็แนะนำให้พ่อไปรับการรักษาโดยการยิงเลเซอร์ เพื่อรักษาตาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ การเดินทางไปกรุงเทพฯ ในตอนนั้นเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก เนื่องจากเราไม่มีญาติอยู่ที่กรุงเทพฯ เลย จึงปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรดี แต่แล้วก็มีญาติคนหนึ่งที่มาเป็นเขยของตระกูลอาสาพาไปเนื่องจากเขามีญาติอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ต้องเดินทางโดยรถไฟ เพราะเขาเดินทางวิธีอื่นไม่เป็น ดิฉันรู้สึกสงสารพ่อมาก เพราะในตอนนั้นพ่อป่วยหนัก แม้แต่ยืนก็แทบจะไม่มีแรง แล้วนี่ต้องเดินทางด้วยรถไฟซึ่งเป็นการเดินทางที่แย่มากในสมัยนั้น บางครั้งหากโชคดีก็จะมีที่ให้นั่ง แต่ถ้าโชคร้ายบางครั้งไม่มีที่นั่งยังเคยต้องเข้าไปนั่งในห้องน้ำที่ทั้งเหม็นและแทบจะไม่มีทางระบายอากาศ ส่วนแม่นั้นไม่ต้องพูดถึง นอกจากจะไม่มีที่นั่งแล้วยังต้องคอยดูแลพ่อตลอดการเดินทางอีกด้วย แค่นั้นยังไม่พอ แม่เล่าให้ฟังว่า ช่วงที่ต้องรอตรวจที่โรงพยาบาลนั้น แม่ต้องขอให้เขาเอาเปลนอนมาให้พ่อ เพราะพ่อเพลียจากการเดินทางจนแทบนั่งไม่ไหว ซึ่งบางครั้งเขาก็ไม่ให้ บอกว่ามีคนอื่นที่จำเป็นต้องใช้เปลนอนมากกว่าพ่อ ให้พ่อนั่งรอที่ม้านั่งแทน การที่ต้องไปรอคิวตรวจตั้งแต่ตี ๕ กว่าจะได้ตรวจก็เป็น ช่วงบ่ายๆ แล้ว  แล้วก็ต้องเดินทางกลับในคืนนั้นทันที เนื่องจากไม่มีที่พัก

พ่อต้องเทียวไปรักษาตัวที่กรุงเทพฯ อีกหลายต่อ หลายครั้ง แต่ก็ไม่มีทีท่าว่าจะหาย อาการกลับทรุดลงเรื่อยๆ ดิฉันว่าสาเหตุคงไม่ใช่แค่โรคที่พ่อเป็นอยู่ แต่น่าจะเป็นจากการเดินทางอันแสนโหดซะมากกว่า หากโรงพยาบาลในตัวจังหวัดสามารถมีเครื่องเลเซอร์รักษาพ่อได้ พ่อก็ไม่ต้องเดินทางถึงขนาดนั้น เมื่อดิฉันเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ พ่ออาการทรุดหนักจนต้องนอนในโรงพยาบาลตลอดไม่ได้กลับบ้านเป็นเดือนๆ เมื่อพ่อเริ่มไม่รู้สึกตัว ไม่พูด ไม่กิน นอนอยู่เฉยๆ ไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองใดๆ แม่และพวกญาติๆ พากันถอดใจว่าพ่อคงไม่ไหวแล้ว  จึงขอหมอพาพ่อกลับบ้าน ด้วยความเชื่อที่ว่าอยากให้กลับไปตายที่บ้าน ไม่อยากให้ตายในโรงพยาบาล พ่อกลับมาบ้านได้ประมาณ ๒ สัปดาห์ก็เสียชีวิต ในวันก่อนที่พ่อจะเสียชีวิตนั้นพ่อเริ่มหายใจลำบาก มีเสียงครอกๆ ในคอตลอดการหายใจเข้า-ออก แม่และญาติๆ พากันมองพ่อว่ามีอะไรผิดปกติ แล้วก็พบว่าเป็นก้อนอะไรดำๆ ติดอยู่ในคอ  จึงพากันนำเส้นตอกบางๆ จากไม้ไผ่ล้วงเข้าไปในคอของพ่อ เมื่อยกขึ้นมาก็พบว่าเป็นก้อนเลือดก้อนใหญ่เลยทีเดียว หลังจากการทำเช่นนั้นพ่อก็หายใจสะดวกขึ้น เช้าวันรุ่งขึ้นดิฉันเข้าไปกราบพ่อเพื่อไปโรงเรียนตามปกติ ซึ่งวันนั้นเป็นวันสอบวันสุดท้ายของเทอมหนึ่ง ตอนนั้นดิฉันยังไม่รู้ว่าพ่อเสียชีวิตแล้ว มารู้เมื่อกลับมาบ้านในตอนเย็นนั้นเอง ความรู้สึกของดิฉันในตอนนั้นเหมือน โลกทั้งโลกแตกสลาย ดิฉันเริ่มคิดถึงอนาคตของครอบครัว แต่ก็ยังไม่รู้ว่าตนเองจะทำอะไรได้มากนัก

เรื่องของพ่อนั้นทำให้ดิฉันรู้สึกสงสารคนอีกหลายๆ คนที่ไม่มีสิทธิทางด้านการรักษาพยาบาล และอีกหลายต่อหลายเหตุผลที่เขาประสบ เรื่องของพ่ออาจเป็นเรื่อง เล็กน้อยในสายตาคนอื่น แต่สำหรับดิฉันเรื่องราวของพ่อเป็นบทเรียนอันมีค่าที่ดิฉันสามารถนำไปเป็นตัวอย่างเผยแพร่ให้คนอื่นๆได้รู้ว่า การไม่ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของหมอ และการปฏิบัติตัวไม่ถูกต้องทำให้การรักษานอกจากไม่ได้ผลแล้ว ยังทำให้โรคที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้นได้

ข้อมูลสื่อ

288-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 288
เมษายน 2546
ปนัดดา หงษ์สร้อย