• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หยางเหว่ย : โรคมะเขือเผา

หยางเหว่ย : โรคมะเขือเผา


ในทรรศนะแพทย์แผนจีนมีทรรศนะการมองปัญหาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศชาย ที่เหมือนกันและแตกต่างกันหลายประการ ระหว่างแพทย์แผนจีนและแพทย์แผนตะวันตก แพทย์แผนปัจจุบันเรียก อี.ดี. (erectile dysfunction) หมายถึง อวัยวะเพศชายไม่สามารถแข็งตัวได้นานพอที่จะปฏิบัติกิจกรรมทางเพศได้สำเร็จ แพทย์แผนจีนเรียก หยางเหว่ย หมายถึง อวัยวะเพศชายไม่สามารถตั้งตรง หรือตั้งตรงแต่ไม่แข็งตัว หรือแข็งตัวไม่นาน หรือขณะปฏิบัติการทางเพศจะเกิดการอ่อนตัว ภาวะนี้ไม่รวมถึงคนสูงอายุ ซึ่งธรรมชาติของร่างกาย เสื่อมถอย และมีสมรรถภาพทางเพศน้อยลงเป็นธรรมชาติ

มุมมองในทรรศนะแพทย์แผนปัจจุบัน
มีการศึกษาโดยการสำรวจผู้ชายอายุ ๔๐-๗๐ ปี ในประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวน ๑,๒๙๐ คน พบว่า มีปัญหา อี.ดี. ร้อยละ ๕๒ อายุยิ่งมากยิ่งพบมาก ในประเทศไทยมีการสำรวจปี พ.ศ.๒๕๔๑ พบว่า ผู้ชายอายุ ๔๐-๗๐ ปี มีปัญหาดังกล่าวร้อยละ ๓๗.๕ หมายความว่า ๔๐ ปีขึ้นไป ๓ คน จะมีคนเป็นโรคนี้ ๑ คน นอกจากอายุมากจะพบได้มากขึ้นแล้ว กลุ่มที่เสี่ยงกับโรคนี้ยังพบว่าเกี่ยวข้องกับการไม่ออกกำลังกายร้อยละ ๔๕-๔๘  ที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดและหัวใจ โรคซึมเศร้า การใช้ ยารักษาโรค และการผ่าตัดเกี่ยวกับอุ้งเชิงกรานและไขสันหลัง

มุมมองเรื่องเพศในทรรศนะแพทย์แผนจีน
ความต้องการทางเพศและการสืบพันธุ์เป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ สมรรถภาพทางเพศและความสามารถในการสืบพันธุ์ขึ้นอยู่กับอวัยวะภายใน คือ ไตเป็นสำคัญ (ไตในทรรศนะแพทย์แผนจีนเกี่ยวข้องกับระบบฮอร์โมน ระบบประสาทอัตโนมัติ สมอง) พลังไตเริ่มจากอ่อนแอในตอนเด็กค่อยๆ พัฒนาเติบโต แข็งแรงจนถึงวัยหนุ่มสาว วัยฉกรรจ์ และกลับอ่อนแออีกครั้งเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ความสมบูรณ์ของพลังไตในผู้หญิงเมื่อถึงจุดหนึ่งประมาณอายุ ๑๔ ปี ก็ทำให้เกิดประจำเดือน การสมบูรณ์ของพลังไตในผู้ชายเมื่อถึงจุดหนึ่งก็แสดงออกด้วยการมีการหลั่งน้ำอสุจิ เมื่อถึงวัย ๔๐ พลังไตของเพศชายและเพศหญิงเริ่มอ่อนแอ ความต้องการทางเพศเริ่มลดลง การแสดงออกในผู้หญิงคือภาวะหมดประจำเดือนประมาณช่วงอายุ ๔๙ ปี ในขณะที่ผู้ชายมีการลดลงของเชื้ออสุจิประมาณช่วงอายุ ๖๔ ปี เมื่อพลังของไตลดถอยลง จนเกือบหมดสิ้น ความสามารถในการเจริญพันธุ์ก็หมดไปด้วย ความเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ อาจถือเป็นธรรมชาติก็ได้ อาจถือเป็นโรคได้ กล่าวคือ ถ้ามีการดูแลและเข้าใจกฎเกณฑ์ของการทำงานของไต (ในทรรศนะการแพทย์แผนจีน) และจัดการกับปัญหาทางเพศสัมพันธ์ที่ถูกต้อง ก็จะทำให้พลังไตเสื่อมช้า มีสมรรถภาพทางเพศที่ดีอยู่ได้นาน ถ้าจัดการไม่ถูกต้องก็จะมีการเสื่อมสมรรถภาพเร็วก็โรคมะเขือเผาทั้งๆ ที่ไม่ถึงเวลาอันควร

ข้อควรปฏิบัติเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ในทรรศนะแพทย์จีน

๑. เพศสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการมีสุขภาพที่ดีและการมีชีวิตที่ยืนยาว
ตามหลักทฤษฎียิน-หยาง ชายเป็นหยาง หญิงเป็นยิน การมีเพศสัมพันธ์คือการปรับสมดุลยิน-หยาง การเสริมยิน บำรุงหยาง ทำให้อายุยืน นาน "หญิงบำรุงชาย ชายบำรุงหญิง"

๒. "เพศสัมพันธ์" เป็นสิ่งที่ขาดมิได้ แต่มากเกินก็ไม่ได้
"อาหาร เพศ เป็นสิ่งพื้นฐานของชีวิต เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้" แพทย์จีนชื่อ เก๋อหง สมัยจิ้น ประมาณ ๑,๕๐๐ ปีก่อน กล่าวไว้ว่า "คนเรามีชีวิตอยู่ไม่ได้ ถ้าปราศจากการแลก- เปลี่ยนยิน-หยาง จะทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า เก็บกด จะทำให้เกิดโรค ชีวิตจะสั้น" การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่มีการควบคุม เหมือนใบมีดที่จะเฉือนถึงกระดูก จะทำลายชีวิต เป็นข้อความบันทึกไว้ในตำราพิชัยสงคราม "ยิน-ฝู่จิง" เมื่อ ๒,๐๐๐ กว่าปี

๓. การมีเพศสัมพันธ์ หรือการแต่งงานไม่ควรเร็วเกินไป
หนังสือ "โจหลี่" ได้กล่าวถึงอายุของผู้ชายประมาณ ๓๐ ปี ผู้หญิง ประมาณ ๒๐ ปี จึงเหมาะจะมีครอบครัว (เนื่องจากการเจริญเติบโตและ พัฒนาการของร่างกายเกี่ยวกับฮอร์โมน หรือพลังไตจะสมบูรณ์ถึงขีดสูงสุด ถ้ามีเพศสัมพันธ์ในขณะที่การพัฒนาของไตไม่ถึงขีดสุด หรือมีครอบครัว, มีลูก เร็วกว่าวัยอันควร จะมีผลระยะยาวต่อการเสื่อมถอยเมื่อช่วงบั้นปลาย ทำให้แก่เร็ว)

๔. ควรงดการมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุมาก
เรื่องเพศเป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตพัฒนาการ การเสื่อมถอย เป็นกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติ การแต่งงานเร็ว การมีบุตร เร็วเป็นสิ่งไม่สมควร ขณะเดียวกันเมื่ออายุแก่ชรายินของร่างกายหดแห้ง สมรรถภาพทางเพศเริ่มถดถอย บางครั้งการฝืนสังขารมีเพศสัมพันธ์ ทำให้ไม่สามารถหลั่งขณะร่วมเพศ มีการกระทบต่อร่างกายอย่างรุนแรง ทำให้ปัสสาวะขัด ปัสสาวะลำบาก และปวด

๕. ห้ามมีเพศสัมพันธ์ที่มากเกินไป
กวีโบราณของจีนได้เขียนเตือน ไว้ว่า "หญิงสาวมีความเสน่หา แต่สามารถฆ่าบุรุษได้ ไม่ใช่เพราะหล่อนจะเฉือนคอหอยดอก แต่หล่อนจะทำให้ไขกระดูกของบุรุษเหือดแห้งหาย" นักปราชญ์จีนโบราณกล่าวว่า "เพศเป็นจุดเริ่มต้นและก่อเกิดชีวิต และเพศจะนำมาซึ่งการสิ้นสุดของชีวิต เช่นกัน"

ปัญหาความพอดีในเรื่อง "เพศสัมพันธ์" กับสุขภาพที่ดี
พลังไตเป็นพลังพื้นฐานของอวัยวะภายในทั้งปวง ซึ่งควบคุมการทำงานต่างๆ ของร่างกายทั้งหมด แพทย์แผนจีนถือว่าเพศสัมพันธ์เป็นกิจกรรมที่ขาดเสียมิได้ แต่ก็ไม่ควรมากเกินไป ปัญหาคือความสมดุลหรือความพอดีในแต่ละบุคคลแต่ละวัยคืออะไร การจัดการความสมดุลในเรื่องเพศจึงเป็นปัญหาสำคัญของการมีสุขภาพที่ดี เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ซุ่นซือเหมี่ยว แพทย์จีนผู้มีชื่อเสียงได้กล่าวไว้ว่า ภายใต้ภาวะปกติทางสรีระของคนทั่วไป

คนอายุ ๒๐-๒๙ ปี ควรควบคุมการหลั่งอสุจิ ๔ วัน ต่อ ๑ ครั้ง

คนอายุ ๓๐-๓๙ ปี ควรควบคุมการหลั่งอสุจิ ๘ วัน ต่อ ๑ ครั้ง

คนอายุ ๔๐-๔๙ ปี ควรควบคุมการหลั่งอสุจิ ๑๖ วัน ต่อ ๑ ครั้ง

คนอายุ ๕๐-๕๙ ปี ควรควบคุมการหลั่งอสุจิ ๒๑ วัน ต่อ ๑ ครั้ง

คนอายุ ๖๐-๖๙ ปี ควรควบคุมการหลั่งอสุจิ ๓๐ วัน ต่อ ๑ ครั้ง (ถ้าร่างกายอ่อนแอไม่ควรหลั่งอสุจิ)

อย่างไรก็ตามสภาพร่างกายแต่ละบุคคลอาจแตกต่างกัน คนที่แข็งแรง สุขภาพดีมาก อาจมีความถี่ในการหลั่งได้มากกว่าที่กำหนด โดยการสังเกตง่ายๆ ถ้าหลังมีเพศสัมพันธ์ วันรุ่งขึ้นรู้สึกอ่อนเพลีย เอว เข่าอ่อนแรง มึนศีรษะ แสดงว่า มีการหลั่งบ่อยเกินไป โดยทั่วไป คนวัยหนุ่มที่แข็งแรงสามารถหลั่งได้ ๑-๒ ครั้งต่อสัปดาห์ วัยกลางคนสามารถหลั่งอสุจิได้ประมาณ ๑ ครั้งต่อสัปดาห์ คนสูงอายุต้องระมัดระวัง ต้องพยายามควบคุมการหลั่งประมาณ ๑๕-๓๐ วันต่อครั้ง แพทย์แผนจีนเชื่อว่า การมีเพศ สัมพันธ์ที่มากเกินไป โดยเฉพาะในคนสูงอายุจะทำให้อวัยวะเพศฝ่อลีบเร็วขึ้น ทำลายสมอง ทำให้สมองและระบบประสาทเสื่อมเร็วขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตามคนสูงอายุจำนวน มากที่ร่างกายแข็งแรง แม้อายุมากกว่า ๑๐๐ ปี มักมีสมรรถภาพทางเพศยังดี ก็มีข้อยกเว้นในกรณีนี้ตามสรีระของร่างกายปัจเจกบุคคล ในหลักวิชาลมปราณได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการฝึกพลังลมปราณที่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้บ่อยครั้ง  ทำให้ร่างกายแข็งแรงยิ่งขึ้น และมีสมรรถภาพทางเพศที่ดีอย่างแท้จริง สุขภาพดี ความจำดี

โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
ตามทรรศนะของการแพทย์จีนเชื่อว่ามีสาเหตุจาก
- ทุนที่มีแต่กำเนิด (พลังไตที่มาแต่กรรมพันธุ์)  
- มีเพศสัมพันธ์ที่มากเกินไป
- ในขณะที่เป็นวัยรุ่นมีการสำเร็จความใคร่มากเกินไป
- ความเครียดเรื้อรังยาวนาน
- คิดวิตกกังวลเกินไป เป็นเวลายาวนาน
- อารมณ์หงุดหงิด เก็บกดยาวนาน
- กินอาหารเผ็ด มัน ดื่มเหล้า ทำให้เกิดความร้อนชื้นสะสม อุดกั้นส่วนล่าง

สาเหตุมักเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับอวัยวะภายในคือ ไต ตับ ม้าม กระเพาะอาหาร แบ่งเป็น ๙ แบบ คือ

๑. พลังไตพร่อง : มีอาการของอวัยวะเพศไม่ตั้งตรงหรือไม่แข็งตัวร่วมกับเวียนศีรษะ ความจำเสื่อม มีเสียงดังในหู ขาดความมีชีวิตชีวา ปวด เมื่อยเอวและเข่า อ่อนล้า หายใจสั่น เหงื่อออกเอง ลิ้นซีด ชีพจรอ่อนแอ

หลักการรักษา  เสริมจิงของไต บำรุงพลังไต
ตำรับยา จิน คุ่ย เสิ้น ชี่ หวาน

๒. ไฟมิ่งเหมินอ่อน :  มีอาการรุนแรง อวัยวะเพศไม่สามารถตั้งตรงร่วมกับอาการเวียนศีรษะ เสียงดังในหู แขน ขา ลำตัวเย็น กลัวหนาว ปัสสาวะใสปริมาณมาก ปัสสาวะบ่อยครั้งในช่วงกลางคืน ตัวลิ้นซีด ชีพจรลึกเล็กช้า

หลักการรักษา อุ่นบำรุงไฟ มิ่งเหมิน
ตำรับยา อิ้ว กุย หวาน

๓. พลังกระเพาะอาหารพร่อง มีอาการอวัยวะเพศไม่แข็งตัวร่วมกับใบหน้าเหลืองซีด ร่างกายซูบผอม ท้องไม่สบาย กินอาหารแล้วไม่ย่อย กินน้อย ปากจืดไม่มีรส ลิ้นซีดขาว ฝ้าขาวหรือไม่มีฝ้า ชีพจรเล็กอ่อนแอ

หลักการรักษา บำรุงพลัง กระเพาะอาหาร ช่วยกระตุ้นหยาง
ตำรับยา  เซิน หลิง ไป่ จู๋ ซ่าน

๔. หัวใจและม้ามพร่อง มีอวัยวะเพศไม่แข็งตัวร่วมกับใจสั่น ตกใจง่าย เบื่ออาหาร ท้องอืด หายใจสั้น อ่อนแรง อุจจาระเหลว ลิ้นซีด อ่อนนุ่ม ชีพจรพร่องเต้นไม่เป็นจังหวะ

หลักการรักษา บำรุงหัวใจ ม้าม ช่วยให้มีหยาง
ตำรับยา  กุย ผี ทาง

๕. เส้นลมปราณตับร้อนชื้นอุดกั้นส่วนล่าง มีอวัยวะเพศไม่แข็งแรงร่วมกับอับชื้น คันบริเวณหนังหุ้มอัณฑะ ปัสสาวะมีสีเหลือง ปวดเวลาปัสสาวะ หงุดหงิด โมโหง่าย คอแห้ง ปากขม ปวดชายโครง ท้องน้อย ลูกอัณฑะ ปวดบวม ฝ้าบนลิ้นสีเหลืองเหนียว ชีพจรตึงเร็ว

หลักการรักษา ระบายความร้อนตับ ทำให้ถุงน้ำดีไม่ปิดกั้น
ตำรับยา หลง ต่าน เซี่ย กาน ทาง

๖. กระเพาะอาหาร-ม้าม ร้อนชื้น ความต้องการทางเพศลดน้อยลง อวัยวะเพศอ่อนตัว เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปากเหนียว มีรสหวานในปาก ท้องอืดแน่น แขน ขาหนัก ฝ้าเหลืองเหนียว ลิ้นแดง ชีพจรสั้นเร็ว

หลักการรักษา กระจายอุดกั้น จง เจียว  สลายชื้นขับความร้อน
ตำรับยา  ซาน เหริน ทาง

๗. ความเย็นอุดกั้นเส้นลม ปราณตับ นอกจากมีปัญหาการไม่แข็งตัวของอวัยวะเพศค่อนข้างรุนแรงแล้ว ยังมีอาการปวดท้องน้อย ปวดบริเวณขาหนีบถึงลูกอัณฑะ การปวดจะมีลักษณะของถุงอัณฑะหดตัว ถ้าโดนความเย็นอาการจะรุนแรงขึ้น โดยความร้อนอาการจะทุเลา ถุงอัณฑะจะ เย็นชื้น เป็นมากลูกอัณฑะจะฝ่อลีบ ขนบริเวณอวัยวะเพศจะร่วงหลุด หรือ มีอาการบวมแข็งเจ็บแบบเย็นๆ ของลูกอัณฑะ ฝ้าบนลิ้นสีขาว ชีพจรลึกและตึง

หลักการรักษา ให้ความอบอุ่นเส้นลมปราณตับ กระจายความเย็น
ตำรับยา เวิน จิง ทาง

๘. พลังตับอุดกั้น มีอวัยวะเพศไม่แข็งแรงร่วมกับไม่สบายในทรวงอก อารมณ์ไม่เบิกบาน ชอบเรอ ปวดแน่นตรงชายโครงและทรวงอก คอขม คอแห้ง ในคอมีความรู้สึกเหมือนมีวัตถุแปลกปลอมจุกที่คอ (กลืนไม่เข้าคายไม่ออก) ฝ้าบางขาว ชีพจรลึก

หลักการรักษา ระบายตับ คลายความอุดกั้น
ตำรับยา เซียว เหยา ซ่าน

๙. ตกใจกลัวทำไตถูกกระทบ  เนื่องจากอารมณ์กลัว ตกใจ จะมีผลกระทบต่อพลังไต ผู้ป่วยที่มีอาการอวัยวะเพศไม่แข็งตัว ภายหลังเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ตกใจกลัว เป็นคนหวาดระแวง บางครั้งได้ยินเสียงดังแล้วตกใจ  ฝันตกใจตื่นกลัว ตัวลิ้นแดง ชีพจรไม่เป็นจังหวะ

หลักการรักษา บำรุงหยาง บำรุงไต สงบอารมณ์
ตำรับยา หลง หมู่ กู้ จิง หวาน

นอกจากนี้ยังมีการรักษาโดยวิธีต่างๆ เช่น การฝังเข็ม โภชนาบำบัด การฝึกลมปราณ ซึ่งไม่ขอกล่าวในรายละเอียด

ข้อแตกต่างระหว่างแพทย์แผนปัจจุบันกับแพทย์แผนจีน

๑. แพทย์แผนปัจจุบันมองว่า ความหย่อนสมรรถภาพทางเพศเป็นเรื่องของโรค เกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพาะเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ ร่างกายอ่อนแอ ไม่ออกกำลังกาย อีกนัยหนึ่งคือความเสื่อมถอยของสุขภาพ ทางแพทย์แผนจีนจะเน้นว่าเกี่ยวข้องกับพลังไตและก็เกี่ยวโยงกับโรคของระบบต่างๆ เช่น ตับ (อารมณ์) ม้าม ความร้อนชื้น ความเย็น ภาวะจิตใจ ความตกใจกลัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาภายในที่เกิดจากการสะสม ความเสียสมดุลอย่างต่อเนื่องยาวนาน ก็คือการเสื่อมถอยของสุขภาพนั่นเอง

๒. แพทย์แผนจีนให้ความสำคัญ ของความเสื่อมถอยทางเพศ หรือพลังไตเกี่ยวข้องกับการมีกิจกรรมทางเพศที่ไม่สมดุล โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์มากเกินไป โดยไม่รู้จักการเก็บสารจิง (สารอสุจิ) รวมถึงมีการหลั่งมากเกินไปตั้งแต่เยาว์วัย ในขณะที่แผนปัจจุบันมองว่าการหลั่งอสุจิ ถือเป็นการผ่อนคลาย ความจริงแพทย์แผนจีนได้มอง เรื่องนี้ไว้ ๒ ด้าน การไม่หลั่งหรือไม่มีเพศสัมพันธ์ก็ผิดธรรมชาติ การหลั่งที่มากเกินไป บ่อยเกินไปก็ทำลายร่างกาย เพราะร่างกายต้องระดมกลไกต่างๆ เพื่อสร้างตัวเชื้ออสุจิมาทดแทนอย่างมาก จะกระทบต่อระบบทำงานของต่อมไร้ท่อต่างๆ ในระยะยาว

๓. การป้องกันและการรักษา แพทย์แผนปัจจุบัน เน้นหรือค้นคิดยาที่กระตุ้นให้มีการขยายหลอดเลือด ทำให้เลือดไปคั่งบริเวณองคชาตและสามารถแข็งตัวได้ในที่สุด เช่น ยาซิลเดนาฟิล (ไวอะกร้า) หรือกลุ่มยาอะโพมอร์ฟีนไฮโดรคลอไรด์ สำหรับอมใต้ลิ้นค่อยๆ ละลายตัว จะกระตุ้นสมองส่วนกลาง แล้วส่งสัญญาณไปตามไขสันหลังต่อไปยังอวัยวะเพศ ทำให้หลอดเลือดขยายตัว และเลือดคั่งที่องคชาต การป้องกันต้องลดปัจจัยเสี่ยง เสริมร่างกายให้แข็งแรง และปรับเรื่องของจิตใจ แพทย์แผนจีนเน้นปรับสมดุลต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละบุคคล เพิ่มเสริมพลังหยางของไตให้พลังไตสมบูรณ์ขึ้น มองว่าเป็นปัญหาของร่างกายโดยองค์รวมด้วย จึงต้องรักษาทั้งเรื่องของร่างกายกับโรคหย่อนสมรรถภาพไปด้วยกัน ยาที่เสริมพลังไตอย่างเดียว เช่น ใช้องคชาตของสัตว์ พวกแมวน้ำ สุนัข กวางตัวผู้ไม่เหมาะ กับผู้ป่วยทุกราย การรักษาจะต้องแยกแยะสภาพร่างกายและให้การวินิจฉัยที่แตกต่างกันไป ส่วนการป้องกัน มุ่งเน้นการเข้าใจหลักการสร้างสมดุลของการมีเพศสัมพันธ์ ไม่มุ่งเน้นการหลั่งอสุจิเป็นเป้าหมายสุดท้ายของการมีเพศสัมพันธ์ เน้นการดูแลอาหาร การสร้างเสริมสุขภาพโดยรวม การฝึกพลังลมปราณ ทำให้สามารถควบคุมจิต ควบคุมความสมบูรณ์ของพลังไต ทำให้มีสมรรถภาพทางเพศดี

๔. ยาแผนปัจจุบันมุ่งเน้นผลเฉพาะที่ให้ผลรวดเร็ว แต่อาจกระทบต่อโรคอื่น เช่น คนที่ได้ไวอะกร้า ทำให้หลอดเลือดขยายตัว ผู้ป่วยโรคหัวใจที่ได้ยาขยายหลอดเลือดหัวใจอยู่แล้ว อาจเกิดภาวะช็อกได้ ยาแผนจีนต้องวิเคราะห์ให้ยาตามสภาพผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป ผลจะช้ากว่า เพราะต้องสร้างเสริมสมดุลพื้นฐานควบคู่ไปด้วย

สรุป : ถ้าคนที่ร่างกายไม่ดี มีพื้นฐานร่างกายที่เสื่อมถอย โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศเป็นดัชนีชี้วัดอย่างหนึ่ง บางครั้งความพยายามจะรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศอย่างเดียว โดยไม่ยอมรับความจริงหรือปรับพื้นฐานความสมดุลของร่างกายด้วย อาจจะทำให้โรคดีขึ้นเป็นครั้งคราว แต่บางคนจะแย่มากขึ้น หรือโรคหาย (ชั่วคราว) แต่คนแย่ลง มุมมองทั้ง ๒ แผนจะทำให้การมองเรื่องหย่อนสมรรถภาพทางเพศกว้างขึ้นไม่จำกัดแค่เรื่องยาภายนอกที่มาช่วย แต่ต้องหันมาดูแลตัวเองมากขึ้น ซึ่งยากกว่า แต่ปลอดภัย และมั่นคงกว่าครับ

ข้อมูลสื่อ

292-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 292
สิงหาคม 2546
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล