• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสัน


ชื่อภาษาไทย   โรคพาร์กินสัน, โบราณเรียกว่า โรคสั่นสันนิบาต

ชื่อภาษาอังกฤษ   Parkinson's disease (เรียกตามชื่อของนายแพทย์ Jame Parkinson ชาวอังกฤษที่ได้รายงานโรคนี้เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๐)

สาเหตุ   ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด คนไข้จะมีการลดลงของจำนวนเซลล์สมองส่วนที่สร้างสารโดพามีน (เรียกว่า เซลล์ประสาทสีดำ หรือ substantia nigra ซึ่งอยู่ในส่วนลึกของก้านสมอง) เป็นเหตุให้สมองพร่องสารโดพามีน ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกาย ทำให้ร่างกายเกิดอาการเคลื่อนไหวช้า เกร็ง และสั่น ในปัจจุบันยังไม่ทราบว่าอะไรทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์สมองส่วนดังกล่าว และไม่อาจพยากรณ์ได้ว่าใครบ้างที่อาจกลายเป็นโรคนี้ เมื่อย่างเข้าวัยสูงอายุ ส่วนน้อยอาจพบว่ามีสาเหตุแน่ชัด เช่น ภาวะหลอดเลือดสมองตีบ (พบในคนไข้เบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง คนที่สูบบุหรี่จัด ผู้สูงอายุ), สมองขาดออกซิเจน (ในคนที่จมน้ำ ถูกบีบคอ เมื่อมีภาวะอุดกั้นของทางเดินหายใจ), ศีรษะได้รับบาดเจ็บหรือกระทบกระเทือน (อาจพบได้ในนักมวย), ไข้สมองอักเสบ, เนื้องอกสมอง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังอาจพบร่วมกับการใช้ยาทางจิต ประสาท (เช่น ฟีโนไทอาซีน, ฮาโลเพอริดอล) หรือยาลดความดัน (เช่น รีเซอร์พีน, เมทิลโดพา) ซึ่งขัดขวางการทำงานของสารโดพามีน และอาจพบในคนที่ถูกสารพิษ (เช่น แมงกานีส, ไซยาไนด์, เมทานอล, ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์) ซึ่งทำลายเซลล์สมอง โรคนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะตัว ไม่ใช่โรคติดต่อ และไม่ใช่โรคทางพันธุกรรม ดังนั้นจึงไม่ติดต่อให้คนที่อยู่ใกล้ชิด และไม่ถ่ายทอดไปให้ลูกหลานญาติ พี่น้องของคนที่เป็น

อาการ   คนไข้จะมีอาการสั่น เกร็ง และเคลื่อนไหวเชื่องช้า ซึ่งจะค่อยๆ เกิดรุนแรงขึ้นทีละน้อย กินเวลาเป็นแรมปี ร้อยละ ๖๐-๗๐ ของคนไข้จะมีอาการสั่นเป็นอาการเริ่มต้นของโรค คนไข้จะมีอาการมือสั่น (บางคนสั่นแบบปั้นลูกกลอน) ขาสั่น บางคนอาจมีอาการหัวสั่น ปากสั่น คางสั่นร่วมด้วย โดยสั่นในอัตราประมาณวินาทีละ ๔-๘ ครั้ง มีลักษณะเฉพาะ คือ สั่นมากเวลาอยู่นิ่งๆ แต่เวลาเคลื่อนไหว หรือใช้มือทำอะไร จะสั่นน้อยลงหรือหยุดสั่น ระยะแรกอาจมีอาการเกิดขึ้นข้างเดียวก่อน ต่อมาจึงมีอาการพร้อมกันทั้ง ๒ ข้าง ต่อมาคนไข้จะมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ แขน ขาและลำตัว ทำให้คนไข้รู้สึกปวดเมื่อย (โดยที่ไม่ได้เคลื่อนไหวหรือทำงานหนักแต่อย่างใด) จนบางคนต้องกินหรือทายาแก้ปวดเมื่อยหรือหาคนมาบีบนวด หรือไปปรึกษาแพทย์โรคกระดูกและข้อ คนไข้จะมีอาการเคลื่อนไหวเชื่องช้า ในระยะแรกจะรู้สึกว่าตัวเองทำอะไรช้าลงจากเดิมมาก เช่น ลุกจากเก้าอี้ลำบาก พลิกตัวบนที่นอนลำบาก ออกก้าวเดินหรือหันตัวหรือหยุดเดินลำบาก มักเดินเชื่องช้า งุ่มง่าม

คนไข้จะมีลักษณะท่าเดินจำเพาะตัว คือ ก้าวสั้นๆ แบบซอยเท้าในช่วงแรกๆ และต่อมาจะก้าวยาวขึ้นเรื่อยๆ จนเร็วมากและหยุดทันทีทันใดไม่ได้ จะล้มหน้าคว่ำ นอกจากนี้ยังมีลักษณะ เดินหลังค่อม แขนไม่แกว่ง มือชิดแนบตัว เดินแข็งทื่อคล้ายหุ่นยนต์ ในรายที่เป็นมากขึ้นอาจหกล้มบ่อยจนกระดูก แขนขาหัก ศีรษะแตก ต่อมาอาจเดินเองไม่ได้ ต้องใช้ไม้เท้าหรือมีคนคอยพยุง คนไข้จะมีใบหน้าแบบเฉยเมย (ไม่มีอารมณ์ ไม่ยิ้ม) เหมือนคนใส่หน้ากาก เวลาพูดจะมีมุมปากขยับเพียงเล็กน้อย ตามักไม่กะพริบ บางคนอาจมีอาการพูดเสียงเครือๆ เบา ฟังไม่ชัด และเมื่อพูดไปนานๆ เข้าเสียงจะค่อยๆ หาย ไปในลำคอ บางคนอาจพูดเสียงราบเรียบระดับเดียว อาจเขียนหนังสือได้ลำบาก และตัวเขียนจะค่อยๆ เล็กลงจนอ่านไม่ออก อาจมีอาการกลืนลำบาก และมีน้ำลายสอที่มุมปาก

การแยกโรค   อาการมือสั่น นอกจากโรคพาร์กินสันแล้ว ยังอาจมีสาเหตุอื่น เช่น

๑. อาการมือสั่นไม่ทราบสาเหตุในคนสูงอายุซึ่งสามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ คนไข้จะมีอาการมือสั่นเวลาตั้งใจทำอะไร และหยุดสั่นเวลาอยู่นิ่งๆ (ตรงข้ามกับโรคพาร์กินสันที่จะสั่นเวลานิ่งๆ) และแขนขาไม่เกร็ง เคลื่อนไหวได้ปกติ

๒. คอพอกเป็นพิษ จะมีอาการเหนื่อยง่าย  ใจสั่น เหงื่อออกมาก น้ำหนักลดฮวบฮาบ มือสั่นขณะเหยียดแขนตรงไปข้างหน้า และกางนิ้วมือออก

๓. อารมณ์เครียด วิตกกังวล

๔. ดื่มกาแฟ หรือเครื่องดื่มผสมกาเฟอีน หรือกินยาแก้หอบหืดบางประเภท

๕. งดเหล้าในคนที่ติดเหล้า

ส่วนอาการแขนขาเกร็ง เคลื่อนไหวลำบาก นอกจากโรคพาร์กินสันแล้ว ยังอาจเกิดจาก

๑. โรคอัมพาต อัมพฤกษ์ จะมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนขาซีกใดซีกหนึ่ง ในขณะที่โรคพาร์กินสันแขนขามักจะเคลื่อนไหวลำบากจาก อาการเกร็ง แต่กล้ามเนื้อยังแข็งแรงเป็นปกติทุกส่วน

๒. โรคข้อเสื่อม จะมีอาการข้อติด หรือปวดตามข้อเวลาเคลื่อนไหวไปมา โดยที่กล้ามเนื้อไม่เกร็ง

การวินิจฉัย   มักจะวินิจฉัยจากอาการแสดง ได้แก่ อาการสั่น เกร็ง และเคลื่อนไหวเชื่องช้า
ในรายที่สงสัยเกิดจากโรคทางสมอง แพทย์อาจทำการตรวจพิเศษ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG), การถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นต้น ในรายที่สงสัยเกิดจากยาหรือสารพิษ แพทย์จะซักถามประวัติการใช้ยา การถูกสารพิษ การตรวจหาสารพิษในร่างกาย เป็นต้น

การดูแลตนเอง   หากมีอาการสงสัยว่าอาจเป็นโรคนี้ ควรไปปรึกษาแพทย์ และ เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคพาร์กินสันก็ควรปฏิบัติ ดังนี้

๑. ติดตามรักษากับแพทย์เป็นประจำ

๒. กินยาควบคุมอาการตามที่แพทย์แนะนำให้ใช้

๓. หมั่นฝึกเดินบริหารข้อต่างๆ และรักษาร่างกายให้สมส่วน ควรเคลื่อนไหวร่างกายให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่านอนหรือนั่งนิ่งๆ ขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังอย่าให้เดินหกล้มหรือเกิดอุบัติเหตุ

๔. ญาติพี่น้อง ควรเอาใจใส่ดูแลคนไข้อย่างใกล้ชิด แสดงความเห็นอกเห็นใจ ให้กำลังใจ และ ช่วยแก้ไขภาวะแทรกซ้อนหรืออาการผิดปกติ เช่น
- ท้องผูก : ควรให้คนไข้ดื่มน้ำมากๆ ให้กินผักและผลไม้มากๆ พาคนไข้เดินหรือทำกายภาพบำบัด รวมทั้งให้ยาระบาย (ถ้าจำเป็น)
- อาการปวดเมื่อย : ช่วยบีบนวด ประคบด้วยน้ำอุ่น ให้กินพาราเซตามอลบรรเทา
- กินอาหารได้น้อย : กระตุ้น และเตรียมอาหารที่ถูกปากให้คนไข้ได้รับให้เพียงพอ

การรักษา   แพทย์จะให้ยาควบคุมอาการ เพื่อให้คนไข้สามารถมีชีวิตเป็นปกติสุข หรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ยาที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ กลุ่มยาเลโวโดพา (levodopa) ตัวยาจะเปลี่ยนเป็นสารโดพามีนเข้าสู่สมองโดยตรงเป็นการทดแทนสารโดพามีนที่พร่องไป มักผสมกับยากลุ่มอื่นเพื่อ ลดผลข้างเคียงของยาเลโวโดพา มีชื่อทางการค้า  เช่น ไซเนเมต (Sinemet), มาโดพาร์ (Madopar) นอกจากนี้ ยังมียากลุ่ม อื่นๆ ให้เลือกใช้ให้เหมาะกับคนไข้แต่ละคน คนไข้ส่วนใหญ่จะมีอาการทุเลาจนสามารถใช้ชีวิตเป็นปกติสุขได้ แต่ต้องกินยาเป็นประจำ หากขาดยาอาการ ก็จะกำเริบได้อีก ดังนั้นแพทย์มักจะนัดคนไข้มาตรวจดูอาการ และสั่งให้ยากินต่อเนื่องทุก ๒-๖ เดือน ในรายที่เป็นมาก แพทย์อาจให้การรักษาทางกายภาพบำบัดร่วมด้วย เพื่อช่วยให้ร่างกายสมส่วน ทรงตัว และเคลื่อนไหวถูกต้อง รวมทั้งแก้ไขภาวะแทรกซ้อน เช่น หลังโก่ง ไหล่ติด ปวดคอ ปวดเอว ปวดหลัง ปวดขา เป็นต้น ในรายที่กินยาไม่ได้ผล หรือมีผลแทรกซ้อน จากการใช้ยา (ซึ่งพบได้เป็นส่วนน้อย) แพทย์อาจรักษาด้วยการผ่าตัดซึ่งมีอยู่หลายวิธี

ภาวะแทรกซ้อน   คนไข้อาจมีอาการปวดตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย (เช่น ขา หลัง) โดยเฉพาะเวลานอน หรือช่วงกลางคืน อาจปวดจนนอนไม่หลับ บางรายอาจมีอาการซึมเศร้า ความดันตก ในท่ายืน ท้องผูก มีภาวะความจำเสื่อม หรืออาจมีปัญหากินอาหารและดื่มน้ำได้น้อย น้ำหนักลด ในรายที่เดินลำบาก อาจหกล้ม กระดูกหักหรือศีรษะแตก ในรายที่เป็นมาก อาจนอนบนเตียงมากจนเป็นแผลกดทับ อาจมีอาการถ่ายปัสสาวะลำบาก และมีการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะได้ง่าย คนไข้ที่ปล่อยไว้ไม่รักษาจนมีอาการรุนแรง (กินเวลา ๓-๑๐ ปี) มักจะตายด้วยโรคปอดอักเสบแทรกซ้อนหรือภาวะเลือดเป็นพิษจากการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ

การดำเนินโรค   ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาการจะค่อยๆ รุนแรงขึ้น จนถึงขั้นพิการร้ายแรงภายใน ๓-๑๐ ปี การรักษาจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อน และช่วยให้สามารถมีชีวิตเป็นปกติสุข และยืดอายุให้ยืนยาว โดยทั่วไป คนไข้อายุน้อยที่มีอาการครบทั้ง  ๓ อย่าง (สั่น เกร็ง เคลื่อนไหวเชื่องช้า) จะตอบสนองต่อการรักษาได้ดีกว่า คนไข้สูงอายุที่มีอาการเคลื่อนไหวเชื่องช้า เสียการทรงตัว และความจำเสื่อมมากกว่าอาการสั่น

ความชุก   โรคนี้พบบ่อยในคนที่มีอายุเกิน  ๕๐ ปีขึ้นไป และจะพบมากขึ้นเรื่อยๆตามอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อย่างเข้าวัย ๗๐ ปีขึ้นไป จะพบได้บ่อยขึ้น (ในประเทศตะวันตกซึ่งมีการบันทึกสถิติดี พบโรคนี้ประมาณร้อยละ ๑-๕ ของคนที่มีอายุเกิน ๕๐ ปี) ผู้ชายและผู้หญิงมีโอกาสพบโรคนี้ได้พอๆ กัน

เก็บมาฝาก
วิธีตรวจว่าสมองขาดเลือดไปเลี้ยงอย่างง่ายดายภายใน ๑ นาที สมองไม่สามารถขาดเลือดไปเลี้ยงได้นาน เพราะจะไม่สามารถฟื้นตัวกลับได้ ดังนั้นการตรวจเช็กให้รู้ว่าสมองกำลังขาดเลือดอยู่หรือไม่ จึงเป็นเรื่องเร่งด่วน ปัญหาสำคัญของเรื่องนี้คือ เวลาที่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ผู้ป่วยมักจะอยู่กับญาติหรือคนอื่นที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งบุคคลเหล่านั้นไม่รู้วิธีที่จะตรวจ นักวิจัยแห่งคณะแพทยศาสตร์ Chapel Hill มหาวิทยาลัยนอร์ธแคโลไรนาได้คิดวิธีทดสอบแบบง่ายๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้ และทำเสร็จภายในเวลาเพียง ๑ นาที

วิธีทดสอบดังกล่าวมี ๓ ขั้นตอนง่ายๆ คือ

๑. ให้ผู้ป่วยยิ้มให้ดู

๒. ให้ยกแขนขึ้นทั้ง ๒ ข้างและให้ค้างเอาไว้

๓. สุดท้ายให้ผู้ป่วยพูดประโยคง่ายๆ ให้ฟังสักประโยค

เห็นง่ายๆ แบบนี้ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่าจะใช้การได้หรือ นักวิจัยเขาทดสอบความเชื่อถือได้ครับ ด้วยการให้ผู้ที่เคยมีอาการสมองขาดเลือดไปเลี้ยง พูดง่ายๆ ก็คือ อดีตผู้ป่วยนั่นแหละครับ เป็นตัวแสดงร่วมกับคนปกติคนอื่นๆ รวมแล้ว ๑๐๐ คน จากนั้นให้อาสาสมัครสมมติตัวเป็นคนผ่านมาพบเหตุการณ์ที่มีผู้ป่วยเกิดอาการสมองขาดเลือดไปเลี้ยง ให้อาสาสมัครลองทดสอบด้วยคำสั่งข้างต้นกับผู้แสดงทั้ง ๓ ข้อ ขณะเดียวกันก็โทรศัพท์บอกผลการทดสอบให้ผู้วิจัยทราบ โดยผู้วิจัยอยู่ในอีกสถานที่หนึ่ง ซึ่งมองไม่เห็นท่าทางหรือการแสดงออกของผู้ที่สงสัยจะมีอาการสมองขาดเลือดไปเลี้ยง ผลที่ออกมาพบว่า นักวิจัยสามารถแยกผู้ป่วยออกจากคนปกติได้อย่างแม่นยำถึงร้อยละ ๙๖ ทีเดียว โดยแยกอาการกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง (facial weakness) ได้ร้อยละ ๗๑ แยกกล้ามเนื้อแขนอ่อนแรงได้ถึง ร้อยละ ๙๕ และแยก  ประสาทกลางที่ทำงานผิดปกติทางคำพูดได้ร้อยละ ๘๘ ซึ่งถือได้ว่าแม่นยำมากภายในสถานการณ์ที่ผู้รักษาไม่อยู่ในที่เกิดเหตุ

เรื่องนี้สำคัญครับ เพราะหากต้นเหตุเป็นจากหลอดเลือดในสมองอุดตัน แพทย์มีเวลาเพียงแค่ ๓ ชั่วโมงเท่านั้นที่จะต้องเริ่มฉีดยาละลายลิ่มเลือด หากช้าไปกว่านั้นแทนที่ยาจะช่วยกลับเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ส่วนรายที่หลอดเลือดสมองแตก การรีบผ่าตัดจะช่วยรักษาชีวิตของผู้ป่วยไว้ได้ นักวิจัยกล่าวว่าจะมีการเผยแพร่วิธีทดสอบนี้ไปให้ทั่ว ทั้งบุคลากรในทีมช่วยเหลือเบื้องต้นและประชาชนทั่วไป เผื่อจะรักษาชีวิตหรือบรรเทาความเสียหายลงได้

ข้อมูล : วารสารคลินิก ๒๕๔๖; ๒๑๙ : ๒๕๗

ข้อมูลสื่อ

292-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 292
สิงหาคม 2546
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ