• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ต้อยติ่ง : ความงดงามที่มากับฤดูฝน

ต้อยติ่ง  :  ความงดงามที่มากับฤดูฝน


ปีนี้ฤดูฝนมาเร็ว เพราะฝนตกต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี แม้แต่เดือนที่ถือว่าเป็นหน้าแล้งหรือฤดูร้อนที่แท้จริงอย่างเดือนมีนาคม-เมษายน ก็ยังมีฝนตกลงมามากกว่าปกติ ถึงจะมีการทิ้งช่วงไปบ้างก็เพียงไม่กี่วัน เมื่อถึงเดือนพฤษภาคมฝนก็มีมากขึ้น จนอาจกล่าวได้ว่าปีนี้ฤดูฝนเริ่มต้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม นอกจากนี้ ฝนยังตกกระจายทั่วทุกภาค ไม่เลือกตกหนักบางภาค และแห้งแล้งบางภาคอย่างในบางปี

พอถึงเดือนกรกฎาคมเมืองไทย ก็เป็นสีเขียวไปทั่วพื้นดินชุ่มฉ่ำและปกคลุมด้วยพืชพันธุ์ชนิดต่างๆ ทั้งที่ปลูกด้วยเกษตรกร หรือขึ้นมาเอง เช่น เดียวกับบริเวณรอบๆ บ้านทรงไทยของมูลนิธิข้าวขวัญที่นอกจากพืชพันธุ์ชนิดต่างๆ ที่ปลูกเอาไว้แล้ว บรรดาพืชพันธุ์ชนิดอื่นๆ ที่มีเมล็ดฝังอยู่ในพื้นดินก็งอกงามขึ้นมาประชันกันด้วย ชาวบ้าน มักเรียกพืชพันธุ์ต่างๆ ที่ขึ้นมาเองเหล่านี้ว่า วัชพืช เพราะมองไม่เห็นประโยชน์ วิธีจัดการกับวัชพืชที่เกษตรกรไทยนิยม ที่สุดก็คือ การใช้สารเคมี ในบรรดา "วัชพืช" ที่ขึ้นอยู่รอบบ้านทรงไทยนั้น มีอยู่ชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากทุกปี และบางปีถึงขนาดไปขึ้นในกระถางว่านนางคุ้มที่ปลูกอยู่บนระเบียงบ้านทรงไทยอีกด้วย การที่เป็นอย่างนั้นได้ก็เนื่องจากความสามารถพิเศษของพืชชนิดนี้นั่นเอง ความสามารถหรือคุณสมบัติพิเศษข้อนี้ผู้เขียนคุ้นเคยเป็นอย่างดีมาตั้งแต่ครั้งเป็นเด็ก เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านก็คงจะรู้จักและคุ้นเคยกับพืชชนิดนี้จากคุณสมบัติพิเศษดังกล่าวเช่นเดียวกัน พืชชนิดนี้ก็คือ ต้อยติ่ง นั่นเอง

ต้อยติ่ง : พี่น้องจาก ๒ ฟากโลก
ในหนังสือ "อักขราภิธานศรับท์" ของหมอปรัดเล พ.ศ.๒๔๑๖ คือ ๑๓๐ ปีมาแล้ว อธิบายว่า "ต้อยติ่ง เป็นชื่อต้นไม้เล็กๆ มักขึ้นตามริมบ้าน ที่ทุ่งนาบ้าง ใบมันเป็นขน มีลูกเป็นหนามนั้น" จากคำอธิบายนี้แสดงว่าในสมัยนั้นมีต้อยติ่งชนิดเดียว คือ ต้อยติ่งดั้งเดิมที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทยนี้เอง ต่อมามีต้อยติ่งจากต่างประเทศเข้ามาอีกชนิดหนึ่ง ดังคำอธิบายในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ ว่า "ต้อยติ่ง น. ชื่อไม้ล้มลุกสองชนิด ในวงศ์ Acanthaceae คือ ชนิด Hy-grophila erecta Hochr. ดอกเล็ก สีม่วงแดง เมล็ดใช้ทำยาพอกฝีและชนิด Ruellia tuberosa Linn. ดอกใหญ่สี ม่วงน้ำเงิน, อังกาบฝรั่งก็เรียก"

หนังสือสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๑๖ อธิบายรายละเอียดถึงต้อยติ่งทั้ง ๒ ชนิด ดังนี้ ต้นต้อยติ่ง ชนิดที่เป็นไม้พื้นเมืองของไทย มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Hygrophila guadrivalvis Nees. อยู่ในวงศ์ Acanthaceae ชอบขึ้นในที่ลุ่มชื้นแฉะ เช่น ทุ่งนา เป็นพืชล้มลุก ต้นเป็นพุ่มสูง ๖๐-๑๐๐ เซนติเมตร ลำต้นและกิ่ง เมื่ออ่อนเป็นสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยวออกตรง ข้ามเป็นคู่ๆ รูปไข่กลีบค่อนข้างยาว ขนาดยาว ๓.๕-๖ เซนติเมตร กว้าง  ๓ เซนติเมตร ปลายใบกลมมนโคนใบ แหลม ใบเกลี้ยง ยกเว้นที่ขอบใบ มีขนครุย ขอบใบหยักเล็กๆ ก้านใบสั้น ประมาณ ๒ มิลลิเมตร ดอกสีม่วงสลับขาว ออกเป็นกระจุก ข้างๆ ง่ามใบ มีใบรองดอกเล็กๆ กลีบรองดอกเกลี้ยง โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย สูงประมาณ ๐.๘ เซนติเมตร ปลายแยกเป็น ๕ แฉกสั้นๆ กลีบดอกสีม่วงสลับขาวเป็น กรวยยาวประมาณ ๑.๕ เซนติเมตร ปลายแผ่แยกเป็น ๒ ส่วน ส่วนบนหยักตรงกลาง ส่วนล่างมี ๓ แฉกเล็กๆ ปลายสีม่วง เกสรผู้ ๔ อัน สั้น ๑ คู่ ยาว ๑ คู่ รังไข่รูปทรงกระบอก ผลเป็นฝัก รูปทรงกระบอก ยอดแหลม ยาวประมาณ ๒ เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง ๓ มิลลิเมตร สีน้ำตาลเข้มเมื่อแก่ เมื่อแก่จัดหรือถูกน้ำจะแตกเป็น ๒ ซีกตามยาว เมล็ดกลมแบน ถูกน้ำแล้วพองและเหนียวเป็นเมือก สมัยโบราณใช้ใบตำพอกรักษาแผลฝีหนอง

ส่วนต้อยติ่งอีกชนิดหนึ่ง คือ Ruellia tuberosa Linn. อยู่ในวงศ์เดียวกันกับชนิดที่กล่าวแล้วข้างต้น เป็นพืชพื้นเมืองของอเมริกาเขตร้อน ซึ่งขึ้นอยู่ทั่วๆไปตามที่ต่างๆ เป็นวัชพืชที่รู้จักกันแพร่หลายมากกว่าชนิดแรก ต้นคล้ายคลึงกับชนิดแรก แต่สูงประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ใบรูปรีหรือรูปหอกกลับ ออกตรงข้ามเป็นคู่ ขนาดยาว ๘ เซนติเมตร กว้าง ๓.๙ เซนติเมตรโดยประมาณ ปลายใบมนกลมกว้างแล้วค่อยๆ สอบไปทางโคนใบขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ก้านใบสั้นประมาณ ๓ มิลลิเมตร ดอกใหญ่ ออกตามยอด และง่ามใบเป็นช่อ ๓-๖ ดอก แต่บานไม่พร้อมกัน มักบานทีละดอกหรือ ๒ ดอก กลีบรองดอกสีเขียวโคนเชื่อมติดกัน ปลาย แยกเป็น ๕ แฉก เรียวแหลมยาวประมาณ ๑.๕ เซนติเมตร กลีบดอกสีม่วงเป็นรูปกรวยหงายยาวประมาณ  ๓ เซนติเมตร ปลายแผ่เป็น ๕ แฉกเท่าๆ กัน เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ  ๓ เซนติเมตร เกสรผู้ ๒ คู่ สั้น ๑  คู่ ยาว ๑ คู่ คู่ยาวอยู่กึ่งกลางของกรวยดอก รังไข่เป็นแท่งยาวอยู่เหนือส่วนของกลีบ ภายในรังไข่แบ่งเป็น ๒ ช่อง มีไข่ซึ่งต่อไปจะเป็นเมล็ดเรียงอยู่แน่น ก้านเกสรเมียสีม่วงอ่อน ปลายแผ่เป็นแผ่นบางๆ โผล่เกือบถึงขอบปาก กรวยดอก ผลเป็นฝักรูปทรงกระบอก ยอดแหลมยาว ๒-๓ เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง ๓-๔ มิลลิเมตร ฝักเมื่อแก่สีน้ำตาลเข้ม ถูกน้ำจะแตกเป็น ๒ ซีกเช่นกัน เมล็ดเหมือนชนิดแรก สมัยโบราณชาวบ้านใช้เมล็ดพอก แผลฝีหนอง

ต้อยติ่งที่เห็นขึ้นอยู่ทั่วไปในฤดูฝนทั่วเมืองไทยทุกวันนี้เป็นต้อยติ่งที่มีกำเนิดจากทวีปอเมริกาเขตร้อน ส่วนต้อยติ่งพันธุ์พื้นบ้านดั้งเดิมของไทยที่ต้นสูงกว่าและชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะ เช่น ตามทุ่งนานั้น คงหาได้ยากยิ่งขึ้นทุกที

ประโยชน์ของต้อยติ่ง
ต้อยติ่งมีสรรพคุณทางยาสมุนไพรเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ทั้งต้อยติ่งดั้งเดิมและต้อยติ่งที่มาจากต่างประเทศ ต้อยติ่งดั้งเดิมของไทย ใช้ใบสด ตำเป็นยาพอกแผลเรื้อรัง และพอกฝีสำหรับดูดหนองและเรียกเนื้อ ต้อยติ่งจากต่างประเทศ ใช้เมล็ดพอกแผลที่เรื้อรัง มีฝ้ามีหนอง ทำให้แผลหายเร็ว พอกฝีช่วยดูดหนอง และ เรียกเนื้อ ประโยชน์ด้านอื่นๆ ก็คือ เป็นของเล่นยอดนิยมอย่างหนึ่งโดยเด็กๆ จะเก็บฝักต้อยติ่งที่แก่จัดแล้ว (สีน้ำตาล เข้มเกือบดำ) สะสมเอาไว้ในที่แห้ง เมื่อมีโอกาสก็นำมาจุ่มน้ำ (หรือน้ำลาย) แล้วเอาไปวางบนศีรษะ บนเสื้อผ้าของเพื่อนๆ โดยไม่ให้รู้ตัว สักพักหนึ่งไม่ถึงนาที ฝักก็จะดีดตัวแตกออกดังแป๊ะ พร้อมกับดีดเมล็ดออกไปโดยรอบ ทำให้เพื่อนตกใจหรือเจ็บๆ คันๆ บางครั้งก็แอบใส่ในกระเป๋าเสื้อ กระเป๋ากางเกง หรือแม้แต่ในคอเสื้อ ซึ่งแม้เพื่อนจะรู้ตัวแต่ก็มักจะเอาออกไม่ทัน ฝักต้อยติ่งแตกเสียก่อน

ต้อยติ่งที่ขึ้นอยู่เป็นกลุ่มเมื่อออกดอกพร้อมๆ กันก็งดงามไม่น้อย เพราะมีดอกขนาดใหญ่ สีม่วงน้ำเงินสดใส และชูดอกขึ้นด้านบนเห็นได้ชัดเจนตามข้างถนนในชนบทบางสายมีต้อยติ่งขึ้นอยู่เป็นระยะทางยาวนับกิโลเมตร เป็นความงดงามอย่างหนึ่งในฤดูฝนที่นับวันจะหาดูได้ยากขึ้นทุกที เพราะผู้มีหน้าที่ดูแลถนนหนทางทุกวันนี้ ก็มีรสนิยมเดียวกับเกษตกร นั่นคือ ชอบฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชมากขึ้นทุกที

ขอขอบคุณสำหรับภาพจาก : ไม้ต้นประดับ, คู่มือคนรักต้นไม้

ข้อมูลสื่อ

292-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 292
สิงหาคม 2546
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร