• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฉีดยาเข้าจุดฝังเข็มรักษาโรค

ฉีดยาเข้าจุดฝังเข็มรักษาโรค


พูดถึงการฉีดยา เรามักคุ้นเคยกับการฉีดยาที่ต้นแขน สะโพก การฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำที่หลังมือ หรือแขน ยาที่ฉีดก็คิดถึงยาแผนปัจจุบัน ถ้ามีหมอเกิดเอายาฉีดที่เป็นสมุนไพร หรือยาแผนปัจจุบัน หรือบางครั้งเอาเลือดที่ดูดจากคนไข้คนเดียวกันฉีดเข้าไปในตัวคนไข้เอง ฉีดเข้าไปตำแหน่งอื่น เช่น ที่หน้าแข้ง หรือจุดต่างๆ ตัว แขน ขา ลำตัว ต้นคอ คงทำให้หลายคนแปลกใจ หรือสงสัยว่าได้มาตรฐานหรือเปล่า หรือมีเหตุผลอะไรรองรับ การฉีดยาเข้ากล้ามสะโพก ที่ต้นแขน หรือสะโพก ในทรรศนะแพทย์แผนปัจจุบัน ต้องการให้ยาดูดซึมผ่านหลอดเลือดบริเวณที่มีกล้ามเนื้ออุดมสมบูรณ์ เพื่อยาจะดูดซึมได้ดี และหลีกเลี่ยงการทำลายถูกเส้นประสาท ทั้งเป็นตำแหน่งที่สะดวกในการฉีดด้วย การฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังสามารถฉีดได้หลายแห่ง แต่ส่วนใหญ่ก็นิยมฉีดตามแขน หัวไหล่

ฉีดยาเข้าจุดฝังเข็มมีประวัติยาวนานแค่ไหน
ในตำราศาสตร์แผนจีนสมัยโบราณ มีแต่การแทงเข็มหรือฝังเข็ม โดยใช้เข็มที่ทำจากหินในระยะแรก ภายหลังพัฒนาเป็นการใช้โลหะ ปัจจุบันใช้เป็นสเตนเลสแทงเข้าไปในชั้นกล้ามเนื้อเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้ถึงจุดฝังเข็มจนกระทั่งได้ความรู้สึกที่เรียกว่า "ได้ลมปราณ"  เพื่อให้มีการกระตุ้นการไหลเวียนของพลังลมปราณที่ตำแหน่งนั้น และสามารถส่งผ่านไปตามเส้นลมปราณไปยังส่วนอื่นๆ รวมถึงอวัยวะภายใน การฉีดยาเข้าจุดฝังเข็ม เขาเรียกว่า สุ่ยเจิน เป็นวิธีที่เพิ่งเริ่มต้นมาประมาณ ๕๐ ปีเศษ เป็นผลของการพัฒนาศาสตร์แพทย์แผนจีนที่ได้ประยุกต์ และบูรณาการการแพทย์แผนปัจจุบันเข้าด้วยกันเช่นเดียวกับการฝังเข็มหู การใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าแทนการกระตุ้นด้วยการใช้มือหมุนเข็ม การฝังเข็มศีรษะ

ทำไมต้องฉีดยาเข้าจุดฝังเข็ม วิธีนี้มีข้อเด่นอย่างไร
การฉีดยาเข้าจุดฝังเข็ม ใช้หลักทฤษฎีพื้นฐานแพทย์แผนจีนชี้นำ คือ การกระตุ้นจุดฝังเข็มกระตุ้นการไหลเวียนของเส้นลมปราณโดยผ่านจุดฝังเข็ม ใช้สิ่งกระตุ้นเป็นยาสมัยใหม่ หรือยาสมุนไพรจีน (ที่ผ่านกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถใช้เป็นยาฉีดได้) ใช้อุปกรณ์เป็นกระบอกฉีดยา (Syringe) และเข็มฉีดยาแบบแผนปัจจุบัน ตำแหน่งที่ฉีดเป็นตำแหน่งกล้ามเนื้อตามส่วนต่างๆ ที่ตรงกับจุดฝังเข็มที่ต้องการกระตุ้น

เทคนิค นอกจากจะฉีดยาลงตำแหน่งกล้ามเนื้อตรงจุดฝังเข็ม ยังต้องใช้การกระตุ้นเข็มให้มีความรู้สึก "ได้ลมปราณ"  ดูดกระบอกกลับ ถ้าไม่มีเลือดไหลกลับ จึงจะปล่อย ยาเข้าไป ทำให้เกิดความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของการรักษาอีกแบบหนึ่ง คือ จุดฝังเข็ม กระตุ้นเข็ม ยา เป็น ๓ ประสาน เกิดจุดเด่นโดยสรุป ดังนี้

๑. การใช้ตัวยา และการกระตุ้นเข็ม ทำให้พลังของเส้นลมปราณได้รับการกระตุ้นมากกว่าการฝังเข็มอย่างเดียว เพราะมีเรื่องของยาเข้าช่วยอีกแรงหนึ่ง

๒. หลังจากการฉีดยาเข้าจุดแล้ว ฤทธิ์ของยาฉีดจะคงดำรงอยู่อีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องถึงการรักษาโรคไปอีกช่วงหนึ่ง ทำให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น

๓. สามารถลดการใช้ปริมาณยา ลดผลข้างเคียงของยา เพราะการฉีดยา เข้าจุดฝังเข็ม สามารถเลือกจุดที่มีผลต่ออวัยวะภายในที่เกิดโรคได้โดยตรง และกระตุ้นผ่านเส้นลมปราณ ทำให้ใช้ปริมาณยาน้อย ประหยัดยา ผลข้างเคียงน้อย แต่ประสิทธิภาพกลับดีกว่าการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อธรรมดา

๔. ใช้เวลาน้อยกว่าการฝังเข็มธรรมดา ที่ต้องคาเข็ม หรือกระตุ้นเข็ม (ซึ่งมักใช้เวลาอย่างน้อย ๒๐-๓๐ นาที)

การฉีดยาเข้าจุดฝังเข็มในปัจจุบัน สามารถฉีดอะไรเข้าไปได้บ้าง

๑. ฉีดยาแผนปัจจุบัน ยาสมุนไพรจีน ที่ผ่านกรรมวิธีที่ผลิตเป็นยาที่สามารถฉีดเข้าสู่ร่างกายได้

๒. ฉีดน้ำเกลือ ที่มีความเข้มข้น ตามสรีรสภาพของร่างกาย หรือน้ำกลั่นผสมกลูโคสเจือจาง (ร้อยละ ๕-๑๐)

๓. ฉีดสารสกัดจากเนื้อเยื่อ เช่น สารสกัดจากรกเด็ก

๔. ฉีดอากาศ เช่น ออกซิเจน อากาศธรรมดา

๕. ฉีดเลือด โดยดูดเลือดจากตำแหน่งหนึ่งของผู้ป่วยแล้วฉีดกลับเข้าไปยังจุดฝังเข็มที่ต้องการ

๕. ฉีดน้ำมัน เช่น น้ำมันถั่วลิสง น้ำมันขิง เป็นต้น

การฉีดยาเข้าจุดฝังเข็มรักษาโรคอะไร ได้บ้าง
ขอบเขตการรักษาด้วยการฉีด ยาเข้าจุด มีขอบเขตกว้างขวาง คล้ายการฝังเข็ม ซึ่งได้แก่ ด้านอายุรกรรม ศัลยกรรม โรคผิวหนัง โรคเด็ก โรคสูติ-นรีเวช โรคหู คอ ตา จมูก ตัวอย่างเช่น : ไข้หวัด หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ กระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบ ไวรัสตับอักเสบ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ปวดศีรษะ โรคหลอดเลือดสมอง กล้ามเนื้อใบหน้ากระตุก อัมพาตใบหน้า ปวดถุงน้ำดี ปวดต้นคอจากกระดูกคอเสื่อม ข้ออักเสบ ปวดประสาท sciatica ลมพิษ ผื่นแพ้เรื้อรัง  สิว เด็กปัสสาวะรดที่นอน แพ้ท้อง มดลูกหย่อน เป็นต้น

ข้อควรระวังในการฉีดยาเข้าจุดมีอะไรบ้าง

๑. การฉีดยาเข้าจุดต้องไม่ให้เข้าหลอดเลือดแดง และต้องมีความรู้ในการฉีดยา และรู้จุดฝังเข็ม และต้องเป็นเทคนิคปราศจากเชื้อ

๒. หลังฉีดเข้าจุดฝังเข็ม จะมีอาการเมื่อย ตึง นาน ๔-๘ ชั่วโมง อาการดังกล่าวจะค่อยๆ หายไปใน   ๑ วัน

๓. ไม่ฉีดเข้าข้อ เข้าไขสันหลัง เข้าหลอดเลือด หรือถูกเส้นประสาท เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบ หรืออาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ต้องฉีดเข้ากล้ามเนื้อเท่านั้น

๔. คนที่ร่างกายอ่อนแอ ตำแหน่งการฉีดยาไม่ควรหลายตำแหน่งเกินไป ปริมาณยาฉีดควรลดขนาดลง

๕. คนตั้งครรภ์ไม่ควรฉีดยาบริเวณท้องน้อย กระเบนเหน็บ จุดเหอกู่ จุดซาน-อินเจียว เพราะจะกระทบกระเทือนต่อการตั้งครรภ์ได้

สรุป
การฉีดยาเข้าจุดฝังเข็ม เพิ่งมีมาประมาณ ๕๐ ปีเศษ ภายหลังการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน (ปี พ.ศ.๒๔๙๒) เป็นการประยุกต์ความรู้การแพทย์แผนจีนกับการแพทย์สมัยใหม่ ทำให้เกิดวิธีการรักษาและเทคนิคใหม่ ที่มีลักษณะโดดเด่นโดยเฉพาะ คือ สามารถใช้ตัวยาทั้งยาสมัยใหม่และยาสมุนไพรจีนในรูปของการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ แต่เน้นเทคนิคการกระตุ้นเข็มก่อนฉีดยาเข้าไปในร่างกาย เพื่อให้เกิดการกระตุ้นจุดและกระตุ้นเส้นลมปราณ เหมือนวิชาฝังเข็ม เมื่อฉีดยาเข้าไปแล้ว ฤทธิ์ยายังคงมีผลทางชีวเคมีต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง ทำให้มีผลเพื่อการรักษาโรคยาวนานขึ้น อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้จำเป็นต้องอยู่ในความรับผิดชอบและกระทำโดยแพทย์ที่มีความรู้แผนปัจจุบัน ความรู้ในเรื่องการฝังเข็ม เพราะถ้ากระทำโดยไม่รู้ นอกจากจะไม่ก่อผลดี อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้ บทความที่เขียนนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้หลายคนที่สงสัย และอาจต้องพบกับการรักษาแบบนี้ได้เข้าใจแนวคิดและวิธีการดังกล่าว ซึ่งอาจพบเห็นแพทย์หลายท่านใช้วิธีนี้ในการรักษาผู้ป่วย

ยกตัวอย่างการใช้ยาแผนปัจจุบัน
ยาจีนฉีดเข้าจุดรักษาโรค

๑. ไวรัสตับอักเสบเฉียบพลัน
ใช้วิตามินบี ๑๒  ๑๐๐ ไมโครกรัม ฉีดวันละ ๑ ครั้ง ที่จุดซานยินเจียว แบ่งฉีด ๒ ข้าง


๒. ไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง
ใช้น้ำกลั่น ๑-๒ ซีซี ฉีดเข้าจุดจู๋ซานหลี  หยางหลิงเฉวียน เสวี่ยไห่  สลับกันวันละจุด (ฉีด ๒ ข้าง)
เทคนิคการฉีดจุดจู๋ซานหลี หลังจากฉีดยาต้องดึงเข็มออกช้า ปิดรูเข็ม เพื่อเป็นการบำรุง การฉีดจุดหยางหลิงเฉวียน หลังจากฉีดยาต้องดึงเข็มออกเร็ว ไม่ปิดรูเข็ม
การฉีดน้ำกลั่นจุดหนึ่งๆ ปริมาณ ๐.๕-๑ ซีซี ความรู้สึกปวดจะมาก บางคนไม่นิยมฉีด (ฤทธิ์การกระตุ้นจะเมื่อย ตึง ปวดนาน)



๓. อัมพฤกษ์ อัมพาต
ฉีดวิตามินบี๑ หรือวิตามินบี ๑๒ หรือสารสกัดตังกุย  ซวนเซวียง ฉีดตามจุดฝังเข็ม เช่น ด้านข้างจุดชวีฉือ  จู๋ซานหลี่  จุดว่ายกวน หยางหลิงเฉวียน



๔. สิว

ดูดเลือดบริเวณข้อพับมือ ๕-๖ ซีซี รีบนำมาแบ่งฉีดที่จุดจู๋ซานหลี ข้างละ ๒-๓ ซีซี

ข้อมูลสื่อ

296-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 296
ธันวาคม 2546
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล