• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคไซนัสอักเสบ

โรคไซนัสอักเสบ


หลายคนมักเป็นไซนัสอักเสบบ่อยๆ ภายหลังอากาศเปลี่ยนแปลงโดยมีอาการโรคหวัดนำมาก่อน ในขณะที่หลายคนเป็นหวัดไม่กี่วันก็หาย หลายคนที่มีไซนัสอักเสบเรื้อรัง กินยาปฏิชีวนะมาหลายขนานอาการก็ไม่ดีขึ้น ถึงกับต้องเจาะดูดหนองและล้างโพรงจมูก บางรายที่มีการติดเชื้อลุกลาม รุนแรงเข้ากระบอกตาหรือเข้าสมองเกิดฝีในสมอง คนที่เป็นไซนัสเรื้อรังจำนวนมาก มักจะแสวงหาแพทย์ทางเลือก ตั้งแต่การพ่นยาเข้าในจมูก ใช้น้ำยากระตุ้นให้มีการไหลของหนองหรือเมือกออกมามากๆ ต้มสมุนไพรกินเองบ้าง หาหมอจีนบ้าง กินอาหารเสริมสุขภาพ กินวิตามินซีปริมาณมากบ้าง ตามแต่จะเชื่อหรือมีผู้แนะนำกันมา

แพทย์แผนจีน มีแนวคิดเรื่องไซนัสอักเสบอย่างไร ต่างกับแผนปัจจุบันอย่างไร

แพทย์แผนปัจจุบันมองว่า ไซนัสอักเสบ (sinusitis) เป็นภาวะโพรงอากาศรอบจมูกมีการอักเสบ แบ่งเป็น ๒ ระยะ

๑. ระยะเฉียบพลัน คือ ระยะ ๒-๔ สัปดาห์แรก
๒. ระยะเรื้อรัง คือ เป็นนานกว่า ๔ สัปดาห์

สาเหตุของไซนัสอักเสบ

๑. เกิดจากจุลชีพ ส่วนใหญ่เป็น แบคทีเรียประมาณร้อยละ ๘๐ จากไวรัสประมาณร้อยละ ๒๐

๒. การทำงานของขนกวัด (cilia) ในโพรงจมูกเสียหน้าที่ หรือมีการอุดกั้นของทางเดินติดต่อระหว่างโพรงอากาศกับช่องจมูก ทำให้สารเมือกหรือหนองในโพรงอากาศระบายออกไปไม่ดี

แพทย์แผนจีน : มองว่าไซนัสอักเสบเฉียบพลันเกิดจาก ๒ สาเหตุ

๑. สภาพร่างกายของผู้ป่วยมักอ่อนแอเป็นพื้นฐานประกอบกับการดำเนินชีวิตไม่มีกฎเกณฑ์ ไม่ระมัดระวังการปรับตัวของอุณหภูมิร่างกาย (ปล่อยให้เย็น-ร้อนเกินไป) หรือมีการอ่อนล้าของร่างกาย พักผ่อนไม่พอ ร่วมกับกระทบความเย็น ความชื้น ความร้อน

๒. ปัจจัยก่อโรคมากระทำ มักเกิดจากลมร้อน ลมเย็น เป็นหลัก โดยทำให้เกิดพยาธิสภาพที่ปอด ม้าม หรือถุงน้ำดี เกิดภาวะแกร่งร้อน หลักการรักษาคือขับความร้อน ขับพิษในปอด หรือม้าม หรือถุงน้ำดี เป็นต้น

ไซนัสอักเสบเรื้อรัง
ไซนัสอักเสบเรื้อรังมักเกิดจากการเกิดไซนัสอักเสบเฉียบพลันมาก่อน ปัจจัยก่อโรคไม่ถูกขจัดออกโดยสิ้นเชิง ทำให้พลังเจิ้งชี่ถูกทำลายอย่างยาวนาน หรือเกิดจากร่างกายอ่อนพร่องเป็นพื้นฐาน ทำให้ไม่สามารถขจัดเสียชี่ (ปัจจัยก่อโรค) ให้หมดไป ทำให้เป็นโรคเรื้อรังและกลับมาบั่นทอนเจิ้งชี่ อวัยวะที่อ่อนพร่องมักอยู่ที่ปอดและ ม้าม

  • พลังปอดพร่อง : ทำให้พลังปกป้องผิวอ่อนแอ พลังในการขับเสียชี่ (ปัจจัยก่อโรค) ต่ำ เสียชี่ไม่ถูกขจัด ตกค้างอยู่ในร่างกายสะสมตัวอยู่ในโพรงอากาศจมูก ทำร้ายเยื่อบุโพรงจมูกเกิดไซนัสอักเสบเรื้อรัง
     
  • พลังม้ามพร่อง : ทำให้การย่อยอาหาร และการส่งลำเลียงอาหารไปยังส่วนบนของร่างกายน้อยลง เยื่อบุโพรงจมูกขาดอาหารหล่อเลี้ยงอ่อนแอ เสียชี่ไม่ถูกทำลาย

หลักการรักษา เสริมร้อนบำรุงปอด บำรุงม้าม เสริมพลังร่วมกับการขับปัจจัยก่อโรค จะเห็นได้ว่า แพทย์แผนปัจจุบัน มองที่การติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสเป็นสาเหตุ แพทย์แผนจีนมองว่าเกิดจากลมร้อน ลมเย็นที่กระทบร่างกาย แล้วเข้าสู่ระบบปอด ม้าม หรือถุงน้ำดี พื้นฐานร่างกายที่อ่อนแอ แพทย์แผนปัจจุบันบอกว่าอยู่ที่โพรงจมูก มีเซลล์ที่ทำหน้าที่โบกกวัดสิ่งแปลกปลอม เสียหน้าที่ มีการอุดกั้นทางเดินของช่องอากาศกับโพรงจมูก ซึ่งเป็นพยาธิสภาพเฉพาะส่วน

แพทย์แผนจีนมองว่าเป็นพื้นฐานระบบของปอดพร่อง เพราะพลังหยางที่ปกป้องผิว และอาหารที่ส่งมาจากการลำเลียงของปอดสู่เบื้องบน รวมทั้งเยื่อบุโพรงจมูกน้อยลง ทำให้เป็นจุดอ่อนต่อการขจัดเสียชี่ เป็นการมองปัญหาที่เป็นองค์รวม นอกจากนี้ แพทย์แผนจีนยังให้ความสำคัญของการดำเนินชีวิตที่ไม่ถูกกฎเกณฑ์ และภาวะอื่นๆ ที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอง่ายแก่การถูกโจมตีจากเสียชี่ หรือทำให้เสียชี่สามารถดำรงอยู่ในร่างกายนานๆ

แนวการรักษาของแผนปัจจุบันต่างกับแผนจีนอย่างไร
แพทย์แผนปัจจุบัน : เน้นการให้ยาต้านจุลชีพ หรือ (ยาปฏิชีวนะ) ตามเชื้อที่พบบ่อยในรายที่เป็นรุนแรงเรื้อรังให้ยาแล้วไม่ดีขึ้น อาจต้องเจาะล้างโพรงอากาศและนำเชื้อมาเพาะเลี้ยง เพื่อวางแผนในการให้ยาที่เหมาะสมกับเชื้อที่พบ การเจาะล้างโพรงอากาศ มักใช้ในรายที่รุนแรงไม่ตอบสนองต่อยา หรือมีภาวะอักเสบของกระดูกแก้ม มีหนองภายใน หรือมีปัญหาในการวินิจฉัย รวมทั้งรายที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง นอกจากยาต้านจุลชีพแล้ว มักให้ยาแก้อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และลดการบวมของเยื่อหุ้มจมูก ยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการร่วมด้วย แพทย์แผนจีน : ในรายเฉียบพลัน เน้นการขับความร้อนเป็นหลัก ร่วมกับยาแก้อาการในรายเรื้อรัง เน้นการเสริมพลังปอด เสริมม้ามเป็นหลัก ร่วมกับยาแก้อาการ

แพทย์แผนจีนมีรายละเอียดการรักษาไซนัสอักเสบอย่างไรบ้าง

  • ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน แบ่งเป็น ๓ แบบ


๑. เส้นลมปราณปอดร้อนแกร่ง : น้ำมูกไหลมาก ลักษณะเหนียว สีเหลืองหรือขาว แน่นจมูกมาก การรับกลิ่นลดลง ปีกจมูกบวมแดง มีอาการปวดศีรษะ มีไข้ กลัวลม กลัวหนาวเล็กน้อย ไอมีเสมหะมาก คอแห้งกระหายน้ำ ตัวลิ้นแดง ฝ้าขาวบางหรือเหลืองเล็กน้อย ชีพจรลอยเร็วหรือลอยลื่นเร็ว

หลักการรักษา ขับพิษขับร้อนของปอด ทำให้ทวารปอดโล่ง
ตำรับยา หยิงเชี่ยวซ่าน ปรับตามอาการ

๒. กระเพาะอาหารม้ามร้อนชื้น : น้ำมูกเหลืองข้น แน่นจมูกรุนแรง การรับกลิ่นลดลง เยื่อบุโพรงจมูกบวมแดง ร่วมกับมีอาการเวียนศีรษะ หนักศีรษะ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ท้องอืดแน่น เบื่ออาหาร ปัสสาวะเหลือง ลิ้นแดง ฝ้าเหลืองเหนียว ชีพจรลื่นเร็ว

หลักการรักษา ขับพิษร้อน ขับไฟ ขับชื้นทำให้โล่ง (ทะลวงทวาร จมูก)
ตำรับยา กานลู่ เซียว ตู๋ ตาน ปรับตามอาการ

๓. ถุงน้ำดีร้อนอุดกั้น : น้ำมูกเหลืองข้นเหมือนหนองปริมาณมาก มีกลิ่นเหม็น การดมกลิ่นลดลง เยื่อบุโพรงจมูกบวมแดง ปวดศีรษะรุนแรง เคาะระหว่างคิ้วและ โหนกแก้มมีอาการปวดชัดเจน ร่วมกับมีอาการไข้ คอขม คอแห้ง ตาลาย หูอื้อ หูตึง นอนไม่หลับ ฝันมาก หงุดหงิดง่าย ลิ้นแดง ฝ้าเหลือง ชีพจรตึงและเร็ว

หลักการรักษา ขับระบายความร้อนของถุงน้ำดี ขับชื้นทำให้โล่ง (ทะลวงทวาร จมูก)
ตำรับยา หลง ต่าน เซี่ย กานทาง ปรับลดตามอาการ

  • ไซนัสอักเสบเรื้อรัง แบ่งเป็น ๒ ชนิด


๑. พลังปอดพร่อง-เย็น : น้ำมูกเหนียวขาว จมูกแน่น อาการหนัก-เบาสลับกัน การดมกลิ่นลดลง เยื่อบุจมูกบวมสีชมพูค่อนไปทางซีด ปีกจมูกโต โดนอากาศ เย็นอาการจะเป็นมากขึ้น โดยเฉพาะอาการแน่นจมูก น้ำมูกไหลจะรุนแรงขึ้น ร่วมกับมีอาการมึนงงศีรษะ สมองตื้อ แขน-ขาเย็น หายใจสั่นอ่อนแรง ไอมีเสมหะเหลว ตัวลิ้นซีด ฝ้าบนลิ้นขาว ชีพจรช้า-อ่อนแอ

หลักการรักษา อุ่นบำรุงปอด ขับกระจายลม เย็น
ตำรับยา ยวิ้ ผิง เฟิง ซ่าน ปรับลดตามอาการ  เวิน เฟ่ย จื่อ หลิว ตัน  ปรับลดตามอาการ

๒. พลังม้ามอ่อนพร่อง : น้ำมูกข้นขาวหรือข้นเหลืองปริมาณมาก ไม่มีกลิ่นคาว การดมกลิ่นลดลง เยื่อบุโพรงจมูกสีชมพู (ค่อนไปทางซีด) บวมมาก ร่วมกับมีอาการแขน-ขาไม่มีแรง อุจจาระเหลว ใบหน้าสีเหลืองซีด ตัวลิ้นสีซีด ฝ้าบนลิ้นขาวบาง ชีพจรช้า-อ่อนแอ

หลักการรักษา บำรุงม้ามเสริมพลัง ขับชื้นเปิดทวาร (จมูก)
ตำรับยา เซิน หลิง ไป๋ สู้ ซ่าน

การฝังเข็มมีบทบาทในการรักษาไซนัสอักเสบหรือไม่
การฝังเข็มมีบทบาทในการรักษาไซนัสอักเสบ เพราะสามารถเลือกจุดฝังเข็มต่างๆ ที่มีคุณสมบัติในการขับความร้อน ความชื้น ทำให้เลือดและพลังลมปราณที่ผ่านจมูก บริเวณรอบจมูกไหลเวียนคล่อง ทำให้หนองหรือน้ำมูกถูกขับออก (ลดการบวม ทำให้รูไม่ตีบ) ทำให้ภูมิต้านทานดีขึ้น (การทำงานของเม็ดเลือดขาวในการทำลายเชื้อโรค) นอกจากนั้นยังสามารถลดการอักเสบ (ขับไฟ ความร้อน) ของจมูกได้ สามารถเสริมพลังปอดและพลังม้ามให้แข็งแรง เป็นการเพิ่มภูมิต้านทานร่างกายโดยองค์รวมด้วย

ผลการรักษาแบบแผนปัจจุบันกับแผนจีนอย่างไหนดีกว่ากัน
จะเห็นว่าในรายที่เป็นปัญหาเฉพาะส่วน การใช้แผนปัจจุบันจะสามารถแก้ปัญหาได้ชะงัด รวดเร็ว การกินยาฉีดยาก็สะดวกรวดเร็ว แต่ในรายที่มีปัญหาสภาพร่างกายไม่แข็งแรง หรือแพ้ยาง่าย หรือมีความซับซ้อนของระบบอื่นๆ เสียสมดุลภายในร่างกายเป็นพื้นฐาน การรักษาด้วยแพทย์แผนจีนจะช่วยเสริมจุดนี้ได้ ในปัจจุบันการรักษาแบบการบูรณาการแพทย์แผนปัจจุบันกับแพทย์แผนจีนด้วยกัน จะช่วยทำให้การรักษาได้ผลดีกว่าการใช้ยาแผนปัจจุบันอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นไซนัสอักเสบชนิดเฉียบพลันหรือชนิดเรื้อรัง เช่น ผลการรักษาผู้ป่วยไซนัสอักเสบเฉียบพลันแบบบูรณาการของโรงพยาบาลเทียนจินหนานคาย ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ พบว่า การรักษาไซนัสอักเสบได้ผลดีมากร้อยละ ๙๖ เฉลี่ยระยะเวลารักษาเพียง ๔ วัน หยางจิ่ง ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เปรียบเทียบรักษาผู้ป่วยไซนัสอักเสบเรื้อรังด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน และแบบบูรณาการพบว่าเฉพาะการใช้แผนปัจจุบันอย่างเดียวได้ผลดีร้อยละ ๗๓.๘ แต่ถ้าเป็นแบบบูรณาการจะได้ผลร้อยละ ๘๗.๗ ซึ่งมีความแตกต่างอย่างชัดเจน

สรุป
แพทย์แผนจีนสมัยโบราณไม่รู้จักจุลชีพก่อโรค ไม่รู้จักไวรัส แบคทีเรีย รู้จักแต่ลมเย็น ลมร้อนรุกรานเข้าปอด หรือพื้นฐานกระเพาะอาหาร ม้ามร้อน ถุงน้ำดีร้อนกระทบลมเย็นลมร้อน ทำให้ปัจจัยก่อโรคเข้าสู่ระดับปอด ม้าม  ถุงน้ำดี แพทย์แผนจีนไม่รู้จักว่า โพรงจมูกมีเซลล์สำหรับพัดโบกสิ่งแปลกปลอม รู้แต่พลังปอดพร่อง ภูมิต้านทานต่ำ รู้แต่ พลังม้ามพร่อง อาหารหล่อเลี้ยงส่วนบนไม่ดี เป็นจุดอ่อนของการรุกรานจากภายนอก ต้องแก้ปัญหาองค์รวมควบคู่ไปด้วย ในชีวิตจริง ผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบบ่อยๆ ไม่ว่าเฉียบพลันหรือเรื้อรัง มักมีปัญหาจุดอ่อนของร่างกายที่บริเวณนี้ ทำให้การไหลเวียนเลือดและพลังของเส้นลมปราณบริเวณจมูกติดขัด อีกทั้งภาวะองค์รวมของร่างกายอ่อนแอด้วย ทำให้เมื่อได้รับเสียชี่มักขจัดออกยาก เรื้อรัง ทำให้หายยาก เป็นยืดเยื้อ แน่นอน ถ้าเราใช้วิธีมองปัญหาเฉพาะส่วนรวมกับการ มององค์รวมในการรักษา จะเกิดผลดีกว่าการมองเพียงด้านเดียว การปรับสมดุลร่างกายและขับของเสีย ขับพิษ ขับร้อน หรือการทำลายเชื้อที่เฉพาะเจาะจง แก้ไขความผิดปกติที่ทำให้ เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจกับโพรงจมูก ทำให้หน้าที่และโครงสร้างเกิดสมดุล จะทำให้แก้ปัญหาได้ดียิ่งขึ้น

ข้อมูลสื่อ

297-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 297
มกราคม 2547
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล