• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สร้างครอบครัวอบอุ่น...สร้างภูมิคุ้มกันให้ครอบครัว

เนื่องในเดือนแห่งการรณรงค์ลดความรุนแรง
แก่บุคคลในครอบครัว ในฐานะที่เป็นจิตแพทย์
ใคร่ขอเชิญชวนท่านผู้อ่านได้หันมาให้ความสำคัญ
กับคนในครอบครัว
เพื่อหลีกห่างจากความรุนแรงในครอบครัว
และทำการสร้างภูมิคุ้มกันแก่สมาชิกในครอบครัว
โดยแนวทางนี้จะก่อให้เกิดครอบครัวอบอุ่น
 
ครอบครัวอบอุ่น คือครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ
การ มีครอบครัวที่อบอุ่นทำให้เราดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข คนที่มีครอบครัวอบอุ่นย่อมมีความได้เปรียบ เพราะสามารถ ทำหน้าที่ได้เหมาะสม และทำให้สมาชิกในครอบครัวมีสุขภาพจิตดีไปด้วย

นิยาม "ครอบครัวที่อบอุ่น"Ž
๑. มีขอบเขตที่เหมาะสม ทั้งขอบเขตส่วนบุคคล และคนในครอบครัว
๒. มีความผูกพันทางอารมณ์ที่เหมาะสม ไม่ห่างเกิน ไป และไม่ใกล้ชิดกันเกินไป สมาชิกในครอบครัวมีความเป็นตัวของตัวเอง แต่ยังคงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในครอบครัวได้
๓. มีการจัดลำดับอำนาจ และความเป็นผู้นำที่ชัดเจน
๔. สมาชิกมีบทบาทหน้าที่ชัดเจน และปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสอดคล้องกัน
๕. โครงสร้างและการปฏิบัติหน้าที่ของครอบครัวมีความยืดหยุ่นดีและเหมาะสม
๖. สามารถแก้ไขความขัดแย้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๗. มีการจัดระบบภายในครอบครัวอย่างมีประสิทธิ-ภาพ
๘. มีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
๙. มีเครือข่ายทางสังคมที่ดี และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัว
๑๐. สมาชิกในครอบครัวใช้เวลาอยู่ร่วมกันตามสมควร

ความผูกพัน : ตัวแปรความอบอุ่นในครอบครัว
ครอบครัวจะมีแรงผลักดันอยู่ ๒ แรงที่ต่อสู้กันอยู่เสมอคือ แรงที่ดึงสมาชิกให้เข้าหากัน เป็นอันหนึ่งอันเดียว กัน ทั้งความคิด ความรู้สึก การกระทำ และแรงผลักดันที่ทำให้สมาชิกอยู่ห่างออกจากกัน เพื่อใช้ชีวิตอย่างอิสระและเป็นตัวของตัวเอง
แรงผลักดันทั้ง ๒ จะสมดุลกันในครอบครัวที่อบอุ่น แม้บางครั้งแรงผลักดันแบบหนึ่งอาจมากกว่าอีกแบบหนึ่ง แต่ก็จะเป็นอยู่ชั่วคราว และจะกลับคืนสู่สภาวะสมดุลในที่สุด โดยความผูกพันทางอารมณ์แบ่งได้เป็น ๒ ลักษณะคือ

ครอบครัวที่ผูกพันแน่นแฟ้นเกินไป
เกิดขึ้นจากการที่สมาชิกในครอบครัวทำในสิ่งที่แตกต่างไปจากที่เคยทำมา ก็จะเกิดความเครียดขึ้นมาในครอบ-ครัวทันที ความเครียดนี้อาจกระทบถึงความสัมพันธ์ และการปฏิบัติหน้าที่ด้านอื่นๆ ของครอบครัว เช่น ลูกทำใน สิ่งที่พ่อแม่ไม่ชอบ หรือไม่เห็นด้วย และให้ลูกตัดสินใจว่า จะทำตามใจตัวเอง หรือยอมทำตามที่พ่อแม่ต้องการ
ผลของความผูกพันที่มากเกินไปนั้น จะทำให้สมาชิกในครอบครัวไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ เช่น แม่ที่ผูกพันแน่นแฟ้นกับลูกมากเกินไป อาจทำให้พ่อห่างเหินไปโดยอัตโนมัติ โดยเด็กจะพึ่งแม่ไปโดยอัตโนมัติและไม่รู้จักโต

ครอบครัวที่เหินห่างทางอารมณ์
สำหรับครอบครัวที่ผูกพันระหว่างกันน้อย แม้สมาชิก ในครอบครัวจะมีอิสระมาก ก็จะเป็นความอิสระที่ไม่สมบูรณ์ เพราะขาดความรู้สึกเป็นส่วนตัวและความรู้สึกที่พึ่งพิงกันในยามจำเป็น นอกจากนี้ การที่ต่างคนต่างอยู่จะทำให้ไม่สามารถร่วมทำภารกิจที่สำคัญให้สำเร็จได้ เช่น ครอบครัวที่พ่อกับแม่ไม่มีความผูกพันใกล้ชิดกัน ย่อมไม่สามารถร่วมมือกันปกครองลูกได้
ความผูกพันทางอารมณ์ที่เหมาะสมที่สุดคือ ความผูกพันระดับกลาง
เพราะคนในครอบครัวจะมีความเป็น อิสระ แต่ยังคงความผูกพันกับครอบครัวเดิมอยู่ ทั้งนี้ การจะมีครอบครัวที่อบอุ่นได้นั้น ครอบครัวจะต้องสร้างความสมดุลระหว่างความเป็นอิสระและความผูกพันกับครอบครัว ได้อย่างเหมาะสม

ผู้นำในครอบครัว : บทบาทผู้สร้างความอบอุ่นในครอบครัว
ทุกครอบครัวต่างก็มีผู้นำในการตัดสินใจและแก้ไขปัญหาต่างๆ แต่ความเป็นผู้นำไม่ควรถูกจำกัดให้อยู่กับ คนใดคนหนึ่ง เช่น พ่อแม่ไม่ควรเป็นผู้นำคนเดียว หรือ แม่ไม่ควรเป็นผู้นำคนเดียว เพราะหากครอบครัวต้องตกอยู่ในภาวะความตึงเครียด ผู้เป็นพ่อและแม่ต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และร่วมกันเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
จากการศึกษาครอบครัวของวัยรุ่นในประเทศแคนาดา พบว่า วัยรุ่นในครอบครัวที่พ่อเป็นผู้นำในแบบประชาธิป- ไตย จะมีความมั่นคงทางอารมณ์มากกว่าวัยรุ่นที่มาจากครอบครัวที่พ่อหรือแม่มีอำนาจเพียงคนเดียว
ดังนั้น หากต้องการมีครอบครัวที่อบอุ่น สมาชิกแต่ละคนในครอบครัวจะต้องมีบทบาทความเป็นผู้นำในวาระที่แตกต่างกันออกไป เช่น แม่จะเป็นผู้นำและเป็น ผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแลครอบครัวและการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น เรื่องอาหารการกินในบ้าน ส่วนพ่อจะเป็นผู้นำในเรื่องที่สำคัญ เช่น เรื่องภายนอกบ้าน และสมาชิก ในบ้านควรมีส่วนในการสนับสนุนความคิดของผู้นำในครอบครัว
เมื่อใดก็ตามที่เกิดปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว คนในครอบครัวจะต้องช่วยกันแก้ไขความขัดแย้งให้กลับคืน สู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด โดยสามารถแก้ไขความขัดแย้ง ได้ ๓ วิธีคือ
๑. การร่วมมือกัน โดยคนในครอบครัวต้องหันหน้าเข้าหากัน และพูดคุยถึงปัญหาอย่างตรงไปตรงมา เพื่อหาข้อยุติที่เหมาะสม
๒. การยอมเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา โดยที่อีกฝ่ายหนึ่งยอมลงให้อีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อเป็นการยุติความขัดแย้ง หรือเพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามออกไป
๓. การพยายามเอาชนะ เป็นการช่วงชิงอำนาจว่าใครจะเป็นใหญ่ ใครจะแพ้ ใครจะชนะ ซึ่งไม่ทำให้ปัญหายุติได้ แต่จะทำให้สถานการณ์รุนแรงยิ่งขึ้น เพราะการแก้ไขปัญหาด้วยการเอาชนะกันนั้นไม่ใช่วิธีการที่ได้ผล ยิ่งถ้ามีการดึงบุคคลที่ ๓ เข้ามาก็จะทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาเป็นลูกโซ่

เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในครอบครัว เรามักจะดึงเอาบุคคลที่ ๓ เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ความขัดแย้งโยงใยในรูปแบบต่างๆ ดังนี้
๑. การทำให้เป็นแพะรับบาป เป็นความขัดแย้งที่เกิด จากบุคคล ๒ คน แต่ไม่ได้แก้ไขปัญหาอย่างตรงไปตรงมา กลับเป็นการโยนบาปให้บุคคลที่ ๓ แทน เช่น พ่อกับแม่ ทะเลาะกัน แต่โยนความผิดให้ลูก ทำให้ดูเหมือนพ่อแม่ไม่มีปัญหากัน แต่แท้ที่จริงปัญหาความขัดแย้งยังคงอยู่
๒. การเข้าพวกกันแบบข้ามรุ่น เป็นวิธีที่พ่อหรือแม่ดึงลูกเข้ามาเป็นพวก เพื่อที่จะต่อต้านอีกฝ่ายหนึ่ง โดยจะเลี้ยงลูกแบบตามใจ เพื่อให้ลูกมาเป็นพวกของตน ทำให้มีการสลับบทบาทหน้าที่กัน โดยแทนที่พ่อแม่จะมาดูแลลูก กลับเป็นลูกทำหน้าที่ดูแลพ่อแม่เสียเอง
๓. การร่วมมือกันเพื่อเอาใจใส่ลูก เป็นวิธีที่พ่อและแม่ต่างก็ร่วมมือให้ความสนใจ เพื่อแก้ไขปัญหาของลูก ทำ ให้ลืมปัญหาระหว่างกันไปชั่วขณะ โดยจะมองว่าลูกเป็น คนอ่อนแอ หรือเป็นเด็กไม่ดีที่ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด
๔. การแข่งขันระหว่างพ่อและแม่ โดยพ่อแม่ต่างก็ดึงลูกเข้ามาเป็นพวกของตน ทำให้ลูกเกิดความสับสนว่า จะเป็นพวกของพ่อดี หรือพวกของแม่ดี ไม่รู้ว่าจะจงรักภักดีกับใครดี
ครอบครัวที่พ่อแม่แก้ไขความขัดแย้งในลักษณะ ดังกล่าว จะทำให้เกิดผลเสียดังนี้
๑. การดึงเอาบุคคลที่ ๓ เข้ามาเกี่ยวข้อง อาจทำให้ความรู้สึกของพ่อแม่ดีขึ้นบ้าง เพราะไม่ต้องแก้ไขปัญหา เอง แต่ก็ไม่ได้เป็นการแก้ไขความขัดแย้งที่ถูกต้องและเหมาะสม
๒. พ่อแม่จะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง จะทำให้พ่อแม่ มีนิสัยเอาแต่ใจตนเอง เพราะได้รับการดูแลเอาใจใส่จากลูกมากเกินไป
๓. พัฒนาการของเด็กไม่ได้รับการตอบสนอง เพราะแทนที่พ่อแม่จะเป็นคนดูแลเอาใจใส่ลูก กลับเป็นฝ่ายลูกต้องมาดูแลเอาใจใส่พ่อแม่แทน เด็กที่ถูกดึงเข้าไปโยงใยกับปัญหาจะทำให้ไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้ดีพอ และไม่สามารถแยกตัวเองออกจากครอบครัวได้เมื่อถึงเวลา
๔. สูญเสียความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับพ่อหรือแม่ เช่น แม่ที่เข้าพวกกับลูกสาวและกีดกันพ่อ จะทำให้ลูกสาวห่างเหินพ่อ และทำให้มีผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์ของ เด็ก
หนทางที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวคือ การสื่อสาร เพราะการสื่อสารทำให้ครอบครัวมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่การสื่อสารที่ดีย่อมต้องอาศัยทักษะและความสามารถที่ดี เช่น การเข้าใจความรู้สึกของอีกฝ่าย การฟังผู้อื่น การพูดจาประคับประคองอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว
ในทางกลับกัน การพูดจาตำหนิติเตียน หรือทำให้เกิดความรู้สึกในเชิงลบ จะยิ่งทำให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกโกรธ เสียใจ ตึงเครียด ขัดแย้ง และนำมาซึ่งความรุนแรงในครอบครัวทั้งในด้านท่าที วาจา และการกระทำที่รุนแรงกับบุคคลอื่นในที่สุด

มุมมองนักจิตวิทยา
นักจิตวิทยาและจิตแพทย์เชื่อว่า ผู้ที่กระทำการรุนแรงส่วนใหญ่ มักมีพื้นฐานมาจากการที่อยู่ในครอบครัวแตกแยก มาจากครอบครัวที่ไม่อบอุ่น และมาจากการที่ตนเคยตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงมาก่อน หรืออยู่ในเหตุการณ์ที่รู้เห็นความรุนแรงที่เกิดขึ้น
โครงสร้างทางสังคมมีผลกระทบต่อคนและพฤติกรรม ของคนในสังคม เช่น สังคมที่มีค่านิยมยกย่องพ่อเป็นใหญ่ เป็นสังคมที่กำหนดและควบคุมกฎเกณฑ์โดยเพศชาย เช่น สังคมชาวเอเชียจะสร้างสมาชิก ผู้ชายŽ ที่แสดงบทบาททางเพศเชิงอำนาจนิยม ในขณะเดียวกันจะสร้าง ผู้หญิงŽ ให้เป็นฝ่ายเก็บกดและยอมตามมากกว่าสังคม ที่ถือว่าแม่เป็นใหญ่ และสังคมที่ถือว่าพ่อแม่เป็นใหญ่ เท่าเทียมกัน
นักจิตวิทยามองปัญหาความรุนแรงในครอบครัวว่า เป็นปัญหาที่ผู้กระทำการรุนแรงมีลักษณะบุคลิกภาพที่ผิดปกติเฉพาะบุคคล โดยให้เหตุผลว่า ผู้เป็นสามีในครอบครัวอื่นที่อยู่ภายใต้โครงสร้างสังคมในระดับชนชั้นเดียวกัน ได้รับการขัดเกลาจากวัฒนธรรมทางสังคมแบบเดียวกัน มิใช่จะกระทำรุนแรงต่อภรรยาเช่นเดียวกันทุกครอบครัว มีเพียงส่วนน้อยที่กระทำพฤติกรรมเช่นนี้

การสร้างความรักและความอบอุ่นในครอบครัวจะเป็นเสมือนภูมิคุ้มกันให้ครอบครัวหลีกหนีและห่างไกลจากความรุนแรง และจะเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการสร้างความมั่นคงให้กับสังคมในที่สุด


 

ข้อมูลสื่อ

319-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 319
พฤศจิกายน 2548
บทความพิเศษ
รศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์