• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

น้ำแร่เพื่อบริโภค

น้ำแร่ เป็นที่รู้จักกันมานานแล้วสำหรับคนไทยในแง่ของน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อใช้ในพิธีกรรมตลอดจนการนำมาอาบแช่รักษาโรคต่างๆ
 
กระแสของการนำน้ำแร่มาบริโภคเพิ่งเป็นที่นิยมในช่วงระยะเวลาสิบกว่าปีนี้เอง โดยการนำเข้าน้ำแร่จากต่างประเทศซึ่งมีราคาค่อนข้างแพง ต่อมามีการผลิตได้ภายในประเทศ ทำให้น้ำแร่เพื่อบริโภคมีราคาที่ถูกลงใกล้เคียงกับน้ำดื่มบรรจุขวดทั่วไป
น้ำแร่ธรรมชาติ (natural mineral water) หมายถึง น้ำที่ได้จากแหล่งน้ำใต้ดินในธรรมชาติซึ่งมีแร่ธาตุละลายอยู่ โดยมีต้นกำเนิดจากน้ำบนพื้นดินไหลซึมผ่านชั้นดินและชั้นหินพร้อมทั้งดูดซับแร่ธาตุต่างๆลงไปขังเป็นแอ่งน้ำใต้ดิน และถูกแรงกดดันภายในโลกทำให้ผุดหรือพ่นขึ้นมาเป็นแหล่งน้ำบนผิวดินในรูปของน้ำพุร้อน บ่อน้ำร้อน และไอน้ำร้อน

ในประเทศไทยพบแหล่งน้ำพุร้อน ๑๑๒ แหล่ง กระจายอยู่มากที่สุดในภาคเหนือ รองลงมาคือภาคใต้ ภาคตะวันตก และภาคกลาง มีช่วงอุณหภูมิ ๔๐-๑๐๐ องศาเซลเซียส ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ระหว่าง ๖.๔-๙.๕
แหล่งน้ำพุร้อนบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันตกส่วนใหญ่มีค่าฟลูออไรด์สูงมากกว่า ๕ มิลลิกรัมต่อลิตร และมีกลิ่นกำมะถันค่อนข้างแรง
ส่วนแหล่งน้ำพุร้อนในภาคใต้บางแห่งมีลักษณะเป็นน้ำเค็ม ส่วนในต่างประเทศแหล่งน้ำแร่ที่มีชื่อเสียงได้แก่ ฝรั่งเศส ออสเตรีย ตุรกี ญี่ปุ่น และจีน

องค์ประกอบที่สำคัญของน้ำแร่
น้ำแร่จะมีแร่ธาตุต่างๆ เป็นองค์ประกอบมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับชั้นหินที่น้ำไหลผ่าน ดังนั้น น้ำแร่ธรรมชาติแต่ละแหล่งจะมีแร่ธาตุที่แตกต่างกัน ซึ่งแร่ธาตุที่พบเป็นส่วนใหญ่ได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม โซเดียม โพแทสเซียม ไบคาร์บอเนต คลอไรด์ และซัลเฟต ส่วนแร่ธาตุอื่นๆ ที่พบในปริมาณน้อยได้แก่ ฟลูออไรด์ ลิเทียม ซีเลเนียม แมงกานีส เป็นต้น

มาตรฐานน้ำแร่ธรรมชาติเพื่อบริโภค
น้ำแร่ธรรมชาติที่เป็นเครื่องดื่มเพื่อบริโภคนั้น ต้องมีคุณภาพเหมาะสมที่จะบริโภคได้อย่างปลอดภัยตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม น้ำแร่ธรรมชาติ มาตรฐานเลขที่ มอก.2208-2547 โดยน้ำแร่ที่ดีต้องมีคุณลักษณะใส ไม่มีตะกอน ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีแร่ธาตุในปริมาณที่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ไม่พบเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค และมีปริมาณสารปนเปื้อนอันได้แก่ กัมมันตภาพรังสีรวมแอลฟา-บีตา และไซยาไนด์ ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน โดยน้ำแร่ธรรมชาติที่นำมาบริโภคนั้นมีอยู่ ๕ ประเภท ดังนี้
๑. น้ำแร่ประเภทมีคาร์บอเนต หมายถึง น้ำแร่ที่หลังจากการบรรจุแล้วมีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากับหรือใกล้เคียงกับปริมาณที่มีอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาตินั้น
๒. น้ำแร่ประเภทไม่มีคาร์บอเนต หมายถึง น้ำแร่ที่หลังจากการบรรจุแล้วไม่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่จะทำให้เกิดการละลายของเกลือไฮโดรเจนคาร์บอเนตที่มีอยู่ในน้ำ
๓. น้ำแร่ประเภทขจัดคาร์บอเนต หมายถึง น้ำแร่ที่หลังจากการบรรจุแล้วมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าปริมาณที่มีอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ
๔. น้ำแร่ประเภทเติมคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งกำเนิด หมายถึง น้ำแร่ที่หลังจากการบรรจุแล้วมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าปริมาณที่มีอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ
๕. น้ำแร่ประเภทเติมคาร์บอเนต หมายถึง น้ำแร่ที่มีการเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการบรรจุ

ตารางแสดงปริมาณสารในน้ำแร่ธรรมชาติตาม มอก.2208-2547
                                                                                                                                                                                                   หน่วย/มก./ต่อ ดม.

ลำดับที่รายการเกณฑ์ที่กำหนดสูงสุด
ทองแดง
แมงกานีส
สังกะสี
สารหนู๐.๐๕
แบเรียม๑.๐
แคดเมียม๐.๐๐๓
โครเมียม๐.๐๕
ตะกั่ว๐.๐๑
ปรอท๐.๐๐๑
๑๐ซีลีเนียม๐.๐๕
๑๑ไนเทรต(คำนวณเป็น NO3)๕๐
๑๒ซัลไฟต์(คำนวณเป็น H2S)๐.๐๕
๑๓ไบคาร์บอเนต๖๐๐
๑๔คาร์บอนไดออกไซด์อิสระ๒๕๐
๑๕โซเดียมคลอไรด์๑,๐๐๐
๑๖ปริมาณสารที่ละลายทั้งหมด๑,๐๐๐
๑๗ซัลเฟต๖๐๐
๑๘ฟลูออไรด์๒.๐


สำหรับผู้ที่สนใจบริโภคน้ำแร่ธรรมชาติเพื่อสุขภาพนั้น นอกจากจะต้องพิจารณาถึงคุณภาพของน้ำแร่ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม น้ำแร่ธรรมชาติ มาตรฐานเลขที่ มอก.2208-2547 แล้ว ยังควรคำนึงถึงด้วยว่าน้ำแร่นั้นมีคุณสมบัติใดเป็นพิเศษ อย่างเช่น มีแร่ธาตุใดเพิ่มขึ้นที่ทำให้สภาพแตกต่างจากน้ำแร่ชนิดอื่นๆ ซึ่งคุณสมบัติพิเศษเหล่านั้นอาจไม่เหมาะสมสำหรับผู้บริโภคบางราย เช่น
- สภาพเป็นกรดหรือด่างสูง การดื่มน้ำที่มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างบ่อยครั้งจะทำให้เสียสมดุลความเป็นกรดเป็นด่างของร่างกาย
- รสกร่อย เนื่องจากมีปริมาณโซเดียมคลอไรด์สูงมากกว่า ๑,๐๐๐ มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เดซิเมตร จะไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคไต และความดันเลือดสูง
- มีฟลูออไรด์สูงมากกว่า ๑ มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เดซิเมตร อาจทำให้ผู้บริโภคได้รับผลข้างเคียง เช่น ทำให้ฟันลายไม่เรียบ ฟันเป็นจุดขาวและกร่อนง่าย
- มีธาตุเหล็กสูงมากกว่า ๕ มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เดซิเมตร อาจเป็นอันตรายในเด็กเล็ก
- มีปริมาณของแข็งที่ละลายได้สูงมากกว่า ๑,๐๐๐ มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เดซิเมตร อาจทำให้ปัสสาวะมากกว่าปกติ
- มีซัลเฟตสูงมากกว่า ๖๐๐ มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เดซิเมตร อาจมีฤทธิ์ถ่ายท้อง
- สำหรับเด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรบริโภค เนื่องจากสภาพร่างกายที่ยังไม่สมบูรณ์พร้อมเหมือนผู้ใหญ่ปกติ

ในส่วนของผู้บริโภคที่ทำงานหนักหรือเป็นนักกีฬาที่สูญเสียเกลือแร่ต่อวันในปริมาณที่สูง การดื่มน้ำแร่ธรรมชาติที่มีปริมาณแร่ธาตุที่สมดุลและมีสภาพเป็นกลางในบางครั้งคราว จะช่วยชดเชยเกลือแร่ที่ร่างกายสูญเสียไปได้

นอกจากนี้ การพิจารณาเครื่องหมายรับรองคุณภาพและฉลากที่ระบุรายละเอียดอันได้แก่ สถานที่แหล่งน้ำแร่ธรรมชาติ ส่วนประกอบของแร่ธาตุที่สำคัญ วันหมดอายุ โดยเฉพาะประเภทน้ำแร่เติมคาร์บอเนต จะทำให้ผู้บริโภคได้ดื่มน้ำแร่ธรรมชาติแท้ๆ อย่างปลอดภัย และมีสุขภาพที่ดี
______________________________
เอกสารอ้างอิง :
๑. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม. 2547. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม น้ำแร่ธรรมชาติ มอก.2208-2547. กรุงเทพมหานคร. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม.
๒. สรจักร ศิริบริรักษ์. 2548 คู่มือดูแลสุขภาพด้วยวิตามินและเกลือแร่. กรุงเทพมหานคร. บริษัทพิมพ์ดี จำกัด.
๓. http://www.dmr.go.th
 

ข้อมูลสื่อ

320-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 320
ธันวาคม 2548
บทความพิเศษ
อนุชา สินธุสาร, อาภาพร สินธุสาร