• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคเริม

เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า เฮอร์ปีส์ซิมเพลกซ์ ๒ ชนิดคือ เฮอร์ปีส์ซิมเพลกซ์ ๑ เกิดโรคเริมเฉพาะที่ปาก และเฮอร์ปีส์ซิมเพลกซ์ ๒ เกิดโรคเริมเฉพาะที่อวัยวะเพศ

โรคเริมคืออะไร
โรคเริม เป็นโรคผิวหนังและเยื่อบุ (บริเวณปากและอวัยวะเพศ) ที่พบบ่อยชนิดหนึ่ง
เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า เฮอร์ปีส์ซิมเพลกซ์ (Herpes simplex virus) ซึ่งมี ๒ ชนิด คือ เฮอร์ปีส์ซิมเพลกซ์ ๑ และ เฮอร์ปีส์ซิมเพลกซ์ ๒
เดิมเคยเชื่อว่า เฮอร์ปีส์ซิมเพลกซ์ ๑ เกิดโรคเฉพาะที่ปาก
ส่วนเฮอร์ปีส์ซิมเพลกซ์ ๒ เกิดโรคเฉพาะที่อวัยวะเพศ
ปัจจุบันพบว่าไวรัสทั้ง ๒ ชนิดก่อโรคได้กับผิวหนังทั้ง ๒ แห่ง

การติดเชื้อ

การติดเชื้อจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีสภาพการณ์ดังนี้
มีเชื้อไวรัสในน้ำเหลืองจากแผล น้ำลาย น้ำเหลืองหรือน้ำอสุจิ (semen) แล้วเชื้อไวรัสต้องเข้าสู่ผิวหนังที่มีรอยถลอกหรือรอยแผล และอาจจะเข้าสู่เยื่อเมือก เช่น บริเวณปากและอวัยวะเพศ
เมื่อไวรัสเข้าสู่ร่างกายแล้วจะมีกระบวนการติดเชื้อ ดังนี้
เฮอร์ปีส์ไวรัสจะแทรกซึมเข้าไปในเซลล์ผิวหนังที่อยู่ชั้นล่างๆของผิวหนังโดยที่บางครั้งก็ไม่มีอาการ
แต่บางรายไวรัสจะแบ่งตัวและทำลายเซลล์ผิวหนัง จึงมีการอักเสบทำให้มีตุ่มน้ำใสเกิดขึ้นเป็นกลุ่ม อยู่บนปื้นแดง เมื่อตุ่มน้ำแห้งหรือแตกไปจะเกิดเป็นสะเก็ด แล้วหายโดยไม่มีแผลเป็น

ภายหลังการแบ่งตัวครั้งแรกแล้ว ไวรัสจะเข้าไปตามเส้นประสาทที่เลี้ยงผิวหนังบริเวณที่เกิดโรคแล้วเข้าไปแฝงตัวอยู่ที่ปมประสาทโดยไม่มีการแบ่งตัว ทำให้ทั้งไวรัสและเซลล์ประสาทอยู่ด้วยกันได้เป็นปกติ

เราไม่ทราบแน่ชัดว่ามีช่วงใดบ้างที่ไวรัสจะมีการแบ่งตัวและแพร่กระจายออกมาจากเซลล์ที่แฝงตัวอยู่ ในช่วงนี้เองที่จะพบไวรัสในของเหลวของร่างกาย ทำให้เกิดการติดเชื้อแก่ผู้สัมผัสได้ บ่อยครั้งที่การแบ่งตัวของไวรัสเกิดขึ้นโดยไม่มีอาการ

อาการของโรคเริมเป็นอย่างไร
อาการของโรคเริมขึ้นอยู่กับว่าเป็นโรคในครั้งแรก ระยะแฝง (ไม่มีอาการ) หรือระยะเป็นซ้ำ

อาการทั่วไปของการเป็นโรคครั้งแรก

ผื่นผิวหนังและอาการปวด ภายหลังจากได้รับเชื้อ ๒-๑๒ วัน จะมีอาการดังนี้
มีรอยบวมแดงบริเวณที่ติดเชื้อ ซึ่งจะกลายเป็นตุ่มน้ำใสเป็นกลุ่มอย่างรวดเร็ว
ตุ่มน้ำใสจะแห้งไปภายใน ๗-๑๐ วัน และหายโดยไม่มีแผลเป็น ตุ่มน้ำในบริเวณที่ชื้นแฉะจะเป็นอยู่นานกว่า อาจจะมีอาการคันร่วมด้วยได้
เมื่อสะเก็ดหลุดแล้วจะไม่ติดต่อ
เมื่อไวรัสเข้าสู่ร่างกายแล้ว อาจจะแพร่กระจายไปยังเยื่อเมือกที่อยู่ไกลออกไปได้ โดยผ่านทางเซลล์ประสาท
ในการติดเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ครั้งแรกอาจจะมีอาการอยู่นาน ๒-๓ สัปดาห์ แต่อาการปวดอาจจะเป็นนาน ๑-๖ สัปดาห์

อาการอื่นๆ
ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการเตือนก่อนจะมีผื่นขึ้นได้ ดังนี้
มีไข้ (อาจจะถึง ๓๘.๙ องศาเซลเซียส) ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว คล้ายจะเป็นหวัด มีอาการอยู่ประมาณ ๑ สัปดาห์

นอกจากนี้ ต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้รอยโรคอักเสบและโตขึ้น
ระยะแฝงและแพร่เชื้อ
ระยะแฝง
ภายหลังจากการเป็นครั้งแรก โรคจะเข้าสู่ระยะแฝง ซึ่งเป็นระยะที่ไม่มีอาการและไม่ติดต่อ
ระยะแพร่เชื้อโดยไม่มีอาการ ในบางเวลาที่แม้ไม่มีอาการแต่จะมีการแบ่งตัวของไวรัสและแพร่กระจายไปในของเหลวของร่างกายทำให้ผู้อื่นติดเชื้อได้ ประมาณหนึ่งในสามหรือครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีเชื้อแพร่กระจายเกิดขึ้นโดยไม่มีอาการ

ระยะเป็นซ้ำ
อาการในระยะเป็นซ้ำ
โรคเริมมักจะมีการเป็นซ้ำ โดยมีอาการดังนี้
อาการเตือน ก่อนผื่นของโรคเริมจะเกิดขึ้น มักจะมีอาการเตือนนำมาก่อน อาจจะมีอาการคัน ปวด หรือเสียวๆ ในบริเวณที่จะเป็นโรค โดยเป็นอยู่ ๒ ชั่วโมงถึง ๒ วัน ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้รอยโรคโต
ผื่นขึ้น ในระยะเป็นซ้ำจะเหมือนในระยะแรก เพียงแต่มีอาการน้อยกว่าและหายเร็วกว่า บางครั้งจะเป็นเพียงรอยอักเสบหรือถลอกเล็กน้อย
ปัจจัยที่กระตุ้น ยังไม่ทราบแน่ว่าอะไรเป็นสาเหตุให้มีการเกิดซ้ำของโรคเริม แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิด ได้แก่ แสงแดด ลม ไข้ ความกังวลและเครียด การมีประจำเดือน การบาดเจ็บและภูมิต้านทานของร่างกายที่ต่ำลง โรคเริมที่ปากอาจจะเกิดขึ้นภายใน ๓ วันหลังการถอนฟันหรือรักษารากฟัน และเกิดขึ้นได้ในการทำเลเซอร์ลอกผิว

ช่วงเวลาในการเกิดโรคซ้ำ
ในการเกิดโรคซ้ำอาจจะมีระยะห่างเป็นวัน สัปดาห์ หรือเป็นปี โดยทั่วไปในช่วงปีแรกภายหลังการติดเชื้อครั้งแรกจะเกิดโรคซ้ำได้ถี่กว่า ต่อเมื่อร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้มากขึ้นจะเป็นห่างขึ้นและรุนแรงน้อยลง

บริเวณที่พบโรคเริมที่ผิวหนังได้บ่อย คือปากและอวัยวะเพศ ในที่นี้จะกล่าวละเอียดเฉพาะโรคเริมที่ปาก

โรคเริมที่ปาก

มักจะเป็นที่ริมฝีปาก ในการติดเชื้อครั้งแรกอาจจะเป็นเยื่อเมือกในปากด้วย โรคเริมที่หน้าบริเวณแก้มและจมูกพบได้น้อย

โรคเริมที่ปากครั้งแรก

อาจจะมีอาการปวดมาก โดยเฉพาะถ้าเป็นในเด็ก ตุ่มน้ำใสจะเกิดที่ริมฝีปากแต่อาจจะขึ้นที่ลิ้นได้ เมื่อตุ่มน้ำใสแตกจะเป็นแผลเจ็บที่มีเยื่อสีเหลืองคลุมอยู่ ก่อนแผลจะหายภายใน ๗-๑๔ วัน อาจมีน้ำลายมากขึ้นและมีกลิ่นปาก อาการอื่นๆ ที่พบได้น้อย คือมีไข้หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ กลืนลำบากและหูได้ยินเสียงลดลง ในเด็กแผลโรคเริมมักจะเป็นในปาก ในผู้ใหญ่มักจะเป็นในลำคอส่วนบน

โรคเริมที่ปากระยะเป็นซ้ำ

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะเป็นปีละ ๒-๓ ครั้ง โรคเริมชนิดเป็นซ้ำมักจะมีอาการน้อยกว่าและหายเร็วกว่า แผลเริมในระยะที่เป็นซ้ำมักจะเป็นที่ขอบริมฝีปากด้านนอก

การติดต่อของโรคเริมที่ปาก
พบเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ในน้ำลายและน้ำเหลืองของผู้ป่วยที่ยังมีแผลอยู่ มีความชุกมากในเด็กระยะก่อนวัยเรียน ติดต่อได้ง่ายโดยการสัมผัส โดยเฉพาะการจูบกัน นอกจากนี้ อาจจะติดกันได้จากการใช้แปรงสีฟันหรือใช้ภาชนะในการดื่มหรือรับประทานด้วยกัน

ใครบ้างมีโอกาสติดโรค
ทุกคนมีโอกาสติดโรคเริมที่ปากได้ มากกว่าร้อยละ ๘๕ ของประชากรโลกติดเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเริมที่ปาก
การติดเชื้อครั้งแรกเกิดขึ้นในวัยเด็กเป็นส่วนใหญ่ อุบัติการณ์สูงสุดเกิดในเด็กระหว่างอายุ ๖ เดือน ถึง ๓ ขวบ เด็กในชุมชนแออัดและสุขอนามัยไม่ดีมีโอกาสติดเชื้อมากกว่า

การรักษา
ในกรณีที่เป็นครั้งแรก มีอาการรุนแรง การให้ยากินอะไซโคลเวียร์ (acyclovir) ภายใน ๔๘ ชั่วโมงแรก จะทำให้อาการของโรคหายเร็วขึ้น ดังนั้นในกรณีที่เป็นครั้งแรกและไม่ได้รับยาอะไซโคลเวียร์ใน ๒ วันแรก อาจจะให้การรักษาโดยประคบด้วยน้ำเกลือวันละ ๔-๕ ครั้งและทายาครีมพญายอ (เสลดพังพอนตัวเมีย)

ในกรณีที่เป็นโรคเริมระยะเป็นซ้ำ การให้ยากินอะไซโคลเวียร์ไม่ได้ช่วยให้โรคหายเร็วขึ้นและไม่ได้ลดโอกาสในการเป็นซ้ำ ผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการไม่มาก หากมีอาการปวดการประคบด้วยน้ำเกลือหรือน้ำเย็นวันละ ๔-๕ ครั้ง จะลดอาการลงได้ ภายหลังประคบแผลหากได้ทาด้วยครีมพญายอจะทำให้โรคหายได้เร็วขึ้น

การใช้ยาอะไซโคลเวียร์ชนิดทาไม่ได้ผลดีกว่าครีมพญายอ
สิ่งสำคัญประการหนึ่ง คือการรักษาสุขอนามัยที่ดี ผู้ที่เป็นโรคเริมต้องระวังอย่าจับบริเวณที่เป็นแผล และต้องล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปติดผิวหนังส่วนอื่นๆโดยเฉพาะที่ตา และเพื่อป้องกันไม่ให้ไปติดผู้อื่น
ยาสมุนไพรรักษาโรคเริมชนิดใหม่

แป๊ะตำปึงหรือจักรนารายณ์ (Gynura procumbens)
มีสรรพคุณที่ระบุในตำรายาไทยเป็นยาใช้ภายนอก บรรเทาอาการอักเสบ ปวดบวม ผื่นคัน แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย พืชในสกุลเดียวกันกับแป๊ะตำปึง คือว่านมหากาฬ (G. psudochina var. hispida) มีสรรพคุณบรรเทาอาการอักเสบเนื่องจากเริมและงูสวัด สารสกัดเอทานอลจากส่วนเหนือดินของแป๊ะตำปึง สามารถบรรเทาอาการคัน อักเสบและสมานแผล

จากการศึกษาด้านพฤกษเคมีและคุณสมบัติทางชีวภาพพบว่า สารสกัดเอทานอลมีคุณสมบัติต้านไวรัสเฮอร์ปีส์ และสารสำคัญที่แสดงฤทธิ์ต้านไวรัสเฮอร์ปีส์ คือสารผสมของกรดคาฟีออยควินิก (3, 5- และ 4, 5-di –O–caffeoyl quinic acids)

จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ดังกล่าว ร่วมกับการศึกษาในสัตว์ทดลองไม่พบว่าแป๊ะตำปึงมีพิษ แป๊ะตำปึงจึงเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพเป็นยาทาภายนอกบรรเทาอาการอักเสบระคายเคืองที่ผิวหนังอันเนื่องมาจากการแพ้ แมลงสัตว์กัดต่อย และโรคเริม 

แป๊ะตำปึง (Gynura procumbens)
โครงการรักษาโรคเริมที่ปากด้วยสมุนไพรแป๊ะตำปึง
การพัฒนาสมุนไพรเพื่อใช้รักษาโรคในแนวทางวิทยาศาสตร์ คือพัฒนาให้เป็นยาทาสำเร็จรูป เพื่อสะดวกในการใช้ เป็นแนวทางหนึ่งที่จะประหยัดเงินตราในการซื้อยาจากต่างประเทศ เป็นการส่งเสริมอาชีพของเกษตรกรไทยและพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตยาสมุนไพรไทย

ขณะนี้ที่หน่วยโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กำลังทดลองใช้ยานี้ใน ผู้ป่วยที่เป็นโรคเริมที่ปากในระยะเป็นซ้ำ อายุมากกว่า ๑๘ ปี และมีอาการกำเริบภายในไม่เกิน ๔๘ ชั่วโมง

หากท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีปัญหาจากโรคนี้ มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ และสามารถมาติดตามการรักษาได้ ๒ ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา ๒ สัปดาห์ ขอเชิญรับการรักษาด้วยยาสมุนไพรแป๊ะตำปึงได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย (ติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ ๐-๑๘๗๐-๕๗๕๘, ๐-๙๙๒๓๖-๔๕๖, ๐-๑๘๔๖-๐๓๖๙, ๐-๑๔๘๘-๗๓๓๘) 


 

 

ข้อมูลสื่อ

320-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 320
ธันวาคม 2548
โรคน่ารู้
ศ.นพ.สมยศ จารุวิจิตรรัตนา