ไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่สามารถระบาดได้กว้างขวาง และมีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ โรคนี้มีชื่อภาษาอังกฤษว่า "Influenza" ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาละตินคือ "Influentia" (แปลว่า "Influence") เนื่องเพราะคนสมัยก่อน เชื่อว่า การระบาดของโรคนี้มาจากอิทธิพลของดวงดาวและสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ นายแพทย์ฮิปโปเครติส (Hippocrates) บิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันได้บันทึกโรคนี้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.๑๓๑ ปี พ.ศ.๒๔๗๖ นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบเป็นครั้งแรกว่า โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นคนละชนิดกับไวรัสที่เป็นสาเหตุของการเกิดไข้หวัด
ชื่อภาษาไทย ไข้หวัดใหญ่
ชื่อภาษาอังกฤษ Influenza, Flu
สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza virus) ซึ่งอยู่ในกลุ่มไวรัสที่เรียกว่า "Ortho-myxovirus" ไวรัสไข้หวัดใหญ่มีอยู่ ๓ ชนิดใหญ่ๆ ได้แก่ เอ (A), บี (B), และ ซี (C) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอและบีมักก่อให้เกิดอาการรุนแรง และอาจพบระบาดได้กว้างขวาง ส่วนชนิดซี มักเป็นไม่รุนแรง และเกิดการระบาดในวงแคบ (เฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น) ชนิดเอและบีสามารถกลายพันธุ์ได้ง่าย จึงแตกแขนงเป็นสายพันธุ์ย่อยใหม่ๆ ก่อให้เกิดการระบาดของโรคได้ง่ายและรวดเร็ว ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ สามารถพบได้ทั้งในคนและสัตว์ (ส่วนอีก ๒ ชนิด พบเฉพาะในคน) แบ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยๆ โดยมีชื่อเรียกตามชนิดของโปรตีน ที่พบบนผิวของเชื้อไวรัส โปรตีนดังกล่าวมีอยู่ ๒ ชนิด ได้แก่ ฮีแม็กกลูตินิน (hemagglutinin) เรียกย่อๆ ว่า H ซึ่งมีอยู่ ๑๕ ชนิดย่อยและนิวรามินิเดส (neura-minidase) เรียกย่อๆ ว่า N ซึ่งมีอยู่ ๙ ชนิดย่อย ใน การกำหนดชื่อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ จึงใช้ตัวอักษร H ควบกับ N โดยมีตัวเลขกำกับท้ายอักษรแต่ละตัว ตามชนิดของโปรตีนที่พบ เช่น
ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 เป็นต้นเหตุของการระบาดของไข้หวัดใหญ่ทั่วโลก ในปี พ.ศ. ๒๔๖๑-๒๔๖๒ ซึ่งคร่าชีวิตคนราว ๒๐-๔๐ ล้านคน เนื่องจากเกิดระบาดในประเทศสเปนก่อนแพร่ไปทั่วโลก จึงมีชื่อว่า "ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish flu)" เชื้อสายพันธุ์นี้ได้กลับมาระบาดใหญ่อีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.๒๕๒๐ เนื่องจากมีต้นตอจากรัสเซีย จึงเรียกว่า ไข้หวัดใหญ่รัสเซีย (Russian flu) ไวรัสสายพันธุ์ H2N2 เป็นต้นเหตุการระบาดทั่วโลกของไข้หวัดใหญ่เอเชีย (Asian flu) ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐-๒๕๐๑ ซึ่งคร่าชีวิตคนราว ๑ ล้านคน ไวรัสสายพันธุ์ H3N2 เป็นต้นเหตุการระบาดทั่วโลกของไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง (Hong Kong flu) ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๑๒ ซึ่งคร่าชีวิตคนราว ๗ แสนคน ส่วนเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ สามารถพบในสัตว์ปีก เรียกว่า ไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีก (avian flu) ซึ่งคนไทยนิยมเรียกว่า ไข้หวัดนก และพบในหมู เรียกว่า ไข้หวัดใหญ่หมู (swine flu)
ไข้หวัดนก เป็นโรคที่พบระบาดในหมู่สัตว์ปีก (นก เป็ด ไก่ ห่าน) เป็นระยะๆ มาแต่นานแล้ว แต่ไม่เคยพบว่าติดต่อมาสู่คน ไข้หวัดนกมาโด่งดังเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐ ซึ่งพบระบาดในไก่บนเกาะฮ่องกง และพบว่ามีคนติดโรคจากไก่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่นก ๑๘ ราย ตาย ๖ ราย ตรวจพบว่าเกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ H5N1 ซึ่งได้กลับมาระบาดใหญ่ในเอเชีย (รวมทั้งประเทศไทย) ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.๒๕๔๖ เฉพาะในไทยและเวียดนามพบว่ามีการติดเชื้อ H5N1 จากไก่มาสู่คน ผู้ป่วยส่วนหนึ่งเป็นรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ร่างกายคนเรายังไม่คุ้นเคย จึงขาดภูมิต้านทานตามธรรมชาติ เชื้อไวรัสในสัตว์จะไม่ติดมายังคน แต่นานๆ ครั้งจะมีการแพร่จากสัตว์สู่คน (เช่น ไข้หวัด นก ไข้หวัดใหญ่หมู) โดยยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ในปัจจุบันยังไม่พบว่า เชื้อ H5N1 สามารถแพร่จากคนสู่คนโดยตรง แบบสายพันธุ์ที่พบในคน (เช่น H1N1, H3N2) แต่นักวิชาการเกรงว่า ถ้าคนรับเชื้อ H5N1 (จากไก่) พร้อมๆ กับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่พบในคนอยู่ในร่างกายคนเดียวกัน เชื้อทั้ง ๒ สามารถแลกเปลี่ยนสายพันธุ์ จนกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ตัวนี้จะสามารถแพร่จากคนสู่คน (ทำนองเดียวกัน หมูสามารถรับเชื้อทั้ง ๒ สายพันธุ์จากไก่และคนได้ และสามารถแลกเปลี่ยนสายพันธุ์ในตัวหมู กลายเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ซึ่งจะติดให้คน แล้วคนติดสู่คนด้วยกันเองได้) ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็จะเกิดการระบาดของโรคอย่างกว้างขวางและร้ายแรงได้ เพราะเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ตัวใหม่ที่มนุษย์เราไม่เคยเผชิญมาก่อนเลย
วิธีการแพร่เชื้อจากคนสู่คน เชื้อไข้หวัดใหญ่จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย เมื่อมีอาการ ไอ จาม หรือหายใจรดกัน คนข้างเคียงก็จะสูดเอาละอองฝอยของผู้ป่วยที่มีเชื้อเจือปนเข้าไปในทางเดินหายใจกลายเป็นโรคได้ นอกจากนี้ยังอาจจะติดต่อโดยการสัมผัสถูกมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ (เช่น ลูกบิดประตู ฝาตู้เย็น โทรศัพท์ แก้วน้ำ เป็นต้น) ที่แปดเปื้อนน้ำมูก น้ำลายผู้ป่วย แล้วใช้นิ้วมือที่แปดเปื้อนเชื้อนี้เช็ดจมูก เช็ดตา เชื้อก็จะเข้าไปทางจมูกและตาเข้าไปในที่ทางเดินหายใจ กลายเป็นโรคได้อีกทางหนึ่ง
ระยะฟักตัวของโรค (นับตั้งแต่เริ่มติดเชื้อจนถึงระยะที่มีอาการไม่สบาย) ๑-๔ วัน
อาการ จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หน้าแดง ตาแดง ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อยตามตัว (โดยเฉพาะที่บริเวณกระเบนเหน็บ และต้นแขน ต้นขา) อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ขมในคอ จุกแน่นท้อง คลื่นไส้อาเจียน ต่อมาจะมีอาการเจ็บคอ คัดจมูก ไอแห้งๆ แบบไข้หวัด แต่บางคนอาจไม่มีอาการเป็นหวัด คัดจมูกก็ได้ มีข้อสังเกตว่าไข้หวัดใหญ่มักเป็นหวัดน้อย ไข้หวัด (น้อย) มักเป็นหวัดมาก โดยทั่วไปมักจะเป็นไข้อยู่ ๒-๔ วัน แล้วค่อยๆ ทุเลาไปได้เอง ส่วนอาการไอและอ่อนเพลีย อาจจะเป็นอยู่นาน ๑-๔ สัปดาห์ แม้ว่าอาการอื่นๆ จะทุเลา แล้วก็ตามในรายที่เป็นมาก หรือเกิดจากเชื้อที่รุนแรง (เช่น ไข้หวัดนก) จะมีภาวะปอดอักเสบ (ปอดบวม) ร่วมด้วย ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจหอบเหนื่อย และอาจเสียชีวิตได้
การแยกโรค
- ก. ในกรณีที่มีไข้สูง เจ็บคอ น้ำมูกไหล ไอ อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น
๑. ไข้หวัด (ไข้หวัดน้อย ไข้หวัดธรรมดา) จะมีอาการไข้ มีน้ำมูก ไอ แต่จะไม่ปวดเมื่อยมาก และไม่เบื่ออาหารมากแบบไข้หวัดใหญ่ มักมีไข้สูง ๒-๔ วัน
๒. หัด จะมีไข้สูงตลอด เวลา หน้าแดง ตาแดง ซึม เบื่ออาหาร น้ำมูกมาก ไอมาก กินยาลดไข้ไม่ค่อยทุเลา หลังมีไข้ ๓-๔ วัน จะมีผื่นแดงขึ้นตามใบหน้า ลำตัว แขน ขา มักมีไข้สูงอยู่ ๑ สัปดาห์ แล้วทุเลาได้เอง ในรายที่เป็นรุนแรง อาจมีอาการหอบ (จากปอดอักเสบ) ท้องเดิน หรือชัก (จากสมองอักเสบ) สำหรับไข้หวัดและหัดมักจะรักษาโดยการให้ยาบรรเทาตามอาการ
๓. ทอนซิลอักเสบ จะมีไข้สูง เจ็บคอ ตรวจพบทอนซิลบวมแดงหรือเป็นหนอง ต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
๔. ปอดอักเสบ จะมีไข้สูง ไอ หอบ เจ็บหน้าอก ไอมีเสลดออกเป็นหนอง หากสงสัยควรส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
- ข. ในกรณีที่มีไข้สูง โดยไม่มีน้ำมูกไหล อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น
๑. ไข้เลือดออก จะมีไข้สูงตลอด และหน้าแดง ตาแดง ซึม เบื่ออาหาร ต่อมาอาจมีอาการปวดท้อง อาเจียน มักมีไข้อยู่นาน ๑ สัปดาห์ ในรายที่เป็นรุนแรง หลังมีไข้ ๓-๗ วัน จะมีอาการมือ เท้าเย็น เป็นลม หน้ามืด มีจุดแดงจ้ำเลือด ตามผิวหนัง หรือมีเลือดออก
๒. กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน จะมีไข้สูง หนาวสั่นมาก ปวดหลัง ปัสสาวะขุ่น เคาะเจ็บตรงบริเวณบั้นเอว (สีข้าง) ข้างใดข้างหนึ่ง
๓. มาลาเรีย (ไข้ป่า) จะมีไข้สูง หนาวสั่นมาก (จับไข้เป็นเวลา วันละครั้ง หรือวันเว้นวัน) มักมีประวัติเดินทาง เข้าไปในเขตป่าเขา
๔. ไข้รากสาดน้อย (ไทฟอยด์) จะมีไข้สูงตลอด เวลานานเกินสัปดาห์ขึ้นไป (ถ้าไม่ได้รักษา มักมีไข้นาน เป็นแรมเดือน) ร่วมกับอาการปวด ศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ท้องผูก (บางคนอาจท้องเดิน)
๕. ไข้รากสาดใหญ่ (ไทฟัส) จะมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ อาจพบรอยแผลคล้ายรอยบุหรี่จี้ตามผิวหนัง (มักพบอยู่ตามซอกรักแร้ ขาหนีบ ในบริเวณร่มผ้า) มักมีประวัติเข้าไปในเขตป่าเขา หรือไร่สวน ไข้มักจะเป็นอยู่นานเป็นสัปดาห์ๆ
๖. เล็ปโตสไปโรซิส (ไข้ฉี่หนู) จะมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อน่อง ตาแดง ตาเหลือง (ดีซ่าน) มักมีประวัติเดินย่ำน้ำ หรือแช่ตัวในห้วย หนอง คลอง บึง
๗. ตับอักเสบจากไวรัส จะมีไข้สูง อ่อนเพลีย ปวดจุกแน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน มักมีไข้อยู่ ๔-๕ วัน หลังไข้ลด จะมีอาการดีซ่าน (ตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะเหลือง)
สำหรับสาเหตุดังกล่าวข้างต้นทั้งหมด จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์โดยตรง ดังนั้น หากสงสัยควรไปพบแพทย์โดยเร็ว
การวินิจฉัย โดยทั่วไปแพทย์มักจะวินิจฉัยไข้หวัดใหญ่จากอาการไข้สูง เป็นหวัด ปวดเมื่อยมากตามตัว (บ่อยครั้งเวลาผู้ป่วยมีไข้สูง ปวดเมื่อยมาก ตรวจร่างกายไม่พบสิ่งผิดปกติอื่นๆ แพทย์มักจะบอกว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ซึ่งอาจวินิจฉัยมากเกินจริงหรือผิดพลาดก็ได้ เพราะอาจเป็นไข้ชนิดอื่นที่ยังไม่ปรากฏอาการชัดเจนก็ได้) การวินิจฉัยแน่ชัดต้องอาศัยการตรวจพิเศษ เช่น การตรวจหาเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จากคอและจมูก การตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกัน (แอนติบอดี) ต่อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น เมื่อแพทย์ติดตามดูอาการเบื้องต้น แล้วไม่ทุเลา หรือมีอาการที่น่าสงสัยว่าเป็นไข้จากสาเหตุอื่น แพทย์มักจะทำการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ และอาจทำการตรวจพิเศษอื่นๆ ตามความจำเป็น
การดูแลตนเอง ในกรณีที่มีไข้สูง ปวดเมื่อย มีน้ำมูกใส โดยไม่มีความผิดปกติอื่นๆ และยังกินได้ ไม่อาเจียน สามารถให้การดูแลรักษาเบื้องต้น ดังนี้
๑. นอนพักให้เต็มที่
๒. ห้ามอาบน้ำเย็น ขณะมีไข้สูงให้ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น (น้ำก๊อก) เช็ดตัวบ่อยๆ เมื่อไข้ลดแล้วควรอาบน้ำอุ่นต่ออีก ๓-๔ วัน
๓. ดื่มน้ำมากๆ ประมาณชั่วโมงละ ๑-๒ แก้ว หรือมากพอจนมีปัสสาวะออกมากและใส น้ำดื่มอาจเป็นน้ำเปล่า น้ำหวาน น้ำอัดลม หรือน้ำผลไม้ก็ได้
๔. กินอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก หากเบื่ออาหาร พยายามดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลม น้ำผลไม้ นม ให้มากๆ
๕. เวลามีไข้สูง ให้ยาลดไข้พาราเซตามอล (ขนาด ๕๐๐ มิลลิกรัม)
- ผู้ใหญ่ กินครั้งละ ๑-๒ เม็ด
- เด็กโต กินครั้งละ ครึ่ง ถึง ๑ เม็ด
- เด็กเล็กใช้ยาชนิดน้ำเชื่อม กินครั้งละ ๑-๒ ช้อนชา
ถ้ายังมีไข้ให้กินซ้ำได้ทุก ๖ ชั่วโมง ควรกินยาเมื่อมีอาการไข้สูง หรือปวดเมื่อยมาก เท่านั้น เมื่ออาการทุเลาแล้วไม่ต้องกินซ้ำ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาลดไข้แอสไพริน ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) หรือยาบรรเทาไข้ชนิดอื่นๆ เนื่องเพราะอาจมีผลแทรกซ้อนจากการใช้ยาได้ เช่น ถ้าเป็นไข้หวัดใหญ่ การใช้แอสไพรินในคนที่มีอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี อาจทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด กลุ่มอาการเรย์ (Reye's syndrome) ซึ่งจะมีอาการสมองอักเสบร่วมกับตับอักเสบ จัดเป็นภาวะที่มีอันตรายร้ายแรงได้ ถ้าเป็นไข้เลือดออก (บางครั้งแยกจากไข้หวัดใหญ่ได้ไม่ชัดเจน) หากกินยาแอสไพริน หรือไอบูโพรเฟน ก็อาจทำให้เลือดออกได้ง่ายและรุนแรงขึ้นได้ โดยทั่วไป เมื่อปฏิบัติตัวดังกล่าวข้างต้น อาการไข้หวัดใหญ่จะค่อยๆ บรรเทาได้เองภายใน ๒-๔ วัน
ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ เมื่อมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
๑. มีอาการจับไข้ หนาวสั่น (ต้องห่มผ้าหนาๆ)
๒. หายใจหอบ หรือเจ็บหน้าอกมาก
๓. ปวดท้องมาก หรืออาเจียนบ่อย
๔. มีเลือดออก เช่น มีจุดแดงจ้ำเลือดตามตัว เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด เป็นต้น
๕. มีอาการตาเหลือง (ดีซ่าน)
๖. มีรอยแผลคล้ายรอยบุหรี่จี้ตามร่างกาย
๗. มีไข้นานเกิน ๗ วัน
๘. เจ็บคอมาก หรือทอนซิลบวมแดงเป็นหนอง
๙. น้ำมูก หรือเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว
๑๐. ดูแลรักษาตนเอง ๔ วันแล้ว อาการไม่ทุเลา
๑๑. มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลรักษาตนเอง หรือสงสัยเป็นไข้หวัดนก (มีประวัติสัมผัสไก่ที่ป่วย)
การรักษา สำหรับไข้หวัดใหญ่ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน แพทย์จะให้การรักษาโดยให้ยาบรรเทาตามอาการ เช่น ยาบรรเทาไข้ แก้ไอ และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวต่างๆ ในรายที่เป็นรุนแรง แพทย์อาจให้ยาต้านไวรัส เช่น อะแมนทาดีน (amantadine) ไรแมนทาดีน (rimantadine) ไรบาไวริน (ribavirin) โอเซลทามิเวียร์ (oseltamivir) ซานิมิเวียร์ (zanimivir) เป็นต้น ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ เป็นต้น แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย
ภาวะแทรกซ้อน ส่วนมากมักจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน บางรายอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เช่น ไซนัสอักเสบ (ปวดเจ็บตรงหัวคิ้ว หรือโหนกแก้ม มีน้ำมูกเป็นหนอง), หูชั้นกลางอักเสบ (ปวดหู หูอื้อ), หลอดลมอักเสบ (ไอมีเสมหะเหลืองหรือเขียว) ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง ได้แก่ ปอดอักเสบ ซึ่งอาจมีอันตรายถึงตายได้ ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงมักเกิดในบุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ช่วงไตรมาสที่ ๓ (เดือนที่ ๗-๙) ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยที่มีภาวะไตวาย ผู้ที่สูบบุหรี่จัด และผู้ที่มีโรคเรื้อรังทางปอด หรือหัวใจ เป็นต้น
การดำเนินโรค
ในรายที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน อาการไข้มักจะทุเลาได้ภายใน ๑-๗ วัน (มักจะอยู่ในช่วง ๒-๔ วัน) ส่วนในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มักจะรักษาให้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ส่วนในรายที่มีปอดอักเสบแทรกซ้อน ถ้าได้รับการรักษาได้ทันท่วงทีมักจะหายได้ ยกเว้นในกลุ่มเสี่ยง (เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว) ก็อาจเป็นรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
การป้องกัน
๑. สำหรับคนทั่วไป ให้หมั่นดูแลสุขภาพตนเอง ด้วยการออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการสัมผัสคนหรือสัตว์ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่
๒. ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ป้องกันในบุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยง (ดูหัวข้อ "ภาวะแทรกซ้อน") รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข คนอายุต่ำกว่า ๑๘ ปีที่ต้องกินแอสไพรินประจำ การฉีดวัคซีนป้องกัน จะต้องฉีดปีละครั้ง อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ที่เกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดใหม่ วัคซีนที่ใช้อยู่เดิม (ซึ่งป้องกันได้เฉพาะไวรัสชนิดเอ สายพันธุ์ H1N1, H3N2 และชนิดบี) ก็อาจไม่ได้ผลในการป้องกันก็ได้
๓. สำหรับผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่จากเชื้อไวรัสชนิดเอ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัส (เช่น อะแมนทาดีน ไรแมนทาดีน) กินป้องกัน
- อ่าน 30,829 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้