• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคที่มาจาก...นั่งนานเกินไป

โรคที่มาจาก...นั่งนานเกินไป

ข่าวการเสียชีวิตของสุภาพสตรีชาวออสเตรเลียด้วยภาวะโรคชนิดหนึ่งที่เรียกว่า"Economy class syndrome" ทำให้สายการบินทั่วโลกต่างตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้โดยสาร บางสายการบินได้จัดทำคู่มือแนะนำการเดินทางขึ้นเป็นการเฉพาะ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอาการของโรคดังกล่าว
โรคอีโคโนมีคลาสซินโดรมนี้พบในผู้โดยสารที่เดินทางโดยเครื่องบิน โดยใช้ระยะเวลาบินครั้งละนานเกิน   ๓ ชั่วโมงขึ้นไป บางคนจะป่วยทั้งในขณะเดินทาง หรือหลังจากเดินทางแล้ว โรคนี้มิใช่โรคใหม่แต่อย่างใดที่ จริงคือโรคหลอดเลือดดำอุดตัน หรือ deep venous thrombosis (DVT) ซึ่งนอกจากจะเกิดกับผู้โดยสารชั้นประหยัดแล้ว ผู้โดยสารชั้นหนึ่ง ชั้นธุรกิจ หรือแม้แต่ นักบินก็เสี่ยงเป็นโรคนี้เช่นกัน เพียงแต่ไม่มากเท่า
ทั้งนี้บุคคลในกลุ่มอาชีพอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคดีวีที ได้แก่ พนักงานขับรถแท็กซี่ รถโดยสารประจำทาง รถบรรทุกส่งของเดินทางระหว่างจังหวัด หรือผู้ที่นั่งโต๊ะทำงานเป็นประจำตั้งแต่เช้าจรดเย็น ผู้เข้าชมภาพยนตร์เรื่องยาวๆ ละคร หรือคอนเสิร์ตก็อาจจะเกิดโรคนี้ขึ้นได้เช่นกัน

สังเกตอาการได้ง่าย
อาการของผู้ที่เป็นโรคนี้ โดยทั่วไปจะมีอาการปวดบวมแดงบริเวณน่องหรือข้อเท้า จะสังเกตได้ว่าเวลาอยู่บนเครื่องบินนานๆ นั้น จะสวมรองเท้ากลับเข้าไปอีกนั้นค่อนข้างยาก เนื่องจากเท้าบวมเพราะไม่ได้เคลื่อนไหว
อาการของโรคดีวีทีเกิดจากการที่เลือดจับตัวเป็น ลิ่มหรือชิ้นเล็กๆ แล้วไหลเข้าไปตามกระแสเลือด และอาจไปอุดตันตามอวัยวะที่สำคัญ เช่น ปอด หรือหัวใจ ทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ปัจจัยเสริมที่ทำให้เกิดโรคดีวีทีตามร่างกายส่วนล่างตั้งแต่ใต้หัวเข่าลงไป ได้แก่ การนั่งในที่คับแคบเป็นเวลานานๆ หลายชั่วโมงโดยไม่ ค่อยได้เปลี่ยนอิริยาบถ การนั่งไขว้ขา การดื่มเครื่องดื่ม ประเภทแอลกอฮอล์ การดื่มน้ำน้อยเกินไป หรือการมีหลอดเลือดขอดหรือโป่งพอง ก็ล้วนเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดโรคนี้ได้ทั้งนั้น

ป้องกันได้โดย
โรคดีวีทีสามารถป้องกันได้ในระหว่างเดินทางดังนี้คือ
: กินยาแอสไพรินวันละครึ่งเม็ดก่อนเดินทาง ๒ วันและอีกครึ่งเม็ดกินเมื่ออยู่บนเครื่อง เพราะยาแอสไพรินมีฤทธิ์ทำให้เกล็ดเลือดไม่จับกลุ่มหรือเป็นลิ่ม
: เลือกที่นั่งใกล้ทางเดิน อย่านั่งด้านใน เพราะนั่งใกล้ทาง เดินจะมีที่ว่างพอให้เหยียดแขน ขา แก้อาการเมื่อยขบ
: อย่านั่งไขว้ขา เปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ ลุกเดินบ้าง
: หมั่นบริหารขาโดยยื่นเท้าทั้ง ๒ ข้างออกไป ยกขึ้นสูง เท่าที่จะยกได้ เหยียดนิ้วเท้ากางออกสัก ๓ วินาที แล้วยกเท้าลง เหยียดนิ้วเท้าชี้ลงพื้นดินอีก ๓ วินาที ก็จะช่วยบรรเทาอาการเมื่อยขบได้
: สวมเสื้อผ้าชุดค่อนข้างหลวมสบาย อย่าสวมถุงน่องที่มีแผ่นอิลาสติกรัดรึงใต้เข่า เพราะจะทำให้เลือด เดินไม่สะดวก
: ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ สุราอาหารรสเค็มจัด และควรดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ
นอกจากโรคดีวีทีที่มากับการโดยสารเครื่องบินแล้ว ยังมีโรคอื่นๆ ที่อาจติดต่อกันได้ในห้องโดยสาร เช่น โรคหวัด วัณโรค โรคผิวหนัง เป็นต้น
ดังนั้นจึงควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อเป็น เกราะป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บเข้ามาสู่ร่างกายโดยง่าย

ข้อมูลสื่อ

277-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 277
พฤษภาคม 2545
โรคน่ารู้
พเยาว์ รอดโพธิ์ทอง