• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พลังพร่อง

บ่อยๆ ที่เรารู้สึกอ่อนเพลีย อ่อนแรง เมื่อยล้า ภายหลังการตรากตรำทำงานมาทั้งวัน อยากจะนอนหลับพักผ่อน พอหลับไปสักงีบ รู้สึกว่ากลับมากระชุ่มกระชวยอีกครั้ง
แต่มีผู้ป่วยหรือคนบางคน (บางครั้งอาจรู้สึกว่าไม่ใช่ผู้ป่วย) จะมีความรู้สึกเมื่อยล้า อ่อนแรง ไม่ค่อยอยากพูด พูดแล้วไม่มีกำลัง ไปเดินเหินมากหน่อย หรือไปวิ่งออกกำลังกายอาการจะเหนื่อยรุนแรงขึ้น บางครั้งมีอาการตาลาย เวียนศีรษะ ซึ่งมีอาการเป็นประจำทุกวัน
ผู้ป่วยเหล่านี้บางครั้งมาพบแพทย์ด้วยอาการต่างๆ บางครั้งตรวจพบความผิดปกติบ้าง ไม่พบความผิดปกติบ้าง ขึ้นกับความรุนแรงของโรค แพทย์จีนจัดคนกลุ่มนี้เป็นพวกพลังพร่อง

๑. พลังพร่องคืออะไร

พลัง เป็นหยาง เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของการทำให้มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางสรีระของอวัยวะภายใน (จั้งฝู่) ของร่างกายเป็นตัวกระตุ้น ขับเคลื่อน ให้ความอบอุ่น ปกป้องอันตรายจากภายนอก ดึงรั้งสารต่างๆ และสารน้ำให้อยู่ในร่างกาย ช่วยการเปลี่ยนแปลงย่อยอาหาร บำรุงเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย การขาดพลังหรือพลังพร่อง จึงทำให้ระบบการทำงานของร่างกายเสื่อมถอย อวัยวะภายในอ่อนแอ จึงเกิดอาการได้หลายระบบ

๒. อาการพลังพร่อง และการตรวจพบความผิดปกติอะไร
- คนที่พลังพร่อง จะมีใบหน้าไม่สดใส ไร้ชีวิตชีวา เหนื่อยง่าย พูดไม่มีกำลัง เสียงเบา ไม่ค่อยอยากจะพูด เวลาเดินหรือออกกำลังกายมักจะเหนื่อยมากขึ้น
- อาการร่วมอื่นๆ เช่น เวียนศีรษะ ตามัว เหงื่อออกง่าย ตรวจร่างกาย : ตัวลิ้นซีด หรือบวมอ้วนมีรอยฟันหยักที่ขอบลิ้น ชีพจรเล็ก หรืออ่อนพร่องและไม่มีกำลัง

๓. พลังพร่องมีหลายระบบ มีแสดงออกต่างกันอย่างไร
พลังพร่องเป็นลักษณะทั่วไป ถ้าอวัยวะใดมีพลังอ่อนแอ ก็จะแสดงอาการเฉพาะตามระบบนั้นๆ เช่น
พลังหัวใจพร่อง  นอกจากมีอาการพลัง พร่องแล้ว ยังมีอาการใจสั่น ตื่นตระหนก หายใจสั้น
พลังปอดพร่อง  นอกจากมีอาการพลัง พร่องแล้ว ยังมีอาการหายใจเร็วตื้น ไอมีเสมหะมาก เสียงไม่มีพลัง
พลังม้ามพร่อง  มีพลังพร่องและมีอาการเพิ่มเติมคือ ความอยากอาหารลดลง ท้องอืดแน่น อุจจาระเหลวเป็นน้ำ
พลังตับพร่อง  มีพลังพร่องและมีอาการเพิ่มเติมคือ อึดอัด หงุดหงิด ตกใจง่าย ไม่ทนต่อการใช้แรงงาน ชอบถอนหายใจ
พลังไตพร่อง  มีพลังพร่องและมีอาการ เพิ่มเติมคือ ปวดเมื่อยเอวและเข่า เคลื่อนไหวมากจะมีอาการหอบ ปัสสาวะกลั้นไม่อยู่ สมรรถภาพทางเพศเสื่อม
พลังปกป้องผิวพร่อง  มีพลังพร่องและ มีอาการเพิ่มเติมคือ กลัวลม เหงื่อออกง่าย เป็นหวัดง่าย
พลังส่วนกลางของร่างกายพร่อง  มีพลังพร่องและมีอาการเพิ่มเติมคือ ท้องอืด ท้องเสีย ตากระตุก อวัยวะภายในหย่อน

๔. สาเหตุของพลังพร่องคืออะไร
- พื้นฐานทางพันธุกรรม
- การบำรุงและกินอาหารไม่ถูกต้อง
- อวัยวะภายใน ปอด ม้าม ไตเสื่อมสมรรถภาพ ทำให้การเกิดพลังของร่างกายไม่เพียงพอ
- การเจ็บป่วยเรื้อรัง ทำลายชี่และจิง
- เหนื่อยอ่อนล้าจากการทำงาน และฟื้นฟูไม่พอ
- อายุมากขึ้น มีการเสื่อมของร่างกาย

๕. กลไกลการเกิดโรคของพลังพร่องคืออะไร

พลังเป็นรากฐานของมนุษย์ พลังเป็นตัวขับเคลื่อน ให้ความอบอุ่น ให้การย่อยสลายอาหาร ปกป้องร่างกาย ดึงรั้งสารน้ำของเหลวและเลือดให้อยู่ในร่างกาย นำอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย

พลังของร่างกายมีหลายชนิด เช่น
พลังหยวนชี่  มีกำเนิดจากไต ผ่านทะลวง ซานเจียว ช่องกลวงที่บรรจุอวัยวะภายใน ถ้าหยวนชี่ อ่อนแอ การทำงานของอวัยวะภายในเสื่อมถอย ทำให้ไม่มีพลัง เหนื่อยง่าย ไม่มีชีวิตชีวา เสียงเบาไม่มีพลัง พลังที่จะผลักดันให้อาหารไปเลี้ยงสมอง หรือส่วนบนร่างกายลดลง ทำให้เวียนศีรษะ ตาลาย
พลังปกป้องผิวอ่อนแอ ทำให้ไม่สามารถดึงรั้งเหงื่อไว้ในร่างกาย ทำให้เหงื่อออกง่าย
เวลาใช้แรงงานมีการเสียพลัง พลังยิ่งไม่พอ ทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น
พลังไม่พอ ทำให้เลือดมาหล่อเลี้ยงที่ลิ้นลดลง ทำให้ลิ้นซีด อ่อนนุ่ม
พลังไม่พอทำให้ชีพจรเต้นอ่อนแรง คลำได้ยาก

๖. พลังพร่องนานๆ จะเกิดอะไรขึ้น
๑. เกิดโรคกับอวัยวะภายในต่างๆ ตามที่กล่าวมาแล้ว
๒. เป็นนานๆ ทำให้เกิดภาวะหยางพร่อง
๓. พลังพร่องทำให้เลือดพร่อง พลังพร่องทำให้ไม่สามารถดึงรั้งเลือดให้อยู่ในหลอดเลือดได้ ทำให้เลือดออก พลังพร่องยังทำให้เลือดไม่ไหลเวียน เกิดเลือดอุดกั้น
๔. ทำให้พลังปกป้องผิวไม่ดี เป็นหวัดง่าย เหงื่อออกง่าย
๕. พลังพร่องทำให้มีการตกค้างไม่เคลื่อนไหว ยิน หรือสารน้ำต่างๆ ตกค้าง เกิดเป็นไฟ เกิดไข้เนื่องจากพลัง พร่อง

๗. ตำรับพื้นฐานของสมุนไพรจีนในการรักษาพลังพร่องคืออะไร
หลักการจัดตำรับยาคือ เสริมพลังบำรุงพร่อง
โดยใช้ตำรับยาพื้นฐานซื่อ-จวิน-จื่อ-ทัง
ซึ่งมีตัวยาสำคัญ ๔ ตัว คือ
- เหยิน-เซิน หรือ ตั่ง-เซิน  
- ไป่-จู๋
- ฟู่-หลิง
- จื้อ-กาน-เฉ่า
มีการปรับลดยาตามสภาพของโรค

๘. โรคพลังพร่องเกี่ยวกับหรือคล้ายคลึงกับโรคอะไรในแพทย์แผนปัจจุบัน
เกี่ยวข้องกับโรคเกือบทุกระบบ แล้วแต่ว่าจะพร่อง ระบบไหน เช่น
ระบบหัวใจหลอดเลือด - หลอดเลือดอุดตัน หัวใจขาดเลือด
ระบบทางเดินหายใจ    - ภูมิแพ้ หอบหืด
ระบบย่อยอาหาร          - อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย
ระบบต่อมไร้ท่อ            - ฮอร์โมนต่างๆ ลดน้อยลง
ระบบสืบพันธุ์                - มีบุตรยาก เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
ระบบเลือด                   - ตกเลือด เลือดจาง
ระบบภูมิคุ้มกันต่ำ         - เป็นหวัดง่าย ติดเชื้อง่าย

๙. ภาวะพลังพร่องควรรักษาแบบแผนจีนหรือแบบแผนปัจจุบัน
ความจริง พลังพร่องไม่มีการวินิจฉัยด้วยแผนปัจจุบัน ในระดับของการพร่องเล็กน้อย บางครั้งผู้ป่วยจะมีอาการไม่รุนแรง เป็นๆ หายๆ ตรวจไม่พบความผิดปกติที่แน่ชัดด้วยแผนปัจจุบัน ผู้ป่วยประเภทนี้ควรให้ การดูแลด้วยแพทย์แผนจีนจะดีมาก

ถ้ามีอาการและความรุนแรงมากขึ้น การรักษาด้วย แพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนจีนควรจะต้องพิจารณาร่วมกัน อะไรเป็นหลัก อะไรเป็นรองในแต่ละระยะ บางครั้งต้องรักษาร่วมกัน แผนปัจจุบันรักษาเฉพาะจุด แผนจีนรักษาองค์รวม จะทำให้การรักษาเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

ข้อมูลสื่อ

308-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 308
ธันวาคม 2547
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล