• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รัง : ความหอมภายใต้ภาพลักษณ์ความแข็งแกร่งทนทาน

เอาธูปเทียนบุปผาสุมาลัย  ชวนกันไหว้พระแท่นแผ่นศิลา
ในระหว่างนางรังทั้งคู่ค้อม  คำนับน้อมกิ่งก้านก็สาขา...
                                          (นิราศพระแท่นดงรัง-นายมี)

บทความตอนนี้ตั้งใจเขียนสำหรับตีพิมพ์ในเดือนธันวาคมอันเป็นเดือน สุดท้ายของปี (ตามปฏิทินสุริยคติ) จึงเลือกต้นไม้ที่มีความหมายให้ระลึกถึงธรรมะข้อหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์ช่วงปรินิพพาน นั่นคือ มรณานุสติ หรือการมีสติระลึกถึงความตายอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เกิดความประมาท นอกจากนั้น ยังตั้งใจให้เป็นเสมือน "ธูปเทียนบุปผาสุมาลัย" มอบให้แด่พี่น้องภาคใต้ ซึ่งเสียชีวิตในเหตุการณ์ที่อำเภอตากใบช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และเพื่อให้เป็นอุทาหรณ์แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายว่า ความตายนั้นแม้จะมาถึงทุกผู้คนอย่างไม่มีวันหนีพ้นก็ตาม แต่ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นก่อนเวลาอันควร หรือเกิดจากความประมาทเลินเล่อ ไม่เคารพเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ด้วยกัน

สำหรับพุทธศาสนิกชนชาวไทย ส่วนใหญ่เชื่อว่าพระพุทธองค์ทรงประสูติและเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานใต้ต้นรัง ตามที่บรรยายไว้ในหนังสือปฐมสมโพธิกถา โดยเฉพาะชาวไทยในอดีตส่วนหนึ่ง ถึงกับเชื่อว่าสถานที่ปรินิพพานของพระพุทธองค์อยู่ในประเทศไทยนี้เอง นั่นคือที่พระแท่นดงรังในเขตจังหวัดกาญจนบุรี ทำให้คนไทยในอดีตพากันบุกป่าฝ่าดงเดินทางไปนมัสการพระแท่นดงรังให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต เช่นเดียวกับการเดินทางไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรีนั่นเอง

หนังสือปฐมสมโพธิกถาบรรยายเหตุการณ์ตอนที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดจะเสด็จไปปรินิพพานที่เมืองกุสินาราไว้ว่า... "พอเวลาสายัณห์ตะวันชายก็เสด็จมาถึงสาลวันอุทยาน...และในพระอุทยานนั้นมีกุฎาคารศาลาอันหนึ่ง ณ ที่ใกล้กุฎาคารศาลานั้นมีไม้รังคู่ มีลำต้นอันกลมงาม ดุจลำต้นตาลอันหนุ่ม มียอดน้อมเข้าหากัน และภายใต้นางรังทั้งคู่นั้น มีมัญจาอาสน์เป็นที่ทิวาไสยาสน์แห่งพระยามัลลราชขัตติยาธิบดี..."Ž

จากข้อความที่ยกมานี้จะเห็นได้ว่านิราศพระแท่นดงรังของนาย (เสมียน) มี ที่นำมาขึ้นต้นก็ใช้คำเรียกต้นรังอย่างเดียวกันว่า "นางรังทั้งคู่" และที่กล่าว ถึง... "คำนับน้อมกิ่งก้าน..."Žก็มาจากข้อความในหนังสือปฐมสมโพธิกถาที่ว่า... "มียอดน้อมเข้าหากัน..."Žนั่นเอง แสดงว่าหนังสือปฐมสมโพธิกถามีอิทธิพล ต่อความเชื่อของคนไทยใน อดีตมาก อาจกล่าวได้ว่า การเกิดพระแท่นดงรังขึ้น ในป่ารังที่จังหวัดกาญจน-บุรีก็เกิดจากความเชื่อตามหนังสือเล่มนี้ด้วย เพราะทั้ง สาลวันอุทยานŽ หรือป่าต้นสาละ ที่คนไทยแปลว่าป่าต้นรัง ต้นรังคู่ที่โน้มยอดเข้าหากันและพระแท่นศิลา-อาสน์ใต้ร่มต้นรังคู่นั้นก็ตรงตามที่บรรยายไว้ในหนังสือทั้งสิ้น

แม้ในปัจจุบันเราจะทราบว่าต้นสาละในประเทศอินเดียเป็นต้นไม้ คนละชนิดกับต้นรังในประเทศไทยก็ ตาม แต่ความเชื่อในพุทธประวัติตาม ที่บรรยายไว้ในหนังสือปฐมสมโพธิกถาก็คงจะดำรงอยู่ในสังคมไทยต่อไปอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

รัง : สุดยอดไม้แห่งความแข็งแรงทนทานของไทย
รังมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Shorea siamensis Miq. อยู่ในวงศ์ DIPTEROCARPACEAE เป็นต้นไม้ขนาดกลางถึงใหญ่ สูงระหว่าง ๑๐-๒๐ เมตร รูปทรงต้นเป็นทรงกลมหรือพุ่มทรงเจดีย์ ลำต้นไม่เปลาตรงนัก (เมื่อเทียบกับต้นไม้บางชนิด เช่น ยางนา หรือยมหอม) เปลือกหุ้มลำต้น สีเทา เปลือกหนา มักแตกเป็นร่องและเป็นสะเก็ดล่อน ใบเป็นชนิดเดี่ยว เรียงสลับบนกิ่งก้าน ใบรูปไข่ โคนใบหยักเว้าเป็นรูปหัวใจ ปลายใบค่อน ข้างมน ใบอ่อนเมื่อแตกออกใหม่ๆ มี สีแดงและเมื่อเข้าหน้าแล้งจะเปลี่ยน เป็นสีเหลืองก่อนร่วงหล่นจนหมดต้น

ดอกรังจะออกหลังจากทิ้งใบหมดแล้ว โดยออกตามปลายกิ่งเป็นช่อขนาดใหญ่ ประกอบด้วยดอกย่อย มีกลีบสีเหลืองอ่อน ๕ กลีบ เรียงซ้อน กันเป็นรูปกังหัน ปลายกลีบม้วนซ้อน เข้า ดอกร่วงหลุดออกจากช่อได้ง่าย มีกลิ่นหอมอ่อนๆ

เมื่อดอกรังหลุดร่วงไปแล้ว จะติดผลรูปกระสวยขนาดเล็ก มีปีกสั้นผลละ ๒ ปีก ปีกยาวรูปใบพายอีก ๓ ปีก ยาวราว ๑๐ เซนติเมตร โคนปีกหุ้มต้นผลไว้โดยรอบ ตัวปีกมีเส้นบนตามความยาวของตัวปีกหลายเส้น ทำให้ปีกแข็งแรงขึ้น เมื่อผลแก่ร่วงหล่นจากขั้ว ผลจะอาศัยปีกทำให้หมุน และลอยไปได้ไกลจากต้นแม่ เป็นการขยายอาณาเขตของต้นรังรุ่นใหม่ให้กว้างขวางออกไปเรื่อยๆ

รังเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในประเทศพม่า ไทย ลาว เขมร และเวียดนาม ในประเทศไทยพบมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพบขึ้นอยู่ในภาคอื่นๆ ด้วย ยกเว้นในภาคใต้ รังขึ้นอยู่ในป่าที่เรียกว่าป่าแดง (หรือป่าโคก ป่าแพะ) เป็นป่าที่ขึ้นอยู่บนดินลูกรัง เป็นป่าโปร่ง ต้นไม้ขึ้นอยู่ห่างๆ พื้นดินปกคลุมด้วยหญ้าสูงและไม้พุ่ม ทำให้มักเกิดไฟป่าไหม้อยู่เสมอในฤดูแล้ง ต้นไม้ในป่าแดงจึงทนทานต่อความแห้งแล้งและไฟป่าได้ดีมาก

ป่าแดงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือประกอบด้วยต้นรังและต้นเต็งมากกว่าต้นไม้ชนิดอื่น จึงมักเรียกกันว่าเป็น "ป่าเต็งรัง" คนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยกับชื่อไม้เต็งและไม้รังคู่กันมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แม้จะไม่เคยเห็นต้นเต็งรังหรือรู้จักไม้เต็งรังเลยก็ตาม

ต้นเต็งที่ขึ้นอยู่คู่กับต้นรังนั้น เป็นพืชอยู่ในวงศ์และสกุลเดียวกันกับรังนั่นเอง คือมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Shorea obtusa Wall. มีลักษณะและคุณสมบัติ ต่างๆ คล้ายกับต้นรังมาก สังเกตความแตกต่างได้ที่ใบ ตรงโคนใบ เพราะโคนใบรังจะโค้งออก ส่วนโคนใบเต็งจะโค้งเข้า

ส่วนต้นสาละอินเดียที่ปรากฏในพุทธประวัติแล้วคนไทยแปลว่าต้นรังนั้น ความจริงเป็นต้นไม้คนละชนิดกับต้นรัง แต่อยู่ในวงศ์และสกุลเดียวกัน จึงมีความคล้ายคลึงกัน ชื่อวิทยาศาสตร์ของต้นสาละคือ Shorea robusta Roxb.   ในบางพื้นที่ของประเทศอินเดียเรียกต้นสาละว่า ต้นฮะรัง (HARANG) จึงอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นต้นรังได้
ชื่อที่ใช้เรียกต้นรังในประเทศไทยคือ รัง (กลาง) ฮัง (อีสาน) เปาเปาดอกแดง (เหนือ) เรียง (สุรินทร์) ลักป้าง (เชียงใหม่)

ประโยชน์ของรัง
ประโยชน์หลักของต้นรังที่คนไทยรู้จักแพร่หลายตั้งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบันคือ นำเนื้อไม้มาใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน เพราะถือว่า เนื้อไม้รังมีความแข็งแรงทนทานเป็นอันดับหนึ่งคู่กับไม้เต็ง เหมาะสำหรับ ใช้ในการก่อสร้างที่ต้องการความแข็งแรงทนทานมากเป็นพิเศษ เช่น ทำเสาเรือน รอด ตง คาน และพื้นชานเรือนที่อยู่กลางแจ้ง ซึ่งตากแดดตากฝนอยู่เสมอ ความแข็งแรงทนทานของไม้รังมีชื่อเสียงมาแต่อดีต เช่นในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ พ.ศ.๒๔๑๖ บรรยายว่า "รัง : เปนชื่อต้นไม้อย่างหนึ่งเปนชาติไม้ใหญ่ มีแก่นแข็งนัก เขาตัดทำเสาเรือนทน"Ž

คนไทยในอดีตถือว่าต้นรังเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง ตามตำรากล่าวว่า คนเกิดปีมะเส็ง มิ่งขวัญอยู่ที่ต้นไผ่และต้นรัง
คุณสมบัติอย่างหนึ่งของต้นรังคือ เป็นต้นไม้ที่มีความงดงามมากชนิดหนึ่ง คือนอกจากมีช่อดอกขนาดใหญ่สีเหลืองอ่อนออกเต็มต้น ให้กลิ่นหอมแล้ว ยามแตกใบอ่อนก็เป็นสีแดงทั้งต้น เมื่อติดผลอ่อนก็มองเห็นปีกของผลอ่อนเป็นสีแดงเต็มต้นต่อไปอีกเช่นเดียวกัน นับได้ว่ารังเป็นต้นไม้ที่ "สวยทั้งรูป จูบก็หอม" ได้สมบูรณ์แบบ

ข้อมูลสื่อ

308-023
นิตยสารหมอชาวบ้าน 308
ธันวาคม 2547
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร