• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ป้องกันอันตรายจากแสงแดดก่อนสายเกินไป

ป้องกันอันตรายจากแสงแดดก่อนสายเกินไป


เมื่อฤดูร้อนมาเยือนในช่วงเด็กปิดเทอมหลายครอบครัวเริ่มหาสถานที่พักร้อน ขณะที่อีกหลายคนมองหากิจกรรมค่ายฤดูร้อนให้กับบุตรหลาน จะมีสักกี่คนที่คิดถึงการป้องกันอันตรายจากแสงแดดที่เป็นของแถมมาด้วย มีการวิจัยออกมาว่า การสะสมอันตรายจากรังสีอัลตราไวโอเลตหรือรังสียูวี ที่มาพร้อมกับแสงแดดในระหว่างฤดูร้อนนี้มากเกือบครึ่งหนึ่งของการสะสมอันตรายตลอดปีเลยทีเดียว บ้านเราความเข้มของรังสีสูงมากเพราะอยู่แถบศูนย์สูตร โดยเฉพาะช่วงกลางวันระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายนเป็นเวลาวิกฤติที่ควรจะหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดโดยตรง คนส่วนมากเข้าใจว่าอันตรายจากแสงแดดมีแค่อาการร้อน บวม แดง อาจมีไข้หรือไม่มีไข้ร่วมด้วย ใช้เวลาไม่กี่วันอาการเหล่านี้ก็หายไปเอง และหลายท่านอาจชื่นชอบที่มีผิวสีคล้ำขึ้น โดยหารู้ไม่ว่าอันตรายจากรังสียูวีมีการสะสมในผิวหนังมาตลอดเวลาไม่ได้หายแล้วหายเลยอย่างที่เข้าใจกัน อันตรายที่เกิดขึ้นนี้จึงเหมือนการสะสมพิษของแอลกอฮอล์ที่มีต่อตับในคนที่ดื่มเหล้าไม่ว่าจะเมาหรือไม่ ถึงแม้จะหายเมาแล้วความเป็นพิษต่อตับก็ยังมีอยู่ ความเป็นพิษจากรังสียูวีก็จะถูกสะสมไปทุกครั้งที่ถูกแสงแดดก่อนที่จะรู้สึกร้อนหรือมีอาการผิวแดง ผิวไหม้ปรากฏด้วยซ้ำ มีการสะสมมาตั้งแต่วัยเด็กอย่างต่อเนื่องตลอดอายุของเรา กว่าอาการจะปรากฏก็นานมากจนแทบจะไม่รู้สาเหตุ เช่น การเกิดมะเร็งผิวหนังจะเกิดเมื่อมีการสะสมรังสียูวีอยู่นาน ๑๐-๒๐ ปี จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าโรคมะเร็งผิวหนังมักจะเกิดในคนสูงอายุ โดยอายุเฉลี่ยของผู้ที่เป็นโรคนี้ คือ ๖๕ ปี และร้อยละ ๘๐ จะมีอายุมากกว่า ๕๔ ปี

การแก่ก่อนวัยมักจะปรากฏเมื่อมีอาการสะสมรังสียูวีนานประมาณ ๓๐-๔๐ ปี ซึ่งพอถึงวัยนั้นหลายคนคงเข้าใจว่าผิวหนังที่เหี่ยวย่นหรือสีผิวกระดำกระด่างที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปตามอายุที่เพิ่มมากขึ้นหรือสภาพผิวไม่ดี สภาพผิวหนังตามอายุจริงของแต่ละคนคือผิวหนังบริเวณที่ไม่ถูกทำลายจากแสงแดดได้แก่บริเวณเนินอกหรือใต้ท้องแขน ถึงแม้จะมี อายุมากขึ้นอาจมีความหย่อนยานตามวัย ผิวหนังบริเวณนี้ยังคงมีลักษณะเนียนเรียบ สีผิวอ่อนเยาว์และเต่งตึงกว่าบริเวณหลังมือหลังแขนหรือใบหน้าที่สัมผัสแสงแดดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน อันตรายต่างๆ เหล่านี้ยังไม่รวมถึงการเกิดภาวะการกดภูมิคุ้มกันในร่างกาย แก้วตาอักเสบ หรือจอภาพของตามีการเสื่อมและหลุดลอกเมื่อมีอายุมากขึ้น ช่วงเด็กปิดเทอม ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังคงทำงานจึงนิยมนำบุตรหลานตัวน้อยๆ เข้าค่ายกีฬา ค่ายฤดูร้อน ซึ่งหลายๆ ค่ายจัดกิจกรรมกลางแจ้ง เจ้าหนูตัวน้อยเล่นกีฬา ว่ายน้ำ ตีเทนนิสกลางแสงแดดร้อนแรงที่มีความเข้มของรังสียูวีมากที่สุด โดยเฉพาะรังสียูวีบี ขณะที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่นั่งทำงานในห้องปรับอากาศเย็นฉ่ำ เมื่อจบกิจกรรมค่าย ลูกหลานหลายคน มีสีผิวดำคล้ำขึ้นมาอย่างชัดเจน ความเป็นเด็กไม่ว่าสีผิวดำขึ้นหรือกระดำกระด่างอย่างไรก็จะดูน่ารัก ภายใน ๒ เดือน ผิวชั้นนอกก็จะผลัดเปลี่ยน กลับสดใสขาวสะอาดเช่นเดิม แต่ความเป็นพิษที่ไปทำลายเนื้อเยื่อในชั้นหนังแท้หรืออวัยวะที่อยู่ลึกลงไป ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจกลับคืนสู่สภาพเดิมได้นั้นเรามองไม่เห็นเลยว่ามีมากเพียงใด มันคงมีอยู่และถูกสะสมไปเรื่อยๆ จึงควรป้องกันอันตรายจากรังสียูวีตั้งแต่บัดนี้ ยังไม่สายเกินไปที่จะเริ่มป้องกันอันตรายจากแสงแดด ไม่ว่าท่านจะอยู่ในวัยใดก็ตาม

อันตรายจากแสงแดดต่อผิวคนไทย

  • ประเทศไทยอยู่แนวเส้นรุ้งที่ ๑๕ องศาเหนือ ซึ่งเป็นแนวที่มีความเข้มของรังสีมาก
  • ในฤดูร้อนรังสียูวีจะเข้มมากกว่าฤดูอื่นๆ
  • เวลาระหว่าง ๑๑.๐๐-๑๓.๐๐ น. เป็นช่วงวิกฤติที่รังสียูวีบีเข้มมากที่สุดที่ควรหลีกเลี่ยง
  • รังสียูวีจะส่องผ่านน้ำ กระจก และเนื้อผ้าได้ โดยเฉพาะผ้าเปียกจะกรองรังสีได้น้อยลง
  • รังสียูวีสะท้อนจากวัตถุต่างๆ มาสู่เราได้ตลอดเวลา
  • ผิวของเด็กจะรับอันตรายจากรังสีมากกว่า ผู้ใหญ่ในระดับความเข้มเดียวกัน
  • คนที่มีผิวคล้ำจะรับอันตรายจากรังสียูวีน้อยกว่าคนผิวขาว เพราะมีเมลานินช่วยกรองรังสีไว้บางส่วน
  • ความเข้มของรังสีจะเพิ่มมากขึ้นในระดับความสูงที่เพิ่มขึ้น พึงระลึกเสมอว่าทุกๆ ความสูงที่เพิ่มขึ้น ๓,๐๐๐ เมตร รังสียูวีบีจะเพิ่มมากขึ้นถึง ๒ เท่า ถึงแม้อากาศจะเย็นลง
  • ถึงแม้ว่าจะหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง รังสีอัลตราไวโอเลตที่มีอยู่ในแสงแดดนั้นยังสามารถสะท้อนเข้ามาสู่เราได้ จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า ขณะที่หลบแดดในร่มดอกเห็ดกลางผืนทรายนั้น ท่านจะรับรังสีมากพอๆ กับผู้ที่อยู่กลางแดดทีเดียว

ข้อควรระมัดระวังสำหรับคนไทย

  • ควรเลิกค่านิยมในการจัดกิจกรรมกลางแจ้งของเด็กนักเรียนไว้เวลาใกล้เที่ยง
  • การพาลูกเข้าค่ายฤดูร้อน หรือมีกิจกรรมกลางแสงแดดที่ร้อนแรงระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม เหมือนยื่นลูกของคุณสู่มือมัจจุราช
  • ควรเลิกค่านิยมใส่เสื้อสายเดี่ยว เพราะผิวจะเหี่ยวเร็ว
  • การใส่เสื้อสายเดี่ยวเล่นน้ำ (สง-กรานต์) ในฤดูร้อนจะได้รับอันตรายจากรังสีมากพอๆ กับคนไม่ใส่เสื้อผ้าอาบแดด
  • การพักผ่อนชายทะเลระหว่าง พักร้อน พึงระวัง! และอย่าลืมป้องกันร่างกายจากแสงแดด
  • ควรให้ความรู้ถึงอันตรายของแสงแดดแก่เด็ก เพราะการสะสมอันตรายในวัยเด็กมีความสำคัญมากกว่าผู้ใหญ่
  • ควรเลิกค่านิยมอาบแดดที่ทำให้ผิวเป็นสีแทน อันเป็นกิจกรรมของฝรั่งที่อยู่ในพื้นที่ไม่มีแสงแดดตลอดปี ประเทศไทยอยู่แถบเส้นศูนย์สูตรแสงแดดร้อนแรง ถึงแม้จะอยู่ในร่มยังได้รับรังสีโดยการสะท้อนมาสู่เรามากพอที่จะเกิดอันตรายได้
  • เลิกค่านิยมผลิตภัณฑ์ทำให้ผิวขาว เพราะผิวที่ขาวขึ้นจะไวต่อรังสีมากขึ้น นั่นหมายถึงว่าถ้าป้องกันไม่เพียงพอก็จะเกิดมะเร็งผิวหนังได้ง่ายขึ้นนั่นเอง บริเวณที่ถูกแสงแดดจะมีสีเข้มขึ้น หรือผิวหนังหนาขึ้นเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของร่างกายมนุษย์เพื่อปกป้องอันตรายจากแสงแดด

การป้องกันอันตรายจากรังสีอัลตราไวโอเลต

  • หลีกเลี่ยงการออกนอกอาคารในช่วงเวลา ๐๙.๐๐-๑๕.๐๐ น.
  • ใส่หมวกปีกกว้างหรือกางร่มเมื่อออกสู่แสงแดด
  • ใส่แว่นกันแดดเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับดวงตา
  • ใส่เสื้อผ้าปกคลุมให้มิดชิด
  • ทาผลิตภัณฑ์กันแดดก่อนออกจากบ้าน

ผลิตภัณฑ์กันแดดที่วางจำหน่ายในท้องตลาด มีหลายรูปแบบ แต่ละรูปแบบมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน ดังนี้

๑. รูปแบบน้ำมัน เป็นของเหลว ทาง่าย ทาได้ในขอบเขตกว้าง แต่มีข้อเสียคือมีความเหนอะหนะและเปื้อนเสื้อผ้า

๒. รูปแบบโลชั่น เป็นของเหลวขุ่น ประกอบด้วยน้ำและน้ำมันทาง่าย โดยเฉพาะบริเวณที่มีขอบเขตกว้าง เช่น แขน ขา และลำตัว ไม่มีความเหนอะหนะ ขณะกำลังทาส่วนที่เป็นน้ำจะระเหยไปจึงรู้สึกเย็นสบาย และเกิดฟิล์มมันบางๆ ปกคลุมผิวหนัง

๓. รูปแบบครีม ผลิตภัณฑ์กึ่งเหลวบรรจุในหลอดบีบ พกพาสะดวก ทาง่ายโดยเฉพาะบริเวณใบหน้า เพราะกำหนดขอบเขตการทาได้ดี มีส่วนผสมของน้ำและน้ำมัน เมื่อน้ำระเหยจะให้ความรู้สึกเย็นสบาย ไม่เหนอะหนะ เกิดฟิล์มบางเบาปกคลุมผิวจึงเป็นที่นิยมมาก

๔. รูปแบบเจล ผลิตภัณฑ์กึ่งเหลวกึ่งแข็งใส ไม่ค่อยพบบ่อยนัก รูปแบบนี้ส่วนมากมีค่าเอสพีเอฟต่ำ

๕. รูปแบบแท่งแข็ง ผลิตภัณฑ์ที่เป็นแท่ง ส่วนมากนิยมในกลุ่มวัยรุ่นที่ใช้ทาเพื่อการเชียร์กีฬาหรือในงานปาร์ตี้ โดยผสมสีสดใสลงไปใช้ระบายสีใบหน้าและลำตัวเป็นรูปต่างๆ เพื่อความสนุกสนาน ความสวยงาม และสามารถป้องกันแสงแดดได้ด้วย

๖. รูปแบบแอโรซอล ราคาแพงกว่ารูปแบบอื่นๆ กำหนดขอบเขตการใช้ยาก อาจทำให้สารกันแดดสัมผัสกับตา ก่อให้เกิดการระคายเคือง

ค่าเอสพีเอฟ (SPF) คืออะไร?
SPF ย่อมาจาก Sun Protection Factor คือ ค่าความสามารถในการป้องกันรังสีนานเท่าใดเมื่อทาผลิตภัณฑ์เปรียบเทียบกับการไม่ทาผลิตภัณฑ์ เช่น สำหรับผิวคนไทยที่ไม่ทาครีมถูกแสงนานประมาณ ๒๕ นาที ผิวจึงแดง ถ้าทาครีมที่มีค่า SPF 15 จะใช้เวลานานขึ้นเป็น ๑๕ เท่า คือ ๓๗๕ นาที หรือ ๖.๒๕ ชั่วโมง ผิวจึงจะแดง ครีมมี SPF 15 คือ ทาครีมแล้วผิวจะทนแสงแดดได้นานขึ้น ๑๕ เท่า

ค่าเอสพีเอฟสูงขึ้นจะปกป้องผิวจากรังสีได้มากขึ้นหรือไม่?
ไม่ คนส่วนมากเชื่อกันว่าผลิตภัณฑ์ที่มีค่า SPF ยิ่งสูงจะยิ่งป้องกันรังสีได้มาก ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะความจริงแล้วค่า SPF เป็นตัวเลขที่บอกว่าทนแสงได้นานขึ้นเท่าใด (ไม่ใช่มากขึ้นเท่าใด) อีกประการหนึ่งคือ ครีมที่มีค่า SPF สูงขึ้นนี้จะสามารถดูดกลืนรังสีได้เพิ่มขึ้นมาระดับหนึ่งเท่านั้น กล่าวคือ SPF 15 สามารถดูดกลืนรังสียูวีบีได้มากถึงร้อยละ ๙๓.๓ ขณะที่ SPF 50 จะดูดกลืนรังสีได้ร้อยละ ๙๘ ซึ่งเพิ่มมากเพียงร้อยละ ๔.๗ เท่านั้น ค่า SPF ที่สูงขึ้นราคาจะแพงขึ้นและมีโอกาสแพ้มากขึ้นด้วย ขณะที่ประสิทธิภาพการกันแดดเพิ่มมากขึ้นเพียงเล็กน้อย พึงระลึกเสมอว่าไม่มีผลิตภัณฑ์กันแดดตัวใดจะสามารถป้องกันอันตรายจากรังสียูวีได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะมีค่า SPF สูงเพียงใดก็ตาม

ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์กันแดดอย่างไร? ควรใช้ SPF เท่าใด?
ผลิตภัณฑ์กันแดดที่ดีที่สุดคือ ใช้แล้วไม่แพ้ไม่ระคายเคือง ราคาไม่สูงนัก ทาแล้วเนื้อครีมบางเบาไม่เหนียวเหนอะหนะ สารสำคัญที่ระบุในผลิตภัณฑ์ ควรประกอบด้วยสารหลายชนิดผสมกัน เพราะสารแต่ละตัวจะมีคุณสมบัติกรองรังสียูวีในขนาดความยาวคลื่นที่แตกต่างกัน การใช้สารหลายๆ ตัวผสมกันจะสามารถปกป้องรังสีได้ในระดับความยาวคลื่นกว้าง ทั้งยูวีบีและยูวีเอ สำหรับผิวคนไทยใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีค่า SPF 15 จะเหมาะสมที่สุดในการทาเป็นประจำทุกวัน เพราะสามารถป้องกันแสงแดดได้นานประมาณ ๖ ชั่วโมง ซึ่งมากเพียงพอแล้วสำหรับการป้องกันรังสีในช่วงที่ร้อนแรงในแต่ละวัน

ข้อมูลสื่อ

300-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 300
เมษายน 2547
เรื่องน่ารู้
ภกญ.พรทิพย์ นิมมานนิตย์