• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รางจืด : ความงามและคุณค่าแห่งภูมิปัญญาไทย

รางจืด : ความงามและคุณค่าแห่งภูมิปัญญาไทย


ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปดูงานในประเทศพม่า (เมียนมาร์) รวม ๑๘ วัน เวลาส่วนใหญ่ใช้ในการเดินทางด้วยรถยนต์บนถนน ที่ยังไม่สะดวกนัก จากเมืองย่างกุ้งขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือถึงเมืองตองยี แล้วเลี้ยวไปทางเมืองมัณฑเลย์ เมืองพุกาม เมืองอังวะ เมืองแปร กลับไปเมืองย่างกุ้ง ดูงานแถบปากน้ำอิระวดี ๒ วัน แล้วมุ่งตะวันออกไปทางชายแดนไทย แวะเมืองพะอัน เมืองหลวงของรัฐกะเหรี่ยง แล้วต่อไปเมืองมะละแหม่ง เมืองหลวงของรัฐมอญ เป็นต้น ไปพม่าคราวนี้นับเป็นครั้งแรกของ ผู้เขียนที่ได้มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่ สภาพสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ วัฒนธรรม เป็นต้น ด้วยตัวเอง หลังจากที่มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมเยียนประเทศต่างๆ มาแล้วกว่า ๒๐ ประเทศ ใน ๕ ทวีป ที่ล้วนแล้วแต่ห่างไกลกว่าพม่ามากมายหลายเท่า น่าแปลกที่แม้จะเป็นประเทศเพื่อนบ้านกัน แต่ดูเหมือนคนไทย จะมีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมเยียนชาวพม่า และรู้จักประเทศพม่าน้อยเหลือเกิน น้อยกว่าประเทศสหรัฐฯ อังกฤษ ออสเตรเลีย หรือญี่ปุ่นหลายเท่า เช่นเดียวกับประเทศ ลาวและกัมพูชา ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านเราเหมือนกัน นอกจากชาวไทยส่วนใหญ่จะไม่รู้จักคนพม่า ลาว เขมร อย่างที่ควรจะรู้จักแล้ว ทัศนคติเกี่ยวกับเพื่อนบ้านของเราเหล่านี้ก็ยังไม่ค่อยจะดีนักอีกด้วย ผู้เขียนเองแม้จะไม่มีอคติกับเพื่อนบ้านทั้ง ๓ ประเทศนี้ ก็ยังพบว่า หลังจากได้ไปเยี่ยมเยียนทั้ง ๓ ประเทศนี้มาแล้ว ได้รู้จักและเข้าใจด้านต่างๆ ในประเทศเหล่านั้นมากขึ้น ทำให้มีความรู้สึกดีๆ เกิดขึ้นมากมาย รวมทั้งได้เห็นสิ่งดีๆ หลายอย่างที่ประเทศทั้ง ๓ นั้นมีอยู่ แต่เมืองไทยไม่มีหรือสูญเสียไปแล้ว ในทางตรงข้ามบางสิ่งที่เมืองไทยมีดีกว่าเราก็เห็นคุณค่าของสิ่งนั้นมากขึ้น เช่น ความมีสิทธิเสรีภาพในทางการเมือง เป็นต้น

ในระหว่างการเดินทางด้วยรถยนต์ จากเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองหนึ่งในประเทศพม่านั้น ผู้เขียนได้พบเห็นสภาพแวดล้อม ทางภูมิศาสตร์แตกต่างกันหลายแบบ ทั้งที่ราบลุ่มทะเลสาบ ทุ่งกว้างสุดสายตา ภูเขาสูงซับซ้อนและป่าทึบ สภาพความแห้งแล้ง กันดารยิ่งกว่าภาคอีสานของไทย ไปจนถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ปากแม่น้ำและชายทะเลที่ยังคงอุดมสมบูรณ์มากกว่าเมืองไทยมากมาย เป็นต้น ต้นไม้ใบหญ้าที่ได้พบเห็นในพม่า ส่วนใหญ่เหมือนกับในเมืองไทย แต่บางชนิดก็ดูแปลกตา มีพืชที่ผู้เขียนคุ้นเคยชนิดหนึ่งพบขึ้นอยู่หลายแห่งที่ผ่านไป ทั้งในป่าและในเมืองรวมทั้งในวัดด้วย ที่ผู้เขียนมองเห็นได้ชัดและจำพืชชนิดนี้ได้ ก็เพราะเป็นช่วงที่ดอกของพืชนี้กำลังเบ่งบานอยู่พอดี สีสัน และรูปทรงอันเป็นเอกลักษณ์ทำให้สะดุดตาและจดจำได้ง่ายว่าเป็นพืชที่คนไทยเรียกว่า รางจืด นั่นเอง

รางจืด : พืชจากป่าเมืองร้อนของชาวเอเชีย
รางจืด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Thunbergia laurifolia Lindl. อยู่ในวงศ์ Acanthaceae เป็นไม้เถาเลื้อยตามธรรมชาติ สามารถเลื้อยไปตามพื้นดินหรือพาดพันขึ้นไปบนต้นไม้ใหญ่ เถาแข็งแรงแตกแขนงได้ดี อาจขึ้นคลุมต้นไม้ใหญ่ๆ ได้ทั้งต้น เถามีลักษณะกลม สีเขียว เมื่อเถาแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลมากขึ้น ใบออกเป็นคู่ตรงข้ามตรงข้อของลำต้น ใบมีลักษณะคล้ายใบย่านาง มีก้านใบยาวราว ๑ เซนติเมตร ใบกว้างราว ๕ เซนติเมตร ใบยาวราว ๑๐-๑๒ เซนติเมตร ปลายใบเป็นติ่งแหลม ใบสีเขียวเรียบไม่มีขนอ่อนปกคลุม ดอกออกเป็นช่ออยู่ตามง่ามใบ ช่อละ ๓-๔ ดอก ช่อห้อยย้อยลง ดอกมี ๕ กลีบ กว้างราว  ๘ เซนติเมตร โคนดอกเป็นหลอดกรวยยาวราว ๑ เซนติเมตร มักมีน้ำหวานบรรจุอยู่ในหลอด กลีบดอกสีม่วง บางต้นมีกลีบดอกสีม่วงอ่อน บางต้นก็มีสีม่วงแก่ ภายในหลอดมีสีขาว-เหลือง มีเกสรตัวผู้ ๔ อัน มักมีดอกในฤดูหนาว (เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์) แต่บางต้นก็ออกดอกได้ตลอดปี

ดอกที่โรยแล้วบางดอกอาจติดผลเป็นกระเปาะกลมปลายแหลม เมื่อแก่เปลือกผลเป็นสีน้ำตาล แตกออกเป็น ๒ ซีก เมล็ดมีสีน้ำตาลมีปุ่มเล็กๆ คล้ายหนามอยู่บนเปลือกเมล็ด เมล็ดนี้นำไปเพาะขยายพันธุ์ต่อไปได้ แต่การขยายพันธุ์รางจืดส่วนใหญ่นิยมนำเถาแก่หรือใบมาปักชำ เพราะเร็วกว่าการเพาะเมล็ด ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของรางจืดอยู่บริเวณป่าเบญจพรรณชื้นหรือชายป่าดิบในเขตร้อนของทวีปเอเชีย เช่น อินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ผู้เขียนได้พบรางจืดขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในทุกประเทศที่กล่าวมาข้างต้น จึงไม่แปลกใจที่ได้พบรางจืดขึ้นอยู่มากมายในประเทศพม่า สำหรับในประเทศก็พบขึ้นอยู่ในป่าของทุกภาค นับเป็นพืชพื้นเมืองดั้งเดิมของชาวไทยอีกชนิดหนึ่ง ชื่อที่เรียกรางจืดมีมากมาย เช่น รางจืด รางเย็น ว่านรางจืด ว่านจางจืด ว่านรางจืดเถา ยาเขียว เครือเถาเขียว กำลังช้างเผือก ขอบชะนาง (ภาคกลาง) ย้ำแย้ (อุตรดิตถ์) ฮางจืด ฮางเย็น เครือเข้าเย็น หนามแน่ (ภาคเหนือ) คาย (ยะลา) และดุเหว่า (ปัตตานี) เป็นต้น

ประโยชน์ของรางจืด
จากการเดินทางไปพบเห็นรางจืดในหลายประเทศ พบว่าส่วนใหญ่เห็นว่ารางจืดเป็นวัชพืช หรือพืชธรรมดาไม่มีคุณค่าอะไรเป็นพิเศษ พระภิกษุชาวพม่าที่ผู้เขียนสอบถามถึงการใช้ประโยชน์จากรางจืด (เพราะพบรางจืดขึ้นอยู่ในบริเวณ วัด) พระท่านตอบว่าไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร เห็นเป็นวัชพืชอย่างหนึ่ง อย่างมากก็ใช้ลำต้น (เถา) เป็นเชือกในยามจำเป็นบ้างเท่านั้น ที่ประเทศอินเดียผู้เขียนพบว่า มีการนำรางจืดมาปลูกเป็นพืชประดับปกคลุมซุ้มสำหรับนั่งพักผ่อนในสวนสาธารณะ ทำให้มีร่มเงาและงดงามทั้งดอกใบ ในประเทศไทยก็มีการนำมาปลูก เป็นไม้ประดับกันอยู่บ้าง โดยเลือกพันธุ์ที่มีดอกสีม่วงเข้มเป็นพิเศษ

การใช้ประโยชน์รางจืดอันถือเป็นภูมิปัญญาของคนไทยจากอดีต ก็คือ การนำมาใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรค โดยถือว่ารางจืดเป็นว่านยาชนิดหนึ่ง เรียกว่า ว่านรางจืด หรือว่านรางจืดชนิดเถา (ว่านรางจืด หรือจางจืดมี ๓ ชนิด คือ ชนิดเถา ชนิดต้น และชนิดหัวใต้ดิน) บางครั้งเรียกว่า ยาเขียว เพราะนิยมนำไปทำเป็นยาเขียวใช้ลดไข้ แก้ร้อนใน เพราะถือว่ารางจืดเป็นยาเย็น จนบางครั้งเรียกว่า รางเย็น ตำราสมุนไพรไทย รวมทั้งตำรากบิลว่าน บ่งบอกสรรพคุณรางจืดว่า มีรสเย็นจืด ใช้ถอนพิษเบื่อเมาทั้งปวง แก้พิษร้อนทั้งปวง แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ผิดสำแดง แก้กระษัย ขับปัสสาวะ เป็นต้น รวมทั้งใช้ทำยาเขียว

การฟื้นฟูการใช้รางจืดเป็นยาสมุนไพร สำหรับคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ต้องขอ ยกย่องเป็นหลักฐานไว้ว่า ส่วนใหญ่เป็นผลงานของ พ.ต.อ.ชลอ อุทกภาชน์ ที่ได้เขียนหนังสือชื่อ คู่มือยาสมุนไพร และโรคเขตร้อน และวิธีบำบัดรักษา ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘ ในหนังสือเล่มนั้นได้กล่าวถึงสรรพคุณของรางจืดในการรักษาอาการป่วยจากพิษของยาฆ่าแมลงที่เกษตรกรและผู้บริโภคต้องเสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากการเกษตรสมัยใหม่ที่ใช้สารเคมีมากขึ้น รวมถึงยาฆ่าเชื้อราและยาฆ่าหญ้าด้วย นอกจากนั้น ยังแนะนำให้ใช้รางจืดรักษาพิษยาสั่ง ยาเบื่อ พิษเห็ดเมา หรือพิษพืชต่างๆ ที่กินเข้าไป รวมทั้งอาการเมาสุรา หรือยาเสพติดชนิดต่างๆ เป็นต้น โดยนำประสบการณ์จากการใช้รักษาได้ผลจริงๆ ของแพทย์แผนโบราณทั่วประเทศมาเป็นข้อมูลเผยแพร่ ส่วนที่แนะนำให้ใช้ คือ ส่วนรากที่มีอายุเกิน ๖ เดือนขึ้นไป และส่วนใบระยะสับเพสลาด (ไม่อ่อนไม่แก่เกินไป)

ผู้เขียนเองได้นำความรู้จากหนังสือ เล่มนั้นไปเผยแพร่แก่เกษตรกรและคนที่รู้จัก พบว่า รางจืดมีคุณสมบัติดีจริง จึงได้นำมาเขียนเผยแพร่ในนิตยสารหมอชาวบ้านนี้ตั้งแต่ราว พ.ศ. ๒๕๓๑ พร้อมทั้งแนะนำให้ใช้ใบรางจืดแห้งชงน้ำร้อนดื่ม เช่นเดียวกับน้ำชา เพื่อกำจัดสารพิษที่ได้รับจากน้ำและอาหารในชีวิตประจำวัน โดยอาจดื่มวันละ ๑-๒ แก้ว ซึ่งดื่มได้ง่าย เพราะรางจืดไม่มีกลิ่น ไม่มีรส สมกับชื่อรางจืด แต่น้ำชารางจืดมีผลลดความดันเลือด จึงอาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาความดันเลือดต่ำ ปัจจุบันมีผู้ทำชารางจืด จำหน่ายทั่วไป ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะสรรพคุณด้านถอนพิษของรางจืดได้รับการยืนยันจากการทดลองทางวิทยาศาสตร์อย่างแน่ชัดแล้ว รางจืดจึงนับเป็นความงามและคุณค่าจากภูมิปัญญาไทยโดยแท้

ข้อมูลสื่อ

300-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 300
เมษายน 2547
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร