"เธอดูหน้าตาขาวซีดจัง ควรบำรุงด้วยโสมตังกุยจั้บ"
"ผู้หญิงหลังคลอดเสียเลือดมาก ต้องกินยาบำรุงเลือด"
"ดิฉันมือเท้าเย็นง่าย เล็บขาวซีด ใจสั่น นอนไม่หลับ หลับแล้วฝันไม่หยุด ไปหาหมอจีน หมอบอกว่าเป็นเพราะเลือด ไปเลี้ยงหัวใจไม่พอ"
"ดิฉันแขนขาชา เป็นตะคริวบ่อย ตาแห้งมองไม่ชัดตอนกลางคืน หมอจีนบอกว่าเป็นเพราะเลือดไปเลี้ยงตับไม่ดีพอ"
๑. เรื่องของเลือด ในความหมายของแพทย์แผนจีนคืออะไร
เลือดคือของเหลวข้นสีแดงที่อยู่ในหลอดเลือด เป็นส่วนประกอบของร่างกายและเป็นตัวหล่อเลี้ยงพื้นฐานให้กับการดำรงอยู่ของชีวิต
เลือดจะต้องไหลเวียนคล่อง และไหลอยู่ในหลอดเลือด และตัวเลือดเองต้องเป็นเลือดที่มีคุณภาพ
๒. เลือด เกิดได้อย่างไร เลือดที่มีคุณภาพดีเกี่ยวข้องกับอะไร
เลือดเกิดจากอาหารที่ได้รับการย่อยดูดซึม และแปรเปลี่ยนเป็นหยิงซี่ และจินเย่
หยิงซี่ เป็นส่วนสุดยอดที่ดีที่สุดของสารอาหารที่เกิดจากการย่อยดูดซึมและกลายเป็นส่วนของเลือดเพื่อนำไปบำรุงเลี้ยงร่างกาย
จินเย่ คือส่วนของสารน้ำ ของเหลวในร่างกาย ที่สามารถซึมผ่านเข้าสู่หลอดเลือดได้
เลือดที่ดีมีคุณภาพมาจากปัจจัยหลายประการ คือ
๑. อาหารที่กินเข้าไป
๒. การทำงานหรือพลังของม้ามและกระเพาะ-อาหาร ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการย่อยอาหารและดูดซึมอาหาร รวมทั้งแปรเปลี่ยนสารอาหารให้เป็นเลือด
๓. การทำงานของปอด ที่จะทำให้เลือดเป็นเลือดที่สดและสะอาด
๔. การทำงานของไต ไตมีหน้าที่เก็บจิง (ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบประสาทอัตโนมัติและการหลั่งสาร คัดหลั่งฮอร์โมน เอนไซม์) ไตสร้างไขกระดูก (ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดง)
ดังนั้น คนที่ซีดเนื่องจากเลือดมีปัญหา จึงต้องพิจารณาความผิดปกติของอวัยวะภายในต่างๆ ว่าอะไรเป็นสาเหตุหลัก
๓. ความผิดปกติเกี่ยวกับเลือดในทางศาสตร์แพทย์ แผนจีนได้แก่อะไรบ้าง
๑. ภาวะเลือดพร่อง
๒. ภาวะเลือดอุดกั้น
๓. ภาวะเลือดร้อน
๔. ภาวะเลือดเย็น
๕. ภาวะเลือดแห้ง
๖. ภาวะเลือดและพลังพร่อง
๗. ภาวะพลังพร่องทำให้เลือดอุดกั้น
๔. ภาวะเลือดพร่องมีความหมายอย่างไร มีอาการและอาการแสดงออกอย่างไร
ภาวะเลือดพร่อง เป็นภาวะการขาดเลือด ทำให้อวัยวะภายในจั้งฝู่ขาดเลือดหล่อเลี้ยง ทำให้ใบหน้าขาวซีดหรือเหลืองซีดร่วมกับมีอาการเวียนศีรษะ ตาลาย ใจสั่น นอนไม่หลับ บางครั้งมีอาการแขนขาชา ในสตรีจะมีประจำเดือนน้อยสีซีด ประจำเดือนมาช้ากว่ากำหนด กระทั่งขาดประจำเดือน
การตรวจร่างกาย ตัวลิ้นขาวซีด ชีพจรเล็กไม่มีแรง
๕. สาเหตุของเลือดพร่องที่พบบ่อยๆ ได้แก่อะไร
๑. ระบบการย่อย ม้ามและกระเพาะอาหารพร่อง
๒. เสียเลือดเรื้อรังจากโรคต่างๆ เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร
๓. เครียดเรื้อรัง ทำให้เลือดและยินพร่อง
๔. เลือดอุดกั้น ทำให้สร้างเลือดใหม่ไม่ได้
๕. จิงของไตไม่พอ ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเลือด
๖. พยาธิในลำไส้ ทำให้เสียเลือดต่อเนื่อง
๖. ผลของเลือดพร่องเกิดอะไรขึ้น
เลือดให้การหล่อเลี้ยง ถ้าเลือดเพียงพอ สีผิวจะแดงมีน้ำมีนวล ถ้าเลือดพร่อง กล้ามเนื้อผิวหนัง ใบหน้าริมฝีปาก เล็บ ตัวลิ้นซีดขาวไร้ชีวิตชีวา เลือดไปเลี้ยงที่ ตาและศีรษะไม่พอ ทำให้เวียนศีรษะ ตาลาย ความมีชีวิตชีวาอาศัยเลือด เลือดพร่องทำให้หัวใจและสมอง ขาดการหล่อเลี้ยง เกิดอาการใจสั่น นอนไม่หลับ เลือดที่ไปเลี้ยงแขนขาน้อยลง มีอาการชามือเท้า ในสตรีเมื่อขาดเลือด ประจำเดือนก็น้อยจนกระทั่งไม่มีประจำเดือน ชีพจรขนาดเล็ก ไม่มีกำลัง
ผลต่อเนื่องของการเกิดเลือดพร่องเรื้อรังทำให้ เกิด
๑. พลังพร่องตามมา เกิดภาวะเลือดและพลังพร่อง
๒. เกิดผลกระทบต่อหัวใจและตับ ทำให้เลือดหัวใจพร่อง เลือดของตับพร่อง
๓. ทำให้ขาดจิง เลือดไม่เปลี่ยนเป็นจิง เกิดจิงของตับและไตแห้ง (ภาวะฮอร์โมนต่างๆ ลดลง)
๔. เอ็นและชีพจรขาดอาหาร ถ้าเป็นมากจะเกิด ลมภายในร่างกาย (อาการสั่นเกร็ง อัมพฤกษ์ อัมพาต )
๗. ภาวะเลือดพร่องกับยินพร่องต่างกันอย่างไร
ผู้ป่วยบางคนมีภาวะยินพร่อง แต่เข้าใจผิดไปซื้อยาบำรุงเลือดพร่อง ทำให้อาการของโรคอาจรุนแรงขึ้นได้
ยาจีนในท้องตลาดต้องแยกให้ชัดว่า เน้นไปที่บำรุงยินหรือบำรุงเลือด
ความจริงยาบำรุงเลือดมีบางส่วนของยาบำรุงยิน เลือดเป็นส่วนหนึ่งของยิน ยินพร่องกับเลือดพร่องมีอาการหลายอย่างคล้ายกัน เช่น ชีพจรเล็ก เวียนศีรษะ ตาลาย นอนไม่หลับ
ข้อแตกต่างที่สำคัญคือ ยินพร่อง จะมีอาการร้อนร่วมด้วย เช่น แก้มแดง ลิ้นแดง หงุดหงิด ปากแห้ง ชีพจรเร็ว เป็นต้น ขณะที่เลือดพร่องไม่มีอาการร้อน เช่น ใบ หน้า ริมฝีปาก เปลือกตา เล็บ ลิ้นจะมีสีขาวซีด
๘. อาการที่เรียกว่า "เลือดของหัวใจพร่อง" และ "เลือดตับพร่อง" เป็นอย่างไร
ทั้ง ๒ ภาวะ มีอาการของเลือดพร่องเหมือนกัน แต่เนื่องจากการขาดเลือดไปมีผลต่ออวัยวะของหัวใจและตับอย่างเด่นชัด ทำให้มีลักษณะเฉพาะ คือ
เลือดหัวใจพร่อง มีอาการทางหัวใจและ สมองเด่นชัด เช่น ใจสั่น ตกใจง่าย นอนไม่หลับ ฝันบ่อย ลืมง่าย
เลือดตับพร่อง ชายโครงปวดตื้อๆ มองไม่ชัดเวลากลางคืน (ตาบอดไก่) แขนขาชา มีตะคริว
๙. หลักการรักษาเลือดพร่อง และตำรับยาที่ใช้คืออะไร
ใช้หลักการบำรุงและปรับเลือด
ตำรับยาที่ใช้ได้แก่
๑. ซื่อ-อู๋-ทัง
ตัวยาสำคัญคือ สูตี้ ตังกุย ไป๋สาว ชวน-เซวียง
๒. ตัง-กุย-ปู่-เสวี่ย-ทัง
ตัวยาสำคัญคือ ตังกุย หวงฉี
ในรายละเอียด ต้องให้ความสำคัญกับการบำรุงไต บำรุงม้าม บำรุงพลัง ควบคู่ไปกับการบำรุงเลือด ทำให้ประสิทธิภาพการรักษาดียิ่งขึ้น
๑๐. เลือดพร่องในความหมายแพทย์แผนปัจจุบันได้แก่โรคอะไร
เทียบเท่ากับโรคเลือดจาง มะเร็งเม็ดเลือดขาว ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ พยาธิปากขอ โรคประจำเดือนผิดปกติ ภาวะไขกระดูกฝ่อ ภาวะเม็ดเลือดแดงแตก
๑๑. เลือดพร่องควรตรวจรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันหรือแพทย์แผนจีน
เลือดจาง ควรหาสาเหตุที่แน่นอนก่อน เพราะจะ ทำให้เราสามารถวางแผนว่าจะรักษาผู้ป่วยโดยวิธีใด เพราะถ้าบำรุงเลือดเป็นการแก้ปลายเหตุเท่านั้น ถ้าไม่ แก้ต้นเหตุที่ทำให้เสียเลือด เราก็ไม่สามารถบำรุงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม ในแง่การบำรุงเลือด ในทรรศนะแพทย์ แผนจีนยังต่างกับแพทย์แผนปัจจุบันในหลายด้านด้วยกัน
เช่น แพทย์แผนปัจจุบันอาจเสริมเหล็ก โฟลิก วิตามิน หรือบางครั้งอาจให้ยากระตุ้นการทำงานของฮอร์โมนบางตัว เพื่อกระตุ้นการทำงานของไขกระดูก
แพทย์แผนจีนบำรุงเลือด ต้องบำรุงพลังร่วมด้วย บางครั้งต้องเสริมยาบำรุงระบบการย่อยดูดซึมอาหารให้ดี หรือต้องบำรุงจิง บำรุงไต (เพื่อกระตุ้นการทำงานของ ฮอร์โมน) ควบคู่กันไป
พิจารณาให้ดีทั้ง ๒ แผนมีส่วนคล้ายกันมาก แต่แพทย์แผนปัจจุบันมักแยกส่วน มีความจำเพาะในการบำรุง เช่น เน้นธาตุเหล็ก โฟลิก หรือเพราะขาดฮอร์โมน หรือภูมิคุ้มกันผิดปกติ แต่แพทย์แผนจีนมักจะรักษาหลายๆ ระบบอวัยวะภายในร่วมด้วยเสมอ เพราะถือว่าเป็นองค์รวมสัมพันธ์กัน จึงควรพิจารณาข้อดีข้อเด่นของแต่ละแผน เพื่อให้เกิดผลการรักษาที่ดีที่สุด
- อ่าน 27,263 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้