• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เยื่อหุ้มสมองอักเสบ

ชื่อภาษาไทย เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
ชื่อภาษาอังกฤษ Meningitis
สาเหตุ เกิดจากการติดเชื้อ ได้แก่
๑. เชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมีอยู่หลายชนิด ที่สำคัญ เช่น
- เชื้อวัณโรค (ทีบี) มักพบในผู้ป่วยเอดส์
- เชื้อเมนิงโกค็อกคัส (meningococcus) ซึ่งเป็นสาเหตุของเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่มีชื่อเรียกว่า "ไข้กาฬหลังแอ่น"Ž
๒. ไวรัส
๓. เชื้อรา
เช่น เชื้อราคริปโตค็อกคัส (crypto-coccus) ซึ่งพบบ่อยในคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยเอดส์
๔. พยาธิ ที่พบบ่อยในบ้านเรา ก็คือ พยาธิแองจิโอสตรองไจลัส (angiostrongylus cantonensis) ซึ่งอยู่ในหอยโข่ง พบมากทางภาคกลางและภาคอีสาน

หนทางของการติดเชื้อ

๑. ทางเดินหายใจ เช่น เชื้อทีบี เชื้อเมนิงโก-ค็อกคัส เชื้อเข้าสู่ร่างกายโดยการไอ จาม หายใจรดกัน ไปอยู่ในทางเดินหายใจ (ลำคอ ปอด) แล้วผ่านกระแสเลือดเข้าไปในสมอง
๒. ทางเดินอาหาร เช่น พยาธิแองจิโอสตรอง ไจลัส เข้าสู่ร่างกายโดยการกินหอยโข่งดิบ ไปอยู่ในกระเพาะลำไส้ แล้วเข้าสู่กระแสเลือด ขึ้นไปที่สมอง
๓. แพร่กระจายผ่านกระแสเลือด โดยเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อของอวัยวะต่างๆ (เช่น ปอดอักเสบ กระดูกอักเสบเป็นหนอง) กระจายเข้าสู่กระแสเลือด แพร่ไปที่สมอง
๔. เชื้อลุกลามจากบริเวณใกล้สมอง เช่น ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อของหูชั้นกลาง (หูชั้นกลางอักเสบ) หรือไซนัส (ไซนัสอักเสบ) เมื่อเป็นเรื้อรัง เชื้ออาจลุกลามผ่านกะโหลกศีรษะที่ผุกร่อนเข้าไปในสมอง หรือในกรณีที่ผู้ป่วยมีกะโหลกศีรษะแตก จากการบาดเจ็บ เชื้อโรคจากภายนอกอาจเข้าไป ในสมองโดยตรง จนเกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง

อาการ มักมีอาการไข้ ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนมาก และคอแข็ง (คอแอ่นไปข้างหลัง และก้มไม่ลง)
ผู้ป่วยมักจะบ่นปวดทั่วศีรษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลามีการเคลื่อนไหวของศีรษะ (เช่น ก้มศีรษะ) ซึ่งมักจะปวดติดต่อกันหลายวัน กินยาแก้ปวดไม่ทุเลา
ส่วนอาการไข้ อาจมีลักษณะไข้สูงตลอดเวลา หรือไข้เป็นพักๆ ถ้าเกิดจากพยาธิอาจมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีไข้ก็ได้
ต่อมาผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย สับสน ซึมลงเรื่อยๆ จนกระทั่งหมดสติ นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการกลัวแสง เห็นภาพซ้อน กลืนลำบาก แขนขาเป็นอัมพาต หรือชักติดต่อกันนานๆ
ในเด็กอายุต่ำกว่า ๒ ขวบ อาการอาจไม่ค่อยชัดเจน อาจมีไข้ กระสับกระส่าย ร้องไห้เสียงแหลม อาเจียน ชัก กระหม่อมหน้าโป่งตึง อาจไม่มีอาการคอแข็ง (ก้มคอไม่ลง)
ในรายที่เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อ เมนิงโกค็อกคัส อาจมีผื่นแดงจ้ำเขียวขึ้นตามผิวหนังร่วมกับอาการไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน หลังแอ่น คอแอ่นคอแข็ง ชาวบ้านเรียกว่า "ไข้กาฬหลังแอ่น" (แปลว่า ไข้ออกผื่นร่วมกับหลังแอ่นหรือคอแอ่น) โรคนี้อาจพบระบาดได้
ในรายที่เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค หรือเชื้อรา มักมีอาการไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียนนำมาก่อนประมาณ ๒-๓ สัปดาห์ ต่อมาจึงมีอาการปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนรุนแรง คอแข็ง และอาจมีอาการชักร่วมด้วย มักพบในผู้ที่ป่วยเป็นโรคเอดส์

การแยกโรค
๑. ไข้สมองอักเสบ (encephalitis) ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ซึม หมดสติ บางคนอาจมีอาการชักติดๆ กันนานๆ แต่ไม่มีอาการคอแข็งแบบเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
๒. มาลาเรียขึ้นสมอง ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ซึม หมดสติหรือชักแบบไข้สมองอักเสบ มักมีประวัติเดินทางเข้าไปในเขตป่าเขามาก่อนจะไม่สบาย
๓. บาดทะยัก ผู้ป่วยจะมีบาดแผลตามผิวหนัง (เช่น ตะปูตำ หนามเกี่ยว บาดแผลสกปรก) ต่อมามีไข้ ปากแข็ง (อ้าปากไม่ได้ ทำท่าเหมือนยิ้มแสยะ) ต่อมามีอาการชักกระตุกเป็นพักๆ เวลาสัมผัสถูก ได้ยินเสียงดังๆ หรือเห็นแสงสว่าง ผู้ป่วยมักมีความรู้สึกตัวดี
๔. โรคพิษสุนัขบ้า ผู้ป่วยมักมีประวัติถูกสุนัข แมว หรือสัตว์ป่ากัดหรือข่วนมาก่อน ๑-๓ เดือน ต่อมามีอาการไข้ ปวดศีรษะ กลัวลม กลัวน้ำ กระสับกระส่าย ชักเกร็ง ซึม หมดสติ
๕. โรคลมชัก ผู้ป่วยมักมีอาการอยู่ๆ ชักกระตุก หมดสติ น้ำลายฟูมปาก อาจกัดลิ้นตัวเองเป็นอยู่สักพักหนึ่งก็หยุดชัก แล้วค่อยๆ ฟื้นคืนสติได้เอง มักมีประวัติชักแบบนี้เป็นครั้งคราวเวลาร่างกาย เหนื่อยล้า อดนอน หิวข้าว ถูกแสงสว่าง ได้ยินเสียง ดังๆ เป็นต้น
๖. ชักจากไข้ พบมากในเด็กอายุ ๖ เดือน ถึง ๕ ขวบ เด็กจะมีอาการไข้สูงจากโรคติดเชื้อ (เช่น ไข้หวัด คออักเสบ ปอดอักเสบ เป็นบิด) แล้วมีอาการชักเกร็งของแขนขา ตาค้าง น้ำลายฟูมปาก อาจกัดลิ้นตัวเอง ขณะชักจะไม่ค่อยรู้สึกตัว มักเป็นอยู่เพียงไม่กี่นาที (ส่วนน้อยอาจชักนานเกิน ๑๕ นาที) ก็หยุดชัก แล้วค่อยๆ ฟื้นคืนสติได้เอง อาจมีประวัติเคยมีอาการชักจากไข้มาก่อน หรืออาจมีพ่อแม่หรือพี่น้องมีประวัติชักจากไข้คล้ายๆ กัน

การวินิจฉัย
การวินิจฉัยโรคนี้ให้แน่ชัด ต้องอาศัยการตรวจ พิเศษต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การเจาะหลัง โดยแพทย์จะใช้เข็มและอุปกรณ์เฉพาะ ทำการเจาะ หลัง นำน้ำไขหลังไปตรวจหาเชื้อ และสารเคมี เพื่อแยกแยะสาเหตุ
ในกรณีที่สงสัยมีโรคอื่นร่วมด้วย (เช่น เอดส์ วัณโรคปอด) ก็อาจทำการเอกซเรย์ ตรวจเลือดและอื่นๆ ร่วมด้วย

การดูแลตนเอง ผู้ป่วยที่มีอาการชักทุกคน ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามี ไข้สูง ซึม หมดสติ คอแข็งร่วมด้วย
ยกเว้นเด็ก (อายุ ๖ เดือน ถึง ๕ ขวบ) ที่เคยมีประวัติชักจากไข้มาก่อน และคราวนี้ก็มีอาการชักจากไข้คล้ายๆ กัน ก่อนพบแพทย์ก็อาจให้การปฐมพยาบาล กินยาลดไข้ และยากันชักตามคำแนะนำของแพทย์

การรักษา เมื่อแพทย์ตรวจพบว่าเป็นเยื่อหุ้ม สมองอักเสบ จะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล และให้การรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ เช่น
ถ้าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จะให้ยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อที่พบ
ถ้าเกิดจากเชื้อวัณโรค จะให้ยาฆ่าเชื้อวัณโรค นาน ๖-๙ เดือน
ถ้าเกิดจากเชื้อรา จะให้ยาฆ่าเชื้อรา
ถ้าเกิดจากเชื้อไวรัส ไม่มียารักษาจำเพาะ จะให้การรักษาตามอาการ ซึ่งมักจะดีขึ้นภายใน ๒-๓ สัปดาห์

ภาวะแทรกซ้อน
อาจมีผลแทรกซ้อนทางสมองตามมา เช่น แขนขาเป็นอัมพาต หูหนวก ตาเหล่ ปากเบี้ยว โรคลมชัก (ลมบ้าหมู) สมองพิการ ปัญญาอ่อน ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (hydrocephalus) เป็นต้น

การดำเนินโรค
ถ้าเป็นไม่รุนแรง และได้รับการรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม มักจะหายขาดได้ภายใน ๒-๓ สัปดาห์ หรือเป็นแรมเดือน
แต่ถ้าเป็นรุนแรง หรือได้รับการรักษาช้าไป อาจตายหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนทางสมองอย่างถาวรได้

การป้องกัน
๑. ป้องกันไม่ให้เป็นวัณโรค โดยการฉีดวัคซีน บีซีจีตั้งแต่แรกเกิด
๒. ป้องกันไม่ให้เป็นโรคพยาธิแองจิโอสตรอง-ไจลัส โดยการไม่กินหอยโข่งดิบ
๓. ถ้าเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ หรือไซนัสอักเสบ ควรรักษาอย่างจริงจัง อย่าปล่อยให้เป็น เรื้อรังจนเชื้อเข้าสมอง
๔. ในกรณีที่เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด ผู้ป่วยไข้กาฬหลังแอ่น ควรป้องกันไม่ให้เป็นโรคโดยการกินยาปฏิชีวนะ ได้แก่ ไรแฟมพิซิน
 

ข้อมูลสื่อ

309-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 309
มกราคม 2548
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ