• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หางนกยูงฝรั่งความสดใสแห่งฤดูร้อน

หางนกยูงฝรั่งความสดใสแห่งฤดูร้อน

ปีพ.ศ. ๒๕๔๕ ฤดูร้อนมาเร็ว และทำท่าว่าจะร้อนและแล้งกว่า ๒ ปี ที่ผ่านมาสังเกตได้จากดอกไม้ประจำฤดูร้อนของไทย ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำชาติไทยคือ ต้นคูน (ราชพฤกษ์) พากันออกดอก สีเหลืองสดใสตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมและออกดอกมากกว่าปีก่อนๆ แม้แต่ในภาคกลางซึ่งปกติต้นคูนจะออกดอกช้าและไม่ดกนัก เพราะมีความชุ่มชื้นค่อนข้างสูงปีนี้ก็ได้เห็นดอกคูนเร็วและมากกว่าหลายปีที่ผ่านมา

หากผู้อ่านเดินทางไปต่างจังหวัด ช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ก็คงสังเกตเห็นสองข้างทางงดงามสดใสไปด้วยดอกไม้สีต่างๆ บนต้นไม้ที่ปลูกไว้สองข้างทางไม่ว่าจะเป็นคูน ชงโค กัลปพฤกษ์ ทองกวาว นนทรี หรือตะแบก ฯลฯ และในบรรดาต้นไม้แห่งฤดูร้อนเหล่านี้ ย่อมมีดาราดวงเด่นที่แต่งแต้มความงดงามสดใสให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นด้วยสีสันอันจัดจ้านดุจเปลวเพลิงลุกโพลงอยู่สองข้างทาง นั่นคือต้นไม้ที่ฝรั่งเรียกว่าต้นเปลวเพลิง (The Flame Tree) หรือที่  คนไทยเรียกว่า ต้นหางนกยูงฝรั่ง นั่นเอง
 

หางนกยูงฝรั่ง : สัญลักษณ์ของชาวเหลือง-แดง
หางนกยูงฝรั่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Delonix regia (Bojer) Raf. อยู่ ในวงศ์ Caesalpinioideae เช่นเดียว กับนนทรี ขี้เหล็ก ประดู่แดง ชงโค คูน กาหลง กัลปพฤกษ์ ฯลฯ
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ต้นโตเต็มที่สูงราว ๔๐-๖๐ ฟุต (๑๒-๑๘ เมตร) ทรงพุ่ม แผ่กิ่งก้านออกคล้ายจามจุรี แต่มีขนาดเล็กกว่า ลำต้นเกลี้ยง เปลือกสีเทาเข้ม โคนต้นเป็นพูพอน มักมีรากโผล่พ้นดินออกโดยรอบเมื่อ ต้นโตเต็มที่ใบเป็นใบรวม ยาวประมาณ ๔๐-๖๐ เซนติเมตร ประกอบด้วยก้าน ใบย่อย และมีใบย่อยเรียงกันเป็นคู่ๆ อยู่บนก้านใบย่อย ก้านละ ๑๕-๒๕ คู่ ขนาดใบย่อยใกล้เคียงกับใบย่อยของ มะขาม หางนกยูงฝรั่งเป็นพืชผลัดใบ มักผลัดใบในฤดูร้อนช่วงเดือนมีนาคม ถึงมิถุนายน

หางนกยูงฝรั่งออกดอกเป็นช่อ ในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ช่วงอากาศร้อนและแห้งแล้ง ปีใดอากาศร้อนและแห้งแล้งมากจะยิ่งออก ดอกดกและทิ้งใบทั้งต้น เหลือแต่ดอกบานสะพรั่งดูงดงามเป็นพิเศษ ดอกหางนกยูงฝรั่งประกอบด้วยกลีบดอก ๕ กลีบ และเกสรตัวผู้ยาวงอนออกมาเหนือกลีบดอก กลีบดอกหางนกยูง ฝรั่งมีสี ๓ สี คือ สีแดง สีแสด และสีเหลือง
ความจริงหางนกยูงฝรั่งประกอบด้วยสี ๒ สี คือสีแดงและสีเหลือง ส่วนใหญ่จะมี ๒ สีนี้อยู่ด้วยกันจึงเห็นเป็นสีแสด ดอกใดที่สีเหลืองมาก กว่าก็เป็นสีแสดออกเหลือง ดอกใดสีแดงมากกว่าก็เป็นสีแสดออกแดง แต่ ก็มีหางนกยูงบางต้นออกดอกสีแดงแท้ๆ และบางต้นออกดอกสีเหลืองบริสุทธิ์ ซึ่งหาได้ยาก โดยทั่วไปจึงพบ แต่หางนกยูงฝรั่งสีแสด


ดอกหางนกยูงฝรั่งถูกนำมาเป็น สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มีสีประจำมหาวิทยาลัยเป็น  สีเหลือง-แดง (เหลือง คือ ธรรมะ แดง คือ ชาติประชาชน) นับว่าเลือกได้เหมาะสม เพราะนอกจากดอกหางนกยูงฝรั่งจะสวยสดงดงามแล้ว ยัง ประกอบด้วยสีเหลืองและสีแดงที่รวม กันเป็นสีแสดอย่างกลมกลืน


หางนกยูงฝรั่งมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิม อยู่บนเกาะมาดากัสการ์ ทวีปอัฟริกา ค้นพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๗ (ค.ศ. ๑๘๒๔) โดยนักพฤกษศาสตร์ ชาวออสเตรเลียชื่อ เวนเซล โบเจอร์ (Wenzel Bojer) ไม่ปรากฏหลักฐาน ว่าหางนกยูงฝรั่งเข้ามาประเทศไทยเมื่อใด แต่คงเข้ามาทีหลังต้นหางนกยูงไทย ซึ่งเป็นต้นไม้จากต่างประเทศเช่นเดียวกัน มีขนาดเล็กกว่า หางนกยูงฝรั่ง แต่เข้ามาก่อน
หางนกยูงฝรั่งมีชื่อเรียกในภาษา ไทยหลายชื่อ เช่น หางนกยูงฝรั่ง อินทรีย์ (ภาคกลาง) หงอนยูง (ภาคใต้) ซมพอหลวงและส้มฝ่อหลวง (ภาคเหนือ) ภาษาอังกฤษเรียก Flam-boyant, The Flame Tree, Royal Poinciana
 

ประโยชน์ของหางนกยูงฝรั่ง
หางนกยูงฝรั่งมีผลเป็นฝักแบน กว้างราว ๓-๕ เซนติเมตร ยาว ๔๐-๖๐ เซนติเมตร ลักษณะเป็นข้อๆ แต่ ละข้อมี ๑ เมล็ด เมื่ออ่อนเมล็ดสีเขียว เมื่อแก่เต็มที่เมล็ดสีเทาขอบขาว ลักษณะค่อนข้างกลมยาว (ทรงกระบอกหัวท้ายมน) เมล็ดอ่อนของหางนกยูงฝรั่งนำมากินสดๆ ได้ เด็กๆ ชาวชนบทในภาคอีสานนิยมนำมาแกะ เปลือกหุ้มออก แล้วกินเนื้อในเมล็ดสำหรับเมล็ดแก่ต้องนำมาทำให้สุกเสียก่อนจึงจะใช้กินได้ เพราะเมล็ดแก่ดิบมีสารประกอบบางชนิดที่เป็นพิษ แต่จะถูกทำลายด้วยความร้อน

ต้นหางนกยูงฝรั่งมีทรงพุ่มงดงาม ให้ดอกสวยสดใสทั้งยังปลูกง่ายทนทานต่อความแห้งแล้ง ดินเลว จึงนิยมนำไปปลูกระดับตามสถานที่ราชการ สวนสาธารณะ และตามถนน หนทาง เป็นต้นไม้ที่พบเห็นปลูกตาม ถนนในชนบทมากที่สุดชนิดหนึ่ง

หางนกยูงฝรั่งขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดเป็นหลัก จึงพบความหลากหลายของดอกแทบจะไม่ซ้ำกันเลยสัก ต้นเดียว ทำให้อาจคัดเลือกต้นที่สวย งาม และปรับเข้ากับสภาพท้องถิ่นดีที่สุดมาขยายพันธุ์ด้วยวิธีติดตา ต่อกิ่ง เสียบยอด (ที่จะทำให้ไม่กลายพันธุ์) แล้ว ก็จะได้ต้นหางนกยูงฝรั่งที่งดงาม ที่สุดมาปลูกเอาไว้ชื่นชมเป็นพิเศษ ตามรสนิยมของแต่ละคน ซึ่งเชื่อว่า ความงดงามของดอกหางนกยูงฝรั่งนี้ มิได้มีไว้สำหรับเฉพาะชาวธรรมศาสตร์ เท่านั้น แต่มีไว้สำหรับผู้ที่มีดวงตามอง เห็นความงดงามจากธรรมชาติทุกคน

ข้อมูลสื่อ

277-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 277
พฤษภาคม 2545
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร